xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ“สนธิ”แนะพลิกโฉมอีสานด้วย"ทุนทางปัญญา"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-“สนธิ ลิ้มทองกุล”บรรยายพิเศษ”พลิกโฉมอีสานด้วยทุนทางปัญญา”ที่ขอนแก่น ระบุภาคอีสานแม้ยากจนที่สุดตามตัวเลข GDP ของสภาพัฒน์ แต่ก็มั่งคั่งมากกว่าทุกภาคในด้านทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น แนะนำองค์ความรู้ในสถาบันการศึกษาพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาเป็นทุนทางธุรกิจ

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2547 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ประธานที่ปรึกษากลุ่มหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้บรรยายพิเศษเรื่อง”พลิกโฉมอีสานด้วยทุนทางปัญญา”ที่ศูนย์ประชุมเอนกประสงค์ กาญจนภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การบรรยายพิเศษดังกล่าวจัดขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นและหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ มีพ่อค้า นักธุรกิจ พนักงานสถานบันการเงินและผู้สนใจทั่วไปทั้งในจังหวัดขอนแก่นและไกล้เคียงเข้ารับฟังการบรรยายกว่า 2,000 คน

จนเงินแต่ร่ำรวยภูมิปัญญา

นายสนธิ กล่าวว่าภาพลักษณ์ของพี่น้องชาวอีสาน ในสายตาของคนภาคอื่นตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมาคือภาพของผู้ใช้แรงงาน เป็นกลุ่มคนที่ปากกัดตีนถีบ สู้ชีวิต เสียเป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้เนื่องจากสื่อทุกแขนง แม้แต่ละครหลังข่าวเอง ก็สื่อภาพของคนอีสานเป็นคนยากจน เป็นคนใช้ เป็นคนสวนทำให้ภาพเหล่านี้ถูกปลูกฝังและเข้าใจในหมู่คนทั่วไป ว่าภาคอีสานมีแต่คนยากจน นอกจากนี้ยังถูกตอกย้ำจากวิธีการวัดความร่ำรวย ยากจน แบบตะวันตก คือ การคำนวนตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัวของสภาพัฒน์ฯที่สรุปว่ารายได้ของคนอีสานต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ

ตัวเลขของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ที่ สำรวจเมื่อปี 2544 ระบุว่าคนอีสานมีรายได้แค่ 27,381 บาท/คน/ปี ในขณะที่คนกรุงเทพและปริมณฑล มีรายได้เฉลี่ย 213,565 บาท/คน/ปี ภาคใต้ 54,176 บาท/คน/ปี ภาคเหนือ 40,352 บาท/คน/ปี ซึ่งหากมองในมิติรายได้เฉลี่ยต่อหัวดังกล่าวแล้ว ยอมรับว่าต่ำที่สุดจริง

แต่หากมองอีกมุมหนึ่งจะพบว่า อีสานร่ำรวยกว่าภาคอื่น ๆ เป็นรองก็แค่กรุงเทพฯ และภาคตะวันออก เท่านั้น นั้นคือตัวเลข GRP (Gross Regional Products) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า GDP ของภาคในปีเดียวกัน คือปี 2544 ที่ระบุว่าภาคอีสานมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาค โดยวัดจาก การค้า การบริโภค การลงทุน ฯลฯ สูง ถึง 580,593 ล้านบาท สูงกว่า ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก และจังหวัดภาคกลาง ซึ่งภาคใต้และภาคเหนือ มีแค่ประมาณ 4 แสนล้านบาทเท่านั้น

ตัวเลข GRP ดังกล่าวสะท้อนว่า ภาคอีสานมีความมั่งคั่ง มีทรัพยากร และปัจจัยการผลิตที่อุดมสมบูรณ์มาก เพียงแต่ว่าประชากรของอีสานมีมากถึงกว่า 22 ล้านคน เมื่อนำมาเป็นตัวหาร GRP แล้วทำรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำ จึงทำให้กลายเป็นที่มาของภาคที่ยากจนที่สุดนั่นเอง

