xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ยึกยักเปิดประตูเขื่อนปากมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี-กฟผ.ยึกยักเปิดประตูเขื่อนปากมูล ตามมติครม.อ้างชาวบ้านท้ายเขื่อนชุมนุม ห้ามระบายน้ำ เพราะกระทบอาชีพประมง ขณะรองผู้ว่าฯลงพื้นที่เคลียร์ชาวบ้านแล้ว

ตามที่นายจีระศักดิ์ เกษณียบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มีหนังสือสั่งการลงวันที่ 24 พ.ค. 2548 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดประตูระบายน้ำ ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ย.ของทุกปี เพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขงว่ายเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำมูล ตามมติ ครม. โดยเขื่อนปากมูลกำหนดยกบานประตูน้ำขึ้นสูงสุด ภายในวันที่ 31 พ.ค.ศกนี้ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้(29 พ.ค.) นายพิจิตร ศรีแสง รอง ผวจ.อุบลราชธานี ได้นำคณะสื่อมวลชนดูการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล โดยรับฟังปัญหาที่ห้องแชน้อย เขื่อนสิรินธร อ.สิรินธร ซึ่งนายวีระ จำปาแพง หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร และกำกับดูแลเขื่อนปากมูล ได้บรรยายแผนการระบายน้ำออกจากเขื่อน เดิมกำหนดจะทำการลดระดับการเก็บกักน้ำลงเฉลี่ยความสูงวันละ 30-50 เซ็นติเมตร เพื่อไม่ให้กระแสน้ำที่ไหลออกจากเขื่อนอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบกับบ้านเรือนราษฎร และอุปกรณ์จับปลาของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อน

เขื่อนปากมูลได้ทำการระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.ตามคำสั่งของกระทรวงพลังงาน และคำสั่งของจังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่งวันที่ 26 พ.ค.เวลาประมาณ 13.00 น. ได้มีชาวบ้านหัวเห่ว หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 11 นำโดยนายคำตัน เวียงจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหัวเห่ว ประมาณ 100 คน ได้มาชุมนุมอยู่ที่แก่งหินท้ายน้ำ เรียกร้องไม่ให้ กฟผ.เปิดประตูระบายน้ำ โดยอ้างว่าจะทำให้ปลาและกุ้ง ไหลออกจากแม่น้ำมูลเข้าไปสู่ประเทศลาว

การชุมนุมของชาวบ้านกลุ่มนี้ ทำให้เกิดอุปสรรคกับการเปิดเขื่อนปากมูล ไม่สามารถระบายน้ำและเปิดประตูระบายน้ำได้ตามแผน เพราะเกรงว่าน้ำจะไหลท่วมบริเวณที่ราษฎรชุมนุมอยู่ จึงขอให้จังหวัดช่วยแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านมาชุมนุมเรียกร้องให้ด้วย

นายวีระกล่าวต่อว่า แต่ระหว่างการชุมนุมของชาวบ้าน กฟผ.ได้ใช้วิธีระบายน้ำ ผ่านท่อส่งน้ำของระบบวอเตอร์โฟลว์(Water Flow) โดยตั้งแต่วันที่ 24-28 พ.ค. เขื่อนปากมูลสามารถลดระดับการเก็บกักน้ำจาก 106.5 รทก.(เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) ลงมาอยู่ที่ 103.94 รทก. และระดับน้ำท้ายเขื่อนเมื่อวันที่ 28 พ.ค.อยู่ที่ระดับ 95.90 รทก.

การปรับลดระดับน้ำหน้าเขื่อนและท้ายเขื่อน ลงมาอยู่ในระดับเท่ากันคือ 95.5 รทก. โดยผ่านระบบดังกล่าว อาจทำให้การเปิดบานระบายน้ำช้าออกไปจากกำหนดอีกราว 10-15 วัน แต่ กฟผ.จะพยายามแก้ปัญหาให้สามารถยกบานระบายน้ำได้ทั้ง 8 บาน เพื่อไม่ให้ขัดกับมติ ครม.ที่มีไว้ ส่วนการนับวันเปิดให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.เป็นต้นไป

ด้านนายพิจิตร ศรีแสง รอง ผวจ.กล่าวถึงการชุมนุมของชาวบ้าน ที่ท้ายเขื่อนว่า จังหวัดจะเข้าไปชี้แจงให้ประชาชนที่ชุมนุมเข้าใจ เพราะชาวบ้านเข้าใจว่า การเปิดประตูจะทำให้ผู้อยู่ท้ายน้ำจับปลาไม่ได้ แต่ความจริงการเปิดประตูระบายน้ำ ชาวบ้านที่อยู่หน้าเขื่อนและท้ายเขื่อน ก็ล้วนได้ประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ที่สำคัญ คือ ต้องทำตามมติ ครม. ซึ่ง กฟผ.ก็รับปากว่าจะพยายามเปิดประตูระบายน้ำให้ได้ แม้อาจต้องใช้เวลาในการเปิดบ้าง และคาดว่าระดับน้ำหน้าเขื่อนปากมูลในวันที่ 31 พ.ค. จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 102 รทก.

ก็หมายความว่า เขื่อนปากมูลไม่สามารถผลิตกระแสไฟได้แล้ว จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไม่เปิดประตูระบายน้ำตามคำสั่งของรัฐบาล

ต่อมานายพิจิตรได้เดินทางไปพบนายคำตัน และชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่ที่แก่งกลางแม่น้ำมูลท้ายเขื่อนปากมูล โดยนายคำตันได้ยื่นหนังสือเรียกร้องจำนวน 3 ข้อ ประกอบด้วย

1.ถ้า กฟผ.ต้องเปิดประตูระบายน้ำตามมติ ครม.เป็นเวลา 4 เดือน กฟผ.ต้องจ่ายเงินชดเชยเป็นค่าเสียโอกาสจับปลา ให้แก่ชาวบ้านหัวเห่วครอบครัวละ 20,000 บาทต่อเดือน หรือปีละ 80,000 บาท

2.ให้จังหวัดประสานให้รัฐบาลทำโครงการปล่อยกุ้ง ปล่อยปลาลงแม่น้ำมูลเป็นการถาวรทุกปี 3.ให้จังหวัดประสานกับ กฟผ.จ้างชาวบ้านเข้าเป็นแรงงาน เพื่อให้มีงานทำครอบครัวละ 1 คน ถ้าไม่ได้รับคำตอบชาวบ้านที่ชุมนุมทั้งหมด จะติดตามไปทวงถามถึงจังหวัดภายใน 15 วัน

นายพิจิตรได้รับหนังสือเรียกร้องของชาวบ้าน พร้อมจะส่งหนังสือไปยังรัฐบาล และได้กำชับให้ กฟผ.จัดหาเครื่องชูชีพ และทุ่นต่างๆให้ชาวบ้าน หากไม่ยอมออกจากแก่งหินที่ชุมนุมกันอยู่ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น