xs
xsm
sm
md
lg

6 เดือนสึนามิยังยุ่ง นายทุนฮุบที่ดินชาวบ้าน-ท่องเที่ยวดิ่งเหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน
ศูนย์ข่าวภูเก็ต


นับจากวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่คลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มชายฝั่งทะเลอันดามันทั้ง 6 จังหวัด ได้รับความเสียหายยับเยิน โดยเฉพาะที่เกาะพีพี จ.กระบี่ หาดป่าตอง หาดกมลา จ.ภูเก็ต และที่เขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จนถึงวันนี้ 6 เดือนเต็มแล้ว ที่มหันตภัยร้ายสึนามิ ได้คร่าทั้งชีวิตคนและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก

"สึนามิ"ได้ทำให้ชีวิตคนเป็นจำนวนมาก ต้องตกอยู่ในภาวะขาดที่อยู่อาศัยและอาชีพ โดยหน่วยงานราชการได้เข้าไปให้การช่วยเหลือเป็นระยะๆ จนเวลานี้การช่วยเหลือก็ยังไม่สิ้นสุด

ภูเก็ตช่วยเหลือแล้วกว่า 1,000 ล้าน

ตั้งแต่เกิดเหตุสึนามิถล่มจนถึงวันนี้ จังหวัดภูเก็ต ได้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปแล้ว 1,082 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง 67 ล้านบาท กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ของสำนักนายกฯที่ได้รับจากการบริจาคจำนวน 71 ล้านบาท เงินช่วยเหลือจากกระทรวง ทบวง กรม จำนวน 706 ล้านบาท เงินช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 41 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือจากองค์การเอกชน มูลนิธิต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 196 ล้านบาท

ขณะที่การสร้างบ้านให้ประชาชนที่ขาดที่อยู่อาศัยมีทั้งหมด 125 หลัง ขณะนี้สร้างเสร็จ 50 กว่าหลัง

ระนองสร้างบ้านให้แล้ว169 หลัง

ขณะที่จังหวัดระนอง ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว รวม 146 ล้านบาท แยกเป็นช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพประมง 46ล้าน บาท นักเรียนที่ได้รับผลกระทบ 2 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ว่างงาน 13 ล้านบาท ช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหาย 4 ล้าน บาท ให้อำเภอ กิ่งอำเภอ และหน่วยงานต่าง ๆ ยืมทดรองราชการ 74ล้าน บาท เป็นต้น

ในส่วนของที่อยู่อาศัยถาวร ผู้ที่บ้านพังทั้งหลัง มีการสร้างบ้านให้ 169 หลัง พร้อมมีการอบรมส่งเสริมอาชีพ จำนวน 600 คน และภาคเอกชน และองค์กรการกุศลต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้จัดสร้างเรือประมงพร้อมเครื่องยนต์ประมาณ 300 ลำ และอุปกรณ์ประมงอีกจำนวนมาก

พังงาช่วยเหลือแล้วกว่า280ล้านบาท

จังหวัดพังงา ได้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้วกว่า 288 ล้านบาท แบ่งเป็นการให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง 89 ล้านบาท เงินกองทุนของสำนักนายกรัฐมนตรี 39 ล้านบาท จากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 1 ล้านบาท กระทรวงแรงงาน 35 ล้านบาท สำนักงานประกันสังคม 184 ล้านบาท และกระทรวงศึกษาธิการมอบทุนการศึกษาอีก 9 ล้านบาท

ด้านการก่อสร้างบ้าน ประชาชนแจ้งความจำนงในการขอบ้านพักถาวรไว้ทั้งสิ้น 2,992 หลัง ขณะนี้ประชาชนได้เข้าไปอยู่อาศัยได้แล้ว ที่อ.ตะกั่วป่า จำนวน 1,719 หลัง อ.คุระบุรี จำนวน 248 หลัง และอ.ท้ายเหมืองอีก 125 หลัง

จังหวัดกระบี่ ได้เร่งรัดจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยแล้วจำนวน 23,060 คน เป็นเงิน 57 ล้านบาท ชดเชยเงินให้ผู้ประกอบการรายย่อย 891 รายเป็นเงิน 18 ล้านบาท และผู้ประกอบการรายใหญ่จำนวน937รายเป็นเงิน 157 ล้านบาท

