ศูนย์ข่าวศรีราชา - สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา ทำวิจัยการเพาะเลี้ยง "หอยหวาน" สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
ดร.วรเทพ มุธุวรรณ รองผู้อำนวยการและหัวหน้าสถานีวิจัย สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เผยถึงงานวิจัยการเพาะเลี้ยงหอยหวาน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหอยตุ๊กแก ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ เนื่องจากในปัจจุบันหอนหวานเป็นที่นิยมมีการบริโภคกันอย่างแพร่หลาย และมีราคาแพงกว่าหอยชนิดอื่นๆ แต่ปัจจุบันพบว่ามีจำนวนลดลงมากและหายากขึ้น ที่ผ่านมาเป็นที่นิยมบริโภคกันมาก จึงมีพ่อค้าหัวใสนำหอยชนิดอื่นซึ่งมีลักษณะให้เคียงกันมาจำหน่ายแทน
ปัจจุบันหอยหวานจึงเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่คนให้ความสนใจที่จะทำฟาร์มเพาะเลี้ยงกันมากขึ้น เนื่องจากมีราคาสูง และมีตลาดทั้งในและต่างประเทศรองรับ รวมทั้งเป็นสัตว์ทนทาน เลี้ยงง่าย ควรแก่การส่งเสริมให้มีการทำฟาร์มเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ได้
สถาบันฯ จึงได้มีการค้นคว้าวิจัยการเพาะเลี้ยงหอยหวานขึ้น และได้ทำเป็นเอกสารแจกจ่าย ให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจจะเพาะเลี้ยงเพื่ออาชีพ ที่ผ่านมาสถานีวิจัยของสถาบันฯ ได้ทำโครงการการพัฒนาการวิจัยการเพาะเลี้ยงหอยหวานเพื่อให้สามารถขยายงานทดลองในระดับที่ใหญ่ขึ้น โดยมีการตั้งฟาร์มสาธิต และจัดฝึกอบรมเกษตรกรหรือผู้ที่ว่างงานให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพได้ ในชื่อโครงการ "โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงหอยหวาน" ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสิ้น และได้ขยายผลการทดลองมายังโรงเรือนสาธิตเรียบร้อยแล้ว
โดยโรงเรือนสาธิตที่สร้างขึ้นประกอบด้วย 1 โรงเรือน ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา และ 1 ลานเลี้ยง ซึ่งใช้ขยายผลการเลี้ยงหอยหวานจนถึงขนาดตลาด ซึ่งตั้งอยู่ ณ สถานีวิจัยย่อยชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ทั้ง 2 แห่งได้ถูกออกแบบให้ใช้ระบบหมุนเวียนน้ำแบบปิด คือ มีการหมุนเวียนเอาน้ำที่ผ่านการใช้เลี้ยงหอยหวานมาแล้วกลับมาใช้ใหม่ หมุนเวียนอยู่ภายในโรงเรือน น้ำที่ใช้แล้วจะถูกบำบัดด้วยวิธีการทางชีวภาพ โดยใช้สาหร่ายทะเลมาดูดซับเอาสารอาหารออกไป
ดร.วรเทพกล่าวต่อไปว่า ผลสำเร็จจากการวิจัยในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงหอยหวาน ของหน่วยวิจัยการเพาะเลี้ยงและสถานีวิจัยย่อยชะอำ ของสถาบันฯ ได้ถูกนำไปขยายผลในเชิงอนุรักษ์ โดยบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อผลิตลูกหอยหวานปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ และได้ร่วมกับทางบริษัท วีซี สปอต โปรดักชัน และกองพันลาดตระเวน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จัดโครงการ "โต้คลื่นคืนชีวิตพันธุ์หอยหวาน" เพื่อปล่อยลูกหอยหวานที่เพาะเลี้ยงได้คืนสู่แหล่งอาศัย บริเวณอ่าวทุ่งโปรง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
สำหรับพ่อแม่พันธุ์หอยหวานที่นำมาเลี้ยงเพื่อเพาะขยายพันธุ์ ปัจจุบันได้มาจากธรรมชาติซึ่งได้ทำการประมง โดยขนาดของหอยหวานที่เหมาะจะเป็นพ่อ-แม่พันธุ์นั้นควรมีน้ำหนักประมาณ 25 กรัม ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร
สำหรับสถานที่ใช้เลี้ยงสามารถใช้บ่อซีเมนต์ ถังไฟเบอร์กลาส ถังพลาสติก หรือบ่อผ้าใบขึง ที่มีความสูงไม่มากนักประมาณ 70 เซนติเมตร โดยสามารถกักระดับน้ำได้ที่ประมาณ 30-50 เซนติเมตร พื้นบ่อใส่ทรายไว้เพื่อให้หอยฝังตัวซึ่งจะทำการปล่อยพ่อพันธ์–แม่พันธุ์ประมาณ 50-70 ตัวต่อตารางเมตร อาหารที่ใช้เลี้ยงคือปลาเป็ด หรือปลาที่มีคุณภาพดี แต่มีราคาไม่สูงมานัก โดยนำมาหั่นเป็นชิ้นใหญ่ๆ กระจายให้ทั่วบ่อ การให้อาหารนั้นจะให้ประมาณ 2% ของน้ำหนักตัวหอยต่อวัน
โดยจะใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงไม่นานนักก็จะมีการผสมพันธุ์และออกไข่ และใช้เวลาประมาณ 5-6 วันในการฟักตัว รวมเวลาในการเลี้ยงจนเป็นที่ต้องการตลาดคือประมาณ 7-11 เดือน ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับที่เริ่มเลี้ยง และจับขาย การเจริญเติบโตของหอยหวานจนมีน้ำหนักตัวประมาณ 10 กรัม ใช้เวลา 7 เดือน และเมื่อเลี้ยงต่ออีก 2 เดือนก็จะมีน้ำหนักประมาณ 20 กรัม ตามความต้องการของตลาด
ปัจจุบันราคาหอยหวานจากหน้าฟาร์มประมาณกิโลกรัมละ 300 บาท ส่วนในท้องตลาดก็แล้วแต่พ่อค้าคนกลางจะตั้งขาย สำหรับในร้านอาหารนั้นเมื่อปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานจะมีราคาจานละประมาณ 100 บาท ซึ่งจะมีหอยหวานประมาณ 10-15 ตัว โดยทางสถาบันฯ เห็นว่าการเพาะเลี้ยงหอยหวานเพื่อการค้าสามารถดำเนินการได้ง่า่ยและเป็นสัตว์น้ำตัวใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้เป็นที่น่าพอใจ