ศูนย์ข่าวเชียงใหม่-ลำพูนเตรียมเร่งร่างแผนงาน โครงการศึกษาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองสู่มรดกโลก นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ย้ำชัดลำพูนเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่อดีตมาทุกยุคทุกสมัย มีคุณสมบัติเหมาะสมตามที่สหประชาชาติกำหนดสำหรับการเป็นมรดกโลก ชี้ต้องเร่งดำเนินการเพราะกำลังประสบปัญหาเมืองใหม่ทับเมืองเก่า หวั่นเกิดความเสียหายซ้ำรอยอีกหลายเมือง
สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ นอกสถานที่ที่จังหวัดลำพูนเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2547 ซึ่งในหลายโครงการที่ได้มีการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณา คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเกี่ยวกับโครงการ ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองลำพูนสู่มรดกโลก โดยที่โครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติในหลักการไปแล้วนั้น
ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ -ใจอินทร์ ภัณฑารักษ์และนักประวัติศาสตร์ศิลปะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ร่างและเสนอโครงการดังกล่าว เปิดเผยถึงความจำเป็นของโครงการนี้ว่า เนื่องจากเมืองหริภุญไชยหรือลำพูน ในปัจจุบันนี้เป็นเมืองที่มีเรื่องราวความเป็นมาอย่างชัดเจนว่า เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย
รวมทั้งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า เคยเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากในภูมิภาคและเป็นเมืองเดียวในภาคเหนือตอนบน ที่ยังปรากฏหลักฐานชัดเจน ทั้งด้านกายภาพเมืองและเอกสารอ้างอิงที่สมบูรณ์ ดังนั้น การบูรณะอนุรักษ์โบราณสถานและการทำนุบำรุงพื้นที่เมืองเพื่อสงวนรักษาหลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่างๆ ไว้ เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน
ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันพื้นที่ประวัติศาสตร์ได้ถูกใช้เป็นที่ตั้งเมืองและชุมชนใหม่ มีลักษณะของเมืองใหม่สวมทับบนเมืองเก่า เหมือนกับหลายเมืองที่ประสบปัญหามาก่อน เช่น เชียงใหม่ เชียงราย เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การจัดการด้านการอนุรักษ์ขาดประสิทธิภาพและถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา จึงเห็นว่าการดำเนินการจัดการเมืองประวัติศาสตร์ เพื่อลดและควบคุมกิจกรรมภายในเมือง โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนเมืองใหม่กระจายตัวออกไปนอกเมือง จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการอนุรักษ์พื้นที่เมือง และคืนบรรยากาศของเมืองประวัติศาสตร์
"เมืองลำพูนหรือนครหริภุญไชย เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาทุกยุคทุกสมัย จนได้รับฉายาว่าเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ไม่ตาย ทั้งยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งยวดทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับภูมิภาคที่สามารถผลักดันสู่การเป็นมรดกโลกได้ เนื่องจากมีศักยภาพและความพร้อมในทุกๆ ด้าน สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพิจารณาที่กำหนดไว้โดยองค์การสหประชาชาติ" ดร.เพ็ญสุภา กล่าวและว่า
การเสนอลำพูนเป็นมรดกโลกนั้นเนื่องจากมีคุณสมบัติที่เหมาะสม 3 ด้านหลัก คือ 1.การเป็นอู่อารยธรรมแห่งอุษาทวีป 2.การเป็นชุมชนทางวัฒนธรรมของล้านนา ล้านช้าง และสิบสองปันนา และ 3.การเป็นแหล่งธรรมชาติมหัศจรรย์
สำหรับพื้นที่โครงการศึกษานั้น มีพื้นที่ดำเนินการ ประกอบด้วย อำเภอเมืองลำพูนและเขตปริมณฑลใกล้เคียง รวมทั้งอำเภอรอบนอก โดยมีกิจกรรมหลักที่จะต้องดำเนินการ ได้แก่ งานสำรวจและงานขุดแต่ง-ขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีและบูรณะโบราณสถานต่างๆ งานปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมโดยรวม งานเผยแพร่ให้ความรู้และการศึกษา งานทำนุบำรุงดูแลรักษา และงานควบคุมการบุกรุกทำลายโบราณสถาน
ส่วนผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ การได้ข้อมูลจำนวนโบราณสถาน โบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ รวมทั้งตำแหน่งที่ตั้ง สภาพโบราณสถาน ขนาดพื้นที่ การถือครองที่ดินในสภาพปัจจุบัน เพื่อจัดทำฐานข้อมูลในระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ สามารถจัดกลุ่มข้อมูลตามลำดับความสำคัญทางกายภาพ ใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนเพื่อให้โบราณสถาน มีความมั่นคงแข็งแรงเป็นการอนุรักษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี
รวมทั้งเพื่อเป็นแนวทางในกระบวนการประกาศพื้นที่เมืองเก่าเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนา และเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำผังเมืองเฉพาะในเขตพื้นที่อนุรักษ์ที่ชัดเจน และการจัดทำมาตรการทางผังเมืองการใช้ที่ดินในอนาคต ตลอดจนก่อให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงวงจรเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบครบวงจร โดยมีความสำคัญควบคู่กันไป ทั้งในฐานะเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางอารยธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ในส่วนของงบประมาณและหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการศึกษาเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาลำพูนสู่มรดกโลกนั้น มีกรมศิลปากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ในการที่จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งตามแผนงานโครงการจะใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท ในการสำรวจจัดทำแผนผังโบราณสถาน สำรวจเอกสารจัดทำโครงการอนุรักษ์ ประเมินศักยภาพแหล่ง และจัดทำรายงานทางโบราณคดี เพื่อสรุปกำหนดเขตที่จะผลักดันให้เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและเขตพื้นที่มรดกโลกต่อไป ซึ่งการศึกษาตามโครงการนี้จะใช้เวลา 1 ปี
อนึ่ง ขณะนี้โครงการศึกษาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองลำพูนสู่มรดกโลก อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนงานโครงการเพื่อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อขอรับการสนับสนุน หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการโครงการนี้ไปแล้ว.