xs
xsm
sm
md
lg

สรุป"นิวโร้ด"แม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่ ผ่านสะเมิงไม่ต้องเจาะภูเขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม่ฮ่องสอน - ผลศึกษาชี้ชัดแนวถนนเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนสายใหม่ ตัดผ่าน "สะเมิง-เมืองสามหมอก" ระยะทาง 191 กม. คาดใช้เงินลงทุน 1.1 พันล้าน ปรับแนวถนนเดิมพาดผ่าน 2 อุทยานแห่งชาติ 1 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แถมด้วยพื้นที่ลุ่มน้ำทุกระดับชั้น ตัดแผนขุดเจาะอุโมงค์ที่ต้องใช้งบฯนับพันล้านต่อกม. ขณะที่เอ็นจีโอในพื้นที่เห็นพ้อง

วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2547) ที่ศาลาประชาคม จังหวัดแม่ฮ่องสอน กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และตัวแทนบริษัทที่ได้ศึกษาโครงข่ายเชื่อมโยงสะเมิง-แม่ฮ่องสอน เป็นการปรับปรุงแนวเส้นทางเดิม จำนวน 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เอฟซิลอน จำกัด บริษัท แพลนโปร จำกัด บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอเชีย แล็ป แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ร่วมกันนำเสนอผลการคัดเลือกแนวเส้นทางถนนสายใหม่เชื่อมแม่ฮ่องสอน - เชียงใหม่ ที่ได้ศึกษาความเหมาะสมมาก่อนหน้านี้

นายสุรจิต ทิพยเกษร ผู้อำนวยการกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม กรมทางหลวง เปิดเผยว่า แนวเส้นทางที่ 1 จุดเริ่มต้นจากถนนรพช.สาย มส.5035 ผ่าน บ้านหัวน้ำแม่สะกึด-บ้านห้วยตอง-บ้านบ่อแก้ว และสิ้นสุดที่ อ.สะเมิง ระยะทาง 161.6 กิโลเมตร(กม.) (ไม่รวมเส้นทางจากสะเมิง - เชียงใหม่ อีกประมาณ 30 กม.)

แนวเส้นทางที่ 2 เป็นการปรับปรุงแนวเส้นทางเดิม โดยมีจุดเริ่มต้นจากถนนรพช.สาย มส.5035 ผ่านบ้านหัวแม่สะกึด-บ้านห้วยตอง-บ้านยั้งเมิน และสิ้นสุดที่ อ.สะเมิง ระยะทาง 151.5 กม.

แนวเส้นทางที่ 3 เป็นการก่อสร้างเส้นทางใหม่ โดยมีจุดเริ่มต้นจากถนนปางล้อนิคม (บริเวณ ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน) ผ่านบ้านพะโข่โหล่-บ้านห้วยตอง-บ้านแม่ตะละ และสิ้นสุดที่ อ.สะเมิง ระยะทาง 112.0 กม.
แนวเส้นทางที่ 4 เป็นการก่อสร้างเส้นทางใหม่ มีจุดเริ่มต้นจากถนน รพช. สาย มส.5035 ผ่านบ้านหัวน้ำแม่สะกึด-บ้านห้วยตอง-บ้านแม่ตะละ สิ้นสุดที่ อ.สะเมิง ระยะทาง 117.1 กม.

จากการตรวจสอบพบว่า เส้นทางแนวใหม่ต้องตัดผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ อุทยานแห่งชาติออบขาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสะเมิง และพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1B และชั้น 2 ซึ่งตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 กำหนดให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (EIA : Environmental Impact Assessment)

นอกจากนี้เส้นทางส่วนใหญ่ตัดผ่านพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวัน 23 ธันวาคม 2546 กำหนดให้ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาก่อนเพื่อเสนอความเห็น ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จึงต้องมีการศึกษาด้านเศรษฐกิจและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

โครงข่ายเชื่อมโยงสะเมิง-แม่ฮ่องสอน

นายสุรจิต เปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันการเดินทางจากเชียงใหม่ไปแม่ฮ่องสอน สามารถเดินทางโดยเส้นทางสายหลัก 2 เส้นทาง คือ เส้นทางหลวงหมายเลข 108 จากเชียงใหม่ ผ่าน อ.ฮอด อ.แม่สะเรียง และอ.ขุนยวม ถึง แม่ฮ่องสอน ระยะทางประมาณ 349 กม. และเส้นทางหลวงหมายเลข 107 จากเชียงใหม่ ผ่าน อ.แม่ริม อ.ปาย อ.ปางมะผ้า ถึงแม่ฮ่องสอน ระยะทางประมาณ 247 กม.

เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่อ้อม คดเคี้ยวไปตามไหล่เขา ใช้ความเร็วในการเดินทางได้ค่อนข้างต่ำ และใช้เวลาเดินทางมาก อีกทั้งหน่วยงานทั้งภาคเอกชน ภาครัฐบาล ได้ร้องเรียนและเสนอแนะมายังกรมทางหลวงหลายครั้ง โดยขอให้พิจารณาเส้นทางจาก เชียงใหม่-สะเมิง-แม่ฮ่องสอน เพื่อลดระยะทางการคมนาคมและพัฒนาแม่ฮ่องสอน

เมื่อพิจารณาสภาพพื้นที่แล้ว สามารถใช้เส้นทางที่ตรงกว่า ตามแนวเส้นทางที่ 1 คือจากทางหลวงหมายเลข 108 ถึง อ.หางดง ใช้ทางหลวงหมายเลข 1269 จาก อ.หางดง-อ.สะเมิง แล้วก่อสร้างทางแนวใหม่จาก อ.สะเมิง ผ่านบ้านวัดจันทร์ ถึงแม่ฮ่องสอน โดยรวมระยะทางประมาณ 191 กม.ซึ่งสามารถลดระยะทางให้น้อยลงและใช้ความเร็วของรถได้มากขึ้น

จากการเปรียบเทียบพบว่า แนวเส้นทางทั้งหมด ก่อให้เกิดผลประโยชน์ด้านวิศวกรรม/จราจร และเศรษฐกิจ การลงทุน ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่การก่อสร้างแนวเส้นทางที่ 1 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แม้ว่าจะตัดผ่านเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมถึงเขตลุ่มน้ำชั้น 1 A,1 B และชั้น 2 ก็ตาม แต่ก็มีแนวถนนเดิมอยู่แล้ว เป็นการเข้าไปพัฒนาเส้นทางเดิมที่มีอยู่ จึงมีความเหมาะสม ที่จะได้รับการคัดเลือกให้ศึกษาในรายละเอียดต่อไป

ด้านนายนพดล ครุตทอง นักวิชาการสิ่งแวดล้อม บริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด เปิดเผยว่า แนวเส้นทางที่ 1 จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ไปยังอ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ระยะทาง 161 กม.จากสะเมิงไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ อีกประมาณ 30 กม. รวมระยะทางจากแม่ฮ่องสอนไปยังจังหวัดเชียงใหม่ 191 กม.ค่าก่อสร้างแนวเส้นทางนี้ประมาณ 1,100 ล้านบาท อย่างไรก็ตามสามารถลดงบประมาณในส่วนอื่น ๆ ลงได้อีกเล็กน้อย

นอกจากนี้แล้วแนวเส้นทางที่ 1 ไม่ต้องขุดเจาะอุโมงค์ ส่วนแนวเส้นทางที่ 2,3,4 ต้องใช้เงินลงทุนสูง เฉพาะการขุดเจาะอุโมงค์ ต้องใช้งบฯถึง 1,000 กว่าล้านต่อกม. ซึ่งแต่ละแนวต้องขุดอุโมงค์ประมาณ 8 กม.ขึ้นไป

นายทองเปลว ทวิชากร สมาชิก อบต.หมู่ 3 ต.ห้วยสุรินทร์ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน และประธานเครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า แนวเส้นทางที่ 1 ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่เห็นด้วย เนื่องจากไม่ต้องมีการขุดเจาะอุโมงค์ ต่างจากแนวเส้นทางที่ 2 , 3 และ 4 ที่ต้องขุดเจาะอุโมงค์ ประมาณ 4-5 จุด ที่อาจจะขุดเจาะเจอสายน้ำ และอาจเกิดการทรุดตัวของอุโมงค์ได้ รวมถึงส่งผลกระทบไปถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้หารือกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ในเครือข่ายมาแล้วระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็เห็นชอบด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น