xs
xsm
sm
md
lg

“400 ปีรำลึกพระองค์ดำ” เมืองสองแควเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - เสียงสะท้อนงาน 400 ปีแห่งการสวรรคตพระองค์ดำ เมืองสองแควเหลวไม่เป็นท่า แม้ละเลงงบฯไปถึง 10 ล้านบาท


เอกสารประชาสัมพันธ์หลายหน่วยงานระบุ งาน 400 ปี แห่งการสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่จัดขึ้นระหว่าง 15-22 พฤษภาคม 2548 เป็นงานใหญ่ของจังหวัดพิษณุโลก จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ดำ พระผู้ทรงมีพระคุณอันยิ่งใหญ่ต่อชาติไทย ที่ตามประวัติศาสตร์แล้วย้อนหลังไปเมื่อวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8 ปี มะเส็ง พ.ศ.2148 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชพร้อมกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงยกทัพหลวงไปตีเมืองอังวะ

โดยเมื่อทัพหลวงไปถึงเมืองหางหรือห้างหลวง สมเด็จพระนเรศวรทรงประชวรเป็นฝีระลอกขึ้นที่พระพักตร์ และเกิดเป็นพิษทำให้พระองค์ดำเสด็จสวรรคต พระชนม์พรรษาเพียง 50 ปี ครองราชสมบัติได้ 15 ปี

พิษณุโลกเป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ที่จัดพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณของพระองค์ดำขึ้น ณ พระราชวังจันทน์ สถานที่พระราชสมภพ มีพระสงฆ์ 400 รูป ประกอบพิธีอัญเชิญเครื่องราชสักการะเป็นทัพหลวง ซึ่งกองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบ กลางคืนจัดแสดงละครเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ เขียนและกำกับการแสดงโดยหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้แสดงจากกันตนา ระยะเวลา 3 วันนับแต่วันที่ 15 พ.ค.48

หลังจากนั้นจะเป็นการแสดงโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามตลอด พร้อมกับจัดแสดงนิทรรศการพระราชพระวัติของพระองค์ดำ และจัดแสดงพระเครื่องบูชา อาทิ พระกริ่งนเรศวร ชินราชรุ่นต่างๆ ณ ศาลาประชาคม ข้างศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งถือว่าเป็นรูปธรรมที่สุดของงาน นอกจากนี้ในวันที่ 20-21 พ.ค.มีการจัดประกวดไก่ชนพระนเรศวรและสุนัขบางแก้ว สัตว์เอกลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลก

คณะทำงานฯ ตั้งเป้าหมายว่าจะจัดงาน 400 ปีให้ยิ่งใหญ่ โดยโฆษณาผ่านสื่อผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ ที่ตั้งงบประมาณไว้สูงระดับ 5 แสนบาท พร้อมระบุถึง “ให้ทุกภาคส่วนทั้งราชการและเอกชนและประชาชนร่วมจัดงาน โดยประดับบ้านเรือนด้วยธงตราสัญลักษณ์ โคมแขวนและร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานโดยแต่งกายย้อนยุคโดยพร้อมเพียงกัน”

แต่ความเป็นจริง หลังจากเริ่มงานมาได้ 4 วัน จนถึงวันนี้ (19 พ.ค.48) งาน 400 ปีแห่งการสวรรคตพระองค์ดำกลับตาลปัตร ภายในตัวเมืองพิษณุโลกมีเพียงการประดับตุงกระดาษ เพียงแค่สะพานนเรศวร และวงเวียนในตัวเมืองอีกแค่จุดเดียว อาคารบ้านเรือนไร้การประดับประดาใดๆ แม้กระทั่งธงชาติ แม้ว่าสำนักงานวัฒนธรรมพิษณุโลก ตั้งงบประมาณสั่งซื้อตุงไว้จำนวน 1 พันชิ้น ขณะที่ก็มีตราธงสัญลักษณ์เล็กๆ พอมีจำหน่ายที่หน้าศาลากลาง การแต่งกายย้อนยุคก็ปรากฏเพียงในงานแค่วันแรกเท่านั้น

สิ่งที่พอบอกได้ว่า พิษณุโลกจัดงานยิ่งใหญ่ก็คือ ซุ้มแผงพระ ซุ้มเบียร์สิงห์ และคาราวานสินค้าหลังศาลากลางพิษณุโลกจำนวนกว่า 50 บูธ ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดหารายได้หรือไม่ และอัตราค่าเช่าล็อกของจริง ควรเป็น 3 พันหรือ 7 พันกันแน่

เจ้าของร้าน “เซรามิก จากลำปาง” 1 ใน 50 ร้านค้า หลังศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เล่าว่า ปริมาณคนเที่ยวงานคนน้อยมาก แต่ต้องจ่ายค่าเช่าถึง 7 พันบาท ตามสัญญาระบุให้ขายจำนวน 7 วัน ก็ยังไม่รู้จะคุ้มค่าเช่าหรือไม่

ส่วนเจ้าของร้าน “ผลิตภัณฑ์ผ้า-ฝ้าย ลำพูน” บอกว่า เพิ่งขายผ้ามาจากจังหวัดอื่น แต่ดูแล้วไม่ค่อยดี ขายไม่ได้ เพราะถนนไม่ได้ปิด มีรถวิ่งเข้าออกตลอดเวลา พร้อมคนเดิน ช่วงกลางคืนนอนเฝ้าร้าน ก็ต้องหันศีรษะไปอีกด้าน เพราะกลัวรถเสียหลักวิ่งทับหัว

“ร้านครรชิตเกมส์ไม้” ระบุว่า ค้าขายเงียบ อาจต้องกลับก่อนงาน เพราะอยู่ไปก็ขายไม่ได้ บังเอิญมีเพื่อนร่วมค้าอยู่ ที่มาขายในงานนี้ก็ไม่รู้ว่างานเล็กขนาดนี้ เพราะมีเอกสารเชิญชวนที่ผ่านมายังพัฒนาชุมชน

นั่นคือเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้น หลังจากที่จังหวัดพิษณุโลกจัดงาน 400 ปีแห่งการสวรรคตของพระองค์ดำ ภายใต้งบประมาณครั้งแรกตั้งไว้ 7 ล้านบาท โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิษณุโลก สนับสนุน 3 ล้านบาทเพื่อจัดงานแสง สี เสียง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) สนับสนุน 3 ล้านบาทเน้นเฉพาะเพื่องานบวงสรวง พิธีสงฆ์ 400 รูปและพระเครื่อง

เทศบาลนครพิษณุโลกสนับสนุน 1 ล้านบาท ติดตั้งตบแต่งงานประดับเมือง (ตุงชัก ตุงแขวน) กระทั่งขยับงบประมาณเป็นระดับ 10 ล้านบาทอย่างเร่งด่วน เพิ่มงบประมาณจัดแสดง แสง สี เสียง ของ อบจ.พิษณุโลกอีก 2.5 ล้านบาท เป็น 5.5 ล้านบาท และวัดใหญ่เพิ่มงบประมาณอีก 1 ล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น