xs
xsm
sm
md
lg

แนะดึงสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติร่วมผ่าตัดแฝดอิน-จัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-โรงพยาบาลขอนแก่น ประสานสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้ป่วยเด็ก ร่วมผ่าตัดแฝดสยามรายล่าสุด หวังให้การผ่าตัดช่วยชีวิตเด็กทั้งสองปลอดภัย ขณะที่หน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมช่วยเหลือถึงเตียงเด็ก ชี้สถานะพ่อแม่เด็กยากจน รายได้ต่อครอบครัวไม่ถึง 4,000 บาท

วันนี้ (19 ส.ค.) นายแพทย์วิทยา จารุพูนผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดูแลเด็กฝาแฝดอิน-จันรายล่าสุดว่า เด็กชายนนทกานต์ และเด็กชายนันทวัฒน์ ทะสูง ฝาแฝดสยาม หรือ แฝดอิน-จัน รายล่าสุดของประเทศไทย โรงพยาบาลจัดคณะแพทย์และพยาบาลดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดโดยแยกห้องไปอยู่ห้องพิเศษเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งโดยสถานะของเด็กไม่ใช่ผู้ป่วย แต่เป็นฝาแฝดติดกันมีความสำคัญทางการแพทย์มาก จำเป็นต้องดูแลใกล้ชิด

“เราต้องดูแลเด็กหลังคลอดให้สุขภาพดีแข็งแรงเป็นสิ่งแรก จากนั้นได้ทำการเอกซเรย์หัวใจและปอด พบว่าอวัยวะทั้งสองแยกกัน ตอนนี้พบเพียงตับบางส่วน และทางเดินอาหารส่วนต้นที่ติดกัน ซึ่งโรงพยาบาลจะทำ MRI ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยที่ทำได้ยาก แต่ให้ความละเอียดที่สุดเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำ และรอให้เด็กแข็งแรง จึงจะสามารถกำหนดผ่าตัดได้”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวอีกว่า หากการทำ MRI สรุปว่าเด็กแข็งแรงดี ประมาณ 4- 5 เดือน น่าจะทำการผ่าตัดได้ ซึ่งต้องรอให้เด็กอยู่ในสภาพที่สามารถทนต่อการดมยาได้ ในทางทฤษฎีไม่ควรให้เด็กโตเกินไป เนื่องจากเด็กจะเกิดความผูกพันกันด้านจิตใจ เพราะเมื่อเด็กเกิดอาการตกใจ หรือผวา จะตื่นมาพบหน้ากันทุกครั้งจนเกิดความรู้สึกฝังใจและผูกพัน เมื่อผ่าตัดแยกร่างแล้วจะเกิดปัญหาด้านจิตใจตามมา

นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลได้เตรียมวิสัญญีแพทย์ไว้ 3 คนมีหัวหน้าทีมเป็นผู้ช่วยเหลือและมีกุมารศัลยแพทย์อีก 2 ทีม ซึ่งนายแพทย์จรัล ตฤนวุฒิพงษ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้โรงพยาบาลประสานขอความร่วมมือกับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ ซึ่งมีทีมกุมารศัลยแพทย์มีประสบการณ์สูงในการผ่าตัดแยกร่างเด็กฝาแฝดมาร่วมทีมผ่าตัดเด็กฝาแฝดอิน-จัน จ.ขอนแก่น ด้วย

ขณะที่ด้านสังคมมีนายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น นายเจตน์ ธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น และพัฒนาการจังหวัดขอนแก่นได้เข้ามามอบเงินและสิ่งของเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นกับพ่อแม่เด็กเพราะสภาพครอบครัวอยู่ในฐานะยากจน

ด้านนางอ้อย อ่อนเหลา อายุ 29 ปีมารดาเด็ก ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ถึงสถานภาพทางครอบครัวว่า ประกอบอาชีพทำนา โดยเป็นที่นาเช่า ส่วนนายคำบู ทะสูง อายุ 31 ปี บิดาของเด็กหาอาชีพเสริมด้วยการรับจ้างเย็บรองเท้าใน อ.บ้านฝาง รวมรายได้ของครอบครัวเดือนละไม่ถึง 4,000 บาท

ภาระของครอบครัวขณะนี้มีบุตรชายวัย 1 ปี 5 เดือนอีก 1 คน ต้องเลี้ยงดูเอง ทำให้ไม่สามารถออกไปหางานทำข้างนอกได้ หลังจากคลอดบุตรฝาแฝด ทำให้เกิดความกังวลใจ ด้วยความรู้สึกรักและเป็นห่วงลูกและต้องการให้ลูกได้รับการผ่าตัดให้ปลอดภัยและแข็งแรงให้เร็วที่สุด โดยญาติได้ให้กำลังใจว่า ปัจจุบันแพทย์มีความสามารถสูง เชื่อว่าจะทำการผ่าตัดได้ดีและเด็กทั้งสองจะต้องปลอดภัยแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น