แม่ฮ่องสอน - "สุวิทย์" ขวางนำเข้าไม้พม่าผ่านชายแดนแม่ฮ่องสอน-ตากเข้าไทย หวั่นปัญหาไม้ไทยใส่โสร่งเกิดซ้ำ เสนอส่งผ่านย่างกุ้งลงทะเลเข้าไทยอีกทอดแทน ขณะที่ผู้ว่าฯ - ทภ.3 เปิดทางเต็มที่ คาดหลังขนไม้ของกลางคดีป่าสาละวินเสร็จ พร้อมเปิดช่องนำเข้าไม้ทันที
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงการนำเข้าไม้พม่ารอบใหม่ หลังการเคลื่อนย้ายไม้ของคดีป่าสาละวินจาก อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ไปยังศูนย์การทหารม้า จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2547 ว่า การนำเข้าไม้จากประเทศพม่าไม่มีข้อห้ามสามารถดำเนินการได้ แต่การนำเข้าจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายของพม่าและกฎหมายไทยด้วย
สำหรับการนำเข้าไม้จากพม่า ที่จะผ่านด้านแม่ฮ่องสอน ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาแต่อย่างใด เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาตามมา หากจะมีการนำเข้าไม้จากพม่าจริง ๆ จะต้องมีเอกสารรับรอง (เอกสารแสดงถิ่นกำเนิดไม้) จากรัฐบาลพม่า และให้เคลื่อนย้ายไม้เข้าไปทางย่างกุ้ง ลงทะเลขึ้นที่ฝั่งไทยจะดีกว่า หากนำเข้าด้านจังหวัดตาก - แม่ฮ่องสอน เกรงจะเกิดปัญหาการลักลอบตัดไม้ในฝั่งไทย
ทั้งนี้ความพยายามที่จะให้รัฐบาลไทย เปิดให้มีการนำเข้าไม้จากพม่า ผ่านชายแดนแม่ฮ่องสอน เหมือนเมื่อ 10 กว่าปีก่อนอีกครั้ง เกิดขึ้นหลังจากที่นายวิน ซอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศพม่าได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย แจ้งว่า พลเอกขิ่นยุ้น นายกรัฐมนตรีพม่าได้ขอให้เสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ารัฐบาลพม่ามีไม้สักประมาณ 15,000 ท่อน ในรัฐคะยา ซึ่งยินดีที่จะจำหน่ายให้แก่บริษัทไทย หรือบริษัทที่ได้รับการเสนอแนะจากรัฐบาลไทย โดยรัฐบาลพม่าย้ำว่า การนำเข้าไม้ เป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย-พม่า ซึ่งไม้สักท่อนอยู่ในรัฐคะยา ตรงข้ามอ.ขุนยวม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน
หลังจากนั้น กลุ่มบริษัททำไม้ไทยต่างก็วิ่งหาช่องทางการนำเข้าไม้จากพม่า บริเวณช่องทาง บ้านแม่เงา ต.แม่เงา อ.ขุนยวม ( BP-12 ) และช่องทางดอยฮางหลี อ.แม่ลาน้อย ( BP-15 ) ซึ่งมีทั้งบริษัทผลพนา จำกัด องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)
อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการนำเข้าไม้จากพม่า รัฐบาลไทยยังมีความเป็นห่วง ว่า จะมีการนำไม้เข้ามาสวมโสร่งในพื้นที่ป่าสาละวิน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ข้าราชการระดับสูงในกรมป่าไม้ สมัยที่ผ่านมา ออกจากข้าราชการไปแล้วหลายราย
ดังนั้นจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยนายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีไม้ของกลางที่ถูกลักลอบตัดในพื้นที่ป่าสาละวิน และเก็บรักษาไว้ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงได้เร่งตรวจนับจำนวนไม้ของกลางในพื้นที่ป่าสาละวิน เพื่อเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จ.สระบุรี ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2547 ก่อนที่จะเปิดให้มีการนำเข้าไม้พม่ารอบใหม่ต่อไป
นายสุพจน์ ยืนยันว่า การอนุญาตให้นำเข้าไม้จากพม่าครั้งใหม่นี้ จะทำให้เศรษฐกิจของแม่ฮ่องสอนดีขึ้น สร้างงานในจังหวัด ส่วนประเด็นปัญหาการลักลอบตัดไม้ไทย เข้าสวมตอเหมือนในอดีต ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก เพราะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการนำเข้าไม้ อีกทั้งการนำเข้าไม้จากพม่า ก็เป็นการซื้อขายในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล จังหวัดเป็นเพียงผู้กำกับดูแลไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้ในฝั่งไทยเท่านั้น
นอกจากนี้แล้วจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กำหนดยุทธศาสตร์ของจังหวัด ในประเด็นด้านการค้าชายแดน และการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดรวมทั้งภาคเอกชน ก็ได้เดินทางไปเจรจาการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวกับผู้นำจังหวัดมัณฑะเลย์ -ตองกี ประเทศพม่า ระหว่างวันที่ 6 - 11 พฤษภาคม 2547 ก็ได้มีการพุดถึงการค้าชายแดนด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งการนำเข้าไม้จากพม่าผ่านพื้นที่แม่ฮ่องสอน จะเป็นตัวเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างแน่นอน
พล.ท.พิชาญเมธ ม่วงมณี แม่ทัพภาคที่ 3 ให้ความเห็นว่าว่า การนำเข้าไม้จากพม่าผ่านพื้นที่แม่ฮ่องสอน กองทัพภาคที่ 3 จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบการนำเข้าไม้ทุกขั้นตอน ไม้ที่จะมีการผลักดันให้นำเข้าไทยรอบใหม่นี้ เท่าที่ทราบเป็นไม้สักท่อนค้างเก่า ที่พม่าได้ตัดทิ้งไว้นานพอสมควร แต่ยังนำมาใช้งานได้ ซึ่งทางการพม่าจะเคลื่อนย้ายไม้สักท่อนดังกล่าวเข้ามาอยู่ใกล้ชายแดนไทย เพื่อให้บริษัททำไม้ไทยได้ชักลากเข้ามายังฝั่งไทยได้สะดวกขึ้น
ส่วนความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยในพม่า พล.ท.บีทู ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกะเหรี่ยงคะยา (เคเอ็นพีพี) หลังจากที่มีข่าวว่ารัฐบาลพม่า ได้เสนอขายไม้สักท่อนในพื้นที่รัฐคะยาให้แก่รัฐบาลไทย กลุ่มกะเหรี่ยงคะยาได้มีการประชุมเพื่อหาแนวทางให้บริษัททำไม้ เจรจากับชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงคะยา เพราะไม้สักท่อนดังกล่าว อยู่ในเขตอิทธิพลของชนกลุ่มน้อยทั้งสิ้น ซึ่งหากบริษัททำไม้ไม่มีการเจรจากับกะหรี่ยงคะยา ก็คงไม่สามารถชักลากไม้ออกจากพื้นที่รัฐคะยาได้ เนื่องจากชนกลุ่มน้อย ได้ฝังระเบิดไว้ที่บริเวณหมอนไม้เป็นจำนวนมาก