ศูนย์ข่าวขอนแก่น-กระเช้าขึ้นภูกระดึง ใกล้ความจริง กมธ.ท่องเที่ยวฯ เห็นชอบตามคณะทำงานฯ เตรียมเสนอสู่ที่ประชุมสรุปอีกครั้ง และรอเพียงครม.อนุมัติ สามารถก่อสร้างได้ทันที เผยผลการศึกษาเบื้องต้น ใช้กระเช้าแบบสายเคเบิล ขึงต้นทาง-ปลายทาง คาดใช้งบฯกว่า 450 ล้านบาท ด้านหอการค้าเลย สนับสนุน ย้ำจุดยืนทำลายป่าให้น้อยที่สุด เชื่อพลิกโฉมการท่องเที่ยวเลยคึกคักตลอดปี เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง
นายสถิตย์ ภักศรีแพง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ การท่องเที่ยว (กมธ.)เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ถึงความคืบหน้า โครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงว่า คณะอนุกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานราชการ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเลยเมื่อ 8 พฤศจิกายน เพื่อติดตามความคืบหน้า โครงการผลักดันสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง พิจารณาร่างโครงการ และข้อเสนอทางเลือก ในการตัดสินใจสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง
"คณะอนุกรรมาธิการการท่องเที่ยวฯ ประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า ผลการศึกษารวบรวมข้อมูลในเชิงลึก เรื่องการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ที่ได้มอบหมายให้คณะทำงานในอนุกรรมาธิการฯ โดยตนในฐานะรองประธานคณะทำงานฯ ได้เสนอผลการศึกษา ซึ่งเป็นร่างโครงการและข้อเสนอทางเลือกในการตัดสินใจก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการการท่องเที่ยวฯ เห็นชอบร่างดังกล่าวแล้ว"รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยกล่าวและว่า
ขั้นตอนหลังจากนี้ คณะอนุกรรมาธิการการท่องเที่ยวฯ จะนำร่างโครงการ ไปเสนอต่อคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวฯ หากเห็นชอบตามผลการศึกษาของคณะทำงานฯแล้ว จะนำร่างดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบอนุมัติงบประมาณก่อสร้าง คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณค่าก่อสร้างและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมประมาณ 450 ล้านบาท
เปิดผลศึกษาโครงการกระเช้าภูกระดึง
สำหรับผลการศึกษารายละเอียดเบื้องต้น ของการสร้างกระเช้าไฟฟ้า ที่กรมป่าไม้ว่าจ้างบริษัท ทีม คอนซัลแตนท์ บริษัทที่ปรึกษาศึกษาไว้เมื่อปี 2541 แล้วเสร็จปี 2542 คือ จะใช้กระเช้าแบบสายเคเบิลขึงระหว่างสถานีต้นทาง-ปลายทาง สถานีต้นทางที่บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านศรีฐาน สถานีปลายทางที่บ้านนาแปน จำนวนกระเช้าประมาณ 36-48 คัน อัตราความเร็ว 30-36 กิโลเมตรต่อชั่วโมง(กม./ชม. )ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10.6 นาที
ตัวกระเช้าเป็นแบบเก๋ง 8 ที่นั่ง มีโครงสร้างที่แข็งแรง สามารถชมทัศนียภาพโดยรอบได้ จากช่องหน้าต่าง ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประตูจะเปิดปิดอัตโนมัติ เมื่อถึงบริเวณสถานี ผู้โดยสารไม่สามารถเปิด-ปิดประตูเองได้ ใช้พื้นที่ก่อสร้างเสาและสถานี 5,850 ตารางเมตร หรือ 3 ไร่เศษ คิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 0.0015 ของพื้นที่อุทยาน ใช้เสารองรับตลอดเส้นทาง 16 ต้น ความสูง 32-46 เมตร
นายสถิตย์ กล่าวว่า การสร้างกระเช้าทั้งระหว่างและหลังสร้างเสร็จ จะให้ความสำคัญกับการทำลายป่าไม้และสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยการก่อสร้างเสาตลอดความยาวเกือบ 6 กิโลเมตรนั้น จะใช้เฮลิคอปเตอร์ขนวัสดุอุปกรณ์ไปยังพื้นที่ก่อสร้างโดยตรง อีกทั้งความสูงของเสาแต่ละต้นค่อนข้างสูง กระเช้าจะลอยอยู่เหนือยอดไม้โดยตลอด ดังนั้น ตามเส้นทางของกระเช้าจึงไม่มีการเปิดป่า
ส่วนทางเลือกในการก่อสร้าง คณะทำงานฯได้ศึกษาและเสนอทางเลือกในการลงทุนและการจัดการไว้ 5 แนวทางคือ 1.รัฐลงทุนก่อสร้างและดำเนินการเอง 2.รัฐลงทุนก่อสร้าง และให้เอกชนดำเนินการ 3.รัฐให้เอกชนลงทุนก่อสร้าง และดำเนินการ 4. รัฐและเอกชนร่วมลงทุนและหรือดำเนินการ และ5.รัฐมอบหมายให้ชุมชนดำเนินการ
ด้านการประเมินความคุ้มทุน และการกำหนดค่าโดยสารไปกลับ คณะทำงานฯประเมินนักท่องเที่ยวไว้ที่ปีละ 253,000 คน หากจะให้คุ้มทุนภายใน 10 ปี จะต้องเก็บค่าโดยสารไป-กลับ 452 บาท/คน หากจะให้คุ้มทุนภายใน 25 ปี อัตราค่าโดยสารจะลดลงมากที่ 300 บาท/คน หากปริมาณนักท่องเที่ยวมีจำนวนมากกว่า 253,000 คน/ปี อัตราค่าโดยสารกระเช้าไป-กลับ จะสามารถเก็บได้ต่ำกว่า
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยกล่าวว่า ที่ผ่านมา ส่วนงานราชการในจังหวัดเลย ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ ทัศนคติ การชะล้างพังทลายหน้าดิน ความเหมาะสมด้านวิศวกรรมและในการจัดการท่องเที่ยว ครอบคลุมทั้ง 7 ด้านในระดับที่เพียงพอแล้ว แต่กระบวนการนำเสนอผลการศึกษาให้เข้าถึงประชาชนมีน้อย จึงเกิดกระแสคัดค้าน และไม่แน่ใจกับโครงการดังกล่าวค่อนข้างสูงในอดีต
