ภาสกร จำลองราช
รอมฏอน ปันจอร์
ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สวนยางพาราเขียวครึ้ม เชิงเขาบูโด-สุไหงปาดี มีไม้เล็กไม้ใหญ่แย่งกันชูลำต้นขึ้นหาแสงแดด จริงๆ แล้วไม่น่าจะเรียกว่า “สวนยาง”แต่ควรใช้คำว่า “ป่ายาง”มากกว่า เพราะมันแน่นขนัดไปด้วยต้นไม้นานาชนิด แต่ยังเว้นช่องทางเดินแคบๆไว้ แสดงให้เห็นถึงการเอาใจใส่ของเจ้าของเป็นอย่างดี ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่โดยรอบที่มีสภาพเป็น“สวน”ชัดเจน เพราะเจ้าของต้องการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและไม่ต้องการให้ต้นไม้อื่นมารบกวน ทำให้มีเพียงต้นยางพาราขึ้นโดดๆ เรียงแถวยาวเหยียด บริเวณหน้าดินเกลี้ยงเกลาแทบไม่มีพืชใดๆ ขึ้นอยู่เลยของ
เจ้าของป่ายางรกทึบเป็นชายอายุกว่า 60 ปี ที่ชาวบ้านต่างเรียกแกว่า “เปาะจิ” แต่ชื่อตามบัตรประชาชนคือนายดือราแม ดาราแม ปราชญ์ชาวบ้านแห่งตำบลปาลุกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
เปาะจิสะสมภูมิปัญญาท้องถิ่นตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษมาทำการเกษตรแบบเรียบๆ ง่ายๆ แต่ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ สวนยางผืนนี้มีเนื้องที่ 3 ไร่ แต่ได้น้ำยางเท่ากับสวนยางรูปแบบใหม่ 5 ไร่
“ต้นไม้ก็เหมือนคน ถ้าเรากินแต่ข้าวกับผักและน้ำพริกทุกวันๆ มันน่าเบื่อ เช่นเดียวกับต้นยาง หากเราถากหญ้าหมด และใส่แต่ปุ๋ยเอ็นพีเคทุกวันๆ มันก็แย่ แถมเขายังต้องทำงานหนักเพราะถูกกรีดน้ำยางทุกวัน แล้วอย่างนี้เขาจะแข็งแรงได้อย่างไร” เปาะจิ เล่าถึงแนวคิดที่มาของป่ายางธรรมชาติ ซึ่งแกใช้เวลาหลายปีในการลองผิดลองถูก จนวันหนึ่งแกกลับมานั่งคิดแบบง่ายๆ โดยตั้งข้อสังเกตของสีดิน
“ดินทรายริมชายหาดสีขาวสวย หยิบจับแล้วไม่เปื้อนมือ แต่ปลูกอะไรไม่ขึ้น ผิดกับดินตามป่าทึบที่สีดำ หยิบแล้วเปื้อนมือ แต่สิ่งที่ติดมือมาคืออาหารพืช เพราะฉะนั้นต้องทำให้ดินอุดมสมบูรณ์แบบป่าทึบ”
เปาะจิใช้เวลาหลายสิบปีในการเรียนรู้ธรรมชาติ เดิมที่ผืนดินบริเวณรอบบ้านของแกเป็นทรายร้อน ซึ่งปลูกต้นลองกองไม่ขึ้น แกเริ่มต้นด้วยการปลูกกล้วยก่อน เพราะรากกล้วยช่วยอุ้มน้ำทำให้เกิดความชุ่มชื้น
