ลำปาง - นักธรณีวิทยา เผยจำเป็นต้องศึกษาหอยแค่ 18 ไร่ ตามมติครม. แม้จะศึกษาได้ไม่สมบูรณ์ ชี้ถ่านหินหาจากแหล่งอื่นได้ แต่หอยพังแล้วพังเลย และหาไม่ได้อีก
ดร.วิฆเนศ ทรงธรรม นักธรณีวิทยา จากกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอนุรักษ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมายอมรับว่า ได้เริ่มเข้ามาสำรวจเมื่อเดือน มิ.ย.46 ซึ่งนับว่าล่าช้า พอสมควร แต่เดิมก็ได้เสนอขอให้กันไว้ 43 ไร่ เพื่อความสมบูรณ์ในการศึกษาถึงความเป็นมาของซากฟอสซิลหอยน้ำจืด ที่มีชั้นหนาที่สุดในโลก
ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ลำบากใจมาก หากต้องกันพื้นที่ 43 ล้านไร่ จะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง132,500 ล้านบาท หลังจากนั้น กฟผ.ก็พยายามเสนอ ครม.ให้มีการทบทวนพิจารณาใหม่ จนในที่สุด ก็หาทางออกที่เหมาะสม ด้วยโครงสร้างทางธรณีวิทยา ที่เหมาะสม ด้วยการอนุรักษ์ 18 ไร่
อย่างไรก็ตาม กรมทรัพย์ฯ ขอให้ส่งนักวิชาการเข้ามาศึกษาก่อน โดยขอให้ชะลอการทำเหมือง ซึ่งกฟผ.ก็ชะลอไว้ 15 วันแล้ว และล่าสุดขอไว้จนถึง 22 มี.ค. แต่ตามข้อสัญญาหลังจาก 16 มี.ค. กฟผ.มีสิทธิ์ทำอะไรก็ได้ ตามที่ ครม.ได้รับทราบแผนที่ กฟผ.เสนอไว้
ดร.วิฆเนศกล่าวว่า ในทางวิชาการ ก็ต้องชั่งน้ำหนักกันว่า จะเลือกหอยหรือเลือกถ่าน แต่ระดับปฏิบัติงาน กรมทรัพย์ก็ต้องปฏิบัติตาม มติครม. แต่จากการศึกษาที่ผ่านมา เครือข่ายนักทรัพยากรธรณีจากต่างประเทศ เข้ามาทำวิจัย ทราบว่าที่นี่หนาที่สุดในโลก เป็นสิ่งที่น่าหวงแหนและน่ารักษาเอาไว้
ในทางปฏิบัติก็ลำบากใจเพราะทำงานตามนโยบายของรัฐ จำนวนที่เหลือ 18 ไร่ ศึกษาได้ในระดับหนึ่ง แต่การศึกษาด้านธรณีวิทยา ถ้าจะให้สมบูรณ์ ก็ต้องศึกษาให้ครบองค์ประกอบ เมื่อต้องศึกษา 18 ไร่จะทำให้การศึกษาไม่สมบูรณ์ เพราะศึกษาในพื้นที่ กว้าง 100 เมตร ยาว 1 กิโลเมตร
“ขอแสดงว่าเสียดาย เพราะทำได้แค่นี้ตามอำนาจหน้าที่ แต่ในส่วนของประชาชนเอง ก็มีสิทธิ์ดำเนินการตามหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล และคงไม่สามารถชี้นำได้”
ดร.วิฆเนศกล่าวด้วยว่า ความสำคัญของสุสานหอย เป็นแหล่งที่ยิ่งใหญ่ หากพัฒนาอย่างยิ่งใหญ่ จะได้ผลประโยชน์ที่ยั่งยืน เหมือนน้ำซึมบ่อทราย หากอนุรักษ์จะนำเงินเข้า จังหวัดในระยะยาว มากกว่าที่สูญเสีย เป็นความมั่นคงที่ยั่งยืนกว่ามากกว่าการใช้ถ่านหินที่ใช้แล้วหมดไป ถ่านหินเอาที่ไหนก็ได้ แต่หอยพังแล้วพังเลยและหาไม่ได้อีก และสำหรับแผนการศึกษาแนวทางจัดสถานที่เพื่ออนุรักษ์ ขณะนี้ ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยงบประมาณ 2 ล้านบาท และได้รับจัดสรรงบประมาณอีก 3 ล้านบาทในการศึกษาในพื้นที่
ด้านนายประสิทธิ์ สิริศรีสกุลชัย ประธานหอการค้าลำปาง กล่าวว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่ จ.ลำปางจะได้รับจากการอนุรักษ์ว่า หากประมาณการเบื้องต้นจากจำนวนนักท่องเที่ยว ที่จะเข้ามาปีละ 100,000 คน ค่าใช้จ่ายคนละ 2,000 บาท ต่อคนต่อวัน หากขั้นต่ำนักท่องเที่ยวเที่ยวในจังหวัดลำปาง คนละ 1 วัน คิดเป็น 200 ล้านบาท และเกิดการกระจายรายได้มากกว่า แต่ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นคือ ค่าไฟแพงขึ้น แต่จังหวัดลำปางก็จะได้รับชื่อเสียงที่ดี รวมทั้ง กฟผ. ที่ส่งเสริมการอนุรักษ์หอย 13 ล้านปีด้วย
สำหรับการจะดำเนินงานอย่างไรต่อไป ขึ้นอยู่กับประชาชนลำปางว่า คงต้องแสดงพลังขอล่ารายชื่อ ส่งผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปยังรัฐบาล จากการประสานกับ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในจังหวัดลำปางแล้ว หลายคนก็เห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์สุสานหอย 13 ล้านปีดังกล่าวเพื่อการท่องเที่ยว หาก กฟผ.จำเป็นต้องขุดในพื้นที่ 25 ไร่ ก็ขอให้นำซากหอยมเก็บกองไว้ศึกษา ในพื้นที่ 18 ไร่ และวันที่ 22 มี.ค. ทางกรรมการหอการค้า และสมาคมท่องเที่ยว จะเข้าไปในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบว่า กฟผ.ได้มีการขุดซากหอยมากองไว้ตามที่รับปากหรือไม่