พิษณุโลก - "ชมรมคนทำเหล้า"ทั่วประเทศ นัดทวงสัญญาปรับโครงสร้างภาษีเหล้าพื้นบ้านใหม่ จากสรรพสามิต 16 พ.ย.47 แก้ปัญหาความลักลั่น ระหว่างเหล้าข้าว - เหล้าโมลาส ที่เป็นต้นเหตุทำให้รายย่อยต้องปิดโรงงานแล้วกว่าครึ่ง และหันมาขายเหล้าหัวโล้น หรือเหล้าไม่ติดอากรแสตมป์ มากกว่า 80% พร้อมยื่นข้อเสนอเปิดทางผู้ประกอบการระดับรากหญ้า ผลิตเหล้าปรุงแต่งได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก "ชมรมคนทำเหล้า" จ.พิษณุโลก ได้จัดประชุมสมาชิกประมาณ 50 คน เพื่อถกปัญหาสุรากลั่นชุมชน โดยมีเครือข่ายสมาคมอุตสาหกรรมไวน์และสุราไทยเข้าร่วมการเสวนาด้วย
นายจีระศักดิ์ ช้างเผือก ประธานคนทำเหล้า จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ปัจจุบันโครงสร้างภาษีไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการสุรากลั่นชุมชน โดยจัดเก็บภาษีแสตมป์ 19.8 บาทต่อขวด ขณะที่ต้นทุนเหล้าขาวอยู่ที่ประมาณ 17 บาท แต่มีราคาขายราคา 42 บาท ส่งผลให้จำนวนโรงงานสุรากลั่นในจังหวัดพิษณุโลกต้องปิดตัวเองจำนวนมาก จาก 204 โรงงานเหลือเพียง 40-50 โรงงานเท่านั้น
นายชวการ โตสวัสดิ์ เลขาธิการ และรักษาการ นายกสมาคมประธานเครือข่ายผู้ประกอบการสุราชุมชน "คนทำเหล้า" อุตสาหกรรมไวน์และสุราไทย กล่าวว่า ในขณะนี้พบว่าโรงกลั่นได้ปิดตัวไปกว่าครึ่งของประเทศแล้ว
ทั้งนี้ เพราะต้นทุนสุรากลั่นที่ทำจากข้าว เมื่อเทียบกับสุรากลั่นทำจากกากน้ำตาลหรือโมลาสแตกต่างกัน แต่เก็บภาษีเท่ากัน โดยโมลาสมีต้นทุนกิโลกรัมละ 50 สตางค์ เปรียบเทียบกับข้าวเหนียวกิโลกรัมละ 9 บาท จำเป็นต้องลดภาษีแสตมป์ลงอัตราขวดละ 10 บาท เพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนอยู่ได้
เมื่อผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ ก็ต้องจำหน่ายเหล้าแบบหัวโล้น หรือไม่ติดอากรแสตมป์ โดยปัจจุบันพบว่ามีการจำหน่ายเหล้าไม่ติดอากรมากกว่าร้อยละ 80 จึงทำให้สรรพสามิตจังหวัด ไม่สามารถเก็บเงินเข้ารัฐได้ ทั้งยังเกิดการทุจริต ในลักษณะที่ผู้ประกอบการทำเหล้า จ่ายเงินเพื่อการละเว้น เป็นที่มาของเจ้าหน้าที่สรรพสามิต ที่ต้องทำผลงานนำจับในแต่ละเดือน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หากลดภาษีเพื่อให้คนทำเหล้าอยู่รอด และพัฒนาสุรากลั่นให้เป็นสินค้ายั่งยืน
เขากล่าวต่ออีกว่า ประเด็นปรับโครงสร้างภาษีสุรากลั่น เคยมีการนำเสนออธิบดีกรมสรรพสามิต และตกลงกันไปบางส่วนแล้ว โดยในวันที่ 16 พฤศจิกายน 254 จะทวงสัญญา พร้อมกับการปรับเกณฑ์ "สุราพิเศษ สุราปรุงแต่ง"ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น สามารถทำได้ เพื่อที่จะพัฒนาเหล้าขาวเป็นสุราได้ และอาจจะทำให้ไม่มีการแข่งดัมป์ราคาเหล้าขาวอีกในที่สุด
นอกจากนี้ ควรยกเลิกรางวัลนำจับ จากเดิมเป็นผลงานของเจ้าหน้าที่สรรพสามิต ให้เปลี่ยนเป็นผลงานของจังหวัด ที่สามารถส่งเสริมผู้ประกอบการสุรากลั่นชุมชนให้อยู่รอดได้จะดีกว่า เพราะที่ผ่านมาพบว่าปัญหาหลัก ที่ทำให้ผู้ประกอบการสุรากลั่นชุมชนไปไม่รอด เนื่องจาก ขาดงานวิจัยพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ ไม่มีระบบตรวจสอบรับรองคุณภาพสุรากลั่นแท้จริง อีกทั้งโครงสร้างกำหนดระเบียบสุราชุมชนก็ไม่เอื้ออำนวย
นอกจากนี้ต้องเร่งสร้างผู้ประกอบการ ให้สามารถแข่งขันกับตลาดในและต่างประเทศได้ ให้ลูกค้าต่างประเทศยอมรับตัวสินค้าให้ได้ รวมทั้งผลักดันให้มีการรวมตัวเป็นสมาคม เพราะที่ผ่านมาไม่มีการรวมตัวอย่างแท้จริงส่งผลให้ผู้ประกอบการสุราแช่หลายรายไม่ประสบผลสำเร็จ จนปิดกิจการไปในที่สุด
อนึ่งการก่อตั้งชมรมคนทำเหล้าดังกล่าว เพื่อส่งเสริมการผลิตสุรากลั่นให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานโดยมีสมาชิกกว่า 50 โรงงาน จาก 204 โรงงานในจังหวัดพิษณุโลก ที่ผ่านมาชมรมฯเคยส่งตัวแทนเข้าพบอธิบดีกรมสรรพสามิตมาครั้งหนึ่งแล้ว และในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 จะเดินทางเข้าพบอีกครั้ง เพื่อนำปัญหาของสมาชิกคนทำเหล้าในจังหวัด เข้าหารือกับอธิบดีกรมสรรพสามิต ร่วมกับ 56 ชมรมทั่วประเทศ อีกประมาณ 700 โรงงาน จากทั้งหมด 5,800 โรงงาน(สุรากลั่น)