ศูนย์ข่าวขอนแก่น- ประชุมผู้ว่าฯซีอีโอ และทูตซีอีโอ “บิ๊กจิ๋ว” วางกรอบไทยเป็นศูนย์กลางการค้าชายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้าน “สุรเกียรติ์” เผยผลประชุมตกลงตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการร่วม ROC ที่ขอนแก่นเป็นครั้งแรก ชี้เป็นกลไกปฏิบัติ ตามความคืบหน้าการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ต่างๆ อีกทั้งเป็นศูนย์ข้อมูล วางโครงสร้างเล็กแต่ประสิทธิภาพสูง เชื่อมโครงข่ายเน็ตเวิร์ก ประสานท้องถิ่นกับประเทศเพื่อนบ้านโดยตรง
วันนี้ (22ธ.ค.) กระทรวงต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาระบบการทำงานร่วมกัน ระหว่างเอกอัครราชทูตแบบบูรณาการในประเทศเพื่อนบ้านของไทย กับผู้ว่า ซีอีโอ 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยมีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดประชุม มีผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาคร่วมประชุมประมาณ 400 คน ณ โรงแรมโซฟิเทล ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น
การประชุมดังกล่าว เพื่อแสดงความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบราชการ และตอบสนองนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เกิดการบูรณาการในการดำเนินงานของเอกอัครราชทูต และผู้ว่านซีอีโอ ในรูปแบบของ Local Link-Global Reach ในการเชื่อมโยงท้องถิ่นกับท้องถิ่น และท้องถิ่นกับต่างประเทศ
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องทำหน้าที่เชื่อมโยงทุกส่วนงาน ภายในประเทศออกไปนอกประเทศ ส่วนเอกอัครราชทูต ต้องทำหน้าที่เชื่อมโยงงานด้านต่างประเทศมองเข้ามาในประเทศ มากขึ้น ทุกฝ่ายต้องปรับทัศนคติเข้าหากัน เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และความสงบสุขจังหวัดชายแดน
การบูรณาการระหว่าง ผู้ว่าฯ ซีอีโอ กับทูต ซีอีโอ ในส่วนการค้าชายแดน จะวางยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ทำการค้าระหว่างประเทศก้าวหน้าเป็นรูปธรรม โดยปัจจัยจากสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ มีการแข่งขันสูง จำเป็นที่ไทย ต้องปรับตัวเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน
ทั้งนี้ รัฐบาลวางเป้าหมาย ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของประเทศเพื่อนบ้าน ใช้หลักบริหารจัดการกำหนดความสัมพันธ์ ตามกรอบความร่วมมือต่างๆ อาทิ ACMECS , GMS , IMT-GT
แนวนโยบายการทำงานร่วมกันของทูตซีอีโอ และผู้ว่าฯ ซีอีโอ ประการแรก จะต้องมีการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีเขตติดต่อ ประการต่อมา ต้องมียุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาบุคลากร พัฒนาฐานข้อมูล ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน
ประการที่สาม เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้ประเทศไทยมีคุณค่า มีความหมายเชิงเอกลักษณ์ในสายตาของต่างประเทศ และประการสุดท้าย ผู้ว่าราชการ และเอกอัครราชทูตต้องติดตามความก้าวหน้าของกรอบความร่วมมือต่างๆ
ตั้ง ROC เชื่อมท้องถิ่นกับเพื่อนบ้าน
นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า ผู้ว่าฯซีอีโอ กับ เอกอัครราชทูต ซีอีโอ ต้องทำงานในลักษณะ Local link-Global reach การดำเนินนโยบายการทูต เพื่อประชาชนและทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันผลักดันยุทธศาสตร์ ACMECS และยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน
