ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – เริ่มเปิดศักราชเส้นทางการค้าไทย-พม่า-จีนอย่างเป็นทางการแล้ว หนุน FTA ไทย-จีน กลุ่มทุนจีนผนึกกำลังเครือข่ายธุรกิจว้าในพม่า เปิดช่องทางผ่านท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา เชื่อมเชียงราย-เชียงรุ่ง พร้อมการันตีความปลอดภัย “พินิจ” ยันถนนคุนหมิง-กรุงเทพฯเสร็จสมบูรณ์เร็ววันนี้
ในที่สุดถนนสายท่าขี้เหล็ก – เชียงตุง – เมืองลา(ชายแดนพม่า-จีน) ที่จะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างไทย-จีนตอนใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งสอดรับกับนโยบายมุ่งสู่ตะวันตกของรัฐบาลปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็เริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการมากขึ้น หลังจากที่ก่อสร้างแล้วเสร็จมาตั้งแต่ต้นปี 2547 ที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ไทย – พม่า - จีน
ทั้งนี้ เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.วันนี้ (1 ก.ค.47)นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยพล.ต.อ.ดร.ประสาน วงศ์ใหญ่ ที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทย และนายศรีพรหม หอมยก รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายชูชัย อุดมโภชน์ นายด่านศุลกากรแม่สาย นายวินัย ฉิมทองประเสริฐ นายด่านศุลกากรเชียงแสนเจ้าหน้าที่ประสานงานชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก นายบวร รัตนประสิทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา
ขณะที่ทางฝ่ายจีน นำโดยนางซาล่วย(SAREI) อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก แคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนาน(หยุนหนัน) ของจีน ที่นำคณะประกอบด้วย อธิบดีการเกษตร สิบสองปันนา ประธานส่งเสริมการส่งออก สิบสองปันนา หัวหน้าด่านศุลกากรท่าล่อ กรรมการผู้จัดการบริษัทหยางเซิน นักธุรกิจจากเมืองคุนหมิง ประเทศจีน เพื่อทำพิธีเปิดเส้นทางขนส่งทางบกจาก อ.แม่สาย-สิบสองปันนา ที่ด่านศุลกากรแม่สาย จ.เชียงราย
คณะผู้แทนจากไทย-จีน ได้ร่วมกันทำพิธีปล่อยรถบรรทุกสิบล้อที่บรรทุกผลไม้ ทุเรียน น้ำหนัก 18 ตันจากไทยเพื่อส่งไปยัง จีน ผ่านพรมแดน อ.แม่สาย - จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า เป็นปฐมฤกษ์ 1 คัน จากนั้นรถจะผ่านถนนสายท่าขี้เหล็ก-เมืองเชียงตุง - เมืองลา ของพม่า ก่อนจะเข้าสู่พรมแดนประเทศจีน ที่เมืองเชียงรุ่ง จีน รวมระยะทางกว่า 397 กิโลเมตร(ก.ม.) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเปิดเส้นทางทางบก จาก อ.แม่สาย ผ่านพม่า - เชียงรุ่ง หรือจิ่งหง จีน จะทำให้สินค้าเกษตรไทย เช่นทุเรียน ลำไย ลำเลียงผ่านทางบกเข้าสู่ตลาดจีนได้สะดวก มีต้นทุนที่ต่ำลง สามารถใช้คอนเทนเนอร์ขนส่งได้ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาเรือคอนเทนเนอร์ในแม่น้ำโขงไม่เพียงพอต่อความต้องการได้ด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า รัฐบาลจีนได้ร่วมมือกับพม่า เพื่อดูแลความปลอดภัยในเส้นทางนี้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ในส่วนสะพานแม่สายแห่งที่สอง เชื่อมระหว่างบ้านสันผักฮี้ อ.แม่สาย กับ จ.ท่าขี้เหล็ก ที่จะใช้ให้รถบรรทุกข้าม ก็น่าจะเปิดได้ในเร็ววันนี้ นอกจากนี้ยังเตรียมจะเปิดเส้นทางจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ผ่านแขวงบ่อแก้ว เมืองบ่อหาน บ่อเต็น ใน สปป.ลาว - เชียงรุ่ง อีกเส้นทางหนึ่งด้วย
เขาเชื่อว่า อนาคตการค้าระหว่างไทย-จีนจะเพิ่มมูลค่าสูงขึ้นอีกมาก รวมทั้งสามารถส่งสินค้ากระจายไปยังมณฑลอื่น ๆ ของจีนได้อีกมาก เช่น คุนหมิง เฉินตู ต้าลี่
นายพินิจ กล่าวอีกว่า ส่วนความร่วมมือกับไทย-พม่า ในอนาคตอาจจะมีการเปิดเส้นทางการค้าจากไทย สู่พม่าด้านหัวเมืองอื่น ๆ อีกเช่น ตองยี เพราะนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่งเสริมการค้าในบริเวณนี้
