xs
xsm
sm
md
lg

จากคลื่นยักษ์สู่คลื่นห่วงหาอาทรข้ามชาติ ผ่านทายาท “นางพญาเลือดขาว” แห่งอันดามัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ในประเทศมาเลเซีย เวลาสายแก่ๆ ของวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 หญิงสาวเกิดอาการอกสั่นขวัญแขวนขึ้นมาทันทีเมื่อละสายตาจากจอทีวี มันเป็นข่าวที่ถ่ายทอดผ่านสถานโทรทัศน์ที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลกช่องหนึ่ง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความวิบัติของพื้นที่ชายทะเลบ้านเกิดเมืองนอน

มือไม้สั่นเทาตลอดเวลาขณะใช้นิ้วกดโทรศัพท์ เวลานี้สิ่งที่ต้องการมากที่สุดในชีวิตไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า การได้ทราบข่าวคราวเกี่ยวกับครอบครัวว่า “มะ” กับ “ป๊ะ” และ “น้องชายหัวแก้วหัวแหวน” ของเธอ รวมถึงญาติพี่น้องในประเทศไทยเป็นอย่างไร ทว่านิ้วที่กดลงไปบนตัวเลขครั้งแล้วครั้งเล่า กลับไม่ช่วยให้เธอรับรู้อะไรในสิ่งที่ต้องการเลย

อาการห่วงหาอาทรเยี่ยงนั้น กลับรุมเร้าเธอให้รุ่มร้อนในหัวใจตลอดวันนั้น !!

ในช่วงเวลาเดียวกัน ณ บ้านกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต หลังจากครอบครัวและญาติๆ พากันหนีตายจากคลื่นยักษ์สึนามิ ด้วยการวิ่งหนีชายหาดเข้าพื้นที่เนินเขาที่มีน้ำตกอยู่เบื้องหน้า เมื่อตั้งสติได้และพบว่าบ้านและทรัพย์สินไม่ได้รับความเสียหาย พ่อและแม่ของเธอก็เริ่มหาทางช่วยเหลือญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน

ตลอดวันนั้นพ่อของเธอได้ร่วมคณะชาวบ้านออกตระเวนช่วยขนข้าวขนของ หรือบางครั้งก็ได้ช่วยขนศพเพื่อนบ้านและนักท่องเที่ยวที่เกลื่อนกลาดอยู่ทั่วไปในชุมชนและชายหาด ขณะที่แม่ของเธอก็ร่วมกับรรดาแม่บ้านทั้งหลายหุงหาอาหารอยู่บริเวณด้านข้างของอาคารที่ทำการ อบต.กมลา เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

จนกระทั่งข้ามวัน ทั้งคู่จึงได้มีโอกาสรับโทรศัพท์จากลูกสาวที่อยู่คนละฟากประเทศ !!

นี่คือภาพที่ “ผู้จัดการรายวัน” ประมวลจากคำบอกเล่าผ่านสายโทรศัพท์ข้ามประเทศกับ “ศิรินทรา ยายี” หรือในชื่อมุสลิมคือ “อาอีซะห์ ยายี” และจากการได้พบปะพูดคุยกับผู้เป็นพ่อและแม่ “สุวรรณ-สุนี ยายี” รวมถึงชาวบ้านกมลาจำนวนหนึ่ง

ความน่าสนใจของครอบครัว “ยายี” นี้ก็คือ ครอบครัวที่สืบสายเลือดโดยตรงมาจากสายตระกูลของ “เจ้าหญิงไมซูรี” หรือ “นางพญาเลือดขาว” สตรีสูงศักดิ์และสุดแสนจะเลอโฉมแห่ง “เมืองลังกาวี” ผู้เป็นเจ้าแห่งตำนานกระฉ่อนแห่งท้องทะเลอันดามันเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว และได้กลับมาโด่งดังทั่วโลกอีกคราครั้งเมื่อราว 7 ปีที่ผ่านมา