ชาวบ้านกว่า100ครอบครัวถูกนายทุนไล่พ้นที่ดิน


ทั้งนี้ หากดูจากตัวเลขจำนวนเงินที่หน่วยงานราชการต่างๆ และองค์กรภาครัฐและเอกชนให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย จะเห็นว่า น่าที่จะครอบคลุม แต่ในสภาพความเป็นจริง ก็ยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ต้องประสบปัญหาเรื่องที่ดินที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน เพราะเวลานี้ ที่ดินที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย โดนนายทุนฮุบไปเกือบหมดแล้ว

ปัญหากรณีพิพาท ระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน ที่เห็นชัดเจนมี 3 พื้นที่ในจังหวัดพังงา คือ ที่บริเวณแหลมป้อม หมู่ที่ 2 ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า ที่ชาวบ้านกว่า 40 ครอบครัว ไม่สามารถสร้างบ้านในพื้นที่เดิม เพราะนายทุนได้ออกมาไล่ให้ชาวบ้านที่ประสบภัยสึนามิ ที่ขาดทั้งบ้านและอาชีพ ให้ออกไปจากที่ดินที่ชาวบ้านอยู่กันมานานแล้ว โดยนายทุนอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ขณะที่ชาวบ้านก็ไม่ยอมถอยย้ายออกจากที่ดิน

เช่นเดียวกับบ้านในไร่ หมู่ที่ 7 ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ชาวบ้านประมาณ 35 ครอบครัวถูกนายทุนไล่ออกจากที่ดินประมาณ 4 ไร่ ที่ชาวบ้านเข้าไปอาศัยสร้างบ้านมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10-20 ปี เมื่อเกิดสึนามินายทุนก็เข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และไล่ชาวบ้านให้พ้นจากพื้นที่ที่เคยอยู่กันมานมนาน

"สุทิน หลีบำรุง" แกนนำชาวบ้านหมู่ที่ 7 ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา บอกกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า อยู่ๆ นายทุนก็เข้ามาอ้างสิทธิในที่ดิน 4 ไร่ ที่ชาวบ้านอาศัยมานาน 10-20 ปี โดยนำหมายศาลมาติดตามบ้านของชาวบ้าน 35 หลัง เพื่อให้ชาวบ้านรื้อถอนบ้านเรือนออกจากที่ดิน ที่นายทุนอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินตั้งแต่วันที่ 13-18 มิถุนายน 2548 แต่ชาวบ้านไม่ยอมออกจากที่ดินดังกล่าว และปักหลักสู้เต็มที่

"หากต้องถึงขั้นขึ้นศาลชาวบ้านจะสู้เต็มที่ และได้เตรียมทนายไว้แล้ว ซึ่งชาวบ้านเองก็ต้องการที่จะให้มีการพิสูจน์เอกสารสิทธิที่ดินของนายทุนว่าได้มาอย่างไร ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่" นายสุทิน กล่าวและให้เล่าให้ฟังถึงที่ดินแปลงดังกล่าวว่า

ที่ดินแปลงดังกล่าวเดิมเป็นที่สัมปทานเหมืองแร่ เมื่อหมดอายุสัมปทานก็มีการรับช่วงที่ดินต่อๆกันไป จนนายสมเกียรติ ลีธีระ เจ้าของโรงงานแปรรูปสับปะรดที่ประจวบคีรีขันธ์ ได้ซื้อมาจากป.ร.ส.หลังจากนั้นชาวบ้านก็งงมาก ว่ามีการออกเอกสารสิทธิน.ส. 3 ก.ได้อย่างไร ซึ่งชาวบ้านมั่นใจว่า ที่ดินดังกล่าวอยู่ในป่าชายเลนเพราะน้ำทะเลท่วมถึง

"ถึงแม้ว่าจะมีหมายศาลมาติดตามบ้าน ชาวบ้านก็ไม่ยอมรื้อถอนออกจากที่ดินที่อยู่กันมานานแล้ว และมั่นใจว่าการออกเอกสารสิทธิที่ดินไม่น่าจะได้มาถูกต้อง และในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จะลงมารับฟังปัญหาของชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ"

ค "บ้านทับตะวัน" หมู่ที่ 7 ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องเผชิญปัญหาเหมือน 2 หมู่บ้านที่กล่าวมาแล้ว คือ หลังเกิดสึนามิ นายทุนอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดิน และขู่ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมเดินหน้าสร้างบ้านจนใกล้จะเสร็จทั้งหมดแล้ว

