ศูนย์ข่าวขอนแก่น-สภาอุตฯเปิดเวทีถกปัญหาอุปสรรคการตั้งไอซีดีขอนแก่น หลังจังหวัดศึกษาพัฒนาแผนโครงการมาแล้วร่วม 2 ปี ล่าสุดผู้ว่าฯเตรียมเสนอแผนการใช้งบฯต่อคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามภาคเอกชนทั้งจากสมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้าฯและสมาคมขนส่งสินค้ารถบรรทุกไม่เห็นด้วย ระบุไม่มีความจำเป็นและปริมาณสินค้าไม่มากพอ
วันนี้(16 มิ.ย.)ที่ห้องประชุมเสียงแคน ศาลากลาง จังหวัดขอนแก่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นจัดให้มีการเสวนา เรื่องการวิเคราะห์ผลปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้งศูนย์บริการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์( Inland Container Depot , ICD )ทางรถไฟ จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการกิจการขนส่งเข้าร่วมรับฟังและแสดงความเห็นราว 50 คน
นายเจตน์ ธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงผลการศึกษาเพื่อจัดตั้งไอซีดีนั้นมี 3 ทำเลที่มีความเหมาะสมคือ บริเวณกองสัตวบาล ต.ท่าพระ ,ที่ดินของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่และที่สนามบินน้ำพอง ขณะเดียวกันขอนแก่นยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภาค ที่สำคัญแผนการจัดตั้งไอซีดียังสอดรับกับยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับ Logistic Center และแผนแม่บทด้านการจราจรและขนส่งเมืองภูมิภาคอีกด้วย
"โครงการไอซีดีขอนแก่นถือเป็นโครงการเร่งด่วน เพื่อพัฒนาให้กับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน East-West Economic Corridor ศูนย์ไอซีดีแห่งนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าระหว่างศูนย์ขนถ่ายสินค้าทางรถไฟกับการขนส่งสินค้าในจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์ขนถ่ายและกระจายสินค้าของภูมิภาคและระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านการค้า การลงทุน และบริการ"
ปัจจุบันการขนส่งสินค้าของภาคอีสานร้อยละ 93 เป็นการขนส่งด้วยรถบรรทุก ที่เหลือร้อยละ 7 เป็นการขนส่งทางรถไฟ แต่เมื่อมีการจัดตั้งไอซีดีแล้ว สัดส่วนการใช้บริการขนส่งทางรถไฟจะเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่าปริมาณการขนส่งด้วยรถบรรทุกบนท้องถนนจะลดลง ส่งผลช่วยให้การใช้พลังงานประหยัดมากขึ้น อุบัติเหตุบนท้องถนนและปัญหามลภาวะทางอากาศลดลง ที่สำคัญจากผลการศึกษา พบว่า การขนส่งสินค้าทางรถไฟจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้มากถึง 30 % ของการขนส่งด้วยรถบรรทุก
นายเจตน์เปิดเผยอีกว่าโครงการจัดตั้งไอซีดีขอนแก่นขณะนี้ได้บรรจุไว้ในแผนปฏิบัติราชการระยะ 4 ปี ที่ผ่านมาได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้รับทราบไปแล้วครั้งหนึ่งและในอีก 2 อาทิตย์ข้างหน้าตนและทีมงานที่ปรึกษาก็จะเดินทางไปนำเสนอความก้าวหน้าโครงการ โดยเฉพาะเรื่องของแผนการลงทุน การใช้งบประมาณโครงการต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
นายทศพล ตันติวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคอีสาน ระบุว่าในฐานะที่ตนเป็นผู้ส่งออกแป้งมันไปต่างประเทศยอมรับว่าการขนส่งสินค้าทางรถไฟเพื่อไปยังท่าเรือแหลมฉบังเมื่อเทียบกับการขนส่งด้วยรถบรรทุกแล้วประหยัดต้นทุนค่าขนส่งมากกว่า ราว 600-1,000 บาท/เที่ยว แต่การขนส่งทางรถไฟต้องประสานงานจองตู้บรรทุกสินค้าล่วงหน้า หากไม่เช่นนั้นอาจทำให้สินค้าตกเรือขนส่งได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามนายทศพล กล่าวว่าในกรณีการจัดตั้งไอซีดี จังหวัดขอนแก่นนั้น ตนมองว่าก่อนที่จะมีการลงทุนสร้างอย่างเต็มรูปแบบ น่าจะทดลองการให้บริการรูปแบบของ CY (ContainerYard)ไปก่อนเพื่อดูว่าปริมาณความต้องการใช้บริการมีมากน้อยแค่ไหน คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ เพราะองค์ประกอบของศูนย์ไอซีดีนั้นมีหลายปัจจัย
รายงานแจ้งว่าในเวทีเสวนาครั้งนี้ ส่วนใหญ่ตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนทั้งสมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้าและคอนเทนเนอร์,ผู้แทนจากสมาคมขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกหรือแม้แต่นักธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเองก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการลงทุนสร้างศูนย์ไอซีดีที่จังหวัดขอนแก่น โดยมองว่ายังไม่มีความจำเป็น
ทั้งนี้ เพราะในความเป็นจริงสินค้าที่ขนส่งจากภาคอีสาน โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรนั้นจะมีเป็นบางฤดูกาลเท่านั้น ไม่มีให้ขนส่งตลอดปี และส่วนใหญ่สินค้าจากภาคอีสาน ไม่ได้ขนส่งตรงไปยังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออก หากตั้งไอซีดีขึ้นมาจะทำให้การใช้บริการไม่สม่ำเสมอ เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มเงินงบประมาณ
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า โดยทั่วไปศูนย์ไอซีดี ไม่มีประเทศใดที่จะจัดตั้งในเมืองตอนในของประเทศ มักจะสร้างขึ้นตามเมืองชายแดนเพื่อสะดวกต่อการขนส่งและส่งออกท่าเทียบเรือได้เลย
เช่น กรณีที่ผู้ส่งออกจะขนส่งสินค้าจากชายแดนจังหวัดหนองคาย ไปยังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออกไปยังยุโรป ผู้ประกอบการส่งออกคงไม่แวะพักสินค้าเพื่อทำพิธีการศุลกากร ณ ศูนย์ไอซีดีขอนแก่น จะเลือกขนตรงไปยังท่าเรือแหลมฉบังโดยตรง เพราะประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
นายธนิต โสรัตน์ ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่าเวทีเสวนาครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ข้อคิดเห็นต่างๆล้วนมาจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจส่งออกและผู้ที่มีความชำนาญด้านการขนส่งโดยเฉพาะ
ข้อมูลที่จังหวัดได้รับน่าจะเป็นประโยชน์ ที่จะนำไปประยุกต์ปรับแผนพัฒนาโครงการไอซีดีใหม่ เพื่อความเหมาะสม เช่นแทนที่จะจัดตั้งไอซีดีเต็มรูปแบบ อาจปรับศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า(DC-Distribution Center) โดยอาศัยศักยภาพความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งทางบกและทางอากาศให้เป็นที่พักสินค้า