xs
xsm
sm
md
lg

แนะย้าย"สนามบินโคราช"กลับที่เดิมแก้ร้างซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครราชสีมา- นักธุรกิจโคราชผ่าทางตัน "เมืองย่าโม"ร้างสายการบินพาณิชย์ซ้ำซาก เสนอย้ายจากอ.เฉลิมพระเกียรติกลับมาใช้สนามบินทหารกองบิน 1 ที่ในอ.เมืองฯตามเดิม ตัดปัญหาใหญ่ไกล เสียเวลาเดินทาง-ไร้รถรับส่ง ต้นเหตุผู้โดยสารหนีพึ่งรถทัวร์ เผยมั่นใจลูกค้าแห่มาใช้บริการแน่นและโลว์คอสต์แอร์ไลน์อยู่รอด พร้อมแนะยกระดับสนามบินเก่า 2 พันล้าน เป็นโรงเรียนศูนย์กลางฝึกสอนการบินพลเรือนแห่งใหม่ของประเทศ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์

สนามบิน 2พันล้านโคราชร้างซ้ำซาก
นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานกรรมการบริหารโรงแรมสีมาธานี จ.นครราชสีมา และรองประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีจังหวัดนครราชสีมา ประสบปัญหาไร้สายการบินพาณิชย์มาเปิด ทำการบินให้บริการรับส่งผู้โดยสาร

ส่งผลให้ท่าอากาศยานนครราชสีมา กลายเป็นสนามบินร้าง หลังจากสายการบินแบบประหยัดหรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ (Low Cost Airline) ของไทยแอร์เอเชีย ได้ยกเลิกเส้นทางบินกรุงเทพฯ-นครราชสีมามาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2547 ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาทางออก ซึ่งต้องมาวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่า หัวใจของปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน เพราะปัญหาสนามบินโคราชร้างหรือไม่มีเที่ยวบินมาลง ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้นับตั้งแต่ที่โคราชได้ย้ายสนามการบินพาณิชย์จากสนามบินกองบิน 1 กองพลบินที่ 2 กองบัญชาการยุทธ์ทางอากาศ ต.หนองไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครราชสีมา ออกไปใช้สนามบินที่ก่อสร้างขึ้นใหม่มูลค่าเกือบ 2,000 ล้านบาทของกรมการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคม คือ ท่าอากาศยานนครราชสีมา บริเวณหนองเต็ง-จักราช ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ราวปี 2538 ปรากฏว่า สายการบินต่างๆ ที่เปิดเส้นทางการบินมาจ.นครราชสีมาได้ไม่นาน ล้วนประสบปัญหาต้องยกเลิกทำการบิน และก่อให้เกิดสภาวะสนามบินร้างอยู่เป็นประจำ ทิ้งช่วงเป็นระยะๆ 2-3 ปีเช่นนี้มาโดยตลอด

"เริ่มจาก การบินไทย ซึ่งย้ายมาทำการบินที่ท่าอากาศยานแห่งใหม่ เป็นเจ้าแรกในฐานะเจ้าของสัมปทานเส้นทางการบินกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อยู่ได้ราว 2 ปีก็ยกเลิก เพราะขาดทุนผู้โดยสารมาใช้บริการน้อย หลังจากเป็นสนามบินร้างอยู่ 2-3 ปี แอร์อันดามันได้เข้าช่วงปี 2542-2543 ภายใต้การพยายามประคับประคองช่วยเหลือจากการบินไทย ด้วยการซื้อที่นั่งช่วยจำนวน 10 ที่นั่งในทุกเที่ยวบินแต่ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ จากนั้นการบินไทยกลับมาบินเองอีกครั้ง อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ต้องเลิกราไป และปล่อยให้เป็นสนามบินร้าง ตั้งแต่ปลายปี 2544 เป็นต้นมา กระทั่งรายล่าสุด คือไทยแอร์เอเชีย ที่นำสายการบินราคาประหยัดเข้ามาบิน เพื่อหวังให้อยู่ได้ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาแต่ต้องปิดตัวอย่างรวดเร็วเมื่อ 1 ส.ค.ที่ผ่านมาด้วยสาเหตุเดียวกัน " นายกงกฤช กล่าว

ชี้ทางรอดย้ายกลับกองบิน 1 คนแห่ใช้บริการ

นายกงกฤช กล่าวต่อว่า จากที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ปัจจัยหลักที่การเดินทางโดยเครื่องบินของจังหวัดนครราชสีมาไม่ได้รับความนิยม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราราคาค่าโดยสารเพียงอย่างเดียว
แต่หัวใจสำคัญของปัญหาอยู่ที่ เพราะท่าอากาศยานนครราชสีมาหรือ สนามบินหนองเต็ง-จักราชอยู่ไกลจากตัวเมืองมากเกินไปถึง 30 กิโลเมตร และไม่มีระบบขนส่งผู้โดยสาร ระหว่างตัวเมืองกับสนามบินรองรับเพราะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

