xs
xsm
sm
md
lg

เจาะใจ”ไกด์เดนตาย”...โต้คลื่นสึนามิหนีมัจจุราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน

“เร่งสปีดเต็มที่ หนีเร็ว …. “ สมปอง คงบัน ลูกบ้านน้ำเค็ม ตะกั่วป่า ที่หันมายึดอาชีพไกด์ ตะโกนบอกให้กัปตันนำเรือสปีด โบ๊ต “ทิมมี่ 3” พุ่งทะยานออกจากหน้าอ่าวต้นไทร เกาะพี พี ขณะที่คลื่นยักษ์สูงราว15 เมตร ถาโถมไล่หลัง

นี่เป็นเหตุการณ์เฉียดตายครั้งที่สามของ สมปอง “ไกด์เดนตาย” มัคคุเทศก์เฉพาะ (ทางทะเลชายฝั่ง) ผู้ซึ่งสั่งสมประสบการณ์ตั้งแต่สมัยยึดอาชีพดำแร่ ที่บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และเรียนรู้ท้องทะเลมาตั้งแต่เกิดนำพาตนเอง และเพื่อนร่วมทางหนีรอดเงื้อมมือมัจจุราช

………………………..

ในเช้าวันอาทิตย์ 26 ธ.ค. สมปอง นำคณะนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 14 ชีวิต ลงเรือสปีด โบ๊ต “ทิมมี่ 3” ของบริษัทภูเก็ตมาสเตอร์ทีม พาลูกทัวร์ท่องทะเลอันดามัน ตามโปรแกรม ภูเก็ต – เกาะพี พี ซึ่งจะเลาะตามเกาะแก่งรวมถึงอ่าวมาหยา ฉากหนังรักแห่งฮอลีวู้ดด้วย

วันนั้น ไกด์ของ ภูเก็ตมาสเตอร์ทีม ออกเรือจากท่าโบ๊ตลากูน ภูเก็ต รวม 4 ลำ พวกเขาต้องทำเวลาให้ถึงพี พี ดอน ภายใน 1 ชั่วโมง 15 นาที ตามกำหนดการ แต่ระหว่างที่เขาพาคณะลัดเลาะเข้าพี พี ดอน - พี พี เล และลากูน น้ำทะเลที่ควรเต็มฝั่งเพราะเป็นคืน 15 ค่ำกลับเหือดแห้ง นั่นคือความผิดปกติแรกที่ สมปอง สังเกตเห็น เขาคิดว่าจะนำนักท่องเที่ยวขึ้นหาดมาหยา แต่สถานการณ์ไม่ดีจึงเปลี่ยนเส้นทาง

สมปอง บอกกัปตันเรือทิมมี่ 3 เบนหัวเรือเข้า “โละสะมะ” นำนักท่องเที่ยวไปดำน้ำ แต่สิ่งที่เห็นก็คือมีเรือหางยาว 3 ลำ น้ำขุ่นข้น เขาเปลี่ยนโปรแกรมเข้าอ่าวต้นไทร ซึ่งเป็นจุดจอดเรือท่องเที่ยวแทน

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับท้องทะเลเวลานั้น ทำให้ไกด์ลูกบ้านน้ำเค็ม บอกกัปตันจอดเรือห่างจากฝั่งประมาณ 400 เมตร ขณะที่ที่เรือลำอื่นๆ หลายลำวิ่งแซงหน้าเข้าเทียบท่า จากนั้นเพียงอึดใจเดียวสิ่งที่เขาเห็นต่อหน้าต่อตา ก็คือ คลื่นยักษ์สูงกว่า 15 เมตรกวาดร้านอาหาร เรือ ทุกสิ่งทุกอย่างพังพินาศ

ในเสี้ยวนาทีนั้น กัปตันเรือก็เร่งสปีดเกินร้อยพา 16 ชีวิตบนสปีด โบ๊ต “ทิมมี่ 3” พุ่งทะยานสู่ทะเลลึก หวนกลับคืนสู่โบ๊ต ลากูน ภูเก็ต และพานักท่องเที่ยวขึ้นไปอยู่ที่เขารัง จุดหนีตายของชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยวในเวลานั้น และไกด์ที่รอดชีวิตจากจุดต่างๆ ก็ต่างพานักท่องเที่ยวเข้ามาสมทบ

“ตอนนี้ พี พี ถูกแยกเป็น 3 เกาะแล้ว เพราะช่องเขาซึ่งคั่นระหว่างอ่าวต้นไทรที่อยู่ฝั่งตะวันออกกับโละดาลำที่อยู่ฝั่งตะวันตก ถูกตัดขาดแล้ว” สมปอง เล่าสภาพ

เขาย้อนเหตุการณ์เฉียดตายก่อนนี้เมื่อปีที่แล้ว ขณะอยู่กลางทะเลระหว่างภูเก็ต – พี พี เรืออุบัติเหตุเรือท้องทะลุ เพียง 5 นาที น้ำทะลักเข้าท่วมถึงครึ่งเรือ เขาบอกให้นักท่องเที่ยวสวมชูชีพเตรียมสละเรือ แต่คนที่ขวัญหนีกลับพยายามเกาะเรือแน่น

“ผมตัดสินใจถีบลูกค้าลงจากเรือ และใช้เชือกผูกแกลลอนน้ำมันให้เด็กพยุงตัวลอยคอกลางทะเลลึก โต้คลื่นสูงกว่า 2 เมตร รอสปีด โบ๊ต ลำอื่นเข้ามาช่วยกว่า 20 นาทีที่สปีด โบ๊ต โชคดีทุกคนรอดหมด” ไกด์เดนตาย เล่าเหตุการณ์ระทึกในชีวิตครั้งที่สอง

ส่วนครั้งแรกเขารอดตายจากเหตุมรสุมในระหว่างออกเรือดำแร่และพาเรือเข้าฝั่งไม่ทัน เรือแตกกลางทะเล ต้องลอยคอเข้าฝั่ง โดยมีเรือจมทะเลในครั้งนั้นมากถึง 300 ลำ

นอกเหนือจาก สมปอง แล้ว ยังมีไกด์คนอื่นๆ ที่พานักท่องเที่ยวหนีเอาชีวิตรอด อพยพกันขึ้นเขารัง ภูเก็ต
…………………………………..

ค่ำคืนอันตื่นตระหนก วุ่นวาย ขวัญกระเจิง แผ่คลุมผู้คนที่เพิ่งรอดเงื้อมมือมัจจุราช กลุ่มมัคคุเทศก์ 3- 4 คน ที่เพิ่งหนีตายมาคือคนกลุ่มแรกๆ ที่ดูเหมือนตั้งสติได้ก่อนใครอื่น พวกเขาและ “พนมพล ธรรมชาตินิยม” นายกสมาชิกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ ภูเก็ต หารือกับทางจังหวัดภูเก็ต ตั้งศูนย์ Call Center 198 สำหรับคนไทย และ 199 สำหรับชาวต่างชาติ ขึ้นมารับมือกับสถานการณ์ทันที

โดยมีไกด์อาชีพ อาสาเข้ามาหมุนเวียนกันเข้ามาช่วยเหลือกว่าร้อยคน ทั้งอยู่ที่ศูนย์ Call Center และกระจายกันลงไปในพื้นที่เสียหาย เพราะไกด์ภาษา มีความสำคัญอย่างมากในการสื่อสาร

“นักท่องเที่ยวที่ขวัญเสียบางคนลืม หรือไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง พวกเขาจะพูดภาษาถิ่นกันแทน” นันทวัน โกศัย กรรมการสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ กำลังเล่าสภาพ ….

ยังไม่ทันไร เจ้าหน้าที่บนกองอำนวยการ จ. ภูเก็ต แหวกผู้คนขอที่ขอทางให้ ไกด์ ภาษากวางตุ้ง ซึ่งเป็นลมหน้าซีดเซียว เข้ามานั่งพัก เพราะตั้งแต่ลงจากเครื่องเมื่อช่วงบ่ายต้นๆ เธอตรงดิ่งเข้ารพ.วชิระภูเก็ต ตามคำร้องขอ และทำหน้าที่แปลภาษาระหว่างผู้ป่วยนักท่องเที่ยวชาวจีนกับแพทย์พยาบาลผู้ให้การรักษา ไม่มีเวลาพักและไม่มีเวลากินข้าวปลาจวบจนเวลากว่า 3 ทุ่ม

ความเป็นองค์กรอิสระ คล่องตัว ทำให้หมู่สมาชิกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ ภูเก็ต ทำงานช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและชาวไทยที่ตกอยู่ในสภาพขวัญหนีดีฝ่อได้อย่างรวดเร็ว ในคืนวันแรกๆ พวกเขาต้องหาตั้งแต่ที่หลับนอน อาหาร เสื้อผ้า รองเท้า จิปาถะ เมื่อ “คนเป็น” เหล่านั้นได้รับจัดการช่วยเหลือเร่งด่วนแล้ว พวกเขาก็คร่ำครวญหา “คนตาย” และ “คนหาย” ที่เป็นเพื่อนพี่น้อง ทุกคนตกอยู่ในสภาพสติแตก

เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นไม่ขาดระยะ “ติ๊ก” ไกด์อาชีพที่กลายมาเป็นไกด์อาสาของศูนย์ฯ รับสายจากปลายทาง

“สามีชาวสวีดิช โทรมาจากสวีเดนตามหาภรรยาและลูก 3 คนที่เขาหลัก เราต้องบอกว่ายังไม่มีรายงานเข้ามา ทั้งที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น” ไกด์สาววัย 20 ต้นๆ เล่าถึงกรณีที่เธอสะท้อนใจ

…………………

ศูนย์ Call Center ที่ดำเนินงานโดยกลุ่มสมาชิกสมาคมมัคคุเทศก์ฯ และอาสาสมัครชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งปรับเปลี่ยนภารกิจไปตามสถานการณ์ เริ่มตั้งแต่วันแรกๆ ที่ต้องหาที่หลับนอน เสื้อผ้า อาหารการกิน ให้ผู้เหลือรอด พัฒนามาสู่การประสานงานทุกรูปแบบเพื่อส่งนักท่องเที่ยวกลับบ้าน และการตามหาคนตาย ผู้สูญหาย หลังเหตุร้ายล่วงไปแล้วเกือบสิบวัน

“ตอนนี้กำลังรอการส่งมอบศูนย์ให้ทางการดำเนินการต่อ” พนมพล กล่าว

นันทวัน ยังบอกว่า หลังจากส่งมอบศูนย์แล้ว กลุ่มสมาชิกสมาคมฯ จะลงพื้นที่ออกสำรวจ “บ้าน” ซึ่งหมายถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของอาชีพมัคคุเทศก์ พร้อมกับให้กำลังใจพี่น้องมัคคุเทศก์อย่าเพิ่งเสียขวัญและกำลังใจ

“เราคงได้กลับมาประกอบอาชีพกันอีกครั้งถ้ารัฐบาลเข้ามาให้ความช่วยเหลือ” นันทวัน กล่าว และอยากถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองว่า เมื่อเกิดเหตุต้องรับมือกับภาวะฉุกเฉินให้ทัน ลดขั้นตอนทางราชการให้หมด เพราะตอนนี้การให้ความช่วยเหลือยังติดขัดระบบราชการ

แม้เหตุการณ์ร้ายจะผันผ่านไปแล้ว แต่การพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประมง เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตในอนาคตของผู้ประสบภัยยังไม่มีใครมองเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ชาวประมง นักธุรกิจ รวมถึงชาวมัคคุเทศก์อาชีพ

แต่พวกเขาก็เชื่อมั่นว่า น้ำใจที่ชาวไทยทุ่มเทช่วยเหลือ ซึ่งกันไม่ว่าจะเป็นชาติหรือภาษาไหน จะสร้างความประทับใจให้กลุ่มนักท่องเที่ยวหวนกลับมา เป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่จะหนุนส่งให้ผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนมีชีวิตอยู่รอด

“พวกเขาซาบซึ้ง ประทับใจ ภาพที่ออกไปดีมาก มีฝรั่งที่เขาได้รับบาดเจ็บ ไม่มีรองเท้าใส่ เราเอารองเท้าไปใส่ให้ เขาร้องไห้ เราทุ่มเทช่วยเหลือกันเต็มที่ อยากให้เขากลับไปแล้วพูดถึงเมืองไทยในทางที่ดี หลายต่อหลายคนพูดว่าเขาจะกลับมาอีก” นันทวัน กล่าวในตอนท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น