xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจน้ำโขงหลังระเบิดแก่ง(1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน

การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ 25 มีนาคม 2545 ให้เข้ามาบริหารท่าเรือเชียงแสน เพื่อรองรับข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขง 4 ชาติ ไทย-พม่า-ลาว-จีน ซึ่งได้ลงนามไปเมื่อ 20 เมษายน 2543 โดยเริ่มเปิดการเดินเรือตามข้อตกลงดังกล่าวตั้งแต่ เดือนเมษายน 2544 เป็นต้นมา

ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา การค้าในแม่น้ำโขงเพิ่มปริมาณและมูลค่ามากกว่า 1,000% เมื่อเทียบกับปี 2536 ท่าเรือเชียงแสน กลายเป็นด่านชายแดนสำคัญที่สุดของพรมแดนด้านเหนือ แทนที่ด่านแม่สาย ที่เป็นช่องทางการค้าทางบก ปริมาณการค้าระหว่างปี 2544-2546 ไต่ระดับจาก 2,000 ล้านบาท มาสู่กว่า 3,000 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณการค้าเมื่อปี 2537 มีเพียงประมาณ 50 ล้านบาทเท่านั้น

ในช่วงปี 2545-2546 ได้มีโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำโขง ตามข้อผลักดันของประเทศจีน เพื่อจะให้เรือขนาด 300 ตันสามารถวิ่งได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะมีการระเบิดแก่งหินที่เป็นอุปสรรคจำนวน 11 แก่ง โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 10 แก่งไปเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2547 ที่ผ่านมา คงเหลือเพียงแก่งคอนผีหลง ในเขต ไทย-ลาว ระหว่างอำเภอเชียงแสนกับ อำเภอเชียงของ ซึ่งในระหว่างนั้นเกิดปัญหาน้ำในแม่น้ำโขงมีจำนวนน้อยมาก เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรืออย่างยิ่ง

ระหว่างวันที่ 27-30 กรกฎาคม 2547 คณะผู้บริหารและคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย นำโดยนาย นินนาท ไชยธีรภิญโญ เดินทางไปพบปะและเจรจากับผู้บริหารเขตปกครองตนเอง ชนชาติไต สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน(หยุนหนัน) นำโดยนาย ไอ่ จวง ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองฯสิบสองปันนา ที่โรงแรมกวน กวง จังหวัดสิบสองปันนา

ประเด็นสำคัญในการพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลครั้งนี้ มี 2หัวข้อที่เกี่ยวกับการเดินเรือ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. การพัฒนาการค้าทางเรือ โดยระบบคอนเทนเนอร์

โดยตัวแทนการท่าเรือฯแจ้งต่อจังหวัดสิบสองปันนา ว่า ขณะนี้ การท่าเรือฯได้ปรับปรุงระบบการขนส่งโดยใช้คอนเทนเนอร์แล้วเสร็จ ได้ติดตั้งรถปั้นจั่น หรือ Mobile Crane เอาไว้แล้ว รายงานแจ้งว่าการท่าเรือฯเตรียมพื้นที่ เพื่อรองรับรับเรือคอนเทนเนอร์โดยเตรียมพื้นที่ด้านทิศเหนือของท่า

สำหรับปั้นจั่นดังกล่าวมีขนาด 50 ตันส่งเข้าประจำที่ท่าเรือเชียงแสนตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และได้มีการจ้างผู้รับเหมาขุดลอกหน้าท่าเรือ เพื่อรองรับไว้ด้วย

ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากได้รับการประสานจากผู้ประกอบการเดินเรือบางสายว่า จะเริ่มมีการขนส่งสินค้าโดยคอนเทนเนอร์ ขนาด 20 ฟุต ส่วนหนึ่งเป็นตู้ห้องเย็นเพื่อบรรจุผักและผลไม้สด แต่ล่าสุดยังไม่ทราบความเคลื่อนไหวจากท่าเรือของจีนว่าได้เตรียมรองรับไว้เช่นไร