ผู้โดยสารที่จะใช้บริการเครื่องบินต้องมีรถยนต์ส่วนตัวไปส่ง-ไปรับ หรือหาวิธีเอาตัวรอดเองตามยถากรรม ซึ่งต้องเสียเวลาเดินทางไปสนามบินไม่ต่ำกว่า 45 นาที รวมทั้งหมดแล้วกว่าเครื่องจะบินถึงกรุงเทพฯต้องใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมง เมื่อเทียบแล้วกลับช้าและยุ่งยากกว่าการเดินด้วยรถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ซึ่งขัดกับหลักของความเป็นจริงที่ต้องจ่ายแพงกว่า แต่กลับยุ่งยากไม่สะดวกและเสียเวลามากกว่า

ทางออกที่ดีของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรพิจารณาให้สายการบินพาณิชย์ย้ายมาทำการบินขึ้น-ลงให้บริการรับส่งผู้โดยสารที่ สนามบินกองบิน 1 กองพลบินที่ 2 กองบัญชาการยุทธ์ทางอากาศ ต.หนองไผ่ล้อม อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมาเช่นเดิม เหมือนช่วงปี 2529-2537 ซึ่งขณะนั้นถึงแม้ค่าตั๋วจะอยู่ในอัตราที่แพงก็ยังประสบความสำเร็จ และได้รับความนิยมจากประชาชน นักธุรกิจ ข้าราชการหรือนักการเมืองมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก เพราะสะดวกสบายและอยู่ใกล้ตัวเมือง

"หากย้ายกลับมาใช้สนามบินกองบิน 1 เช่นเดิม เชื่อว่าจะได้รับความนิยมมีผู้โดยสารมากขึ้น และทำให้สายการบินอยู่ได้อย่างแน่นอน ประกอบกับการเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งทราบว่าหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กำลังประสานกับ สายการบินนกแอร์อยู่แล้ว ยิ่งจะทำให้มีความเป็นได้สูงในทางธุรกิจ " นายกงกฤช กล่าวและว่า

ส่วนทางด้านกองบิน 1 เท่าที่ได้มีโอกาสหารือเป็นการส่วนตัว กับผู้บังคับการกองบิน 1 ก็บอกว่า ยินดีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ หากเป็นความต้องการของรัฐบาลและประชาชน ซึ่งสาธารณูปโภคและอาคารท่าอากาศยานเดิม ก็ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมที่จะใช้งานได้

ยก'หนองเต็ง-จักราช'เป็นร.ร.สอนการบิน

ด้านนายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สำหรับสนามบินหนองเต็ง-จักราช หรือ ท่าอากาศยานนครราชสีมา ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ ของกรมขนส่งทางอากาศ ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินก่อสร้างไปเกือบ 2,000 ล้านบาท ถึงแม้จะมีการย้ายสนามการบินพาณิชย์กลับไปใช้ที่สนามบินกองบิน 1 เหมือนเดิมหรือไม่ก็ตาม สนามบินหนองเต็ง-จักราชต้องมีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุดไม่ใช่ถูกปล่อยทิ้งร้างแบบทุกวันนี้

ทั้งนี้ ตนได้พยายามเสนอแนวความคิด ให้นำมาพัฒนายกระดับเป็นโรงเรียนฝึกสอนการบินพลเรือนแห่งใหม่ของประเทศไทย เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ ที่ยังจะมีการขยายตัวและต้องการบุคลากรด้านการบินอีกมากในอนาคตอันใกล้

รวมทั้งการนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น เป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ให้บริการเช่าจอดเครื่องบินขนาดเล็กของนักธุรกิจ หรือเครื่องบินเช่าเหมาลำของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการ อาจจะเป็นในรูปของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน หรือให้เอกชนเสนอตัวเข้าดำเนินการเองทั้งหมด โดยแบ่งผลประโยชน์ให้กับรัฐ

ทั้งนี้สนามบินโคราชมีพื้นที่อาคารผู้โดยสาร 5,500 ตารางเมตร พื้นที่ลานจอดเครื่องบิน 27,455 ตรม. และหลุมจอดเครื่องบิน 4 Bays

"โรงเรียนสอนการบินพลเรือนปัจจุบันที่สนามบินหัวหินแออัดมากแล้ว อีกทั้งอยู่ยังใกล้เขตพระราชฐานพระราชวังไกลกังวล หากจะขยายออกมาที่สนามบินนครราชสีมาอีกแห่ง จะเป็นเรื่องที่และที่นี่มีศักยภาพสูง เนื่องจากความพร้อมทั้งสถานที่ และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ" นายทวิสันต์ กล่าวในตอนท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น