ศูนย์ข่าวขอนแก่น-น้ำหอมอุดรซันไฌน์ ไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งตลาดในประเทศและส่งออก แม้จะมีรางวัลโปรดักต์แชมเปี้ยน การันตีคุณภาพ เหตุคนไทยเห่อใช้ของนอก แอนตี้ของไทย ด้านพาณิชย์จังหวัดชี้ กลิ่นและความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์ สู้น้ำหอมต่างชาติได้ แนะสร้างแบรนด์อุดรซันไฌน์ให้แข็งแกร่ง พ่วงทำตลาดเพิ่ม เชื่ออนาคตเป็นสินค้าส่งออกได้
กล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์ กล้วยไม้เพียงชนิดเดียวในโลก ที่สามารถส่งกลิ่นหอม ในยามเช้าถึงสาย ลักษณะกลิ่นหอมเย็น สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยมากเมื่อปี 2530 ซึ่งกล้วยไม้ชนิดนี้เกิดจากการคิดค้นของดร.ประดิษฐ์ คำเพิ่มพูล นักวิจัยด้านพันธุ์พืช ที่ปรับปรุงพันธุ์สำเร็จ โดยนำกล้วยไม้สามปอยดง ผสมกับพันธุ์โจเซฟฟิน แวนโบโร่ จดทะเบียนลิขสิทธิ์กับสมาคมกล้วยไม้โลก ที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2531
คุณลักษณะพิเศษของกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์ ดร.ประดิษฐ์ ได้คิดค้นพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอม ชูเอกลักษณ์น้ำหอมจากธรรมชาติ พร้อมกับน้ำหอมจากวัตถุดิบธรรมชาติชนิดอื่นๆคือ สมุนไพรว่านตูบหมูบ (Toob Moob) และน้ำหอมตูบหมูบผสมแมงแคง แมลงขนาดเล็กสีดำ สกัดสารฟีโลโมนของแมลงตัวผู้ ซึ่งเป็นสารล่อแมลงตัวเมียในฤดูผสมพันธุ์ มาผสมกับตะไคร้หอม เป็นน้ำหอมแมงแคง เริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปี 2540
ดร.ประดิษฐ์ คำเพิ่มพูล เจ้าของกิจการสวนกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์ เปิดเผยถึงการทำตลาดน้ำหอมอุดรซันไฌน์ว่า ผลการดำเนินงานทางตลาด ไม่ประสบผลสำเร็จในด้านยอดขายเชิงปริมาณเท่าที่ควร ยอดขายรวมน้ำหอมทั้ง 3 ชนิด มีน้อยมาก ประมาณเดือนละไม่ถึง 1,000 ขวด
"เป้าหมายหลักที่คิดค้นพัฒนาน้ำหอมจากธรรมชาติ ไม่หวังผลการตลาด เชิงปริมาณนัก จุดประสงค์หลัก คือ ต้องการสกัดการนำเข้าน้ำหอมแบรนด์ดังจากต่างประเทศมากกว่า เพราะผู้ใช้น้ำหอมคนไทย ชอบใช้น้ำหอมต่างประเทศจนฝังรากลึก เป็นค่านิยมคนไทยไปแล้ว จึงเสนอทางเลือกน้ำหอมจากภูมิปัญญาคนไทย และเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ต้องการให้เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สร้างรายได้เข้าประเทศด้วย"
ล่าสุดแม้ว่าผลิตภัณฑ์น้ำหอมอุดรซันไฌน์ ถูกขึ้นบัญชีเป็นผลิตภัณฑ์เด่น และเข้าประกวดสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับภาค เมื่อปี 2546 ได้รับรางวัล โปรดักต์แชมเปี้ยน ประจำปี 2546 ระดับ 4 ดาวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเภทผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ไม่ใช่อาหารและยา
อีกทั้งได้รับการเผยแพร่ ผ่านเว็บไซต์ ไทยตำบล ด็อทคอม นำเสนอผลิตภัณฑ์เด่นจากทั้ง 76 จังหวัด รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำหอมอุดรซันไฌน์ ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ แต่ก็ไม่เกิดผลกระทบเชิงบวกกับน้ำหอมอุดรซันไฌน์ และน้ำหอมในเครือนัก ยอดขายโดยรวมยังเหมือนเดิม ในลักษณะพอประคองตัวได้เท่านั้น
ดร.ประดิษฐ์กล่าวต่อว่า ปัญหาหลักที่ทำให้น้ำหอมธรรมชาติ ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร น่าจะมาจากค่านิยมคนไทย ที่นิยมบริโภคสินค้าจากต่างประเทศ ไม่เชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าของคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยากที่จะปรับเปลี่ยนค่านิยม ให้หันกลับมาใช้สินค้าของคนไทยด้วยกันได้
โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำหอมจากธรรมชาติ ที่คิดค้นจากภูมิปัญญาไทย เป็นเรื่องใหม่มากในสังคมไทย กอปรกับ เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย มีราคาที่ค่อนข้างสูง ผู้บริโภคที่ซื้อใช้เฉพาะกลุ่ม ในแง่ของยอดขายจึงไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก
สำหรับตลาดต่างประเทศ มีนักท่องเที่ยวสนใจเข้ามาซื้อพอสมควร ในลักษณะที่เดินทางมาเยี่ยมชมกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์ ซื้อกลับเป็นของฝากติดตัวไปด้วยเท่านั้น ส่วนการทำตลาดในเชิงรุก มีเพียงกลุ่มลูกค้าที่ติดใจผลิตภัณฑ์น้ำหอม นำไปจำหน่ายให้เท่านั้น โดยมีที่จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และพัทยา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลัก เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและมีกำลังซื้อสูง
ชี้ต้องเน้นทำการตลาดเชิงรุก
ชูจุดขายความแปลกใหม่
ด้านนายประยุทธ์ จิตราคนี พาณิชย์จังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์น้ำหอมอุดรซันไฌน์ ถือเป็นสินค้าเด่นของจังหวัดอุดรธานี ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานรัฐในพื้นที่ เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมด้านการประชาสัมพันธ์ และนำตัวอย่างสินค้า จัดแสดงทั้งงานแสดงสินค้าในประเทศ และต่างประเทศ ขยายฐานการตลาดให้กว้างขึ้น
"อุดรซันไฌน์ กลิ่นน้ำหอมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความแปลกใหม่ ที่สำคัญเป็นผลิตภัณฑ์น้ำหอมจากธรรมชาติ สามารถสร้างการยอมรับให้ผู้บริโภคได้พอสมควร คุณภาพผลิตภัณฑ์โดยรวมแข่งขันได้ แต่แบรนด์เนมหรือชื่อชั้น ที่จะดึงดูดความสนใจผู้ใช้น้ำหอมให้ซื้อ ยังแข่งกับแบรนด์น้ำหอมจากยุโรปไม่ได้"
หัวใจสำคัญ คือเรื่องตลาด เป็นประเด็นที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ ต้องให้ความสำคัญเน้นการตลาดเพิ่มเติม จากที่หน่วยงานรัฐได้ให้การช่วยเหลือ โดยชูจุดขายเป็นผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบธรรมชาติที่แปลกใหม่จากภูมิปัญญาคนไทย อาศัยกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์ สมุนไพร และตัวแมลง เป็นจุดขาย ให้ลูกค้าได้รู้จัก ยังพอมีลู่ทางที่จะขยายตลาดเพิ่ม ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้