ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ จัดเวทีพบนักการเมือง ติดตามความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พร้อมเสนอควรกำหนดให้ทำป่าชุมชน ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ เพื่อไม่ให้ 1.5 ล้านครอบครัวในป่าได้รับผลกระทบ
วันนี้(17 มิ.ย.48) ที่ห้องประชุมสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี สมัชชาเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ ได้จัดเวทีนักการเมืองพบประชาชนเพื่อระดมความคิดเพื่ออนาคตสิ่งแวดล้อมไทย “พระราชบัญญัติป่าชุมชน เราจะช่วยกันอย่างไรได้บ้าง” โดยมีสมาชิกเครือข่ายป่าชุมชนจากหลายจังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือเข้าร่วมกว่า 200 คน พร้อมได้มีการเชิญตัวแทนจากคณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนักวิชาการเข้าร่วมการจัดเวทีในครั้งนี้ด้วย
นายอนันต์ ดวงแก้วเรือน ประธานสมัชชาเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ เปิดเผยว่า การจัดเวทีในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อที่จะต้องการรับทราบข้อมูลความคืบหน้า เกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนที่ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาว่าเป็นอย่างไร และมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดใดๆ เพิ่มเติมอีกหรือไม่
ขณะเดียวกัน ต้องการที่จะเสนอแนวความคิดและจุดยืนของภาคประชาชน ที่ต้องการให้มีพระราชบัญญัติป่าชุมชนออกมาบังคับใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลรักษาป่า ผ่านทางตัวแทนภาคการเมือง ที่อาจจะได้นำไปเสนอให้แก่รัฐสภาในโอกาสต่างๆ ด้วย
“ทางภาคประชาชนเราต้องการที่เสนอความคิดว่าทำไมเราจึงได้เรียกร้องให้มี พ.ร.บ.ป่าชุมชน มาตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา นั่งเพราะเราเห็นว่ากฎหมาย เป็นเครื่องมือสากลที่สามารถจะนำมาใช้ในการรักษาป่า แม้จะเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่ก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการนำมาใช้ดูแลและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ” นายอนันต์ กล่าว
สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องการเสนอ ในการนำไปประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ประธานสมัชชาเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ กล่าวว่า สิ่งที่ภาคประชาชนต้องการ โดยเฉพาะที่เป็นสมาชิกเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ คือ การให้สามารถทำป่าชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ เหมือนดังเช่นในร่างพระราชบัญญัติฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ก่อนที่จะมีการแก้ไขในภายหลัง
ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า หากมีการกำหนดห้ามไม่ให้ทำป่าชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์แล้ว จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชาวบ้านในภาคเหนือไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านครอบครัวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่อยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ด้วย
“ทุกวันนี้คนยังมองภาพของป่าชุมชนผิดเพี้ยนไป โดยมักจะมองว่าเป็นการเข้าจับจองเป็นพื้นที่ทำกิน เช่น โค่นป่าปลูกกะหล่ำปลี เป็นต้น ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะป่าชุมชนไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินทำกินเลย แต่มีการแยกไว้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นที่อยู่อาศัย ตรงไหนเป็นที่ทำกิน และตรงไหนเป็นป่าชุมชน ซึ่งไม่ได้เป็นการทำลายพื้นที่ป่าเลย” นายอนันต์ กล่าว
อนึ่ง ในการจัดเวทีดังกล่าวนี้ ได้มีการเชิญนายผ่อง เล่งอี้ ประธานคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภาพิจารณาพระราชบัญญัติป่าชุมชน รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา และลำพูน เข้าร่วมด้วย เพื่อแจ้งความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว พร้อมทั้งรับฟังความเห็นและข้อเสนอจากภาคประชาชน