สำหรับประวัติความเป็นมาตามที่มีการบันทึกได้กล่าวไว้ว่า “เจ้าหญิงไมซูรี” เป็นพระชายาของ “วันดารุส” เจ้าเมืองลังกาวี และมีพระโอรสด้วยกันคือ “วันฮาเก็ม” แต่ด้วยความเป็นสตรีที่สวยสดงดงามยิ่งนัก จึงเป็นที่หมายปองของอนุชาเจ้าเมือง ซึ่งได้พยายามใช้กลอุบายต่างๆ นานาเกี้ยวพาราสีเพื่อให้ได้เจ้าหญิงมาเป็นของตน แต่ทางฝ่ายเจ้าหญิงหาได้สนใจใยดี กลับสงวนเนื้อสงวนตัวมาตลอด เพราะนางมีสามีที่รักใคร่อยู่แล้ว

และแล้ววันหนึ่งเจ้าหญิงก็ถูกอนุชาของเจ้าเมืองกลั่นแกล้งขั้นร้ายแรง โดยขณะที่อนุชาเจ้าเมืองกำลังจะกระทำมิดีมิร้าย เจ้าหญิงได้ร้องขอความช่วยเหลือ แล้วก็มีผู้เข้ามาพบเห็น แต่การณ์กลับเป็นตรงกันข้าม อนุชาเจ้าเมืองแก้ตัวด้วยกลัวความผิด กล่าวหาว่านางสมยอมและเคยลอบมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับตนมาก่อน

เมื่อกลายเป็นเรื่องราวอื้อฉาว แทนที่เจ้าเมืองจะสอบสวนหาข้อเท็จจริง แต่กลับสั่งให้นำตัวพระชายาไปรับโทษทัณฑ์ด้วยการเฆี่ยนตีและทารุณกรรมต่างๆ นานา และไม่เพียงเท่านั้น เจ้าเมืองยังได้สั่งให้นำตัวเจ้าหญิงไปประหารอีกด้วย

มีคำเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ช่วง 7 วันก่อนที่จะมีการประหาร เมืองทั้งเมืองที่เคยคึกคักก็กลับกลายเป็นเงียบเหงาวังเวง ไม่มีเสียงร้องของสิงสาราสัตว์หรือแม้กระทั่งนกกา สายลมสงบนิ่งตลอดเวลา จะมีก็แต่เสียงเจ้าหญิงไมซูรีขับกล่อมกระโอรสวันฮาเก็ม ซึ่งผู้คนได้ยินได้ฟังแล้วน้ำตาไหลชวนให้สงสารยิ่งนัก

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะถูกประหารเจ้าหญิงไมซูรีทรงกล่าวไว้ว่า ...หากนางมีความผิดจริงขอให้เลือดที่หลั่งออกมามีสีแดงปนดำ แต่หากนางเป็นผู้บริสุทธิ์ขอให้เลือดที่หลั่งออกมาเป็นสีขาว

นอกจากนี้ เจ้าหญิงไมซูรียังได้เขียนคำสาปแช่งไว้บนพื้นแผ่นดินด้วยว่า... “เราคือผู้บริสุทธิ์ แต่ต้องมารับโทษทัณฑ์ ขอให้เมืองลังกาวีแห่งนี้มีอันเป็นไป ไม่มีความสุขความเจริญต่อไปจนเจ็ดชั่วโคตร”

เมื่อช่วงเวลาประหารมาถึง ขณะที่เพชฌฆาตใช้กริชทิ่มแทงไปยังเรือนร่างของเจ้าหญิงไมซูรี ผลปรากฏว่าเลือดที่ไหลหลั่งออกมาเป็นสีขาวบริสุทธิ์ เหมือนน้ำนมพุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้ามิได้ตกสู่พื้นดิน

จากเหตุการณ์ ณ ลานประหารครั้งนั้น ชาวเมืองลังกาวีต่างพากันขนานพระนามของเจ้าหญิงไมซูรีว่า... “นางพญาเลือดขาว”