นายฉาง เจีย ผู้อำนวยการท่าเรือเชียงรุ้ง(เชียงรุ่ง) แจ้งว่า การดำเนินการของท่าเรือเชียงรุ้ง(ท่าเรือสิบสองปันนา)ซึ่งเป็นท่าเรือหลักจะสามารถจัดหารถปั้นจั่น หรือ เครื่องยกแบบเคลื่อนที่ได้ มาติดตั้งที่ท่าเรือประมาณเดือนกันยายนนี้

ในระยะยาว จะมีการสร้างท่าเรือแห่งใหม่ เพื่อรองรับสินค้าและการบริการตู้คอนเทนเนอร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจที่ตั้งที่เหมาะสม คาดว่า จะอยู่ระหว่าง สิบสองปันนา ไปยัง กาหลันป้า (หมู่บ้านไตลื้อระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร(กม.)ลงไปทางใต้)

สำหรับการขนส่งด้วยคอนเทนเนอร์ ถือเป็น การยกระดับการขนส่งในแม่น้ำขึ้นมาอีกระดับหนึ่งโดยผู้เกี่ยวข้องมองว่า หากไม่มีระบบคอนเทนเนอร์บริการแล้วในอนาคตอันใกล้เมื่อมีการพัฒนาการขนส่งทางบกเส้นทาง คุนหมิง สิบสองปันนา หลวงน้ำทา บ่อทราย เชียงของ เพื่อเข้ากรุงเทพฯ ระยะทาง 320 กม. แล้วเสร็จในประมาณปี 2550 การขนส่งทางน้ำจะมีต้นทุนมากว่า หรืออย่างน้อยจะกินเวลาในการขนส่งขึ้นลงมากกว่าทางบก

ทั้งนี้ การขนส่งทางบกเส้นทาง แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-บ่อเตน-เมืองลา-สิบสองปันนา ระยะทาง 360 กม.ได้เริ่มใช้งานได้แล้ว

นาย ไอ่ จวง ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองฯสิบสองปันนา กล่าวกับคณะฝ่ายไทยว่า ทางการจีนยังคงเร่งรัดปรับปรุงการขนส่งทางถนนในทุกสาย แม้ว่า เส้นทางคุนหมิง ผ่านประเทศลาว เข้าประเทศไทยทางอำเภอเชียงของยังไม่แล้วเสร็จ แต่สำหรับการยกระดับเส้นทางขนส่งทางบกผ่านพม่าที่ได้เริ่มเปิดแล้วนั้น ก็จะยังปรับปรุงเส้นทางให้ดีขึ้น โดยงบประมาณปีนี้จะปรับปรุงถนนสาย เมืองฮุน-ต้าล่อ ในเขตจีนให้เป็นถนนระดับ 2 ให้การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น

2. ปัญหาระดับน้ำในแม่น้ำโขง - จีนยังไม่พอใจ

ประเด็นปัญหาระดับน้ำในแม่น้ำโขง ที่แห้งขอดกว่าปกติเมื่อหน้าแล้งที่ผ่านมาเป็นประเด็นที่ตัวแทนประเทศไทยให้ความสนใจเป็นพิเศษเพราะมีผลต่อปริมาณเรือ และการจัดการการเดินเรือของฝ่ายไทยด้วย ในช่วงที่ผ่านมาถึงกับมีเรือสินค้าจอดเกยตื้น เพื่อรอการปล่อยน้ำจากเขื่อนหลายครั้ง เป็นปัญหาต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการ

ตัวแทนจากประเทศจีนอธิบายว่า ประเทศจีน ให้ความสำคัญกับการขนส่งทางแม่น้ำโขงมากเป็นพิเศษ ขนาดที่อดีตนายกรัฐมนตรี จู หรง จี อนุมัติเงินเพื่อการปรับปรุงร่องน้ำให้การเดินเรือพาณิชย์กระทำได้ตลอดทั้งปี จำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้มีการดำเนินการแล้วเสร็จระยะแรกไปแล้ว เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

สำหรับปัญหาร่องน้ำแม้ว่า การดำเนินการปรับปรุงและระเบิดแก่งระยะแรกแล้วเสร็จไปแล้ว มีการติดตั้งป้ายสัญญาณจราจรทางน้ำไปแล้ว และผ่านการประเมินผลกระทบระยะแรกจากผู้เชี่ยวชาญร่วม 4 ชาติไปแล้ว แต่ทว่า ทางการจีนก็จะยังคงปรับปรุง และยกระดับการเดินเรือในแม่น้ำโขงต่อไป

