ศูนย์ข่าวขอนแก่น-โรงงานผลิตเอทานอล แห่ลงทุนตั้งโรงงานในภาคอีสาน 12 โรงงาน จาก 25 โรงงาน หวังใช้วัตถุดิบ อ้อย และมันสำปะหลังที่ปลูกมากในภาคอีสาน หวั่นเกิดปัญหาแย่งชิงวัตถุดิบรุนแรงระหว่างโรงงานแปรรูปเดิมกับโรงงานเอทานอล นักวิชาการแนะทางออก ส่งเสริมพืชวัตถุดิบใหม่ "ข้าวฟ่างหวาน" ปลูกในเชิงอุตสาหกรรม ชี้จุดเด่นปลูกได้ตลอดทั้งปี ให้ผลผลิตมากกว่าอ้อยถึง 3 เท่า และกลั่นเป็นเอทานอลได้ไม่ต่างกัน
สถานการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน ที่ภาครัฐปล่อยให้ลอยตัวตามกลไกตลาด ส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันเบนซิน 91 และ 95 เคลื่อนมาอยู่ที่ระดับ 21-22 บาท/ลิตร จากเดิมที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 11-12 บาท/ลิตรมานาน ทำให้พลังงานทดแทน มีความสำคัญทันที หนึ่งในนั้นคือ เอทานอล หรือ แอลกอฮอล์จากพืช ที่จะมาผสมกับน้ำมันเบนซิน 91 / 95ในสัดส่วน 10% เป็นเชื้อเพลิง แก๊สโซฮอล์ เติมในเครื่องยนต์เบนซิน
พืชวัตถุดิบที่มาผลิตเป็นเอทานอล เป็นพืชที่ให้แป้งและน้ำตาล อาทิ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด กากน้ำตาล โดยข้าวไม่เหมาะนำมาแปรรูปเป็นเอทานอล เพราะมูลค่าลดลง เมื่อเทียบกับการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ มีอ้อย กากน้ำตาล และมันสำปะหลัง ที่อุตสาหกรรมแปรรูปเอทานอล สนใจจะใช้เป็นวัตถุดิบ ซึ่งพืชวัตถุดิบเหล่านี้ส่วนใหญ่ปลูกมากในภาคอีสาน
ภาคอีสาน จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายของการลงทุนตั้งโรงงานผลิตเอทานอล อ้อยโรงงานแต่ละปีมีผลผลิตรวมทั้งประเทศประมาณ 50 ล้านตัน ประมาณ 40% ของผลผลิตทั้งประเทศอยู่ในภาคอีสาน ส่วนมันสำปะหลังมีผลผลิตต่อปีประมาณ 18-20 ล้านตัน ประมาณ 60% อยู่ในภาคอีสานเช่นกัน ภาคอีสานในอนาคตจะสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางผลิตเอทานอลของประเทศ
ข้อมูลโรงงานผลิตเอทานอล ที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ จำนวน 23 บริษัท 25 โรงงาน กำลังผลิตรวม 4,060,000 ลิตร/วัน ส่วนใหญ่เลือกเข้ามาลงทุนในภาคอีสาน เพื่อใช้วัตถุดิบผลิต โดยมีโรงงานขอตั้งอยู่ในภาคอีสาน 12 โรงงาน กระจายอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา 5 โรงงาน ขอนแก่น 2 โรงงาน ชัยภูมิ 2 โรงงาน อุดรธานี 2 โรงงาน และหนองบัวลำภู 1 โรงงาน มีกำลังผลิตรวมกันทั้งสิ้น 1,975,000 ลิตร/วัน
ส่วนพื้นที่อื่น ภาคกลางมีโรงงานรวม 9 แห่ง คือ กาญจนบุรี นครปฐม เพชรบูรณ์ สระบุรี และและอยุธยา จังหวัดละ 1 โรงงาน และราชบุรี สุพรรณบุรี จังหวัดละ 2 โรงงาน ภาคตะวันออก 4 โรงงานคือ ปราจีนบุรี และระยอง จังหวัดละ 1 โรงงาน และสระแก้ว 2 โรงงาน
ทั้งนี้โรงงาน 25 แห่ง แจ้งการใช้วัตถุดิบอ้อยและกากน้ำตาลถึง 17 โรงงาน มีกำลังผลิต 2,210,000 ลิตร/วัน ส่วนที่เหลือใช้มันสำปะหลังมีกำลังผลิต 1,850,000 ลิตร/วัน ส่วนเป้าหมายกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 4,060,000 ลิตร/วัน ในจำนวนนี้ผลิตได้แล้วประมาณ 275,000 ลิตร/วัน ในปี 2547 และผลิตเพิ่มได้อีกประมาณ 715,000 ลิตร/วัน ภายในสิ้นปี 2548 ส่วนที่เหลือคาดว่าจะผลิตได้ตามประมาณการภายในปี 2549
จุดที่น่าเป็นห่วงคือ วัตถุดิบที่จะนำมาผลิตเป็นเอทานอล อาจไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงานแปรรูป วัตถุดิบหลักคือ มันสำปะหลัง และอ้อย แม้จะปลูกมากในภาคอีสาน แต่พืชเศรษฐกิจเหล่านี้ ก็มีอุตสาหกรรมแปรรูปรองรับอยู่ หากมีอุตสาหกรรมใหม่ ที่ต้องการใช้พืชเหล่านี้เพิ่ม อาจจะเกิดปัญหาแย่งชิงวัตถุดิบเข้าโรงงานได้
ขณะเดียวกันหากไม่สามารถบริหารจัดการวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจส่งผลให้ขาดแคลนวัตถุดิบได้เช่นกัน เนื่องจาก ฤดูเก็บเกี่ยวอ้อยและมันสำปะหลังจะใกล้เคียงกัน คือระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึง เมษายน หลังจากนั้นจะมีวัตถุดิบป้อนโรงงานน้อยลง