ปรากฏว่าต่อมาไม่นาน เจ้าเมืองลังกาวีก็ได้เสียพระทัยที่กระทำต่อพระชายา ไม่เป็นอันปกครองบ้านเมือง ชิงการดีชิงเด่นและรบราฆ่าฟันกัน ข้าวในนาปลูกขึ้น แต่ไม่ออกรวง ต้นไม้ไม่ออกลูกออกดอก บ้านเมืองระส่ำระส่ายไปถ้วนทั่ว

ขณะที่ครอบครัวของเจ้าหญิงไมซูรีก็ไม่มีความสงบสุข ด้วยหวั่นเกรงว่าจะถูกตามรังควาญให้ได้รับโทษทัณฑ์ จึงได้นำวันฮาเก็มพระโอรสของเจ้าหญิงลงเรือชักใบลำเล็กรวม 5 ชีวิต หนีออกจากเกาะลังกาวีสู่เมืองถลาง หรือเกาะภูเก็ตในปัจจุบัน แต่เมื่อถึงจุดหมายปลายทางได้พบชาวเมืองถลาง 2-3 คนยืนทอดแหหาปลาอยู่ริมหาด ความหวาดกลัวได้ทำให้คิดไปว่าเป็นทหารของเมืองลังกาวีติดตามมาจับตัว จึงได้วิ่งหนีเตลิดไปคนละทิศคนละทาง

กาลเวลาผันผ่านไป วันฮาเก็มเติบใหญ่และแต่งงานกับ “อาอีซะห์” โดยได้ตั้งรกรากอยู่บริเวณชายทะเล ณ บ้านกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต มีทายาท 6 คน ได้แก่ นางแพะ นางเภา นายเก นายหีด นางแดง และนางหม้อ ซึ่งทั้งหมดได้ทั้งหมดได้สืบสายสกุลต่อมาเป็นตระกูล “ยายี” ตระกูล “ดุมลักษณ์” ตระกูล “สังวาล” และตระกูล “แสงทอง” จวบจนเดี๋ยวนี้

ไม่ว่าจะเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่หรือเป็นประวัติศาสตร์ก็ตาม จากคำบอกเล่าของพี่น้องในเครือญาติ และจากการตรวจสอบจนเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลมาเลเซีย มีการระบุว่า “ศิรินทรา ยายี” คือทายาทรุ่นที่ 7 ของตระกูลที่สืบเชื้อชายมาจากเจ้าหญิงไมซูรี

และอาจจะถือได้ว่า “ศิรินทรา ยายี” มีสายเลือดนางพญาเลือดขาวที่เข้มข้นมาก เนื่องจากทั้งพ่อและแม่ของเธอก็คือ คนในเครือญาติเดียวกัน โดยนามสกุลเดิมของสุนีคือ “ดุมลักษณ์” นอกจากนี้ คนในสายเลือดนางพญาเลือดขาวที่อาศัยอยู่ในไทย ก็มักจะแต่งงานกันไขว้สัมพันธ์กันไปมาระหว่างกันอีกด้วย

สิ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ได้แก่ ในห้วงเวลานับสิบปีมาแล้ว มีตัวแทนของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจากมาเลเซียเดินทางไปยังจังหวัดภูเก็ต และติดต่อคนที่มีสายเลือดนางพญาเลือดขาว เพื่อสืบสาวราวเรื่องหลายครั้งหลายครา ซึ่งในช่วงหลังได้สานเป็นสัมพันธ์อันดีต่อกันเรื่อยๆ

จากนั้นในปี 2543 ที่ผ่านมา รัฐบาล ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในสมัยนั้น ก็ได้เชื้อเชิญอย่างเป็นทางการให้ “ศิรินทรา ยายี” พร้อมด้วยครอบครัว เดินทางไปเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ โดยนอกจากจะได้เข้าพบผู้นำรัฐบาลแล้ว ยังได้จัดพิธีให้เข้าเฝ้าสุลต่านรัฐเคดาห์อีกด้วย ซึ่งรัฐเคดาห์มีขอบเขตกินอาณาบริเวณครอบคลุมไปยังเกาะลังกาวีทั้งเกาะ

