xs
xsm
sm
md
lg

"100วันสึนามิ"ยังวังเวง -ทวงสัญญา"ทักษิณ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"อันดามันวิปโยค" เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในมหาสมุทรอินเดีย ใกล้กับเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์ "สึนามิ" ตามมาและซัดถล่มชายฝั่งใน 6 จังหวัดอันดามันของไทย โดยภูเก็ต-พังงา-กระบี่โดนไปเต็มๆ ส่วนระนอง-ตรัง-สตูล ก็บอบช้ำตามๆ กัน

จนถึงขณะนี้ครบรอบ 100 วันมหันตภัยสึนามิ แต่ปรากฏว่า พื้นที่ที่โดนสึนามมิถล่ม ตลอดจนคนที่สูญเสียบ้าน หรือธุรกิจ ทั้งชาวบ้านตาดำๆ ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือเจ้าของรีสอร์ต โรงแรมหรู ยังมีสภาพไม่แตกต่างจากวันที่ประสบภัยคลื่นสึนามิลถ่มสักเท่าไหร่

*** คำสัญญาของ "ทักษิณ"

หลังเกิดการช่วยเหลือเยียวยามากมาย ได้หลั่งไหลลงสู่พื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร นายกรัฐมนตรี จัดเวิร์กชอปรอบแล้วรอบเล่า ที่หวังจะฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่แต่ละปีทำเงินเข้าประเทศหลายพันล้านบาท โดยการประชุม "แผนฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบภัย 6 จังหวัดภาคใต้" ที่ภูเก็ต เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2548รัฐได้จัดงบฯกลางวงเงิน 15,972 ล้านบาทเพื่อให้การช่วยเหลือ รวมทั้งยังมีเงินบริจาคอีก 962 ล้านบาท โดยเน้นการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน และผนวกด้านการท่องเที่ยว

จากนั้น วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2548 หลังประกาศผลการเลือกตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ย้อนมาที่บริเวณเขาหลัก อีกครั้ง เพื่อร่วมประชุมกับผู้ประกอบการ พร้อมประกาศว่า "เมื่อพี่น้องชาวพังงาเขต 2 ไว้วางใจ ผมก็ไม่ทิ้งชาวพังงา และจะต้องฟื้นฟูเขตนี้ก่อนแน่นอน"

ขณะเดียวกัน นายกฯรับคำกับผู้ประกอบการด้วยว่า ต้องฟื้นเขาหลักให้ได้ก่อนพื้นที่อื่น รัฐบาลจะไม่ทิ้งเขาหลัก จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งเงินทุนก้อนใหม่ และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะเร่งขจัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวของเขาหลักให้ด้วย และวาดฝันด้วยว่า เขาหลัก ต้องพร้อมรับนักท่องเที่ยวได้ภายในไฮซีซัน และอยากเห็นภาพโรงแรมเขาหลักฟื้นขึ้นมาพร้อมๆ กันในไฮซีซันหน้า และยังให้ความหวังอีกว่า เมื่อเขาหลักฟื้น จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามามากกว่าเดิมแน่นอน

แต่ต้องนับว่าเป็นเรื่องแปลกมาก ที่วันเวลาผ่าน 100 วันเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มไปแล้ว ณ วันนี้พื้นที่บริเวณ "เขาหลัก" ทำไมจึงยังเต็มไปด้วยพื้นที่ว่างเปล่า และรายล้อมด้วยบรรยากาศอันสุดแสนจะเงียบเหงาและวังเวง

ความบอบช้ำของ "ผู้ประกอบการ"

สำหรับตัวเลขความเสียหายของผู้ประกอบการในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน ที่อยู่ในแฟ้มของกระทรวงการคลัง นาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯและรมว.คลังเปิดเผยว่า มีประมาณ 11,000 ราย ในจำนวนนี้ได้ยื่นขอความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นวงเงิน 54,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้อนุมัติไปแล้ว 42,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้ประกอบการกว่า 9,000 ราย ทำให้มีผู้ประกอบการที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้วประมาณ 85% หรือคิดเป็นเงิน 78%