การประชุมครั้งนี้ ได้ประชุมร่วม ระหว่างเอกอัครราชทูตประเทศเพื่อนบ้านของไทยในกลุ่ม GMS คือ ลาว พม่า จีน กัมพูชา เวียดนาม กงสุลใหญ่ประจำจังหวัดต่างๆ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเสนอแนวทางการทำงานให้บูรณาการในเชิงยุทธศาสตร์ และปรับปรุงรูปแบบการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศในระบบกลุ่มจังหวัด
ผลประชุมครั้งนี้ มีข้อตกลงร่วมกัน จัดตั้ง ROC (Regional Operation Center) หรือศูนย์ปฏิบัติการร่วม ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นแห่งแรก โดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นองค์กรประสานด้านวิชาการ เป็นศูนย์กลางการประสานงาน ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย เป็นกลไกการประสานงานส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า และการต่างประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงการทำงานระหว่างผู้ว่าฯซีอีโอ และ ทูต ซีอีโอ
อีกทั้งการจัดตั้ง ROC จะต้องจัดตั้งทุกภูมิภาคของประเทศ ที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านโดยบทบาท ROC จะเป็นศูนย์ปฏิบัติการ ในการทำงานติดตามความคืบหน้าตามกรอบนโยบาย ที่รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติกำหนดยุทธศาสตร์การต่างประเทศ ไว้ ROC จะเป็นกลไกการปฏิบัติในระดับพื้นที่ เชื่อมโยงกับเจ้าแขวงของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กรอบยุทธศาสตร์ ACMECS ข้อตกลง 5 สาขา เรื่องการท่องเที่ยว ถนนเชื่อมโยงระหว่างประเทศ การลักลอบค้ามนุษย์ ด่านชาย และปราบปรามยาเสพติด มีความคืบหน้าไปเพียงใด
ขณะเดียวกัน ROC จะเป็นศูนย์กลางข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลในทุกด้าน ทั้งการค้า การท่องเที่ยว ฯลฯในพื้นที่ 19 จังหวัดภาคอีสาน และข้อมูลประเทศเพื่อนบ้าน รวมไว้ที่ ROC ต่อไปเจ้าแขวงประเทศเพื่อนบ้านสามารถสืบค้นข้อมูลสินค้าเด่นของภาคอีสานได้ที่ ROC ไม่ต้องประสานที่ส่วนกลาง หรือผู้ว่าในจังหวัดภาคอีสาน ก็สามารถหาข้อมูลด้านการตลาด เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วม ไม่ต้องผ่านกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงต่างประเทศ
นายสุรเกียรติ์ กล่าวต่อว่า โครงสร้างของ ROC ควรมีโครงสร้างขนาดเล็ก ไม่เทอะทะ มีบุคลากรที่พร้อมทำงานตลอดเวลา ขณะเดียวกันจะต้องมีการเชื่อมโครงข่าย เป็นระบบเน็ตเวิร์ก เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ต่อการพัฒนาท้องถิ่น และประเทศเพื่อนบ้านให้มากที่สุด ต่อไปการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคอีสาน เอกอัครราชทูต กงสุลใหญ่ จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดระบบขั้นตอนการประสานงานที่ไม่ซับซ้อนและแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่นได้
ด้าน นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. กล่าวถึง ROC ว่า จะเป็นกลไกประสานเชื่อมโยง ระหว่างกลุ่มจังหวัดตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด ยังคงต้องมีการปรับปรุง ในด้านของกลไกเชื่อมโยงการทำงานของกลุ่มจังหวัดเข้าด้วยกัน ด้วยการกำหนดจุดศูนย์กลางในการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน
โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เอกอัครราชทูต สามารถติดต่อเชื่อมโยงได้ง่าย โดยเน้นให้สถาบันการศึกษาได้มาร่วมในการทำงาน ในศูนย์ ROC ซึ่งเป็นการทำงานที่ค่อนข้างเล็ก แต่สามารถทำงานทั้งในส่วนของกระทรวงต่างประเทศ ในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และเชื่อมโยงกับ 19 จังหวัดในภาคอีสานเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นการพัฒนาทางด้านการค้าเศรษฐกิจและการลงทุนในการปฎิบัติได้อย่างราบรื่น