ศูนย์ข่าวภาคอีสาน-“" อธิบดีกรมควบคุมโรค” รุดเยี่ยมฝาแฝดสยามที่โรงพยาบาลขอนแก่น เผยอัตราเสี่ยงการผ่าตัด 60-40 เนื่องจากอวัยวะบางส่วนมีเพียงชิ้นเดียวที่เด็กแฝดต้องใช้ร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าฝาแฝดสยามรายใหม่ของไทย ซึ่งคลอดที่ จ.ขอนแก่นว่า เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (15 ส.ค.) ที่ห้องเด็กแรกเกิดชั้น 3 อาคาร 8 โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น น.พ.จรัญ ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปตรวจเยี่ยมอาการของ ด.ช.นันทกานต์-นันทวัฒน์ ทะสูง หรือ “น้องนน-น้องนัน” แฝดสยามรายล่าสุดของประเทศไทยที่คลอดก่อนกำหนดและเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น
รวมไปถึงการประเมินความพร้อมในการผ่าตัดแยกร่างของทีมแพทย์ผู้ทำการรักษาเนื่องจากทางผู้ปกครองของเด็กต้องการให้ลูกดำเนินชีวิตปกติอย่างคนทั่วไป
น.พ.จรัญ ตฤณวุฒิพงษ์ กล่าวว่า จากการรายงานของผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นถึงอาการล่าสุดของทารกทั้งสองพบว่า สภาพทั่วไปมีหน้าท้องติดกัน มีการใช้อวัยวะบางส่วนร่วมกัน ซึ่งถือเป็นคู่แฝดที่อยู่ในลักษณะที่มีหน้าท้องติดกัน เป็นแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันเชื้อตัวเดียวกัน โดยหลังจากที่ผสมพันธุ์แล้วมีการแยกออกมาเป็น 2 ร่าง แต่รายนี้เป็นลักษณะที่มีหน้าท้องติดกัน
ไม่ใช่เพียงเฉพาะหน้าท้องติดกัน แต่ยังมีการใช้ตับร่วมกันบางส่วนลำไส้เล็กส่วนต้นบางส่วนใช้ร่วมกัน ส่วนหน้าติดกันเพียงเล็กน้อยปอดแยกกันคนละส่วน เพราะฉะนั้นในรายนี้ผลจากการดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมแพทย์มาประมาณ 3-4 วัน การให้นมเด็ก การถ่ายเป็นปกติ ดังนั้น สิ่งที่ทางแพทย์ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดคือ การใช้ลำไส้ร่วมกันนั้นส่วนใดที่มีความสำคัญมากที่สุด และมีการใช้ในอัตราความจำเป็นของเด็กมากน้อยเพียงใด ท่อน้ำดีที่เป็นส่วนสำคัญของน้ำย่อยต้องมีการตรวจอย่างละเอียด อาหารที่ให้นั้นเราให้เด็กคนเดียวแต่ก็สามารถรับประทานได้ร่วมกัน ทำให้ทางแพทย์เริ่มที่จะวินิจฉัยต่อไปว่ามีการใช้ท่อน้ำดีร่วมกันหรือไม่ เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลทุกส่วนในการที่จะเตรียมความพร้อมในการผ่าตัด
“การผ่าตัดขณะนี้ข้อมูลที่มีอยู่พบว่าเด็กทั้ง 2 สามารถที่จะผ่าตัดได้และที่สำคัญคือทางโรงพยาบาลได้มีการประสานงานไปยังสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติในการจัดส่งเจ้าหน้าที่ร่วมในการผ่าตัดแยกร่างเด็กทั้ง 2 ว่า จะดำเนินการในลักษณะใด เพราะการผ่าตัดแยกร่างมีองค์ประกอบหลายอย่าง โดยเฉพาะการดูแลในช่วงระหว่างการผ่าตัด" น.พ.จรัญ กล่าว
และว่า แต่ถึงอย่างไรอาการของเด็กโดยรวมขณะนี้มีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ดีทั้งคู่ นมที่ให้เราก็เอาจากนมแม่มาป้อนให้กับเด็ก ในส่วนของการผ่าตัดต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของเด็กว่ามีความพร้อมมากน้อยขนาดไหน ความยากความง่ายที่มีร่วมกันเป็นอย่างไร เพราะการผาตัดนั้นไม่ใช่แค่การผ่าหน้าอกและแยกร่างเด็กออกจากกัน แต่มีหลายส่วนที่มีการใช้อวัยวะร่วมกัน
“เบื้องต้นตรวจสอบพบว่า มีการใช้ตับและลำไส้เล็กร่วมกัน ก็ต้องตรวจสอบดูต่อไปว่าการใช้อวัยวะร่วมกันมีการใช้กี่ส่วนและความสำคัญเป็นอย่างไร องค์ประกอบทุกส่วนแพทย์ต้องเก็บและไปวางแผนในการผ่าตัด ซึ่งก็ยังไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่าจะสามารถผ่าตัดได้เมื่อใด”
น.พ.จรัญ กล่าวต่อว่า ในการผ่าตัดแพทย์ต้องการวิเคราะห์ถึงความปลอดภัยของเด็กทั้งคู่ว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องผ่าตัดอวัยวะส่วนใดที่ต้องเร่งดำเนินการผ่าตัด อวัยวะใดที่ต้องคงสภาพและรักษาคนใดคนหนึ่งไว้ เพื่อที่จะแยกร่างให้ได้ 2 คน ถ้าคนใดไม่สามารถทำได้ก็จะต้องยอมสละอีกคนเพื่อรักษาชีวิตเด็กอีกคนหนึ่งไว้ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับแผนการผ่าตัดที่ได้วางเอาไว้
โดยเฉพาะการคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กทั้งคู่และขณะที่เราสามารถยืนยันได้เพียง 60-40 เท่านั้น เนื่องจากอวัยวะหลายส่วนติดกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทีมแพทย์ผู้ทำการรักษาว่า จะมีการวางแผนการทำงานกันอย่างไรโดยยืนยันว่าแพทย์จะพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยชีวิตของเด็กทั้งสองเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด