xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-เอกชนร่วมดัน"ข้าวหอมมะลิอินทรีย์"สู่ตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน - ม.เกษตรฯเปิดผลศึกษา เส้นทางข้าวหอมมะลิอินทรีย์สู่ตลาดโลก แนะรัฐต้องใจป้ำทุ่ม 100 ล้าน พัฒนาการผลิต ตลาดในและต่างประเทศ ใน 5 ปี ตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูก 3 พันไร่ 1,500 ตัน/ปี พร้อมขยายจุดขาย 500 แห่งทั่วประเทศ เร่งเจาะตลาดส่งออกสหรัฐฯให้ได้เพิ่ม 3 พันตัน/ปี ด้านซีพี ตั้งโรงสีข้าวชุมชน 11 แห่ง รับสีและซื้อในราคาประกัน พร้อมผุดโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ราคา 60 ล้าน หวังเป็นฐานผลิตสู่ตลาดโลกรับกระแสนิยมบริโภคอาหารปลอดสารพิษ

รศ.ดร.ศรัณย์ วรรธนัจฉริยา ที่ปรึกษาโครงการศึกษาการพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เพื่อการส่งอกของไทย ในตลาดประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา สนับสนุนโดยกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ศึกษาโดยศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า

การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของไทยมีปัญหาสำคัญ คือ การขาดแคลนแรงงาน ราคาซื้อขายระหว่างข้าวหอมมะลิปกติกับข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ราคาไม่แตกต่างจึงไม่จูงใจผู้ปลูก กับความไม่ยุติธรรมในการกำหนดราคาของผู้ซื้อ และสุดท้าย ไม่มีมาตรฐานตรวจสอบสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในระดับสากลได้

"มีเกษตรกรธรรมดาเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ที่เปลี่ยนมาทำการผลิตข้าวอินทรีย์ เพราะเหตุผลทางด้านราคา ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนการผลิต"

รศ.ดร.ศรัณย์กล่าวด้วยว่า พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีมากที่สุดถึง 8,132.49 ไร่ มีต้นทุนการผลิตรวม 2,986.10 บาทสูงกว่าข้าวหอมมะลิปกติเล็กน้อย 2,898 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกกันแบบมีข้อตกลง ( Contract farming ) ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการทำการตลาด ซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐและเอกชน

"ชาวนาเกือบทุกกลุ่มจำหน่ายผลผลิตภายในประเทศในลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ ทำในวงแคบ และเข้าไปในตลาดซูเปอร์มาร์เกต ซึ่งมีปัญหาเนื่องจากมียอดขายในปริมาณจำหน่าย ทำให้ต้องยกเลิกการขาย และสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวนาปลูกข้าวหอมอินทรีย์ก็คือ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน" ที่ปรึกษาโครงการฯกล่าว

เสนอรัฐทุ่ม100ล้านพัฒนาข้าวอินทรีย์

รศ.ดร.ศรัณย์กล่าวด้วยว่า คณะวิจัยได้นำเสนอโครงการพัฒนาการผลิต การตลาด และการส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ โดยเป็นโครงการนำร่องมีระยะเวลา 5 ปีใช้งบประมาณ 100 ล้านบาทในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน

ทั้งนี้ มีโครงการย่อย 3 โครงการคือ 1. โครงการพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ มุ่งเน้นขยายจำนวนเกษตรกรและพื้นที่การเพาะปลูกให้ได้ 3,000 ไร่ ใช้เงินราว 60 ล้านบาท 2. โครงการพัฒนาตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ภายในประเทศ มุ่งขยายจำนวนผู้บริโภคให้ได้กว่า 1 แสน มีจุดจำหน่าย 500 จุดทั่วประเทศ ให้ได้ 1,500 ตัน/ปี ใช้งบราว 29 ล้านบาทและโครงการพัฒนาตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในสหรัฐฯ ตั้งเป้าให้ได้ 300 ตัน/ปี ใช้เงิน 11 ล้านบาท

"จะนำเรื่องนี้เสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณา สนับสนุนโครงการนี้เชื่อว่าชาวนาจะปลูกข้าวได้เพิ่มขึ้นราคาดี ต่ำๆ 500 กก./ไร่ ราคา 10 บาท/กก." รศ.ดร.ศรัณย์กล่าว

ซีพีเปิดโรงสีข้าวอินทรีย์ 11 แห่งทั่วประเทศ

นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) กล่าวว่า ภายหลังที่กลุ่มซีพีประสบความสำเร็จ ในการพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีข้าว โดยความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์

ทั้งนี้ กลุ่มซีพีได้ลงทุนตั้งโรงสีข้าวชุมชนรุ่น RUM-500 ใน 11 แห่งทั่วประเทศ 1 โรงสีข้าวได้วันละ 12 ตันราคาเครื่องละ 1.5 ล้านบาท พร้อมตั้งกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกข้าวหอมอินทรีย์ขายให้กับโรงสี ในราคาประกันสูงกว่าข้าวหอมมะลิปกติ 30% โดยทางกลุ่มจะทำตลาดให้แก่ชุมชนทั้งในและต่างประเทศ

"ทางกลุ่มได้สร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์และยาปราบศัตรูพืชอินทรีย์ ที่จังหวัดชุมพร ในชื่อ เอเซียนฟู๊ดเทค ใช้เศษวัสดุเหลือใช้จากการผลิต ซึ่งเพิ่งเริ่มก่อตั้งในปีนี้ ใช้งบประมาณลงทุนไปแล้วกว่า 60 ล้านบาท" ประธานคณะผู้บริหารฯ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์กล่าว

ด้านนายเกษม แสนโภชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่านอกจากปัญหาต้นทุนสูงราคาขายต่ำและ ทัศนคติแคบๆที่ชาวนาต้องต่อสู้กับพวกบริษัทขายปุ๋ยและสารเคมี และหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ไม่ยอมปล่อยกู้ให้เพราะดูถูกการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ว่าไม่คุ้มทุน ได้ผลผลิตน้อยเสี่ยงต่อการขาดทุน ยิ่งกว่านี้หลังได้ผลผลิตแล้วกลับถูกกลุ่มพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อไม่ยอมจ่ายเงินให้แต่นำสินค้าไปก่อน

" ปัญหาปลอมปนหนักอยู่แล้วไม่ต้องพูดถึง กลับเจอปัญหาพวกเบี้ยวหนี้ เช่นบริษัทแม่ทองหล่อ อ.วังน้อย ซื้อข้าวชาวนาอำเภอชุมพลบุรีแล้วจ่ายเช็คเด้งให้เกษตรกรคิดเป็นเงินกว่า 5 แสนบาท" ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์กล่าว

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ ชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่าธุรกิจข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของซีพีถือว่าเป็นเพียงการยกระดับราคาขาย เจาะตลาดบน โปรโมชันสินค้าทางธุรกิจมากกว่า คนอาจนิยมซื้อเป็นครั้งเป็นคราว แต่คนปลูกก็ยังอยู่ใต้ระบบ Contact Farming

"ส่วนการวิจัยพันธุ์ข้าวหอมมะลิทำได้ยาก เพราะหอมมะลิเป็นข้าวพื้นเมืองปลูกได้ในเฉพาะทางภูมิศาสตร์ สภาพดินเค็มในภาคอีสานได้เท่านั้นถึงจะมีกลิ่นหอม ซีพีเอฟเก็บข้าวจากเกษตรกรและทำได้แค่รักษาพันธุ์ให้นิ่งได้เท่านั้นเอง"
กำลังโหลดความคิดเห็น