นายสนธิกล่าวต่อว่าในอดีต รัฐบาลเองมีความพยายามจะแก้ปัญหาความยากจนของภาคอีสาน อ้างว่าขาดการพัฒนาสาธารณูปโภค ซึ่งในราวปี พ.ศ.2500 ได้มีการสร้างถนนมิตรภาพ เพื่อเป็นตัวเชื่อมอีสานกับศูนย์กลางอำนาจคือกรุงเทพฯ แต่กลายเป็นว่าเมื่อสร้างเสร็จ ถนนมิตรภาพกลับเป็นตัวดูดความมั่งคั่งของอีสานออกไป ถนนต่อเชื่อมไปถึงหมู่บ้านไหน ก็ดึงเอาคนหนุ่มคนสาววัยทำงานออกไปจากหมู่บ้าน ไปทำงานอยู่ในกรุงเทพฯและยังดูดเอาทรัพยากรไปด้วย

แท้จริงแล้วอีสานมีฐานทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ แต่คนส่วนใหญ่มักไปติดภาพของทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของภูมิภาคนี้ ทำให้มองข้ามพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของภาค แถบจังหวัดอุดรฯ หนองคาย สกลนคร ซึ่งมีปริมาณฝนชุกพอ ๆ กับภาคใต้ เฉพาะพื้นที่เพาะปลูกของอีสาน มีมากกว่าภาคใต้ทั้งหมดเสียด้วยซ้ำ ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายการพัฒนา ที่เน้นอุตสาหกรรมและการส่งออกตลอดระยะ 40 ปีมานี้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนอีสานยากจน

ภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาเมืองหลวงแบบโตเดี่ยว ได้ดึงทรัพยากรธรรมชาติ และคนออกจากภาคอีสาน จนไม่เหลือกำลังให้เกิดผลผลิตภายในพื้นที่ นอกจากนี้การพัฒนาภาคการเกษตรแบบการเกษตรเชิงเดี่ยว ก็ยังมาซ้ำเติมอีกกรณี นโยบายของรัฐที่ส่งเสริมปลูกปอ ปลูกมันสำปะหลัง แต่หารู้ไม่ว่านั่นคือ การส่งเสริมให้คนเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าธรรมชาติไปในตัว และเมื่อปลูกกันแล้วขายไม่ได้ราคา

แปรภูมิปัญญาเป็นทุน

นายสนธิระบุว่าถึงแม้ว่า คนอีสานมีรายได้ต่ำก็จริง แต่ภาคอีสานก็มีจุดแข็งในเรื่องความมั่งคั่งของภูมิปัญญา ความมั่งคั่งนี้มีมากกว่าภูมิภาคอื่นด้วยซ้ำ คิดกันง่ายๆว่าหากเราจะประกอบธุรกิจสักอย่าง ประการแรก ต้องมีทุน ทุนในที่นี้ไม่ได้หมายถึง เม็ดเงินเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ที่ดินซึ่งตกทอดมาจากพ่อแม่ก็เป็นทุน การรู้จักมักคุ้นกับลูกค้าและคู่ค้ามีสายสัมพันธ์ที่ดีมาก่อน ก็ถือเป็นต้นทุน ความรู้ที่เรียนมาก็เป็นต้นทุน ความชำนาญหรือประสบการณ์ที่เคยประกอบธุรกิจนี้มาก่อนก็เป็นต้นทุน

ขณะเดียวกันภูมิปัญญาที่สั่งสมมาจากรุ่นบรรพบุรุษ ก็เป็นต้นทุนเช่นเดียวกัน ดังนั้นทำไมเราจะ พลิกโฉมอีสานด้วยทุนทางปัญญาไม่ได้ นโยบายและสังคมไทย 40 กว่าปีมานี้ทำให้ภาคอีสานมีปัญหา การที่จะพลิกฟื้นอีสาน จะต้องมองครอบคลุมทั้งด้าน สังคม วัฒนธรรม และ เศรษฐกิจ เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน

มี ผญาอีสานบทหนึ่งบอกว่า “ อย่าสิไลลืมถิ่ม มูลมังตั้งแต่เก่า อย่าสิเผามอดเมี้ยนเสียถิ่มบ่มีเหลือ บาดว่าเทื่อมื้อหน้า สิพาเฮาให้เฮืองฮุ่ง อีสานเฮาสิพุ่ง เจริญขึ้นก็แต่หลัง เด้อ....” ความในผญาบทนี้ชักชวนให้คนอีสานร่วมกันอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไปเผื่อว่าวัฒนธรรมเหล่านี้จะสามารถนำความเจริญมาสู่สังคมท้องถิ่นได้ในอนาคต ต้องยอมรับวัฒนธรรมท้องถิ่นของอีสานมีความแข็งแกร่งสูงมาก เป็นความร่ำรวยที่ปู่ย่าตายายสะสมเอาไว้ให้

