ศูนย์ข่าวเชียงใหม่
รายงาน
ซากฟอสซิลหอยขมอายุกว่า 13 ล้านปี ที่มีพื้นที่รวม 43 ไร่ ที่เหมืองแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ถูกขุดค้นพบเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายน 2546
หลังจากที่มีการขุดค้นพบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ได้แจ้งเรื่องให้ผู้เชี่ยวชาญของกรมทรัพยากรธรณี เข้ามาศึกษาตรวจสอบ พร้อมกับการที่ได้มีการแจ้งเรื่องการค้นพบดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ และมีการมอบหมายให้ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการอนุรักษ์พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวนี้ ที่จากการตรวจสอบพบว่า เป็น "ชั้นฟอสซิลหอยขม ที่มีความหนาที่สุดในโลก" 12 เมตร
ทั้งนี้ แนวทางในการอนุรักษ์พื้นที่ซากฟอสซิลหอยอายุหลายล้านปี กฟผ.ได้เคยเสนอไว้ 2 แนวทาง คือ 1.อนุรักษ์พื้นที่ซากฟอสซิลหอยไว้ 18 ไร่ โดยทำให้ไม่สามารถขุดถ่านหินลิกไนต์ขึ้นมาใช้ได้บางส่วน หรือ 2.อนุรักษ์พื้นที่ซากฟอสซิลหอยไว้ทั้งหมด 43 ไร่ โดยที่จะไม่สามารถขุดเอาถ่านหินลิกไนต์ ที่สำรวจพบในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 265 ล้านตันขึ้นมาใช้ได้เลย
ขณะนั้น คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบแนวทางที่ 2 ที่จะให้อนุรักษ์พื้นที่ไว้ทั้งหมด ภายใต้แนวคิดว่า แหล่งฟอสซิลหอยนี้เป็นมรดกโลกที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ และแนวคิดนี้ก็ได้รับความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2547
การดำเนินการอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว น่าจะเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการทำการศึกษาเพิ่มเติม ตามที่มีผู้เสนอแนะว่าการอนุรักษ์พื้นที่ไว้ทั้ง 43 ไร่ จะส่งผลกระทบสูงต่อการดำเนินงานของ กฟผ. ผนวกกับการที่ผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ตรวจสอบพบว่า พื้นที่ฟอสซิลหอยนี้ ไม่เข้าข่ายการเป็นมรดกโลก
แนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ไว้เพียง 18 ไร่ จึงเป็นตัวเลือกใหม่ ซึ่ง กฟผ.ได้ทำเรื่องเสนอขอให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเดิมทันที จนในที่สุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ฟอสซิลหอยไว้ 18 ไร่ พร้อมกับการกันพื้นที่อีกส่วนหนึ่งเพิ่มเติมรวมเป็น 52 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง และพิพิธภัณฑ์ถาวร โดยที่พื้นที่อนุรักษ์จะแยกออกจากพื้นที่ทำเหมืองอย่างชัดเจน
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้รับทราบแนวทางดังกล่าวแล้ว กฟผ.โดยเอกชนที่เป็นคู่สัญญาในการเปิดหน้าดิน จึงได้เข้าดำเนินการในพื้นที่บริเวณที่พบซากฟอสซิลหอย ก่อนที่ต่อมาจะมีกระแสคัดค้าน โดยกลุ่มองค์กรต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ที่ไม่เห็นด้วยกับการขุดเหมืองบริเวณดังกล่าว เพราะมองว่าซากฟอสซิลหอยถือเป็นมรดกโลก ที่มีคุณค่าของจังหวัดลำปาง สมควรจะรักษาไว้ทั้งหมด ไม่ใช่อนุรักษ์ไว้เพียงบางส่วนเท่านั้น
ทำให้ต่อมา คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่ จึงได้เข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้วยการขอให้ชะลอการขุดได้เพียง 15 วัน ระหว่างวันที่ 2-16 มีนาคม 2548 เท่านั้น
กฟผ.ย้ำต้องเลือกลิกไนต์แสนล้าน
นายพายัพ พงศ์พิโรดม ผู้ว่าการเชื้อเพลิงแข็ง กฟผ. ชี้แจงการอนุรักษ์พื้นที่ที่เป็นซากฟอสซิลหอยไว้เพียง 18 ไร่ว่า หากต้องอนุรักษ์พื้นที่ไว้ทั้งหมด 43 ไร่ จะทำให้ไม่สามารถขุดถ่านหินที่สำรวจพบบริเวณดังกล่าว จำนวน 265 ล้านตัน มูลค่า 132,500 ล้านบาท ขึ้นมาใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ยังจะส่งผลกระทบทำให้อายุของเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะลดลงกว่าเดิม 26 ปี อันจะเป็นผลให้จังหวัดลำปางขาดเงินหมุนเวียนจาก กฟผ.แม่เมาะไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ที่อนุรักษ์ไว้ 18 ไร่ แม้จะทำให้ไม่สามารถขุดถ่านหินจำนวน 400,000 ตัน มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท ขึ้นมาใช้ได้ แต่ก็เป็นแนวทางที่สามารถยอมรับได้ เพราะสามารถขุดถ่านหินขึ้นมาใช้ได้ พร้อมกับที่ยังสามารถอนุรักษ์สุสานหอยไว้ได้ด้วย
ฟอสซิลหอย VS ลิกไนต์ ในวันที่ต้องเลือก !
ดร.วิฆเนศ ทรงธรรม นักธรณีวิทยา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การตัดสินใจเลือกระหว่างการอนุรักษ์ซากฟอสซิลหอยน้ำจืด ที่มีชั้นความหนาที่สุดในโลก กับถ่านหิน 265 ล้านตันมูลค่าประมาณ 132,500 ล้านบาท เป็นสิ่งที่ยากลำบาก แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าการอนุรักษ์พื้นที่ไว้ แล้วพัฒนาให้มีความเหมาะสมน่าจะส่งผลประโยชน์กลับคืนมา ในระยะยาวยั่งยืนมากกว่า เหมือนน้ำซึมบ่อทราย
"ถ่านหินยังไปหาขุดที่อื่นได้ แต่ฟอสซิลหอย หากขุดแล้วหมดเลย ไปหาที่อื่นไม่ได้แล้ว ตรงนี้ต้องเลือกเอา" ดร.วิฆเนศ กล่าว
สำหรับแผนการศึกษาแนวทางอนุรักษ์พื้นที่ฟอสซิลหอย ดร.วิฆเนศ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยมหิดลให้ดำเนินการด้วยงบประมาณ 2 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังได้รับจัดสรรงบประมาณอีก 3 ล้านบาท เพื่อศึกษาในพื้นที่ด้วย
หอการค้าเชื่อหนุนท่องเที่ยวยั่งยืน
นายประสิทธิ สิริศรีสกุลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดลำปาง แสดงความเห็นว่า หากมีการอนุรักษ์พื้นที่ฟอสซิลหอยไว้ ประมาณเบื้องต้นว่า น่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจังหวัดลำปาง ปีละประมาณ 100,000 คน และมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาทต่อคนต่อวัน โดยหากคิดอย่างต่ำว่านักท่องเที่ยวอยู่เพียง 1 วัน จะมีเงินเข้ามาถึงวันละ 200 ล้านบาท ซึ่งจะเกิดรายได้และการกระจายรายได้มากกว่า แม้จะได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นก็ตาม แต่ในภาพรวมจังหวัดลำปาง รวมทั้ง กฟผ.จะได้รับชื่อเสียงที่ดีกว่า
เครือข่ายชุมชนค้านยังตั้งแง่
นายลือชาย ยารังษี นายกสมาคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมท้องถิ่น อำเภอแม่เมาะ และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เมาะ กล่าวว่า ต้องการให้คณะรัฐมนตรีมีการทบทวนและยืนยันตามมติ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 25 47 ที่จะอนุรักษ์พื้นที่ไว้ทั้งหมด 43 ไร่
นอกจากนี้ พร้อมที่จะยอมรับอนุรักษ์พื้นที่สุสานหอยไว้ 18 ไร่เช่นกัน เพียงแต่เห็นว่า จะต้องมีเหตุผลที่สมควรและมีข้อแม้ว่า จะต้องมีการส่งคณะผู้เชี่ยวชาญลงมาศึกษาพื้นที่บริเวณดังกล่าวอย่างละเอียด เพื่อจัดทำแผนการจัดอนุรักษ์พื้นที่ออกมาอย่างชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์
อย่างไรก็ตาม มาถึงวันนี้ แม้ว่าเครือข่ายภาคประชาชน ที่รวมตัวกันคัดค้านการขุดสุสานหอย 13 ล้านปีอย่างต่อเนื่อง และนัดรวมพลกันอีกครั้ง ในวันที่ 22 มีนาคม 2548 แต่ถ้าถามถึงแนวทางการพัฒนาสุสานหอย ดูเหมือนว่า ทุกอย่างยังเป็นภาพที่ลางเลือนไม่น้อย
ที่สำคัญน้ำหนักระหว่างสุสานหอย 13 ล้านปี กับลิกไนต์มูลค่า 100,000 กว่าล้านบาท ตลอดจนเม็ดเงินหมุนเวียนในลำปางจากคนของโรงไฟฟ้าแม่เมาะอีกปีละ 7,000 ล้านบาทในระยะเวลา 26 ปี กำลังวางอยู่บนเครื่องชั่งอยู่ในขณะนี้