“ปลูกกล้วยแล้วลูกเราไม่ร้อง”ผู้เฒ่าพูดพลางหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนเฉลยว่า “ปลูกกล้วยแล้วลูกไม่อดเพราะมีกล้วยกินตลอดปี”
“ พอดินชุ่มชื้น พืชอื่นก็มาอาศัยอยู่ด้วย ต้นไม้เขาก็ต้องพึ่งพากันเหมือนกับสังคมมนุษย์นี่แหละ” ตอนนี้บริเวณรอบบ้านของผู้เฒ่าจึงดูรกทึบ ไม่ว่าจะเป็นต้นลองกอง หรือไม้ผลอีกหลายอย่างต่างยืนต้นตระหง่าน โดยมีไม้เล็กรายล้อม
“แต่เราไม่ได้ปล่อยไปหมดเสียทีเดียว พืชบางอย่าง เช่น เถาวัลย์ก็ต้องเอาออกบ้าง แต่ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เปาะจิไม่เอาต้นอะไรออกหรอก เพราะมันมีคุณค่าแทบทุกอย่าง แต่การปลูกอะไร เราต้องรู้จักนิสัยเขาก่อน บางชนิดชอบเป็นนาย เช่น ทุเรียน เป็นพืชที่ไม่ต้องการอยู่ใต้เพื่อน เขาต้องอยู่สูงกว่าคนอื่นตลอด ถ้าต้องการให้เขาอยู่ร่วมกับพืชอื่นก็ได้ แต่ต้องปลูกเขาก่อน ไม่เช่นนั้นเขาไม่ขึ้น”
“แต่มังคุดใครจะขึ้นมาพร้อมกับเขาก็ได้ แต่เขาจะรักษาสภาพของตัวเองไว้ได้ดี พอเขาโตขึ้นเป็นพุ่มใหญ่จะไม่มีไม้ใดมาเทียบใหญ่ได้เท่าเขา ผิดกับต้นตะเคียน ที่มักอยู่สูงกว่าเพื่อนเสมอ และไม่ยอมให้ใครอยู่ข้างล่างด้วย ตรงกันข้ามกับต้นตำเสาซึ่งเป็นไม้ใหญ่เหมือนกัน แต่ไม้เล็กๆ ชอบไปขึ้นอยู่ด้านล่าง เพราะเป็นไม้ที่เย็น”
ไม่ว่าจะเป็นบริเวณรอบบ้านหรือในสวนยาง เปาะจิสามารถจดจำต้นไม้ที่มีคุณค่าได้แทบทุกมุม พืชหลายชนิดเป็นสมุนไพร ที่แกพึ่งพาอาศัยใช้อยู่เป็นประจำ ระยะหลังเมื่อชาวบ้านเห็นว่าสวนยางของแกได้ผลผลิตที่ดีและไม่ต้องลงทุนหนัก ทำให้พากันมาศึกษาและเจริญรอยตาม
“บางคนเขาเชื่อตามคำโฆษณามากไป หวังว่าปลูกพืชเชิงเดี่ยวแล้วจะได้กำไรเท่านั้น เท่านี้ ปลูกทุเรียน ก็ปลูกทุเรียนอย่างเดียว ปลูกยางก็ปลูกยางอย่างเดียว ยิ่งลงทุนหวังกำไรมากก็ยิ่งเจ๊งมาก คำนวณกำไรกันตั้งแต่ยังไม่ได้ปลูกต้นไม้ แต่ธรรมชาติเขาไม่ได้ปฏิบัติตามที่เราคำนวณ เพราะธรรมชาติไม่ใช่ทาส ไม่ใช่ลูกจ้างของเรา ดังนั้นเราต้องเลี้ยงดูเขา เพื่อให้ธรรมชาติเลี้ยงดูเรา ซึ่งคนโบราณเขาศึกษาไว้หมดแล้ว”
หลักการคิดของเปาะจิทุกประการอิงอยู่กับหลักคำสอนที่ถ่ายทอดมาจากองค์อัลลอฮ์ ศาสดาของศาสนาอิสลาม โดยเปาะจิมุ่งเน้นในเรื่องของการเคารพต่อธรรมชาติ แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ความเชื่อของคนรุ่นใหม่ละเลยคำสอนของคนโบราณและเบียดเบียนกันจนกลายเป็นความยุ่งเหยิงในสังคม
