xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอ 7องค์กร รวมตัวกว่า 1,500 คนค้านการค้าเสรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา- 7 องค์กรภาคประชาชนนัดรวมพลนับพัน ร่อนจดหมายเปิดผนึก เดินขบวนค้านการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี รอบ 3 ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ชี้ข้อตกลงเอื้อกลุ่มทุนอเมริกา ขณะที่ประชาชนต้องได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิต

วันนี้(5เ ม.ย.)เวลา 10.00น. กลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวคัดค้านการเจรจา จากกรณีที่ประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา จัดการเจรจา จัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) ที่โรงแรมรอยัลคลิฟบีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ในระหว่างวันที่ 4-8 เมษายนนี้ ซึ่งถือเป็นการเจรจารอบที่ 3 หลังจากเจรจาไปแล้ว 2 รอบ ณมลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐฯ

ทั้งนี้ สหรัฐฯได้ยื่นข้อเรียกร้องเป็นเอกสารต่อฝ่ายไทยแล้วหลายเรื่อง เช่น เรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เรื่องการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า เรื่องการเปิดเสรีด้านการลงทุนเป็นค้น โดยในการเจรจารอบที่ 3 นี้เป็นที่คาดหมายว่า สหรัฐฯจะยื่นข้อเรียกร้องที่เหลือให้ครบทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิบัตร ทั้งในประเด็นเรื่องการขยายเวลาการคุ้มครองให้มากกว่า 20 ปี การคุ้มครองสิทธิบัตร ในสิ่งมีชีวิตทุกประเภท การจำกัดการใช้มาตรการบังคับในสิทธิ์ เป็นต้น


กรณีดังกล่าว ทำให้องค์กรภาคประชาชน ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี-เอดส์ประเทศไทย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ เครือข่ายสลัมสี่ภาค สมัชชาคนจน นิสิตนักศึกษา และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน จำนวนกว่า 1,500 คน ซึ่งได้ศึกษาและติดตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี ระหว่างสหรัฐและประเทศต่างๆ ได้รวมตัวกันเดินขบวนประท้วง

โดยมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย เพื่อให้หยุดการเจรจาครั้งที่ 3 เพื่อกำหนดจุดยืนและท่าทีในการเจรจา FTA กับสหรัฐใหม่ ทั้งนี้โดยได้เดินขบวนประท้วงมาตามถนนสายชายหาดจอมเทียน เคลื่อนมาตามถนนสายพระตำหนักก่อนจะมาหยุดขบวน ที่บริเวณด้านหน้าโรงแรมรอยัลคลิฟบีช รีสอร์ท พัทยา โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งนำโดย นายพิสิฐ เกตุผาสุก ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นำกำลังกว่า 100 นายมาคอยควบคุมสถานการณ์ ซึ่งก็พบว่าไม่มีเหตุรุนแรงใดๆเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามในที่สุด คณะผู้จัดการประชุมการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ก็ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ประท้วงส่งตัวแทนจำนวน 15 คน เข้าร่วมนำเสนอข้อมูล พร้อมเจรจาและรับฟังบทสรุปข้อการประชุม

นายกมล อุปแก้ว ตัวแทนในฝ่ายทางองค์กรภาคประชาชน เปิดเผยว่า การเจรจาครั้งนี้ไทยเองยังไม่รู้จุดยืนของตัวเองเพราะประโยชน์ที่ได้รับไม่ชัดเจน แต่กลับยินดีแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของประเทศกับสหรัฐฯ ทำให้กระบวนการเจรจาของไทยอ่อนด้อยและขาดจุดยืน ในขณะที่สหรัฐฯจะก้าวเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้นำ

นอกจากนี้ขอบข่ายของการตกลงก็กว้างขวางมาก นั่นหมายถึง ไม่ได้ส่งผลเฉพาะต่อการลดภาษีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเปิดเสรีภาคบริการ เช่น ไฟฟ้า ประปา สื่อสาร วิชาชีพเฉพาะ เป็นต้น โดยให้สิทธิ์นักลงทุนสหรัฐฯเท่าเทียมคนไทย ให้สิทธิบริษัทสหรัฐผูกขาดพันธุ์พืช ยา ทรัพย์สินทางปัญญามากมาย โดยรัฐบาลไทยไม่สามารถใช้นโยบายใดๆในการคุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทยได้ อาทิ เมื่อสหรัฐต้องการให้ไทยเข้ามาเป็นสมาชิกของอนุสัญญายูปอฟ (UPOV) ซึ่งให้ความคุ้มครองกับพืชพันธุ์ใหม่ แต่ไม่ให้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของ

โดยการเข้าร่วมครั้งนี้เท่ากับไทยยอมสูญเสียสถานภาพ การเป็นเจ้าของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ข้าวหอมมะลิ ทุเรียนหมอนทอง เงาะโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไทยตกอยู่ภายใต้การผูกขาดของกลุ่มธุรกิจข้ามชาติ โดยจำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพง

ตัวแทนคนเดิมกล่าวอีกว่า การเปิดเจตการค้าเสรีจะทำให้รัฐบาลไทย หมดประสิทธิภาพในการเป็นรัฐบาลของคนไทย และคนต่างชาติสามารถเข้ามาประกอบธุรกิจได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องอยู่ใต้กฎหมายไทย เพราะมีข้อกำหนดให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองนักลงทุนสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการของสหรัฐ ในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายด้าน เช่น การปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพานิชย์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถรับรองความปลอดภัยได้ และยังให้สิทธิพิเศษเกินกว่าที่สหรัฐต้องการเสียอีก ในกรณียินยอมอุตสาหกรรมเกษตรของสหรัฐฯเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งกฎหมายเดิมสงวนให้เป็นกิจการของคนไทยเท่านั้น


นอกจากนี้สหรัฐฯยังสามารถส่งกลับประเทศได้โดยไม่มีข้อจำกัด รวมถึงให้สิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินและการยกเลิกข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ไม่จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบภายในประเทศไทย ยกเลิกค่าธรรมเนียมแบะภาษีนิติบุคคล เป็นต้น นั่นหมายความว่าหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านสหรัฐฯจะได้เกือบทุกอย่างจากไทยโดยไม่ต้องเจรจา เอฟทีเอ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯทำการเจรจาข้อตกลง FTA กับประเทศไทย ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ ให้นำประเด็นเรื่องการขยายเวลา หรือการเพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญหาออกจากการเจรจา FTA เนื่องจากเป็นข้อเรียกร้องที่เข้มงวดกว่าที่กำหนดในข้อตกลงทริปส์ขององค์กรการค้าโลก ขัดแย้งกับปฏิญาโดฮา รวมถึงข้อเรียกร้องต่างๆของสหรัฐฯในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา

เช่น การคุ้มครองสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตทุกประเภท การขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร และการผูกขาดข้อมูล ซึ่งล้วนเป็นข้อเรียกร้องที่ขัดกับหลักการค้าเสรี และจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อประชาชนไทยในการเข้าถึงยารักษาโรค ทำให้พันธุ์พืชสัตว์มีราคาสูงขึ้น สร้างปัญหาการผูกขาดปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

นอกจากนี้ภายใต้ความตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ ในองค์การการค้าโลก ประเทศไทยก็ได้ปฏิบัติตามอย่างสอดคล้องอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลชอบธรรม ที่จะต้องมีการกำหนดข้อบังคับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มเติมขึ้นอีก ในข้อตกลงของ FTA สุดท้ายคงอยากให้มีการเปิดข้อมูล ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯเกี่ยวกับการเจรจาทั้งหมดต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นการเคารพและคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้วย

นายนิตย์ พิบูลสงคราม ประธานคณะเจรจา และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความวิตกกังวลของประชาชนกลุ่มเครือข่ายต่างๆ เรารับฟังปัญหาต่างๆและจะนำข้อมูลไปประกอบการเจรจากับทางประเทศสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่หวั่นวิตกนั้นคงเป็นเรื่องที่รับฟังได้ แต่คงไม่สามารถนำข้อเสนอทั้งหมดออกจากการเจรจาในครั้งนี้ได้ เพราะมีหน้าที่เพียงการเจรจาเท่านั้น แต่ในส่วนของการตัดสินว่าจะเซ็นสัญญาหรือตกลงตามการเจรจาหรือไม่เป็นเรื่องของรัฐบาล ที่จะตัดสินและดำเนินการในช่วงผลสรุปสุดท้าย

นอกจากนี้การเจรจาครั้งนี้แม้จะเป็นครั้งที่ 3 แต่ก็ถือว่าเป็นการเจรจาที่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่มีข้อตกลงหรือข้อสรุปที่ชัดเจนแต่อย่างใด เพียงแต่การประชุมครั้งนี้ ก็เพียงแต่แต่ตัวแทนทางสหรัฐฯ ได้นำเรื่องเข้ามาพูดคุยเท่านั้น ซึ่งเบื้องต้นรับทราบว่ามีทั้งหมดจำนวน 17 เรื่อง แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด

สำหรับผลการเจรจาในครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยในการเจรจาในครั้งนี้ใช้เวลา ประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ออกมาเผาหุ่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดี สหรัฐฯพร้อมพวงหรีดและโลงศพ

กำลังโหลดความคิดเห็น