นางซาล่วย อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก แคว้นสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน กล่าวว่า การค้าผ่านเส้นทางแม่สาย – ท่าขี้เหล็ก – เชียงตุง – เชียงรุ่ง จีน เบื้องต้นจะเป็นการประสานความร่วมมือกัน ระหว่างส่วนราชการในท้องถิ่นของมณฑลหยุนหนัน กับพม่า ซึ่งจะมีบริษัทเอกชนจีน – พม่า เข้ามาอำนวยความสะดวก เช่น บริษัทซินหยาง บริษัทหงเซิน ของจีน และบริษัทหงษ์ปังอิมพอร์ตเอ็กซ์พอร์ต จำกัด (กิจการในเครือข่ายว้า) แต่ทางจีน ต้องการที่จะให้ไทยเข้ามาร่วมมือด้วย
“นักธุรกิจจีนให้ความสนใจเส้นทางสายนี้มาก และภายใต้ความร่วมมือระหว่างจีน-พม่า เชื่อว่า การเดินทางผ่านเส้นทางสายนี้จะปลอดภัยอย่างแน่นอน”
ด้านนายชูศักดิ์ ไตรศรีศิลป์ ประธานกรรมการ บริษัทสี่เลนซ์ทัวร์ กล่าวว่า เส้นทางจากแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา-สิบสองปันนา เป็นเส้นทางที่สั้น สามารถขนส่งสินค้าได้ตลอดทั้งปี อนาคตเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันสินค้าจะผ่านเส้นทางนี้มาก จีนเองก็สนใจมาก และเร่งรัดส่งเสริมการค้า ซึ่งหากไทยชักช้า จีนสามารถใช้เส้นทาง ผ่าน สปป.ลาว - เวียดนาม ได้ จะทำให้ไทยเสียโอกาส
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกฝ่ายต้องเร่งจัดระบบการผ่านแดนให้ได้มาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการผ่านแดน เช่น คนจีนเดินทางเข้าไทยต้องใช้พาสปอร์ตเพียงอย่างเดียว แต่ไทยสามารถใช้บอเดอร์พาสเข้าพม่าผ่านไป จีนได้
นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ กรรมการฝ่ายการค้าชายแดน หอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า การเปิดเส้นทางการค้าสายนี้จะช่วยกระตุ้นการค้าการลงทุนในย่านนี้มาก โดยเฉพาะเชียงราย ที่ก่อนหน้านี้ค่อนข้างซบเซา หลังนโยบายเปิดเสรีทางการค้าสินค้าเกษตรไทย-จีน มีผลบังคับใช้ ทำให้กลุ่มพ่อค้าจีนบางส่วนหันไปนำเข้า-ส่งออก สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพฯ – แหลมฉบัง ที่มีระบบงานมาตรฐานกว่าแทน
อย่างไรก็ตาม หากไทยร่วมมือกับเพื่อนบ้าน เปิดเส้นทางนี้ให้นักลงทุนมั่นใจ ก็เชื่อว่าแนวชายแดนด้านนี้จะเป็นประตูการค้าตามนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแน่นอน
สำหรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างไทย-จีน ที่ก่อนหน้านี้จะขนส่งผ่านทางเรือในแม่น้ำโขง ผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน จ.เชียงรายนั้น นายวินัย ฉิมทองประเสริฐ นายด่านศุลกากรเชียงแสน ระบุว่าตั้งแต่เดือน ต.ค.46-มิ.ย.47 การส่งออกจากด่าน อ.เชียงแสน มีมูลค่า 1,717 ล้านบาท ลดลงจากที่ช่วงเดียวกัน ปี 46 ที่มีมูลค่าสูงถึง 3,288 ล้านบาท ส่วนการนำเข้าสูงขึ้น เป็น 1,013 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าประมาณ 703 ล้านบาท เนื่องจากน้ำแห้งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และมีการส่งออกผ่านท่าเรือกรุงเทพฯมากขึ้น
อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมแล้ว เขาเชื่อว่าการค้าผ่านชายแดนเชียงราย จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกมาก และขณะนี้มีการตกลงที่จะสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่สองที่บริเวณบ้านสบกก ซึ่งเป็นปากแม่น้ำกกบรรจบกับแม่น้ำโขง ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย บนเนื้อที่กว่า 400 ไร่
ส่วนการเปิดเสรีการค้าไทย-จีน หรือ FTA เกือบ 1 ปีนั้น มูลค่าการค้าไทย-จีนโดยรวม เพิ่มขึ้นกว่า 3 พันล้านบาท ซึ่งเส้นทางสายนี้จะทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มขึ้นอีก สามารถการคอนเทนเนอร์ได้กว่า 20 คัน/วัน หมุนเวียนขนสินค้าในระยะแรก