กรณีภัยแล้งปี 2547/2548 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน ความรุนแรงของภัยแล้ง ทำลายผลผลิตอ้อย และมันสำปะหลัง เสียหายหนักมากในรอบหลายปี โดยมันสำปะหลังที่คาดว่าจะมีผลผลิต 22-23 ล้านตัน กลับเหลือผลผลิตไม่ถึง 16 ล้านตัน
ขณะที่อ้อยโรงงานเสียหายมากกว่า 10 ล้านตัน กระทบต่อกลไกราคารับซื้อผลผลิตพุ่งสูงขึ้น มันสำปะหลังจากที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 0.85-1.20 บาท/กก. กลับมาอยู่ที่ระดับ 1.70-1.80 บาท/กก. ขณะที่ราคารับซื้ออ้อยสูงกว่าราคาประกันมาก เพิ่มต้นทุนการผลิตให้กับอุตสาหกรรมสูงขึ้น ที่สำคัญ เกิดปัญหาแย่งชิงวัตถุดิบอ้อย และมันสำปะหลัง เข้าโรงงาน ยังไม่นับรวมอุตสาหกรรมใหม่ คือโรงงานเอทานอล ที่จะเกิดขึ้นอีกมากในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งการเดินเครื่องจักรผลิตเอทานอล ต้องต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งปี เพื่อให้คุ้มต่อการลงทุน
ทางออกหาพืชวัตถุดิบเสริมผลิต
รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เสนอทางออกของการจัดการวัตถุดิบรองรับกับอุตสาหกรรมใหม่ว่า โรงงานผลิตเอทานอล ควรออกแบบให้ยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบได้ทั้งมันสำปะหลัง น้ำอ้อย และกากน้ำตาล จนถึงการสรรหาพืชชนิดใหม่มาส่งเสริมปลูกให้เพียงพอต่อโรงงานผลิตเอทานอลที่จะเพิ่มขึ้น
อ้อยและมันสำปะหลัง ใช้เวลาปลูกเกือบ 1 ปี จึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวใกล้เคียงกันคือประมาณปลายเดือนตุลาคมจนถึงเดือนเมษายน หลังจากนั้นโรงงานกลั่นเอทานอลจะขาดแคลนวัตถุดิบมาผลิต ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตเอทานอลไม่เต็มกำลังผลิต ถือเป็นการสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจ ไม่คุ้มต่อการลงทุน
รศ.ดร.ประสิทธิ์ กล่าวว่าจากการศึกษาของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่า ข้าวฟ่างหวานเป็นพืชที่เหมาะจะผลิตเอทานอล จากน้ำคั้นของลำต้นมีความหวานใกล้เคียงกับอ้อย สามารถนำไปหีบเพื่อเอาน้ำคั้นมาหมักเป็นเอทานอลได้ไม่ต่างจากอ้อย โดยให้ผลผลิตเอทานอล 70 ลิตร/ข้าวฟ่างหวาน 1 ตัน
จุดเด่นข้าวฟ่างหวาน คือ ให้ผลผลิตได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ปลูกเพียง 100-120 วันเท่านั้น ก็ สามารถเก็บเกี่ยวส่งโรงงานได้ เมื่อเทียบกับอ้อยแล้ว ข้าวฟ่างหวานให้ผลผลิตสูงกว่าถึง 3 เท่าตัว ซึ่งข้าวฟ่างหวานสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ใช้เวลาปลูกเพียง 100-120 วัน สามารถเก็บเกี่ยวส่งเข้าโรงงานเอทานอลได้ ดังนั้นรอบระยะเวลา 1 ปีข้าวฟ่างหวาน จะให้ผลผลิตถึง 3 ครั้ง
ลักษณะการปลูกข้าวฟ่างหวาน อาจใช้แนวทางปลูกเสริมในช่วงที่อ้อยและมันสำปะหลัง ไม่มีผลผลิตตั้งแต่พฤษภาคม จนถึงตุลาคม หรือปลูกตลอดทั้งปี โดยโรงงานผลิตเอทานอล สามารถปรับเครื่องจักรเล็กน้อย นำต้นข้าวฟ่างหวานมาเป็นวัตถุดิบ ผลิตเอทานอลได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี
รศ.ดร.ประสิทธิ์กล่าวว่า ผลงานวิจัยพืชพลังงาน กำลังเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการโรงงานเอทานอล เฉพาะในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นโรงงานน้ำตาลขอนแก่น และกลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล วางแผนที่จะนำข้าวฟ่างหวานมาใช้เป็นวัตถุดิบเสริมผลิตเอทานอลของโรงงานแล้ว โดยโรงงานน้ำตาลขอนแก่นได้ทดลองปลูกข้าวฟ่างหวานเมื่อต้นปี 47 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 5-6 ตัน/ไร่ และสามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 15 ตัน/ไร่ หากปลูกในเขตชลประทาน
เชื่อมั่นว่า ข้าวฟ่างหวานจะเป็นพืชเศรษฐกิจหลักตัวใหม่ของเกษตรกรอีสาน สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ตลอดทั้งปี โดยแหล่งรับซื้อหลักคือโรงงานผลิตเอทานอล โดยนักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมให้การสนับสนุนงานด้านวิชาการ เพื่อให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตสูงต่อการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม