ศูนย์ข่าวศรีราชา -สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เดินหน้าโครงการอควาเรียม คาดปลายปี 48 เปิดให้บริการได้แน่นอน ไม่สนคู่แข่งเกิดขึ้นทั่วเมืองท่องเที่ยว มั่นใจอควาเรียมทำให้สถาบันฯมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายสัตว์ทะเล
ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการก่อสร้างอาคารอควาเรียมหลังใหม่ ซึ่งจะมีการความจุน้ำถึง 5,000 ตัน ซึ่งจะใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และใหญ่กว่าที่ประเทศสิงคโปร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี(อบจ.)ประมาณ 200- 300 ล้านบาท
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการออกแบบโดยสถาบันฯ และเจ้าหน้าที่สถาปนิกของอบจ. คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 2548 หรืออย่างช้าต้นปี 2549 แน่นอน
สำหรับรายละเอียดของโครงการ จะประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1. อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ทางทะเล หรือ Marine Natural Science Museum ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล รวมทั้งสาขาที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรม กับเป็นการส่งเสริมและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาอย่าง ต่อเนื่องทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลของท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยจะให้ เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพระดับสากล
2.อาคารการเรียนรู้การเพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำเค็ม เนื่องจากปัจจุบันความนิยมในการนำสัตว์ทะเลมาเลี้ยงในตู้น้ำเค็มมีความต้องการสูงขึ้น จนทำให้ธรรมชาติไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งการจับสัตว์ทะเลเหล่านั้นบางครั้งขาดความเข้าใจ และใช้วิธีการที่ผิด จนก่อให้เกิดการลดจำนวนของสัตว์ทะเลลงอย่างน่าเป็นห่วง การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้มีการ เพิ่มจำนวนของสัตว์ทะเล แต่การดำเนินการต้องใช้เวลาและโรงเรือนสำหรับเพาะขยายพันธุ์
สถาบันฯจะเปิดส่วนนี้ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่สำคัญของเด็ก นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจได้มีโอกาสได้เยี่ยมชมและศึกษา หาความรู้ ในเชิงการท่องเที่ยว โดยจัดทำเป็นห้องกระจก จากที่ผ่านมาของเดิม เป็นห้องทึบ และไม่ได้เปิดให้เข้าชม
และ 3. โครงการก่อสร้างอาคารโลกใต้ทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งในยุคนี้จะเห็น ว่ามีการแข่งขันกันมากขึ้นโดยหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้ก่อสร้างสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มขึ้นจำนวนมาก โดยนำรูปแบบและ เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ จนทำให้สถานเลี้ยงสัตว์ทะเล ของสถาบันฯดูล้าหลัง และไม่ทันสมัย
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการนำเสนอและการจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเค็ม มีการพัฒนา และก่อให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยนำเทคโนโลยีของตู้มาจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเค็ม โดยให้ผู้มาเยี่ยมชมได้เดินชมลอดผ่านเข้าไปในลักษณะอุโมงค์ ซึ่งจะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชม และผลพลอยได้ คือ ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น
ดร.พิชัย กล่าวต่อไปว่า การที่มีอควาเรียมเกิดขึ้นจำนวนมากในขณะนี้ มองว่าจะเป็นช่วงของกระแสความนิยมในช่วงหนึ่งเท่านั้น และหากเจ้าของสถานที่ไม่มีความรู้จริง และไม่มีการวางแผนที่ดีในอนาคต ก็อาจจะต้องกลายเป็นอนุสาวรีย์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นมากเท่าไร ก็ไม่มีผลกระทบกับสถาบันฯเนื่องจากสถาบันฯไม่ได้เน้นในเรื่องของธุรกิจ โดยงานหลัก คืองานวิจัย และที่สำคัญสถาบันฯจะขายสัตว์ทะเลที่เพาะเลี้ยงได้ ซึ่งผู้สนใจทั่วไปและอควาเรียมอื่นๆ ก็ต้องมาซื้อจากสถาบันฯ เนื่องจากปัจจุบันมีกฎหมายห้ามจับสัตว์ทะเลบางชนิดเพื่อการธุรกิจ