"สุทธิพร คงทอง" อาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน "บ้านทับตะวัน" สะท้อนปัญหาของชาวบ้านกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ปัญหาที่ชาวบ้าน บ้านทับตะวันต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ ปัญหาที่อยู่อาศัยพื้นที่ 24ไร่ กับที่ดินขุมเหมืองสาธารณะ ซึ่งเป็นที่จอดเรือ จับสัตว์น้ำของชาวบ้าน

โดยปัญหาที่ดินที่สร้างบ้านอยู่อาศัย มีเนื้อที่ 24 ไร่ ชาวบ้านเดือดร้อนประมาณ 35 หลังคาเรือนประมาณ 75 ครอบครัว ซึ่งชาวบ้านประสบปัญหาเหมือนกับจุดอื่นๆ คือ หลังเกิดสึนามิทรัพย์สินของชาวบ้านได้รับความเสียหาย นายทุนก็ออกมาอ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ชาวบ้านสร้างบ้านอาศัยอยู่ ไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทั้งหมด

"นายทุนออกมาข่มขู่ชาวบ้านเป็นระยะ เพื่อให้ชาวบ้านออกไปให้พ้นจากที่ดินที่นายทุนอ้างกรรมสิทธิ์ และยังข่มขู่ชาวบ้านว่าจะฟ้องชาวบ้านที่บุกรุกเข้ามาอยู่ในที่ดินดังกล่าวในเร็วๆนี้ แต่เรื่องก็เงียบหายไป"

นายสุทธิพร ยังเล่าอีกว่า นายทุนที่อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้เป็นตระกูลที่มีอิทธิพล ชาวบ้านต้องต่อสู้ด้วยการยื่นเรื่องความเดือดร้อนไปยังนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และชาวบ้านต้องการที่จะให้มีการพิสูจน์เอกสารสิทธิ ว่าได้มาอย่างไร และถูกต้องหรือไม่ ถ้าหากผลออกมาว่าชาวบ้านเข้ามาอยู่ในพื้นที่หลังปี 2498 ชาวบ้านก็ยินดีที่จะย้ายออกจากที่ดินดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านมั่นใจว่า อยู่ในที่ดินแปลงนี้มาก่อนปี 2498 อย่างแน่นอน

พีพีหมดปัญหานายทุนฮุบที่ชาวบ้าน

ส่วนที่เกาะพีพี จ.กระบี่ ปัญหาที่ชาวบ้านเกาะพีพี เกรงกลัวมากที่สุด หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ คือ การพัฒนาพื้นที่เกาะพีพีตามแนวทางของ อพท. ที่ต้องการย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่อ่าวต้นไทร และอ่าวโละดาลัมไปอยู่บนที่สูง โดยรัฐจะเข้ามาลงทุนและให้เอกชนเช่าบริหาร ซึ่งชาวบ้านก็ได้ออกมาคัดค้านโดยตลอด เพราะมองว่าแนวทางดังกล่าวชาวบ้านเข้าไปไม่ถึงแน่นอน คนที่มีโอกาสจะเป็นกลุ่มนายทุนเท่านั้น

จนเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมร่วมกัน และได้ข้อสรุปว่า จะยึดหลักการจัดวางผังเมืองเกาะพีพี ตามแนวทางของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยการถอยร่นออกจากชายหาดแทนการย้ายคนขึ้นไปอยู่บนเนินเขา

ระยะถอยร่นแบ่งออกเป็น 3 โซน โดยโซนที่ 1 บริเวณอ่าวโละดาลัม ถอยร่นเข้าไป 30 เมตร จากชายฝั่งถึงจะสร้างอาคารได้ ความสูงของอาคารสูงได้ 9 เมตร ซึ่งทุกอาคารต้องมีดาดฟ้า เนื่องจากเมื่อเกิดคลื่นยักษ์ขึ้นประชาชน จะได้วิ่งขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้าได้ โซนที่ 2 ซึ่งอยู่ใจกลางระหว่างหาดโละดาลัมและอ่าวต้นไทร สร้างอาคารได้ไม่เกิน 12 เมตร และบริเวณที่ 3 ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลเกาะพีพีกำหนดให้สร้างอาคารได้ไม่เกิน 16 เมตร