ส่วนเม็ดเงินจะถูกส่งถึงมือผู้ประกอบการ ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ และต้องใช้ระยะเวลายาวนานเท่าใด ยังเป็นข้อกังขาของกลุ่มผู้ประกอบการที่ต่างก็นั่งกอดเข่ารออยู่

นายยรรยง ข้อเพชร กรรมการผู้จัดการโรงแรมเขาหลักลากูน่า กับโรงแรมเขาหลักบันดารี และกรรมการสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นที่เขาหลัก มากกว่า 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายของผู้ประกอบการโรงแรมและรีสอร์ต ประมาณ 7,000- 8,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นความเสียหายในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน

หลังเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน มีการประเมินว่า บริเวณเขาหลักที่มีโรงแรมและรีสอร์ตหรูอยู่กว่า 5,500 ห้อง ได้ตกเป็นเหยื่อคลื่นยักษ์สึนามิไปเกือบ 5,000 ห้อง มีเหลือรับนักท่องเที่ยวได้เพียง 600-800 ห้อง ซึ่งความเสียหายเหล่านี้ได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านบาททีเดียว เพราะในแต่ละปี เขาหลักจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 5,000-6,000 ล้านบาท

ผู้ประกอบการที่เขาหลักอีกรายคือ พิชัย นิลทองคำ เจ้าของโรงแรมอมันดาเลย์ บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา กล่าวว่า ได้กู้เงินจากธนาคารนครหลวงไทยมาลงทุน 100 ล้านบาท และเตรียมเปิดรับแขกชุดแรกเข้าพักวันที่ 26 มกราคม 2548 แต่กลับต้องมาถูกคลื่นยักษ์สึนามิชิงตัดหน้า กวาดทรัพย์สินหายทั้งหมดแค่เพียงคืนเดียว ซึ่งนับว่าเป็นความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส

ขณะที่ผู้ประกอบการบนเกาะพีพี จ.กระบี่ นาย วันเลิศ กิตติธรกุล ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมพีพีคาบาน่าไอร์แลนด์ เล่าว่า โรงแรม รีสอร์ตและบังกะโลทั้งขนาดใหญ่และเล็ก บริเวณด้านหน้าของเกาะพีพี ประมาณ 30 แห่งเสียหายหมด ส่วนโรงแรมที่อยู่ด้านหลังเกาะมีภูเขาบังคลื่นเข้าไม่ถึงเลยรอด

ทั้งนี้ ความเสียหายของโรงแรมบนเกาะพีพีมี อาทิ ต้นไทรวิลเลจ 50 ห้อง, ช่องเขาบังกะโล 100 ยูนิต, พีพีไอร์แลนด์คาบาน่า 203 ห้อง, พีพีปริ้นเซส 92 ยูนิต, พีพีชาลี บีช 80 ยูนิต, พีพีโฮเต็ล 64 ยูนิต, พีพีบันยันทรี 70 ยูนิต, พีพีพาวิลเลียนรีสอร์ท 50 ยูนิต เป็นต้น

นอกจากนี้ บังกะโลเล็กๆ อีกจำนวนมากที่เสียหายทั้งหมด โดยแทบไม่เหลือซาก ขณะที่โรงแรมบริเวณด้านหน้าของเกาะพีพีประมาณ 30 แห่งรวมกว่า 6,000 ห้อง ขณะนี้เหลือที่ยังพอดูได้ไม่ถึง 300 ห้องเท่านั้น

ล่าสุดศูนย์ประสานงานองค์กรความร่วมมือ ผู้ประกอบรายย่อย แรงงานและชุมชนเกาะพีพี ได้สรุปความเสียหายแบ่งเป็น 10 กลุ่มคือ โรงแรม เกสต์เฮาส์ บังกะโล 90 แห่ง มูลค่า 1,331,485,821 บาท, ร้านอาหารและบาร์เบียร์ 93 แห่ง 123,037,567 บาท, ธุรกิจดำน้ำ 19 แห่ง 49,942,474 บาท, เรือหางยาว 198 ลำ 14,664,610 บาท, ออฟฟิศทัวร์ 54 แห่ง 42,788,615 บาท, เรือเร็ว 27 ลำ 9,495,550 บาท, ร้านค้า 236 แห่ง 262,695,251 บาท, แผงลอย 86 แห่ง 13,117,107 บาท, ร้านนวดและร้านสัก 32 แห่ง 10,904,510 บาท และกลุ่มอื่นๆ อีก 2 แห่ง 464,766 บาท โดยรวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดได้เป็น 1,858,866,271 บาท

