xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเส้นทางทัวร์เชียงตุง-เมืองลา (จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่


ปลายปี 2542 - 2543 ชื่อของ บริษัท หงษ์ปังอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด โด่งดังขึ้น เนื่องด้วยเป็นโฮลดิ้งคอมพานีในเครือข่ายของว้า : เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ 2 ชนชาติว้าแห่งสหภาพพม่า ซึ่งมี "เหว่ย เซี๊ยะ กัง" ราชายาเสพติดระดับโลก ร่วมอยู่ในระดับชนชั้นนำของคณะผู้นำ

เป็นว้ากลุ่มเดียวกันกับ "ว้า" ซึ่งเรียกขานกันอีกนามหนึ่งว่า SW 2 ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่า ให้เข้ามาครอบครองพื้นที่รัฐฉานตอนใต้ (ชายแดนพม่าที่ติดกับภาคเหนือของไทย) แทนกลุ่ม "ขุนส่า" ราชายาเสพติดระดับโลกอีกคนหนึ่ง : กลุ่ม MTA ที่ถูกกดดันให้ยอมสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลพม่าเมื่อต้นปี 2539 ที่ผ่านมา

แต่วันนี้ หงษ์ปังอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต กำลังปลุกปั้นตัวเองให้เป็นสัญลักษณ์การพัฒนารัฐฉาน

กว่า 10 ปีที่แล้ว สัมปทานก่อสร้างถนนสายท่าขี้เหล็ก - เชียงตุง - เมืองลา อยู่ในมือของกลุ่มทุนท้องถิ่นของไทย ทั้งจากแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอัครโยธิน กลุ่มลำพูนดำ ฯลฯ

นัยว่า เพื่อแลกกับสัมปทานเก็บค่าผ่านทาง / ไม้ / ทรัพยากรธรรมชาติจากพม่า ต่อมารัฐบาลไทยเสนอให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับพัฒนาเส้นทางสายนี้แก่รัฐบาลพม่าวงเงิน 300 ล้านบาท แต่ในที่สุดเส้นทางสายนี้กลับเสร็จสิ้นสมบูรณ์ลงด้วยมือของกลุ่ม "หงษ์ปังฯ"

เป็นถนนที่กำลังนำความเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกเข้าไปสู่พื้นที่รัฐฉานตะวันออก พื้นที่ปิดในอดีตภาคใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่า

ตลอดแนวเส้นทางถนนลาดยาง 162 กม.จากท่าขี้เหล็ก (ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย) - เชียงตุง ผู้เดินทางผ่านจะพบเห็น โลโก้ "HP" ของ หงษ์ปังฯ เป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ออกจากตัวเมืองท่าขี้เหล็ก เริ่มต้นด้วยด่านเก็บค่าผ่านทาง 3 ด่าน
คือ ด่านท่าขี้เหล็ก , Tar Lay หรือ ท่าเลื่อ / ท่าเดื่อ และด่านเชียงตุง ที่เป็นจุดเก็บค่าใช้ถนนที่หงษ์ปังคอนสตรัคชั่น จำกัด กิจการเครือหงษ์ปังฯ ผู้รับสัมปทานก่อสร้างถนนภายใต้เงื่อนไขแลกกับการเก็บค่าผ่านทางและสัมปทานธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ ตั้งขึ้น ซึ่งจะจัดเก็บค่าบริการจากรถทุกชนิดที่ผ่านไปมาทั้ง 2 ล้อ 4 ล้อ 10 ล้อ

(การเดินทางผ่านด่านเก็บค่าผ่านทางของกลุ่มหงษ์ปังฯแต่ละจุด ผู้ผ่านทางทั้งที่เป็นขบวนนักท่องเที่ยว - คาราวานสินค้า ยังต้องผ่านพิธีการตรวจคน - สินค้าก่อนเข้าเมืองทั้ง 3 จุดของทางการพม่าอีกทอดหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องมีค่าบริการที่ไม่มีใบเสร็จเกิดขึ้นได้เช่นกัน)

