ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – กรมสุขภาพจิตเตือนภาคเหนือน่าห่วง มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศเกือบ 3 เท่าตัว “เชียงใหม่-ลำพูน” ครองแชมป์ฆ่าตัวตายสูงสุด เร่งตั้งศูนย์ป้องกันฯ หวังลดแนวโน้มโดยเร็ว ชี้โรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหลักถึง 60% แต่สามารถป้องกันและแก้ไขได้ ขณะเดียวกันกำลังจับมือ มช.ศึกษาว่าสภาพวัฒนธรรมท้องถิ่นมีผลต่ออัตราการฆ่าตัวตายหรือไม่ คาดอีก 6 เดือนรู้ผล
นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการเรื่อง “การป้องกันการฆ่าตัวตาย” ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ปัจจุบันในพื้นที่ภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 20 ต่อแสนประชากร สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 7 ต่อแสนประชากรประมาณเกือบ 3 เท่าตัว ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง และมีความจำเป็นที่จะต้องมีการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จลง
เบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุขจะใช้พื้นที่ภาคเหนือในการจัดทำโครงการนำร่องจัดตั้งศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายในภูมิภาค เนื่องจากเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย และใช้โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือในการรักษาอาการโรคซึมเศร้า ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตาย
ขณะที่นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อัตราการฆ่าตัวตายเป็นตัวชี้วัดทางสังคมอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าถึงสภาพความไม่ปกติสุขของสังคม ทั้งนี้ในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,000-5,000 คน
อย่างไรก็ตามกลับเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับความใส่ใจอย่างจริงจังแต่เท่าที่ควร แตกต่างจากกรณีของไข้หวัดนกที่มีผู้เสียชีวิตไม่กี่รายแต่มีการจัดสรรงบประมาณให้จำนวนมากเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหา ขณะที่ในกรณีปัญหาการฆ่ากลับไม่ได้รับความสำคัญมากนัก เพราะถูกมองว่าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ทั้งๆ ที่ผู้ฆ่าตัวตายจำนวนมากนั้นยังไม่สมควรตาย เนื่องจากเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้หากทราบถึงสาเหตุ
“การป้องกันแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในพื้นที่ภาคเหนือมีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน เพราะมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศเกือบ 3 เท่าตัว ซึ่งการทำโครงการนำร่องจัดตั้งศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายในพื้นที่ภาคเหนือ มีศูนย์กลางอยู่ที่โรงพยาบาลสวนปรุง เชียงใหม่นี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะลดอัตราการฆ่าตัวตายในพื้นที่เป้าหมายให้ได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ส่วนนายแพทย์อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การฆ่าตัวตายมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น วัฒนธรรม ค่านิยม ความเจ็บป่วยทางร่ายกายหรือจิตใจ เป็นต้น โดยที่อาการโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 60 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด อย่างไรก็ตามโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ และปัจจุบันทางกรมสุขภาพจิตมีระบบในการจัดการและรักษาพยาบาลโรคนี้ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ดังนั้นหากสามารถนำผู้ป่วยโรคนี้เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลได้ เชื่อมั่นว่าจะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายได้อีกเป็นจำนวนมาก
สำหรับการที่พื้นที่ภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ในระดับที่สูง ในอดีตเคยมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์หรือได้รับเชื้อเอชไอวี แต่การฆ่าตัวตายในปัจจุบันเชื่อว่าไม่น่าจะมีสาเหตุมาจากเรื่องดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถระบุชัดลงไปได้ว่ามีสาเหตุการอะไร
ทั้งนี้เบื้องต้นมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า อาจจะมีสาเหตุเนื่องมาจากสภาพสังคม วัฒนธรรม และค่านิยมของภาคเหนือที่แตกต่างจากภาคอื่น เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ แล้ว ภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่า โดยขณะนี้ทางกรมสุขภาพจิตกำลังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการศึกษาวิจัยว่าสภาพสังคม วัฒนธรรม และค่านิยมของภาคเหนือนั้น มีปัจจัยต่ออัตราการฆ่าตัวตายหรือไม่ คาดว่าอีกประมาณ 6 เดือนน่าจะทราบผลการศึกษา
อนึ่ง ในปี 2547 การฆ่าตัวตายในประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยอยู่ที่ 7.1 ต่อแสนประชากร ในขณะที่ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน พบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 15.6 ต่อแสนประชากร โดยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จรวมทั้งสิ้น 891 คน ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุดจำนวน 309 คน รองลงมาได้แก่ จังหวัดเชียงราย 208 คน และจังหวัดลำพูน 88 คน
อย่างไรก็ตามจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุด คือ จังหวัดลำพูน มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 21.7 ต่อแสนประชากร รองลงมาเป็นจังหวัดเชียงใหม่ มีอัตรา 18.9 ต่อแสนประชากร