xs
xsm
sm
md
lg

เหล้าพื้นบ้าน'จวกรัฐกลับลำอุ้มยักษ์ผูกขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครราชสีมา- นายกสมาคมสุราแช่และสุรากลั่นไทย โอดรัฐบาลทอดทิ้ง กลับลำโดดอุ้มยักษ์ใหญ่ผูกขาดไม่เลิก เผยผู้ผลิตสุราแช่และสุรากลั่นพื้นบ้านกว่า 18,000 ราย ที่ล่มสลายมาต่อเนื่องสูญพันธุ์สิ้นเชิงสิ้นปีนี้ สร้างความเสียหายเป็นหนี้ท่วมหัวทั้งระบบไม่ต่ำกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ร้องรัฐตอบรับข้อเสนอ 3 สมาคมฯ ปรับอัตราภาษีใหม่และยื่นมือช่วยสร้างระบบการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างยักษ์ใหญ่กับรายย่อยด่วน

นายศักดิ์ชัย เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมสุราแช่และสุรากลั่นไทย จ.บุรีรัมย์ กล่าวถึงสถานการณ์ กิจการของกลุ่มผู้ผลิตจำหน่ายสุราแช่และสุรากลั่นพื้นบ้านว่า ที่ผ่านมาทั้งประเทศได้มีผู้ผลิตสุราแช่จดทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมสรรพสามิต ตั้งแต่ปี 2545 รวมไม่ต่ำกว่า 10,000 ราย แต่ปัจจุบันขาดทุนปิดกิจการไปแล้วกว่า 90% ซึ่งผู้ประกอบการสุราแช่ ที่ปิดกิจการบางส่วนได้หันมาจดทะเบียนประกอบการสุรากลั่นพื้นบ้านแทน

ขณะที่สุรากลั่นพื้นบ้าน ซึ่งรัฐเปิดให้ผลิตได้ตั้งแต่ปี 2546 ได้มีผู้จดทะเบียนผลิตและจำหน่ายสุรากลั่นพื้นบ้านรวมทั้งประเทศแล้วกว่า 8,000 ราย หลังประกอบธุรกิจมาระยะหนึ่งได้ประสบปัญหาด้านการตลาดอย่างหนัก ไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทผู้ผลิตสุรารายใหญ่หรือ "เหล้าโรง" ได้

ทั้งนี้ เนื่องจากสุรากลั่นพื้นบ้านต้องใช้ข้าวเหนียว เป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งมีราคาขยับสูงขึ้นอีกกว่า 30% จากเดิมที่ราคาสูงอยู่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ใช้กากน้ำตาลหรือโมลาสผลิต มีราคาต่ำกว่าแต่เสียภาษีเท่ากัน อีกทั้งยักษ์ใหญ่ผูกขาดการผลิตและการตลาดมานาน มีความพร้อมทั้งเงินทุนและความได้เปรียบในทุกด้าน ชาวบ้านจึงต้องจำหน่ายในราคาถูกกว่าเหล้าโรง ทำให้ในที่สุดต้องขาดทุนและไม่สามารถอยู่ได้

"ตั้งแต่รัฐบาล บอกว่า เปิดเสรีให้กับเหล้าพื้นบ้านเมื่อปี 2545 ได้มีชาวบ้านหรือผู้ประกอบการรายย่อยเข้ายื่นจดทะเบียน เพื่อผลิตและจำหน่ายทั้งสุราแช่และสุรากลั่นพื้นบ้านทั่วประเทศรวมแล้วไม่ต่ำกว่า18,000 ราย แต่จนถึงวันนี้ปิดตัวลงไปเกือบหมดแล้ว เหลืออยู่ไม่ถึง 500 รายเท่านั้น" นายศักดิ์ชัย กล่าว

นายศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้ หากรัฐบาลไม่มีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ หรือปรับเกณฑ์อัตราการเสียภาษีสรรพสามิตใหม่ ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับรายย่อย ผู้ผลิตสุราแช่และสุรากลั่นพื้นบ้านที่เหลือจะต้องทยอยปิดตัวลงไปอีกจนหมดสิ้นทุกรายอย่างแน่นอน

พร้อมๆกับมาตรการเข้มงวดของกระทรวงการคลัง ที่ประกาศจะกวาดล้างเหล้าเถื่อนให้หมดภายในปี 2548 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายกับกลุ่มเกษตรกร หรือชาวบ้านตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ได้ร่วมกันกู้ยืมเงินมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตสุราดังกล่าว เฉลี่ยโรงงานละไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท คิดคำนวณจากทั้งหมด 18,000 รายที่ทยอยปิดตัวมาอย่างต่อเนื่อง รวมเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งในที่สุดจะกลายเป็นหนี้สินทั้งระบบ

"วันนี้ พูดได้เลยว่า รัฐบาลได้ทอดทิ้งกลุ่มสุราแช่และสุรากลั่นพื้นบ้านอย่างสิ้นเชิงแล้ว ด้วยการกลับไปอุ้มกลุ่มทุนสุรารายใหญ่เช่นเดิม ซึ่งขัดกับนโยบายแรกเริ่มของรัฐบาล ที่ต้องการสนับสนุนส่งเสริมประชาชนระดับรากหญ้า ให้ได้มีโอกาสประกอบอาชีพเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร เพื่อสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งสืบทอดกันมายาวนาน แต่กลับต้องมาเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวเนื่องมาจากการลงทุน " นายศักดิ์ชัย กล่าว

นายศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ออกมาสานต่อนโยบาย ที่เคยให้ไว้กับประชาชน และให้ความช่วยเหลือ กลุ่มผู้ผลิตสุราแช่และสุรากลั่นพื้นบ้านให้อยู่รอด สามารถแข่งขันด้านการตลาดกับกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายสุรารายใหญ่ได้ โดยการลดภาษีสรรพสามิต และส่งเสริมด้านการตลาดให้กับผู้ผลิตรายย่อยหรือระดับชุมชน เพราะไม่เช่นนั้น กลุ่มผู้ประกอบการสุราแช่และสุรากลั่นพื้นบ้าน จะล่มสลายสูญพันธุ์กันทั้งหมดอย่างแน่นอน

"ขอให้รัฐบาลได้ทบทวนการลดภาษีตามที่ 3 สมาคมกลุ่มผู้ผลิตสุราพื้นบ้าน ประกอบด้วย สมาคมสุราแช่และสุรากลั่นไทย สมาคมไวน์และสุราพื้นเมือง และสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไวน์และสุราแช่พื้นเมือง ร้องขอมาโดยตลอด ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหา ให้กับกลุ่มผู้ผลิตสุราแช่และสุรากลั่นได้อย่างแท้จริง" นายศักดิ์ชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น