xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมสร้างท่าฯเชียงแสน 2 ปี 48 คาดเสร็จปี 50

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - คมนาคมพร้อมสร้างท่าเรือเชียงแสน 2 ริมน้ำสบกก-แม่น้ำโขง มูลค่า 1,500 ล้านบาท เริ่มลงมือปีงบประมาณ 48 สร้างเสร็จใน 2 ปี กำหนดเปิดใช้ได้ในปี 49-50 เชื่อมถนนสายเชียงแสน-เชียงของ

นายวันชัย ศารทูลทัต ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามข้อตกลงเดินเรือเสรีในแม่น้ำโขง ไทย-พม่า-ลาว-จีน และกำหนดให้ท่าเรือ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นท่าเรือของไทย ที่ร่วมมือด้านการเดินเรือระหว่าง 4 ประเทศ ที่มีทั้งหมด 11 ท่าเรือ และได้ก่อสร้างท่าเรือเชียงแสน ริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณบ้านป่าสักหางเวียง ต.เวียง อ.เชียงแสน ด้วยงบประมาณ 190,600,000 บาท เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อตุลาคม 2546 ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้ม ไม่สามารถรองรับเรือสินค้าที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นได้

กระทรวงฯจึงได้เตรียมก่อสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ที่ บริเวณบ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน ซึ่งเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำกก บรรจบกับแม่น้ำโขง ห่างจากท่าเรือเชียงแสน 1 ไปทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร ติดกับถนนสาย อ.เชียงแสน-อ.เชียงของ และเชื่อมต่อกับถนนบายพาส ซึ่งรถบรรทุกไม่ต้องผ่านเข้าตัวเมืองเก่าเชียงแสนอีกต่อไป

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดได้ข้อสรุปว่า ท่าเรือแห่งใหม่จะเริ่มการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2548 กำหนดแล้วเสร็จใน 2 ปี หรือปลายปี 2549 และประมาณ ต้นปี 2550 จะเปิดใช้งานได้ โดยมูลค่าการก่อสร้างน่าจะประมาณ 1 พันกว่าล้านบาท ส่วนท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 ก็จะพัฒนาเป็นท่าเรือท่องเที่ยว - ลานอเนกประสงค์ของชาวเชียงแสนต่อไป

นายวันชัย กล่าวอีกว่า ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 นี้ ในอนาคต 4-5 ปีจะรองรับเรือสินค้าได้มากขึ้น รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้นด้วย เช่น อาคารสถานที่ โกดังเก็บสินค้า ลานจอดรถ ที่ทำการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วนพื้นที่ คิดว่า น่าจะเพียงพอที่จะรองรับสินค้าจากประเทศจีน พม่า ลาว ขณะที่เส้นทางที่จะเข้าสู่ท่าเรือ ก็มีแผนงานที่ต่อเนื่อง เพื่อที่จะรองรับการขนส่งสินค้าต่อไป และที่กำลังจะพิจารณาดำเนินการต่อไป คือ เส้นทางรถไฟจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ ที่จะต่อเข้าสู่ จ.เชียงราย ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยศึกษาไว้แล้ว

นายวันชัย บอกอีกว่า ส่วนการผ่านเเดนไป-มา ระหว่างไทย กับเพื่อนบ้าน เช่น พม่า-สปป.ลาวและ จีน นั้นจะต้องทำตามกฎระเบียบของประเทศนั้นๆ จึงต้องค่อยปรับตัว เช่นการใช้เส้นทางจาก อ.แม่สาย สู่ พม่า ทาง จ.ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา และจีนตอนใต้ ระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร สร้างถนนเสร็จแล้ว แต่ต้องหารือในเรื่องการอำนวยความสะดวกและการผ่านแดน
หากเทียบกับเส้นจากจากจีน ผ่านเมืองบ่อเต็น-บ่อหาร และห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว สู่ อ.เชียงของ ซึ่งจะเสร็จใน 1-2 ปี ข้างหน้าก็เป็นเรื่องที่ดี แต่การส่งเสริมเส้นทางใดที่มีความพร้อมก่อนก็ต้องรีบทำ

"เส้นทางที่ผ่านพม่า ถือว่ามีอนาคต แม้จะมีข่าวว่าพ่อค้าไทย ต้องเสียค่าผ่านแดนในพม่า สูงกว่ารถสินค้าจากจีน แต่เชื่อว่านักธุรกิจย่อมมีทางออกแน่ "

ทั้งนี้ ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ที่จะเกิดขึ้น น่าจะรับกับที่จังหวัดมีแผนที่จะตัดถนน 4 ช่องจราจร จาก อ.เมืองเชียงราย มายัง อ.ดอยหลวง เชื่อมต่อกับท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ทำให้การคมนาคมสะดวก และรองรับกับการขนส่งสินค้าทางเรือ พร้อมกันนี้ กรมทางหลวงกำลังศึกษาการสร้างมอเตอร์เวย์จากเชียงราย - เชียงใหม่ โดยเจาะอุโมงค์ลอดใต้ภูเขา และเป็นเส้นทางใหม่ ที่เลียบกับเส้นทางสายเชียงราย-เชียงใหม่สายเดิมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น