อย่างกรณี หมอลำ และเพลงพื้นบ้านอีสาน เป็นเพลงเฉพาะท้องถิ่น แต่ปัจจุบันกลับ เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ คนภูมิภาคอื่นพร้อมจะเปิดรับและได้รับความนิยมสูงด้วย อาหารอีสานเอง ทั้งส้มตำ ลาบ น้ำตก เสือร้องไห้ ได้กลายเป็นอาหารยอดนิยมของคนทั่วประเทศ มีร้านอาหารอีสานเปิดขายทั่วทุกมุมของประเทศไทย แม้คนทำจะไม่ใช่คนอีสานก็ตาม

ที่โดดเด่นมากอีกกรณีหนึ่ง คือ จังหวะดนตรีของอีสาน มีความสนุกสนาน ติดหู คนรับได้ง่าย ซึ่งเคยมีสภาวัฒนธรรมของจังหวัดภาคใต้จังหวัดหนึ่ง นำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมว่า ทำไมงานแห่พระทอดผ้าป่า ซึ่งเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดระดับที่ ททท. โปรโมทไปทั่วประเทศ จึงมีขบวนเซิ้งของเด็กนักเรียน ..ขบวนเซิ้งเป็นวัฒนธรรมของอีสานไม่ใช่ทางใต้ มันบ่งบอกว่า ความแข็งแกร่งของวัฒนธรรมอีสานมันแผ่ไปทั่วแล้ว

รากฐานของวัฒนธรรมอีสาน ก็คือ ฮีต 12 คลอง 14 (อ่านว่าคอง) ฮีต ก็คือ จารีต ธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันในรอบปี แบ่งเป็น 12 เดือน ..บุญสรงน้ำเดือน 5 ,บุญบั้งไฟ เดือน 6 ,บุญเข้าวัดสา(พรรษา) เดือน 8 ฯลฯ ฮีต 12 คือ ขนบ ที่ดีงามซึ่งตั้งอยู่บนฐานความเชื่อเรื่องพระพุทธศาสนา ขณะที่ คลอง 14 หมายถึง วิถีปฏิบัติที่ควรกระทำ คอง ของอีสานมีความหมายคล้ายกับ กอง ในภาษาเหนือที่หมายถึง วิถี หรือ เส้นทางเดิน

นั่นก็คือ แบบแผน ระเบียบ ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือ กฎของชุมชน ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้สังคมอีสานอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เช่น ฮีตเจ้าคลองขุน เป็นคอง หรือ หลักสำหรับผู้ปกครองในสมัยโบราณ , ฮีตไพร่คลองนาย ก็คือหลักที่ไพร่ควรปฎิบัติต่อนาย , ฮีตบ้านคลองเมือง ก็คือประเพณีของบ้านเมือง ระเบียบของสังคม ,ฮีตปู่คลองย่า-ฮีตตาคลองยาย คือหลักปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ หรือ ฮีตไฮ่คลองนา ที่เป็นหลักปฏิบัติต่อธรรมชาติ เป็นต้น

สังคมอีสานมีระเบียบ ธรรมเนียมของสังคมของตนเองสืบทอดมายาวนาน และก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นฐานปลูกฝังในเรื่องของจิตใจระหว่างคนกับคน ระหว่างคนกับชุมชนในระดับสูงขึ้นมา จนถึงคนกับธรรมชาติ

นายสนธิกล่าวอีกว่า กรณีของ ยายไฮ ขันจันทา จ.อุบลฯที่เรียกร้องสิทธิ์ที่ดิน ที่ถูกเขื่อนกั้นน้ำท่วมมายาวนาน 27 ปี จนประสบความสำเร็จและได้รับความเห็นใจจากคนทั่วประเทศ ซึ่งหลังจากได้ที่นาคืนแล้ว ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ยายไฮ แกจัดพิธีทำขวัญน้ำ ทำขวัญนา

พิธีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องไร้สาระ มันคือส่วนหนึ่งของฮีตไฮ่คลองนา เป็นพิธีสงเคราะห์กรรมสัตว์น้ำ-พืชพรรณ...บูชานา มีเครื่องเซ่นไหว้ เช่น ข้าวขาว, ข้าวดำ, ข้าวเหลือง, ต้นข้าว, มะพร้าว, ขนุน, ลูกตาล, ตะไคร้ วางล้อมธงช่อชัย จุดธูปเทียนบูชา และยังมีการเผาแกลบ นี่คือการ “สืบชะตาน้ำ” ของอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน นี่คือ ขบวนการทำให้คนอีสานอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ให้เคารพในธรรมชาติ เป็นการ “ปลุกจิตสำนึก” ของให้ตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ...เกิดความรักและหวงแหนแหล่งน้ำ” เพื่อจะได้ช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมของน้ำ เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและชุมชน ทำขวัญน้ำ ขวัญนา เป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นรากฐานที่สำคัญซึ่งคนอีสานยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญ หัวใจหลักของการเข้าถึงภูมิปัญญาอีสานในเรื่องฮีต 12 คลอง 14 ก็คือ การธำรงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา พิธีกรรมสำคัญในแต่ละเดือน ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนในระดับต่าง ๆ การเคารพธรรมชาติ ทั้งหมดก็คือ เครื่องมือในการธำรงรักษาสังคมอีสานที่ดีงามเอาไว้

สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ตกทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ และเป็น “ต้นทุน” ทางสังคมที่จำเป็นอย่างยิ่งในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอีสาน คำว่า ภูมิปัญญาอีสาน หรือ ต้นทุนทางปัญญา ที่กล่าวมาเหล่านี้ โดยเฉพาะฮีต 12 คลอง 14 ถือเป็น ภูมิปัญญาดั้งเดิม เป็นความรู้ ถ่ายทอด ปรับปรุง จากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดผลิตผลที่ดี งดงาม มีคุณค่า มีประโยชน์ สามารถนำมาแก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตได้

ภูมิปัญญาดังกล่าวครอบคลุม ตั้งแต่เรื่องที่เป็นนามธรรมก็คือ คำสอน จารีต ขนบธรรมเนียม พิธีกรรม และสิ่งที่จับต้องได้อาทิ การกินการอยู่ การเพาะปลูก เพลงและการละเล่น ศิลปวรรณกรรม หัตถกรรม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ไปจนถึงการรักษาโรค

เมื่อพูดเรื่องการรักษาโรค ภาคอีสานเอง มีชื่อเสียงเรื่องการแพทย์ด้วยวิธีสมุนไพรมานานเช่นกัน มีหลายแห่งที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ อย่างที่กาฬสินธุ์ พระครูโสภณโพธิวัฒน์ (ผัน ธมฺมกาโม) เจ้าคณะอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการรักษาโรคกระดูกโดยใช้สมุนไพรและน้ำมัน มีผู้ป่วยหลายรายเข้ารับการรักษาจนหายและสภาพกระดูกใช้ได้อย่างเดิม ถึงกับมีผู้ป่วยเดินทางมารับการรักษาจากทั่วทุกจังหวัด วันละไม่น้อยกว่า 20-50 ราย

นี่เป็นของดีใกล้ตัวของชาวอีสาน ซึ่งน่าจะมีขบวนการถ่ายทอดภูมิความรู้ดังกล่าว ไม่ให้สูญหาย หรือควรจะมีกระบวนการทำให้ของดีดังกล่าวกลายเป็นของดีในระดับโลกได้ อย่าให้เหมือนกับ มวยโคราช ที่ปัจจุบันไม่มีการสืบทอดและสูญหายไปแล้ว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คนอีสานต้องธำรงรักษาภูมิปัญญาและของดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้ หากต้องการให้สังคมอีสานเติบโตอย่าง ยั่งยืน ถาวร เพราะภูมิปัญญาที่ดังกล่าว ก็คือ รากฐานที่มั่นคง

หัวข้อในวันนี้คือ พลิกโฉมอีสานด้วยทุนทางปัญญา กระบวนการพลิกโฉมนั้นหากว่าฐานไม่มั่นคง การต่อยอดหรือการพัฒนาให้มันเติบโตต่อไปก็เป็นไปได้ยาก การต่อยอด ก็คือ การสร้างผลผลิต- การทำให้เกิดรายได้-การที่พี่น้องชาวอีสานไม่ต้องจับรถเข้ากรุงเทพฯเมื่อหมดหน้านา ไม่ต้องจากบ้านจากช่องทิ้งถิ่นฐานเพื่อไปรับจ้างในพื้นที่อื่น

ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เราเริ่มคุ้นกับคำว่า OTOP เริ่มคุ้นกับคำว่า การพัฒนาสินค้า หรือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ แนวคิดพื้นฐานของโอทอปก็คือ ทำให้รากหญ้ามีผลผลิตขึ้นมาและรัฐเข้ามาช่วยให้ผลผลิตนั้นประสบความสำเร็จ จุดแข็งของโอทอปจุดหนึ่งก็คือ เรามีทักษะ รวมถึงมีสินค้าที่ทำกันมาอยู่ก่อนแล้ว หากแต่ไม่ได้พัฒนา หรือ ได้รับการจัดการที่ดีเพียงพอ ในระดับสูงสุดก็คือต้องแข่งขันกับต่างประเทศได้

มีการพิสูจน์ให้เห็นแล้วตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อนหลังสงครามโลกครั้งสองจบใหม่ ๆ คงเคยได้ยินชื่อ จิม ทอมป์สัน ซึ่ง เป็นยี่ห้อผ้าไหมไทย เป็นที่รู้จักทั่วโลก ก่อตั้งโดย นายจิม ทอมป์สัน ชาวอเมริกัน เคยเป็นเจ้าหน้าที่สืบราชการลับ OSS (Office of Strategic Services) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น CIA (Central Intelligence Agency)

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จิม ทอมป์สัน ได้เดินทางมาที่ประเทศไทย ตอนแรกเขาคิดจะลงทุนฟื้นฟูโรงแรมโอเรียนเต็ล แต่ภายหลังมีความสนใจในผ้าไหมไทย และในปี พ.ศ.2494 ได้ก่อตั้งบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยขึ้นร่วมกับ จอร์จ แบร์รี่ โดยให้การส่งเสริมชาวบ้านให้หันมาทอผ้าไหมเป็นอาชีพ โดยรับซื้อและหาตลาดให้ และยังพัฒนาการย้อมสีอีกด้วย ทำให้กิจการไหมไทยของ จิม ทอมป์สัน เติบโตอย่างรวดเร็ว ฐานการผลิตยุคแรกอยู่ที่กรุงเทพฯ ต่อมาย้ายมาอยู่โคราช ใช้วัตถุดิบและการผลิตจากภาคอีสานเป็นหลัก

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือ ดินเผาที่ด่านเกวียน โคราช เริ่มต้นจากการปั้นหม้อ ไห ภาชนะพื้นเมือง แล้วพัฒนาเอาเศษดินมาทำเป็นเครื่องประดับขายนักท่องเที่ยว แต่ปัจจุบัน สินค้าของบ้านด่านเกวียน พัฒนาสู่ เครื่องประดับบ้าน กลุ่มอินทีเรีย ดีไซด์ อย่างเต็มตัว มีการประยุกต์ใช้ลายปูนปั้นนูนต่ำนูนสูงของปราสาทหินต่าง ๆ มาเป็นแบบ บางชิ้นใหญ่มากขนาดฝาผนังใหญ่ ๆ ขายได้เป็นแสนบาทก็มี

นี่คือการใช้ ทักษะดั้งเดิมของช่างปั้นหม้อไห ใช้ทรัพยากรดินที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาเพิ่มมูลค่าด้วยการคิดออกแบบ และเข้าใจตลาด ตอนนี้บ้านด่านเกวียนกลายเป็นแหล่งสินค้าตกแต่งบ้านไปแล้ว จากที่เคยปั้นหม้อ ปั้นไห และขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้นักท่องเที่ยวผ่านทางเมื่อ 10 กว่าปีก่อน

กรณีไก่ย่างห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ แม้เป็นเรื่องเล็กๆแต่น่าสนใจ ไก่ย่างห้วยทับทันมาโด่งดังเมื่อครั้งที่นายกฯทักษิณ ไปประชุมครม.สัญจร ไก่ย่างที่นั่นเขาใช้ไม้มะดัน ซึ่งว่ากันว่า เป็นไม้ที่ทำให้ไก่มีรสกลมกล่อม อร่อยกว่าใช้ไม้ไผ่เพราะไม้มะดันจะให้รสเปรี้ยวนิดหน่อย ถือเป็นภูมิปัญญาของคนที่นั่น ภายหลังก็มีคนหัวใสเปิดแฟรนไชส์ ไก่ไม้มะดัน ขึ้นมาเสียเลย โดยจะต้องสั่งไก่และไม้มะดันจากที่ห้วยทับทันเท่านั้น เล่นเอาต้นมะดันเกือบหมดป่าภายในเวลาไม่กี่เดือน กรณีของไก่ไม้มะดันเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เราพบเห็นกันเป็นประจำจนดูเหมือนเป็นเรื่องปกติไป แต่สำหรับคนที่อื่นเขาเห็นเป็นของแปลกใหม่

