เชียงราย – สภาประชาชนแม่น้ำโขงออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับกรอบพัฒนาลุ่มน้ำโขงภายใต้กรอบ GMS ระบุมีปัญหาด้านธรรมาภิบาล ไม่ความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม และสร้างผลกระทบวงกว้าง เสนอแนวทางประชุมสุดยอดผู้นำ ADB/GMS ที่ “ทักษิณ” เข้าร่วม ควรยุติทุกโครงการตามกรอบพัฒนา และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค.48 ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เป็นตัวแทนของสภาประชาชนแม่น้ำโขง อ่านแถลงการณ์ที่ได้จากการประชุมคู่ขนาน เรื่องบทบาทสภาประชาชนแม่น้ำโขงต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่โรงแรมริมกกรีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.-2 ก.ค.48 ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอด ADB/GMS ว่าด้วยกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของธนาคารพัฒนาเอเชีย ที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 4-5 ก.ค. 2548
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่าทางสภาประชาชนแม่น้ำโขงที่จัดตั้งขึ้นจากการประชุมในครั้งนี้เพื่อประสานเครือข่ายประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง สนับสนุนการพัฒนาตนเอง แสวงหาทางเลือก การสร้างฐานการพัฒนาโดยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนฐานภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ได้แสดงจุดยืนว่าไม่เห็นชอบกับแนวทางการพัฒนาในภูมิภาคแม่น้ำโขงภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาที่มีอยู่ของกรอบ GMS ที่เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2535
ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าขาดความโปร่งใสในการดำเนินการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่กำลังสร้างความเดือดร้อนอย่างมากให้กับประชาชนในภูมิภาคแม่น้ำโขง เช่น โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ การระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ และการจัดการป่าไม้เชิงพาณิชย์ ในประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศคือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม
รวมทั้งโครงการต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละประเทศที่กำลังสร้างความแบ่งแยกและความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เมืองและชนบท การขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติได้บ่อนทำลายต้นทุนทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต วัฒนธรรมของประชาชนในภูมิภาคแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้ง ตรงกันข้ามรัฐบาลในภูมิภาคแม่น้ำโขงร่วมกับเอดีบีกลับเดินหน้าดำเนินการตามแผนการต่อไป โดยละเลยปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และผลกระทบต่อฐานต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าโครงการภายใต้กรอบ GMS ซึ่งดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาด้านธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในทุกโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว
ทั้งนี้ สภาประชาชนแม่น้ำโขงขอเสนอหลักการและแนวทางสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2548 ดังต่อไปนี้
1.ขอให้หยุดยั้งแผนงานหรือโครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการเสนอตามกรอบ GMS จนกว่าจะมีการปรึกษาหารือกับประชาชนอย่างโปร่งใสและกว้างขวางเสียก่อน
2.ทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคแม่น้ำโขงเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ประชาชนทั้งหมดในภูมิภาคเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้น รัฐใดรัฐหนึ่งหรือองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศหนึ่งใด เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย จึงไม่มีสิทธิที่จะตัดสินใจในการพัฒนาใดๆ โดยพลการ ซึ่งจะมีผลกระทบข้ามพรมแดนต่อวิถีชีวิต และต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคแม่น้ำโขงอย่างที่เป็นอยู่ ประชาชนในภูมิภาคแม่น้ำโขงขอยืนยันสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง สิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมมีส่วนในการดำเนินการจัดการทรัพยากรในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
3.รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขงควรดำเนินการจัดการและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นฐานของการเคารพในสิทธิ และจิตวิญญาณแห่งความสมานฉันท์ของประชาชนในภูมิภาค เพื่อก่อผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงประเด็นด้านอธิปไตยของประชาชาติและของภูมิภาค โดยเฉพาะในประเด็นแม่น้ำข้ามพรมแดน ประเด็นต้นน้ำ-ปลายน้ำ และประเด็นสิทธิมนุษยชนของประชาชนพื้นถิ่นและชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ มิใช่คำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีแต่เพียงอย่างเดียว
4.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค รวมทั้งเอดีบี ต้องติดตามตรวจสอบ ประเมินโครงการและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่สูญเสียไป จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ภายใต้กรอบ GMS ที่ผ่านมาอย่างจริงจัง ก่อนที่จะเสนอโครงการใหม่ เช่น ในโครงการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค จะต้องทำการศึกษาเพื่อทบทวนแผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่มีอยู่ และข้อเสนอเกี่ยวกับโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าในภูมิภาคแม่น้ำโขงอย่างรอบด้าน ว่าข้อเสนอที่มีอยู่ในปัจจุบันยืนอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียมหรือไม่
5.หน่วยงานระหว่างประเทศควรเปลี่ยนบทบาทจากการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับโครงการขนาดใหญ่ซึ่งบ่อนทำลาย มาสู่การส่งเสริมการลงทุนในโครงการขนาดเล็ก เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน (เขื่อนขนาดใหญ่ไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน) ซึ่งทั้งประหยัดต้นทุน และเอื้อประโยชน์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น แทนที่จะสนับสนุนการทำลายล้างจากโครงการขนาดใหญ่ดังที่เป็นอยู่
นอกจากนี้ยังยืนยันความต้องการที่จะให้รัฐบาลของประเทศในลุ่มน้ำโขงทั้งหมด และธนาคารพัฒนาเอเชียดำเนินการโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนความโปร่งใส ธรรมาภิบาล โดยที่สภาประชาชนแม่น้ำโขงมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการทำหน้าที่ตรวจสอบและผลักดันให้การดำเนินการเป็นไปอย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป รวมทั้งจะร่วมกันแสวงหาทางเลือกเพื่อให้การพัฒนาลุ่มน้ำโขง ป็นการพัฒนาที่มีความสมดุล มีเสรีภาพ และเป็นธรรม นำมาซึ่งสันติสุขอย่างแท้จริง