และเมื่อผ่านพ้นด่านเก็บค่าผ่านทางแต่ละจุด บริเวณ 2 ข้างทาง จะมีแปลงสาธิต พันธุ์ข้าว พืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ที่กลุ่มหงษ์ปังฯ จัดเตรียมไว้สำหรับการพัฒนาพื้นที่รัฐฉานตอนใต้ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ 2 ชนชาติว้าแห่งสหภาพพม่า

นอกจากนี้ก่อนถึงตัวเมืองเชียงตุง ประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร หงษ์ปังฯ ยังลงทุนก่อสร้างโรงงานอาหารสัตว์ ที่จะรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่เข้าไปส่งเสริมไว้ทั้งหมด ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของถนน และด้านตรงข้ามอีกฟากหนึ่งของถนน จะเป็นที่ตั้งของคลังหรืออาจเรียกว่าธนาคารพันธุ์พืชที่จัดเตรียมไว้สำหรับส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ปกครองของกลุ่มว้า ปลูกทดแทน "ฝิ่น"

ส่วนผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ทั้งหมด จะนำออกจำหน่ายในนาม Hong Pang General Trading Co.Ltd โดยมีตลาดหลักในพม่า จีน ไทย และกลุ่มประเทศในอาเซียน

นัยว่า เพื่อดำเนินการตามเป้าหมายเลิกปลูกฝิ่นให้ได้ภายในปี ค.ศ.2005

กรณีดังกล่าวเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของกลุ่มว้า ที่กำลังขยายเครือข่ายเข้าครอบคลุมพื้นที่ท่าขี้เหล็ก - เชียงตุง รวมถึงรัฐฉานตอนใต้ - รัฐฉานตะวันออก (รวมไปถึงริมฝั่งแม่น้ำโขงของพม่าตลอดแนว) มากขึ้นทุกขณะ

การเดินทางผ่านทั้งของคน - สินค้า ผ่านเส้นทางท่าขี้เหล็ก - เชียงตุง ล้วนต้องผ่านเครือข่ายของ "HP" ทั้งสิ้น


ในด้านการค้า ที่เส้นทางท่าขี้เหล็ก - เชียงตุง - เมืองลา ถือเป็นเส้นทางการค้าที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างไทย - มณฑลยูนนาน(หยุนหนัน)ของจีนนั้น 1 กรกฎาคม 2547 ที่ผ่านมา กลุ่มหงษ์ปังฯ ก็ได้ร่วมมือกับบริษัทซินหยาง และบริษัทหงเซินฯ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดบริการนำเข้าส่งออกสินค้าผ่านเส้นทางสายนี้ตลอดสาย

ด้านการท่องเที่ยว คนในเครือข่ายของกลุ่มว้า จากเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ 2 ชนชาติว้าแห่งสหภาพพม่า ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจโรงแรมแม่โขงริเวอร์ ในเขตท่าขี้เหล็ก ซึ่งถือเป็นโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในท่าขี้เหล็ก สูง 9 ชั้น ก็เปิดบริการนำเที่ยว นอกจากนี้ยังมีบริษัท Kang Long Travel & Tour จำกัด ในเครือของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ 3 แห่งสหภาพพม่า ซึ่งเป็นว้าอีกกลุ่มหนึ่ง เรียกขานกันว่า "SW 3" เข้ามาให้บริการนำเที่ยวเป็นตัวหลักในท่าขี้เหล็ก

อย่างไรก็ตาม เมื่อขบวนนักท่องเที่ยว หรือสินค้า ผ่านพ้นเขตเชียงตุง เข้าสู่เขตเมืองลา (ชายแดนพม่า - จีน) ที่สามารถเดินทางต่อไปยังสิบสองปันนา : เชียงรุ่ง มณฑลหยุนหนัน ประเทศจีนได้ จะเป็นการเดินทางเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ 4 แห่งสหภาพพม่า (SW 4) ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่าตั้งเป็นเขตปกครองตนเอง มี "อูไซลิน" เป็นผู้นำ