สิ่งเหล่านี้คือกรณีตัวอย่างบางส่วนที่ยืนยันได้ว่า ภาคอีสานมีทรัพยากรมาก มีภูมิปัญญาที่สะสมมายาวนาน มีวัฒนธรรมประเพณีที่แข็งแกร่ง ลองมองหาสิ่งรอบ ๆ ตัวที่คุ้นเคยเห็นเป็นประจำด้วยมุมมองใหม่ เชื่อว่าจะเห็นอะไรดี ๆ ที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่า เป็นประโยชน์ทางการค้าได้

ส่งเสริมใช้ทุนทางปัญญา
กรณี”กรุงไทยยุววาณิช”


นายสนธิ กล่าวต่อว่า นอกจากกรณีศึกษาการใช้ภูมิปัญญาเป็นทุนของภาคอีสาน 3 กรณีข้างต้นแล้ว อยากจะขอยกกรณีของโครงการกรุงไทยยุววานิช ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมาก ที่บริษัทห้างร้านน่าจะนำไปเป็นแบบอย่างบ้าง ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างของเยาวชนรุ่นใหม่ ที่ใช้สายตาและวิธีคิด ที่สามารถนำเอาความรู้รอบตัวในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า แปรเป็นสินค้าได้น่าทึ่งมาก

อย่างสินค้า “ทองผำยำเตา” ที่เด็กนักเรียนมงฟอร์ต จ.เชียงใหม่ นำมาต่อยอดทำเป็นทองม้วน เป็นการนำเอา อาหารพื้นบ้านล้านนามาดัดแปลงประดิษฐ์ให้เป็น อาหารชนิดใหม่ ผำ ก็คือ ตะไคร่น้ำชนิดหนึ่ง ส่วนเตา เป็นสาหร่ายชนิดหนึ่ง เขามักจะเอามา ยำเรียกว่า ยำเตา เด็กมงฟอร์ต ก็เอา ทั้งสาหร่ายและตะไคร่น้ำทั้งสองอย่างมาเป็น วัตถุดิบของขนม เลยกลายเป็น อาหารชนิดใหม่ที่มีจุดเด่น มีความแปลกใหม่

กรณีของแถบภาคอีสาน ก็น่าที่จะมีคนคิดเอา ไก ก็คือ สาหร่ายแม่น้ำโขง ซึ่งคนท้องถิ่นกินเป็นอาหารอยู่แล้วมาเพิ่มมูลค่าใหม่ โดยอาจจะเอา ไก มาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารชนิดแปลก ๆ ใหม่ ๆ ขึ้นมาบ้างก็ได้ เหมือนกับที่เด็กมงฟอร์ต เอาผำและเตา มาทำทองม้วน

หรืออีกกรณีหนึ่งที่เด็กนักเรียนในจังหวัดสุรินทร์ สร้างความแปลกใหม่มาแล้วแม้ไม่ได้รางวัลในโครงการกรุงไทยยุววานิช คือ การนำเอาเส้นมะละกอที่ใช้ทำส้มตำ มาชุบแป้งทอด จิ้มกับน้ำจิ้มที่ทำมาจากส่วนผสมของเครื่องปรุงส้มตำ จะเห็นว่าการทานส้มตำสมัยใหม่ ไม่จำเป็นต้อง นำเส้นมะละกอไปโขลกไปตำกับเครื่องปรุงในครกก็ได้