“นิสัยของคนเดี๋ยวนี้เหมือนลิง ไม่ว่าเป็นพุทธหรือมุสลิม คือชอบเลียนแบบ และไม่รู้จักละอาย ทั้งๆ ที่รู้ว่าหลายเรื่องเป็นสิ่งไม่ดี แต่พอคนอื่นเขานิยมกัน ก็เอาด้วย ความเจริญที่เข้ามามันไม่สมดุลเอาเสียเลย”
ทุกวันนี้ผู้เฒ่าเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ที่สถานการณ์ยังคงรุนแรง แม้หลายคนพยายามแวะเวียนเข้าไปถามความคิดเห็นของแก แต่เปาะจิมักเล่าเป็นนิทานให้ฟัง
“ป่าทึบแห่งหนึ่งมีฝูงลิงฝูงหนึ่ง มีกลุ่มนายพรานเห็นและอยากล่ายกฝูง จึงติดตามจนรู้ว่าลิงเหล่านี้อาศัยหลับนอนอยู่ที่ไหน พอตกดึกพวกนายพรานจึงช่วยกันตัดไม้รอบๆ ออกหมด แล้วล้อมด้วยตาข่าย สุดท้ายลิงก็หนีไม่พ้น แต่ถือว่าเป็นการใช้ความรุนแรงมาก เพราะทำให้ป่าไม้ตายไปไม่รู้เท่าไหร่ และไม่ใช่แค่ฝูงลิงเท่านั้นที่ถูกจับไป แม้แต่สัตว์อื่นๆ ก็พลอยเดือดต้อนกันไปหมด ถือว่าเป็นวิธีการที่รุนแรงที่สุด”
“ถ้าเหล่านายพรานใช้อีกวิธีการหนึ่งคือปลูกกล้วย ปลูกข้าวโพด หรือไม้ล้มลุกที่ลิงชอบกินในที่ราบข้างๆ เมื่อไม้เหล่านี้ออกผล ลิงเหล่านี้ก็จะมากิน ถ้าอยากได้ลิงก็ให้ทำกรงรอบๆ สวน อาจใช้กลอุบายบ้าง เช่น ปลูกแคร่ไว้ก่อนแล้วเอากล้วย ข้าวโพดไปวางไว้ทุกวัน เมื่อลิงไม่เห็นเจ้าของและมากิน เมื่อตัวแรกมา ตัวต่อๆ มาก็จะมากินตาม เราเพียงแต่คอยแอบดูว่ามันมากันทิศไหน แล้วตอนดึกๆ ค่อยเอากรงไปวางไว้ เมื่อฝูงลิงกินทุกวันก็จะลืมตัวเองเพราะเคยกินได้อยู่ทุกวัน สุดท้ายลิงก็ต้องติดอยู่ในกรงนั้นหมด วิธีการนี้ถือว่าละมุนละม่อมที่สุด”
ผู้อาวุโสเล่าให้ขบคิดก่อนสรุปว่า “วิธีการนี้ต้องใจเย็นเพราะต้องใช้เวลา แต่ไม่สร้างความเดือนร้อนหรือส่งผลกระทบให้ใคร”
วันนี้ป่ายางของเปาะจิมีไม้ใหญ่ไม้เล็กกลมกลืนกับผืนป่าบนเทือกเขาบูโดเพราะความเข้าใจถึงธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติของต้นไม้หรือธรรมชาติของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย
ใกล้ค่ำแล้วผู้เฒ่าเก็บยอดไม้ที่เพิ่งแตกใบอ่อนจากสวนยางกลับไปเครื่องเคียงน้ำบูดูในมื้อแรกของการละศิลบวชในช่วงรอมฏอน
ความสุขในชีวิตของเปาะจิเป็นไปตามที่พระเจ้ากำหนดไว้แล้ว