นายนัฐวุฒิ แก่นทอง แกนนำชาวบ้านที่เกาะพีพี บอกว่า ชาวบ้านพอใจแและเห็นด้วยกับแนวทางของกรมโยธาธิการฯในการให้ชาวบ้านอยู่ที่เดิมแต่ให้ถอยร่นไปตามที่กำหนด ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ กรมโยธาฯได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาสำรวจพื้นที่เพื่อจัดวางผังเมืองแล้ว และตามแผนที่วางไว้จะดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 เดือนจากนี้

ท่องเที่ยววังเวงหนัก
เขาหลักไม่ฟื้น-ภูเก็ต-กระบี่นักเที่ยวหด


ส่วนในแง่เรื่องธุรกิจท่องเที่ยว เวลานี้ โรงแรมเกือบทั้งหมดที่เรียงรายอยู่ตลอดแนวเขาหลัก ไปถึงหาดบางม่วงไม่น้อยกว่า 90 แห่ง ได้รับความเสียหายทั้งหมด ทั้งที่เสียหายทั้งหมดและเสียหายบางส่วน จนถึงขณะนี้โรงแรม รีสอร์ตได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมน้อยมาก โดยสิ่งที่เขาหลักเปลี่ยนไปเมื่อเวลาครบ 6 เดือน คือ สภาพพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นและเขียวขจีจากที่มีหญ้าขึ้นมาแซมเท่านั้น

"อนุพงศ์ สงวนนาม" นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา บอกว่า การฟื้นฟูธุรกิจโรงแรม และรีสอร์ต ที่เขาหลักช้ามาก ทำให้สภาพของเขาหลักในขณะนี้ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อช่วงที่เกิดเหตุการณ์สึนามิใหม่ๆ มีเพียงการขนย้ายซากปรักหักพังออกจากพื้นที่เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังอยู่ในสภาพเดิม เพราะโรงแรม รีสอร์ต ต่างๆ กว่า 90 แห่ง ยังไม่ได้รับการปรับปรุงและก่อสร้างใหม่

"สถาบันการเงินยังไม่ยอมปล่อยสินเชื่อในการลงทุนใหม่ให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งความชัดเจนในเรื่องของผังเมืองและการจัดรูปที่ดินที่ยังไม่มีข้อสรุป ทำให้การลงทุนของเอกชนล่าช้า ที่ได้ลงมือปรับปรุงกิจการไปแล้วไม่น่าจะเกิน 4-5 ราย เช่น โรงแรมมุกดารา โรงแรมเลอเมอริเดียน เขาหลัก โรงแรมพาราไดส์ โรงแรมลาฟอร์ล่า และโรงแรมนางทอง เป็นต้น ส่วนที่เหลือไม่ต้องพูดถึงยังไม่ได้ลงมือปรับปรุงแต่อย่างใด" นายอนุพงศ์ กล่าวและบอกอีกว่า สิ้นปีนี้จะมีโรงแรมเปิดให้บริการไม่เกิน 1,200 ห้อง และในปีหน้าไม่น่าจะเกิน 2,500 ห้อง

ส่วนจังหวัดภูเก็ต-กระบี่ ถึงแม้ว่าภาพรวมของโรงแรม จะได้รับการฟื้นฟูพร้อมรับนักท่องเที่ยวแล้ว (ยกเว้นเกาะพีพี) แต่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาน้อยมาก โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนหรือโลว์ซีซันนักท่องเที่ยวหายไปเกือบทั้งหมด เหลืออัตราเข้าพักไม่เกิน 10% จากนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชีย ทั้ง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ปฏิเสธการเดินทางมาภูเก็ต เพราะหวั่นไม่ปลอดภัยหากเกิดสึนามิอีก จากระบบเตือนภัยที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์และหวาดกลัวเรื่อง วิญญาณต่างๆในจุดที่มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้ไม่ว่าจะมีการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างหนัก ทั้งเดินสายโรดโชว์เรื่องความปลอดภัย หรือจัดแพกเกจราคาถูก ก็ยังไม่ทำให้การท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้น

....และจนถึงวันนี้ ล่วงมา6 เดือนเต็ม หลังเกิดเหตุสึนามิพัดถล่ม 6 จังหวัดอันดามัน แต่ดูเหมือนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือฟื้นฟู ให้กลับคืนสู่ภาพในอดีตเท่าที่ควร ....ซึ่งยังไม่รู้ว่า อีกเมื่อไร "สวรรค์อันดามัน" ที่นักท่องเที่ยวเคยหลงใหลจะกลับคืนมา ......

กำลังโหลดความคิดเห็น