ขณะที่ความเสียหายของภูเก็ต พื้นที่เสียหายหนักสุดอยู่ที่หาดป่าตอง ซึ่งมีห้องพักมากถึง 8,000-9,000 ห้อง ในจำนวนนี้เสียหายประมาณ 15% แต่ภาพรวมทั้งจังหวัดความเสียหายไม่เกิน 10% จากห้องพักที่มีอยู่กว่า 30,000 ห้อง

นายสมบูรณ์ จิรายุส กรรมการผู้จัดการโรงแรมป่าตองเมอร์ลิน หาดป่าตอง บอกว่า โรงแรมในเครือเมอร์ลินกรุ๊ปมีอยู่ในภูเก็ต 4 แห่ง โดยอยู่ในตัวเมืองภูเก็ต 1 แห่งคือโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน ส่วนที่เหลือ 3 แห่งอยู่ตามชายหาดต่างๆ คือโรงแรมป่าตองเมอร์ลิน โรงแรมเมอร์ลิน บีช รีสอร์ท ที่หาดไตรตรัง ป่าตองเหมือนกัน และโรงแรมเขาหลักเมอร์ลิน รีสอร์ท อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2547

"ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงแรมในเครือเมอร์ลินกรุ๊ปทั้ง 3 แห่ง คิดเป็นวงเงินประมาณ 600 ล้านบาท"นาย สมบูรณ์ยืนยัน

"เขาหลัก" ดิ้นกู้สถานการณ์

หลังตั้งสติได้ผู้ประกอบการ 40-50 รายย่านเขาหลัก ได้หารือกันที่โรงแรมเขาหลัก รีสอร์ต เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2548 ซึ่งได้ข้อสรุปเป็นมาตรการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล คือ ให้สถาบันการเงินพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 5 ปี และหลัง 5 ปีขอให้คิดดอกเบี้ยในราคาพิเศษ

ในส่วนของหนี้ใหม่ที่จะขอกู้มาซ่อมแซม ขอให้กำหนดวงเงินกู้ตามความเสียหายจริง โดยปีแรกให้คิดดอกเบี้ยในอัตรา 0.25% ปีที่ 2 และ 3 อัตรา 0.50% และให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ แบบทุ่มเงินลงมาพร้อมกันทีเดียว เพื่อผู้ประกอบการจะได้ลงทุนก่อสร้างพร้อมๆ กันทั้งหมด

หรือให้รัฐตั้งกองทุนแล้วสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาวให้เอกชนเช่าบริหารระยะเวลา 50 ปีในที่ดินของเอกชน หรือหากเป็นที่ดินแปลงย่อยให้รัฐใช้ พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินจัดเป็นแปลงใหญ่ เพื่อที่รัฐจะควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดระเบียบได้ พร้อมกับให้บีโอไอเข้ามาสนับสนุน การลงทุน

ปรากฏว่า ข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้รับการขานรับจากภาครัฐ และได้รับการตอบสนองจากสถาบันการเงินเป็นอย่างดี

เปิด "ตู้เซฟ" ภาครัฐ

สำหรับแหล่งเงินทุนรอบใหม่ที่จะให้การช่วยเหลือ นาย สมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ได้กำหนดมาตรการไว้แล้ว ประกอบด้วย

ด้านสินเชื่อแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ให้การช่วยเหลือสินเชื่อที่มีเงื่อนไขแบบผ่อนปรน(ซอฟต์โลน) ดอกเบี้ย 2% โดยมีวงเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย 30,000 ล้านบาท ธนาคารรัฐและเอกชนอีก 75,000 ล้านบาท สินเชื่อเพิ่มเติมแต่ละสถาบันการเงิน เช่น การยืดเวลาชำระหนี้ งดคิดดอกเบี้ย ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม เป็นต้น