การดำเนินการระยะต่อไปก็คือ การปรับปรุงทางน้ำจากเชียงรุ้ง ถึง ท่าเรือกวนเหล่ยที่เป็นด่านชายแดน ระยะทาง 80 ก.ม. ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านหยวน หรือประมาณ 500 ล้านบาท ใช้ระยะการดำเนินการ 2 ปี เพื่อให้ร่องน้ำลึกที่ระดับ 5-6 เมตร หากช่วงนี้แล้วเสร็จเรือใหญ่จะสามารถเดินเรือได้ตลอดปีโดยสะดวก

ตัวแทนจีนยังกล่าวว่า เส้นทางคมนาคมจากกวนเหล่ย ไปยังท่าเรือเชียงแสน ยังมีอุปสรรคมากโดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งซึ่งจะต้องขอความร่วมมือจากประเทศไทยอีกต่อไปที่จะสนับสนุนการแก้ปัญหานี้ อาทิ ปัญหาร่องน้ำตื้นบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือในการแก้ไข

ร.ต. ปรีชา เพ็ชรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี อธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติม ว่า ร่องน้ำที่ได้ปรับปรุงไปรอบแรกนั้นเป็นช่วงแก่งที่เป็นอันตราย 11 จุด ซึ่งได้ทำไปแล้ว 10 จุด ยกเว้น คอนผีหลง ในเขตไทย-ลาว เพราะเกรงจะมีปัญหาเรื่องพรมแดน ทั้งนี้เพราะเขตแดนไทย-ลาว กำหนดว่า ให้ใช้ร่องน้ำลึกเป็นหลัก หากมีการปรับปรุงร่องน้ำก็เท่ากับการเปลี่ยนแปลงแนวพรมแดนนั่นเอง ดังนั้นจะต้องรอให้การเจรจาปักปันพรมแดนไทย-ลาว แล้วเสร็จเสียก่อน

ในส่วนที่ทางการจีนต้องการความร่วมมือเรื่องร่องน้ำตื้นนั้น เป็นคนละส่วนเพราะจุดดังกล่าวอยู่ก่อนถึงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งใช้เพียงแค่เรือขุดก็สามารถทำได้ หากแต่ว่า จะต้องนำเข้าที่ประชุม 4 ชาติ และคงอาจจะขอความร่วมมือให้ไทยสนับสนุนญัตติดังกล่าว

ทั้งนี้ ข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขง 4 ชาติ ข้อหนึ่งกำหนดว่า ประเทศจีนจะต้องรักษาระดับน้ำแม่น้ำโขงให้สามารถเดินเรือได้ไม่น้อยกว่า 95% ซึ่งที่ผ่านมา ปัจจัยหนึ่งของปัญหาปริมาณน้ำมาจากการสร้างเขื่อน

รายงานแจ้งว่า ในการหารือนอกรอบ ตัวแทนจีนได้แจ้งว่า กลไกการแก้ปัญหาระดับน้ำนั้น แม้กรมการขนส่งทางน้ำของจีนจะเป็นผู้รับผิดชอบการรักษาระดับน้ำ แต่ในทางปฏิบัติเมื่อมีการวิทยุจากเรือที่ประสบปัญหา แจ้งไปยังกรมการขนส่งทางน้ำแล้ว กรมฯ จะต้องประสานไปยังเขื่อนที่เก็บกักน้ำอีกทอดหนึ่ง ทำให้บางช่วงต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งจะต้องมีปรับปรุงการประสานงานดังกล่าวต่อไป

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ เปิดเผยว่า ในช่วงปลายปีนี้ทางท่าเรือเชียงแสน จะขอให้กรมการขนส่งทางน้ำจีน ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่ท่าเรือเชียงแสน เพื่อช่วยในการประสานงาน ซึ่งหากมีปัญหาดังกล่าว ระบบของจีนจะใช้วิทยุติดต่อกันได้ทุกเวลา และจะลดปัญหาอุปสรรคเรื่องการประสานงานลงไปได้มาก โดยเฉพาะหากมีปัญหาเรื่องระดับน้ำในแม่น้ำโขง
กำลังโหลดความคิดเห็น