ไม่แต่เพียงเท่านั้น ในส่วนของเมืองลังกาวียังได้จัดพิธีขอขมาลาโทษต่อทายาทเจ้าหญิงไมซูรีรุ่นที่ 7 ซึ่งก็คือ “ศิรินทรา ยายี” ซึ่งถือเป็นรุ่นที่จะมาลบล้างปลดปล่อยคำสาบแช่งจากนางพญาเลือดขาวได้แล้วนั่นเอง อีกทั้งได้เชิญไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นางพญาเลือดขาวด้วย

ปัจจุบัน “ศิรินทรา ยายี” กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยรัฐบาลมาเลเซียได้สนับสนุนให้ได้รับทุนการศึกษาผ่านบริษัทที่เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์อูตูซัน หนังสือพิมพ์แห่งชาติที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐบาล และพร้อมที่จะให้ทุนเรียนจนจบระดับปริญญาเอกเลยทีเดียว

จากสายสัมพันธ์ผ่านการยอมรับจากอำนาจรัฐนี้เอง ซึ่งต่อมาได้ร้อยเรียงลงสู่ความสัมพันธ์ของภาคประชาชนด้วย หลายปีมาแล้วที่บ้านของครอบครัว “ยายี” ต้องเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอิสลามหรือไม่ก็ตาม ดังว่าเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งบนเกาะภูเก็ตที่เป็นที่รู้จักของชาวมาเลย์ไปแล้ว

ภายหลังจากที่เกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิถล่มเกาะภูเก็ต สายสัมพันธ์แห่งความห่วงหาอาทรระหว่างไทย-มาเลเซีย มิใช่จะเกิดขึ้นแต่เพียงเฉพาะคนในสายเลือดที่สืบทอดมาจากพระนางพญาเลือดขาวเท่านั้น ชาวมาเลเซียจำนวนหนึ่งก็ส่งผ่านความห่วงหาอาทรมายังพี่น้องชาวไทยแห่งเกาะไข่มุกอันดามันด้วยเช่นกัน

“ผมได้รับโทรศัพท์ถามไถ่จากเพื่อนพี่น้องชาวมาเลย์พอสมควร ก็บอกไปว่าครอบครัวผมไม่กระทบอะไร แต่คนในสายเลือดเจ้าหญิงไมซูรีที่ได้ต้องเผชิญกับธรณีพิบัติครั้งนี้มี 2 ครอบครัว ซึ่งเป็นพี่ชายของสุนีเขาคือ ครอบครัวของวิษณุ ดุลลักษณ์ และครอบครัวของอุสหมาน ดุมลักษณ์ เสียหายเพียงบ้าน แต่ไม่มีใครเสียชีวิต” สุวรรณ ยายี บอกเล่าให้ฟัง

“ก็มีคนมาเลย์เป็นห่วงเป็นใยเราเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะเพื่อนรุ่นๆ เดียวกันถามถึงครอบครัวเรามากมายเลย แล้วก็มีเจ้าหน้าที่ ททท.ในมาเลเซียก็เป็นห่วงครอบครัวเราด้วย ทราบว่าเขาโทรศัพท์จากกัวลาลัมเปอร์ไปสอบถามป๊ะกับมะด้วย” ศิรินทรา ยายี กล่าวผ่านสายโทรศัพท์ข้ามประเทศ

คลื่นยักษ์ชื่อญี่ปุ่นที่ถาโถมเข้าถล่มชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย แม้จะสร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินมากมายก็จริง แต่ก็ยังมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นตามมา นั่นคือ ได้พัดพาเอาคลื่นแห่งความห่วงหาอาทรข้ามชาติผ่านทายาท “นางพญาเลือดขาว” แห่งท้องทะเลอันดามันเข้ามาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น