หลังจากได้เน้นประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข้อมูลผลการศึกษา ในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กระแสกลับเปลี่ยนไปในทางที่เห็นด้วยกับโครงการนี้ ล่าสุดได้ประสานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ดำเนินการศึกษาผลกระทบ ในทางสังคมเมื่อต้นปี 2547 ซึ่งผลการศึกษาพบว่า มีผู้เห็นด้วยกับโครงการกว่าร้อยละ 75.8 ไม่แน่ใจร้อยละ 14.5 และไม่เห็นด้วยเพียงร้อยละ 9.6 เท่านั้น
ทั้งนี้ แม้จะเหลือขั้นตอนอีกมากประมาณ 6 ขั้นตอน แต่ระยะเวลาที่ผ่านมา คณะทำงานฯได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาศึกษาร่างโครงการ และทางเลือกร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้นศึกษาข้อมูล บางขั้นตอนสามารถศึกษาไปพร้อมกันได้ ดังนั้น จึงเหลือขั้นตอนไม่มากนัก หากครม.อนุมัติตามโครงการที่คณะทำงานฯเสนอไป คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างเพียง 14 เดือนเท่านั้น
ส่วนประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม คณะทำงานฯมีการศึกษาไว้รอบด้าน ซึ่งพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นพื้นที่ต้นน้ำ 1A เป็นต้นน้ำพอง และการสร้างกระเช้าขึ้น ภูกระดึง หลายฝ่ายหวั่นเกรงจะเกิดการชะล้างหน้าดิน ซึ่งข้อเท็จจริงจากการศึกษามีผลน้อยมาก เมื่อสร้างเสร็จกระเช้าอยู่สูงกว่าระดับยอดไม้ การพังทลายหน้าดินจะเกิดตามธรรมชาติเท่านั้น หากเทียบกับการเดินเท้าแบบเดิม จะมีการทิ้งขยะ ขับถ่ายตามรายทาง ตลอดจนชะล้างหน้าดินมากกว่ากระเช้า
เอกชนหนุนกระเช้าภูกระดึง
เชื่อพลิกโฉมตลาดท่องเที่ยว
นายธีระชัย ตันกิจเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดเลย เปิดเผยว่า หอการค้าจังหวัดเลย มีจุดยืนสนับสนุนโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง เพื่อเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ล่าสุดหลังจากที่มีการศึกษาครอบคลุมทั้ง 7 ด้าน และคณะอนุกรรมาธิการการท่องเที่ยวฯ เห็นชอบตามร่างของคณะทำงานฯแล้ว ถือว่าคืบหน้ามาก ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 แล้ว คงเหลือกระบวนการต่างๆไม่มากนัก
หอการค้าจังหวัดเลย ต้องการให้สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง โดยทำลายสิ่งแวดล้อมและต้นไม้น้อยที่สุด ซึ่งผลการศึกษาแบบก่อสร้างเบื้องต้น ตัดต้นไม้เพียงร้อยละ 0.0015 ของพื้นที่อุทยาน ส่วนการเดินเท้าขึ้นภูกระดึง ตามรูปแบบเดิม ก็ยังคงมีอยู่ควบคู่กับกระเช้าไฟฟ้า โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยววัยหนุ่มสาว ลูกหาบยังสามารถประกอบอาชีพเดิมหรือเปลี่ยนไปเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสถานีกระเช้าไฟฟ้าได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การผลักดันให้สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง มีการนำเสนอให้สร้างที่พักนักท่องเที่ยวในลักษณะโรงแรม หรือรีสอร์ต ตลอดจนสร้างสนามกอล์ฟ นั้นถือว่าไม่เหมาะสม เพราะหากมีสถานที่ดังกล่าวอยู่บริเวณใกล้ภูกระดึง จะทำให้คนเข้ามาพักค้างคืนที่ภูกระดึงหลายวัน และการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในระดับที่เกินขอบเขต จะเป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้เพิ่มขึ้นด้วย
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หากเกิดกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เชื่อมั่นว่าจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในจังหวัดเลยในระดับสูงมาก มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก นักท่องเที่ยวนอกจากเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติที่ภูกระดึงแล้ว จะเดินทางมาท่องเที่ยวจุดอื่นๆที่มีอยู่จำนวนมากทั่วทั้งจังหวัดเลย ซึ่งจะเกิดการลงทุนสร้างที่พัก โรงแรม สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งในเขตอำเภอเมืองและอำเภอรอบนอก
ที่สำคัญจังหวัดเลย เปิดใช้สะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว เชื่อมระหว่างจังหวัดเลย กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ที่บริเวณอำเภอท่าลี่ ซึ่งเป็นเส้นทางลัดเชื่อมไปยังเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง เพียงแค่ 363 กิโลเมตรเท่านั้น ต่อไปการท่องเที่ยวของจังหวัดเลย จะพลิกโฉมไปสู่การท่องเที่ยวที่เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ใช้เวลาเพียง 3 วัน สามารถเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดเลยและเมืองหลวงพระบาง ยิ่งจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาเที่ยวที่จังหวัดเลยเพิ่มขึ้น