นายสนธิกล่าวอีกว่าวิกฤตเศรษฐกิจประเทศไทย ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ทำให้ค้นพบว่า ลำพังการพึ่งภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกเพียงด้านเดียวนั้นไม่เพียงพอ และไม่ได้สร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ และคนในประเทศ การเพิ่มขาหยั่งเศรษฐกิจขึ้นมาอีกขาหนึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันการล่มสลายของเศรษฐกิจฐานราก นั่นก็คือ การสร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจระดับรากหญ้า การสร้างผู้ประกอบการใหม่ในระดับกลางและย่อม ที่เรียกว่า SMEs ซึ่งปัจจุบันได้เพิ่ม M ขึ้นมาอีกตัวก็คือ Micro Enterprise หรือวิสาหกิจขนาดจิ๋ว เป็น SMMEs รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงมีนโยบายสนับสนุนและเสริมสร้างผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs อย่างจริงจัง ในโครงการ OTOPเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เป็นอยู่ในระบบการศึกษาของไทยปัจจุบันนี้ก็คือว ระบบการศึกษาได้ปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของประเทศไปมากน้อยแค่ไหน เรามีหลักสูตรท้องถิ่นของให้กับเด็กประถม และมัธยมเพื่อให้เขาเรียนรู้และเข้าใจท้องถิ่นของเขาเอง แต่พอเริ่มเข้าสู่ชั้นอุดมศึกษากลับไม่ได้ต่อยอดฐานความรู้ดังกล่าว แต่กลับไปมุ่งให้เด็กเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน เพื่อมุ่งไปประกอบอาชีพที่เป็นลูกจ้างตามหน่วยงานราชการ บริษัทห้างร้าน โดยขาดการส่งเสริมให้เด็กสนใจจะมาเป็นผู้ประกอบการเอง

การศึกษาขั้นสูงขึ้นไปก็เช่นกัน ปัจจุบันมีหลักสูตรปริญญาโทมากมาย แต่ละสถาบันแข่งขันกันเปิดมี ปริญญาโทภาคพิเศษเพิ่มนับไม่ถ้วน แต่ก็เป็นหลักสูตรที่ไม่เข้าใกล้กับแนวคิดที่ให้ผู้เรียนสามารถมาเป็นผู้ประกอบการเอง มีกรอบคิด หรือ มุมมองเพื่อการพัฒนาธุรกิจตัวเอง ทันทีที่เริ่มต้นเรียนในระดับอุดมศึกษา เด็กก็ยิ่งห่างไกลกับความคิดให้กลับมาใช้ฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาในท้องถิ่น หรือการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง เพราะแทบทุกหลักสูตรมุ่งจะให้เด็กเข้าไปสู่เมืองหลวง หรือ เข้าไปในองค์กรใหญ่แทบทั้งสิ้น

“ผมเองก่อนหน้านี้รับสอนปริญญาโทอยู่ที่ธรรมศาสตร์ แต่ละห้อง 50-60 คน นักศึกษารายใดทำได้ไม่ถึงเกณฑ์ผมไม่ให้ผ่าน ก็มีอาจารย์มาบอกว่าให้เขาผ่านไปเถอะ เพราะค่าหลักสูตรมันแพง 5-6 หมื่นบาท ผมรับไม่ได้กับแนวคิดการสอนในระบบการศึกษาแบบนี้ ก็เลยลาออก ลองคิดดูว่าคนเรียน 50 คนกับค่าเรียน 5 หมื่นบาทมันเป็นเงินเท่าไหร่ ตอนนี้ผมเลยสอนปริญญาเอกเพียงอย่างเดียว มีนักเรียนแค่ 6 คน”  นายสนธิยกตัวอย่างและกล่าวต่อว่า ในกรณีของภาคอีสานเอง ปัจจุบันไม่ได้มีแค่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลฯ แต่ยังมีมหาวิทยาลัยราชภัฏ อีกตั้ง 13 แห่ง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยจากส่วนกลางอีก คือมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดสอนทั้งปริญญาตรีและโท มีทั้งหมด 9 แห่ง ของนิด้าในภาค ก็มีอยู่ 3 แห่ง คือที่ นครราชสีมา ขอนแก่นและอุดรธานี รวมกันแล้วมีสถาบันใหญ่ๆมากกว่า 20 แห่ง แต่จะมีสักกี่แห่งที่มีหลักสูตร ที่เน้นให้เด็กที่จบออกมาเพื่อเป็นทรัพยากรบุคคลของท้องถิ่น รู้จักและเข้าใจฐานทรัพยากร ฐานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ รู้จักสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในถิ่นฐานตัวเอง มีสติปัญญาเพื่อนำเอาสิ่งเหล่านี้มาเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเอง และชุมชน

ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น สรุปรวบยอดแล้วมีอยู่ 2 ส่วนหลัก ๆ คือ กรณีภูมิปัญญาดั้งเดิมของภาคอีสาน และ ระบบการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา จะเห็นได้ว่าภาคอีสาน มีความร่ำรวยในวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่สั่งสมตกทอดยาวนานครอบคลุมทุกด้านตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงสังคม ครอบคลุมการดำเนินชีวิตในแทบทุกด้าน ความร่ำรวยของภูมิปัญญาดังกล่าวเป็น “ต้นทุน” ที่สำคัญที่จะทำให้อีสานเปลี่ยนโฉมหน้าไปในทางที่ดีขึ้น หากพัฒนาและต่อยอดกันเป็น ลำพังขององค์ความรู้สมัยใหม่ ที่มาจากหลักสูตรการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียวนั้น ยังไม่เพียงพอสำหรับ สังคมในอนาคต หรือ สำหรับการทำธุรกิจยุคใหม่

อยากเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า กรณีคนที่จบหลักสูตร MBA และการตลาด ออกมาพร้อมกัน 2 คน แล้วให้ออกมาเริ่มต้นประกอบอาชีพแข่งกัน ต่างก็ มีความรู้จากห้องเรียนเพียงอย่างเดียว รู้ทฤษฎีการจัดการและการตลาดพอๆกัน แต่หากคนใดคนหนึ่งที่มีองค์ความรู้ที่มาจากบรรพบุรุษ เรียนรู้ภูมิปัญญาที่สะสมมาของท้องถิ่นของตนเอง เป็นฐาน จะเห็นได้ว่า “ต้นทุน” ความรู้ของคนทั้งสองแตกต่างกันมาก เป็นความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนว่า “โอกาส” และ “ เพดาน” ของคนทั้งสองมีความไม่เท่ากัน

ภาคอีสานมีต้นทุนทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิความรู้ ที่เพียบพร้อมอยู่แล้ว ภูมิปัญญาดังกล่าวเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษสะสมเอาไว้ให้ เหลือแต่ว่าคนรุ่นปัจจุบันจะรู้จักหยิบฉวยและทำความเข้าใจกับมันได้เช่นไร

ขณะที่ ภูมิปัญญา ที่เป็น “ ต้นทุน” อีกด้านหนึ่ง ก็คือ ไหวพริบ ปฏิภาณ และองค์ความรู้สมัยใหม่ ซึ่งต้องร่ำเรียนมาจากห้องเรียน และได้มาจากประสบการณ์ตรง ซึ่งทั้งสองส่วนควรจะไปด้วยกัน จะทิ้งองค์ความรู้ด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ ทุกวันนี้ มีโอกาสเปิดกว้างให้คนที่คิดจะประกอบอาชีพส่วนตัว หรือคิดอยากเป็นเถ้าแก่เองมากกว่าคนยุคก่อนมาก มีแบงก์เอสเอ็มอี มีเงินกู้ห้องแถว การการสนับสนุนจากภาครัฐเพียบพร้อม ย้อนหลังกลับไปมองยังไม่เคยมีรัฐบาลใดเลยที่เปิดโอกาสให้กับ ผู้ประกอบการขนาดย่อม และจิ๋ว ได้มากเท่านี้

ต้องยอมรับว่าคนอีสานกว่า 22 ล้านคน ส่วนหนึ่งต้องไปตกระกำลำบากในต่างถิ่น เพราะไม่รู้จะหาเลี้ยงชีพอะไรในถิ่นเกิด ถือเป็นความผิดพลาดทางนโยบายการพัฒนาของรัฐ ในยุคที่ผ่านมา แต่วันนี้ โอกาสที่ให้คนกลับมาทำมาหากินในถิ่นฐานบ้านเกิด เปิดกว้างขึ้น ขอเพียงแต่มีความเข้าใจเรื่ององค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มองและวิเคราะห์ให้ออกว่า ทรัพยากรที่เรามีอยู่มีอะไรบ้าง แล้วจะเห็นโอกาสเอง สิ่งที่บรรพบุรุษและธรรมชาติให้มานั้น เป็นต้นทุนที่ทำให้อีสานร่ำรวยที่สุดในประเทศไทยอยู่แล้ว ..เหลือเพียงแค่คนอีสาน จะสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ในภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นได้อย่างไร โดยวิธีไหนเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น