ผู้ผ่านทางไม่ว่าจะเป็นคน หรือสินค้า จะต้องเสียค่าผ่านทางเช่นกัน เช่น นักท่องเที่ยวจากไทย หากจะเดินทางเข้าเขตเมืองลา จะต้องเสียค่าเดินทางเข้า หรือค่าเหยียบแผ่นดินประมาณ 39 หยวน/คน หรือประมาณ 200 บาท/คน ไม่รวมค่ารถยนต์อีกคันละประมาณ 40 หยวน

รวมทั้งต้องจ่ายค่านำเที่ยวในพื้นที่ให้กับบริษัท Shew Lin Star Travel & Tour จำกัด ที่เป็นเหมือนรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลท้องถิ่น ในอัตราประมาณ 80 บาท/คน และว่าจ้างไกด์ของบริษัทดังกล่าวอีกไม่น้อย 1 คน/กรุ๊ป ในราคาประมาณ 500 บาท/วัน

เช่นเดียวกับคาราวานสินค้าที่ผ่านเข้าออกเขต SW 4 ก็จะต้องเสียภาษีค่าผ่านทางในลักษณะเดียวกัน โดยรถปิกอัพขนาด 1 ตัน จะเสียค่าผ่านทางประมาณ 40 หยวน เป็นต้น

กระนั้นก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2547 ที่ผ่านมา การเดินทางผ่านเส้นทางท่าขี้เหล็ก - เชียงตุง - เมืองลา ต่อเนื่องไปถึงเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน ประเทศจีน ก็เริ่มหนาตามากขึ้นทั้งขบวนนักท่องเที่ยว - คาราวานสินค้าอุปโภค บริโภค และน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ล้วนแต่นำเข้าจากไทย (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เชียงตุง ดีเซล ลิตรละ 430 จั๊ต หรือ 18.49 บาท เบนซิน 91 ลิตรละ 460 จั๊ต หรือ 19.78 บาท เบนซิน 95 ลิตรละ 470 จั๊ต หรือ 20.21 : อัตราแลกเปลี่ยน 4.3 บาท/100 จั๊ต , เมืองลา ดีเซล ลิตรละ 4 หยวน หรือ 21 บาท เบนซิน 91 ลิตรละ 4.20 หยวนหรือ 21.50 บาท เบนซิน 95 ลิตรละ 4.38 หยวน หรือ 22.50 บาท)

โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภค ที่นำเข้าจากจีนมาจำหน่ายในท่าขี้เหล็ก - แม่สาย และตลาดชั้นในของประเทศไทยนั้น แม้ว่าตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 ผู้ประกอบการจะหันไปลำเลียงสินค้าผ่านแม่น้ำโขง มุ่งตรงเข้าทางด่านเชียงแสน จ.เชียงราย มากขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังคงมีคาราวานรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้ามาจากจีน - เมืองลา - เชียงตุง - ท่าขี้เหล็ก วันละร่วม 10 คัน ไม่รวมรถบรรทุกแร่แมงกานีสของจีน ที่เข้ามาลำเลียงแมงกานีสจากเหมืองในเมืองลาวันละร่วม 300 คัน

เช่นเดียวกับขบวนนักท่องเที่ยวจากไทย ที่ผ่านเข้าออกเส้นทางสายนี้ทั้งรถตู้ - รถบัสขนาด 40 กว่าที่นั่ง ที่เดินทางออกจากพรมแดนแม่สาย ข้ามไปยังท่าขี้เหล็กขึ้นไปตามแนวเส้นทางดังกล่าวนี้เป็นประจำทุกวัน

ผู้ประกอบการรถตู้รับจ้างไม่ประจำทางในท้องถิ่นของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลายราย บอกว่า แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นโลว์ซีซันสำหรับการท่องเที่ยว เพราะเป็นฤดูฝน แต่พวกเขาต้องขับรถจากท่าขี้เหล็ก ไปเมืองลา เพื่อนำนักท่องเที่ยวจากไทยเข้าไปท่องเที่ยวในเส้นทางดังกล่าวนี้สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 1 เที่ยวเป็นอย่างต่ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น