ด้านการร่วมทุนได้ตั้ง 2 กองทุน คือ สมาคมธนาคารไทย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ธนาคารออมสิน ธนาคารนครหลวงไทยวงเงิน 3,000 ล้านบาท และกองทุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (สสว.) อีก 2,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูธุรกิจเอสเอ็มอี รวมทั้งมาตรการต่างๆ และมาตรการทางด้านภาษี

ทั้งนี้ใน 6 จังหวัดมีเอสเอ็มอีที่ได้รับความเสียหายประมาณ 4,400 ราย พร้อมทั้งมีกองทุนที่จะไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่ขาดเงิน โดยมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทอีก 2,000 ล้านบาท และเงินกองทุนจากประกันสังคมอีก 5,000 ล้านบาท โดยจะเข้าไปถือหุ้นไม่เกิน 10-40% ใช้เวลาลงทุนประมาณ 7 ปี

ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม ถ้าหากผลกระทบไม่มากทางธนาคารเอสเอ็มอี สามารถอนุมัติเงินกู้ให้ผู้ประกอบการได้ทันทีในวงเงินเริ่มต้นที่ 500,000 บาท แต่หากสูงกว่านี้จะต้องใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ทุกธนาคารจะเร่งฟื้นฟูธุรกิจโดยเร็วที่สุด โดยมาตรการให้การช่วยเหลือที่เป็นสินเชื่อเก่าจะผ่อนปรนเป็นพิเศษ ด้วยการขยายเวลาการชำระหนี้ ปรับลดดอกเบี้ย ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และแปลงหนี้เป็นทุน

ส่วนหนี้ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อการฟื้นฟู ได้กำหนดเงื่อนไขพิเศษให้ โดยดอกเบี้ย 2% และปลอดดอกเบี้ยในปีแรก รวมทั้งร่วมลงทุนในกองทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการสามารถติดต่อได้ที่สาขาของทุกธนาคารที่ได้เปิดหน้าตักที่เตรียมไว้ให้แล้ว

โวย "แบงก์" ไม่จริงใจ

อย่างไรก็ตาม แม้สถาบันการเงินจะประกาศการให้ความช่วยเหลือมากมาย แต่ผู้ประกอบการยังยืนยันว่า ขั้นตอนการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ยังคงยากเย็นแสนเข็ญ ล่าช้า และจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันตามเงื่อนไขเดิมทุกประการ ไม่ได้เป็นการพิจารณาสินเชื่อแบบพิเศษตามที่ได้วางมาตรการไว้แต่อย่างใด

นายชาญณรงค์ เตชะรณกิจ ตัวแทนผู้ประกอบการจากเกาะพีพี และมีโรงแรมที่ได้รับความเสียหาย 2 แห่งมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท แต่ได้ขอกู้เงินมาลงทุนใหม่ในโรงแรมเพียงแห่งเดียววงเงิน 150 ล้านบาท กล่าวว่า ได้ขอสินเชื่อเพื่อมาลงทุนใหม่กับผู้บริหารสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง แต่ก็ต้องสะอึกด้วยคำตอบที่เป็นเงื่อนไขว่า ต้องมีสัญญาเช่าที่ดินบนเกาะพีพีระยะเวลาประมาณ 20 ปี และหลักทรัพย์ค้ำประกันอีก 150 ล้านบาท

ด้าน นายภคิน รักแต่งาม กรรมการผู้จัดการบริษัทบุญฑริกาวิลล่า จำกัด เจ้าของรีสอร์ตบริเวณหาดลายัน 23 หลัง โดยเพิ่งสร้างเสร็จและกำหนดเปิดให้บริการวันที่ 28 ธันวาคม 2547 แต่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิซัดพังเสียก่อนเพียง 2 วัน กล่าวว่า เกิดความเสียหายรวม 70 ล้านบาท ได้ยื่นขอสินเชื่อมาลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงรีสอร์ตใหม่ จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับคำตอบจากธนาคาร

"ตอนแรกผมสู้ 100% จะขอสินเชื่อแบงก์มาลงทุนใหม่ แต่เมื่อไปยื่นเรื่องกลับปรากฏว่ามีเงื่อนไขเหมือนการขอสินเชื่อในช่วงปกติทุกอย่าง ไม่ได้ใช้เงื่อนไขพิจารณาแบบพิเศษแต่อย่างใด ตอนนี้ผมเริ่มท้อแล้ว"นายภคินกล่าว

ขณะที่นายธวัช นิรนาถโรดม กรรมการบริหารอาวุโสสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวพังงา และกรรมการผู้จัดการโรงแรมเขาหลักเบย์ฟอร์น อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา กล่าวว่า จนกระทั่งบัดนี้ผู้ประกอบการที่เขาหลัก ยังไม่ได้รับเงินจากสถาบันการเงิน และจากกองทุนมาปรับปรุงอะไรเลย มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ

"ผู้ประกอบการพร้อมสู้ต่อไป ปรับพื้นที่ ออกแบบและยื่นขออนุญาต อบต.กันแล้ว แต่ติดขัดไม่มีเงินมาลงทุน ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมธนาคารจึงยังไม่อนุมัติสินเชื่อให้"นายธวัชกล่าวและตั้งข้อสังเกตว่า ที่สถาบันการเงินยังไม่ปล่อยเม็ดเงินให้น่าจะมาจากอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน กำหนดไว้ 2% ไม่เป็นการจูงใจ และผู้ประกอบการเองก็ไม่มีทรัพย์สินเหลือเป็นหลักประกัน มีแต่เพียงที่ดิน ทำให้การพิจารณาปล่อยสินเชื่อล่าช้ามาก

ทวงสัญญา "ทักษิณ"

ในส่วนของโครงสร้างพื้นที่ พ.ต.ท.ทักษิณเคยประกาศต่อประชาชนว่า รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด และให้ฟื้นฟูเขาหลักแบบทำให้พร้อมกันหมดเพื่อให้กลับมาเหมือนเดิมโดยเร็ว แต่จนบัดนี้ครบรอบ 100 วันเหตุการณ์สึนามิไปแล้ว ย่านเขาหลักยังกลับถูกทิ้งไว้แต่เพียงความว่างเปล่า ถนนสายหลัก-รอง ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ยังไม่มีการลงทุนฟื้นฟูจากภาครัฐแต่อย่างใด

นายธวัช นิรนาถโรดม กรรมการอาวุโสสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพังงา ให้ความเห็นว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้อาศัยสถาบันการเงิน อย่างถนนเพชรเกษมสายหลักที่ควรจะเป็น 4 เลนนานแล้ว ตอนนี้ได้รับความเสียหายมาก แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่จะปรับปรุงอะไร ถนนตรอกซอยก็เช่นเดียวกัน ถ้ารอให้องค์กรท้องถิ่นทำคงอีกหลายปี

ถ้ารัฐบาลลงมือทำ ภาคเอกชนก็จะได้ทำตาม ดูที่ป่าตองภาคเอกชนลงทุนกันเป็นหมื่นๆ ล้านบาท ถนนที่ได้มาตรฐานสักสายก็ยังไม่มีให้เห็นตราบถึงวันนี้ ภาครัฐตามหลังเอกชนอยู่ตลอด สมาคมฯได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลผ่านนาย กฤษ ศรีฟ้า ส.ส.พังงา เขต 2 พรรคไทยรักไทยแล้ว เพื่อให้รัฐบาลรีบจัดสรรงบมาทำ ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะถึง 10,000 ล้านบาท

"ความเป็นไปได้ที่โรงแรมและรีสอร์ตที่เขาหลักฟื้นพร้อมกันในช่วงปลายปีนี้ ตามที่นายกฯประกาศ เป็นไปได้ยาก เพราะจนถึงขณะนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังไม่กล้าก่อสร้างอะไร" นายธวัชกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น