xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการมข.รุดวิจัยดินเค็มอีสาน หวังหาทางแก้ดินเค็มเชิงบูรณาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภาคอีสาน- นักวิจัยมข. รุดศึกษาปัจจัยเกิดดินเค็มเชิงบูรณาการ นำปัจจัยการไหลของน้ำใต้ดิน ทั้งศึกษาความต้องการของชุมชน หวังคุมพื้นที่ดินเค็มไม่ให้กระจายจนกระทบพื้นที่ใกล้เคียง เผยสภาพปัญหาดินเค็มอีสานมีสูงถึง 17.8 ล้านไร่ และมีแนวโน้มเกิดดินเค็มอีก 20 ล้านไร่ วางกรอบศึกษาทั้งปัจจัยธรณีและความต้องการแก้ดินเค็มจากชุมชน คาดสิ้นกันยายน 47 สรุปผลการศึกษา ชี้ผลศึกษาเกิดประโยชน์แก้ปัญหาดินเค็มในอนาคต

ผศ.ดร.รุ่งเรือง เลิศศิริวรกุล หัวหน้าด้านธรณี ภาควิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยถึงโครงการศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดดินเค็มในภาคอีสานว่า ปัญหาดินเค็มในภาคอีสาน ต่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ที่ผ่านมามีการศึกษาด้านธรณีวิทยา ถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดดินเค็มมีอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งการศึกษาวิจัยเฉพาะด้าน อาจทำให้ไม่สามารถเข้าถึงปมปัญหาและแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพได้
ผลกระทบจากดินเค็มในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้การเพาะปลูกพืชได้ผลผลิตต่ำกว่าปกติ เช่น การปลูกข้าวในพื้นที่ดินเค็ม ให้ผลผลิตเพียง 1 ใน 3 ส่วนของข้าวที่ปลูกในดินปกติ บางพื้นที่ไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้เลย ทั้งนี้สภาพปัญหาดินเค็มในภาคอีสานมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย
ข้อมูลจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากดินเค็มในระดับความเค็มที่แตกต่างกันอยู่ถึง 17.8 ล้านไร่ จากพื้นที่ในภาคอีสานทั้งหมดที่มี 107 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ดินเค็มนั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดดินเค็มอีก 20 ล้านไร่ จากหลายปัจจัยอาทิ ชั้นเกลือใต้ดินที่ถูกดันขึ้นมา การไหลของน้ำใต้ดิน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน
ผศ.ดร.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า ปัญหาดินเค็มดังกล่าว ทางกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล็งเห็นสถานการณ์ปัญหาดินเค็มของภาคอีสาน และต้องการแก้ปัญหาดินเค็มในเชิงบูรณาการ เกิดแนวคิดเชิงหลักการบูรณาการแก้ปัญหาร่วมจากหลายปัจจัย จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการศึกษาปัจจัยทางธรณีวิทยาที่ทำให้เกิดดินเค็มในภาคอีสาน ระยะเวลาศึกษาทั้งสิ้น 9 เดือนตั้งแต่กุมภาพันธ์-กันยายน 2547
กรอบงานศึกษาวิจัยดังกล่าว จะดำเนินงานศึกษาในหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดดินเค็ม เน้นการศึกษาทางธรณีวิทยา ได้แก่ลักษณะทางธรณีวิทยา ธรณีวิทยาโครงสร้าง อุทกธรณีวิทยา การไหลของน้ำบาดาลใต้พื้นดิน และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในกลไกการแพร่กระจายของดินเค็ม รวมถึงศึกษาปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และความต้องการของชุมชน นำมาเผยแพร่และนำผลการศึกษาสู่การจัดการและฟื้นฟูดินเค็มเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
นักวิชาการที่เข้ามาร่วมทำการศึกษา จะมาจาก 2 ภาควิชาคือ ภาควิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มข. ศึกษาวิจัยปัจจัยทางธรณีวิทยา นำโดยผศ.พัชร์สุ วรรณขาว ผู้อำนวยการโครงการ และภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข. นำโดยรศ.ดร.เสกสรร ยงวณิชย์ หัวหน้าด้านสังคม ศึกษาวิจัยปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และความต้องการของชุมชน ในพื้นที่เกิดปัญหาดินเค็มและพื้นที่ใกล้เคียง
สำหรับพื้นที่ที่ใช้ศึกษานั้น ครอบคลุมพื้นที่ 11 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร จังหวัดหนองคาย และจังหวัดนครพนม คิดเป็นพื้นที่กว่า 6,600 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,125,000 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินเค็ม และการแพร่กระจายดินเค็มสู่พื้นที่ใกล้เคียง ที่มีเกษตรทำนาข้าว และพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น
รศ.ดร.รุ่งเรืองกล่าวว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับการงานวิจัยชิ้นนี้ จะทำให้ทราบถึงกลไกการเกิดดินเค็ม จากปัจจัยธรณีวิทยา ศึกษากลไกการขึ้นมาของชั้นเกลือใต้พื้นดิน รวมถึงการไหลของน้ำใต้พื้นดิน ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหลัก ที่ทำให้ปัญหาดินเค็มแพร่กระจายสู่พื้นที่อื่น ผนวกกันเป็นความรู้ถึงสาเหตุการเกิดปัญหา และหาแนวทางควบคุมและแก้ปัญหาดินเค็ม โดยศึกษาปัจจัยความต้องการชุมชนที่เกิดปัญหาเข้ามาร่วมด้วย
ผลการศึกษางานวิจัยชิ้นนี้ จะสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาและควบคุมพื้นที่ดินเค็มในเชิงบูรณาการ ลดความขัดแย้งทางสังคมในพื้นที่เกิดปัญหาดินเค็ม ที่มักพบการทำนาเกลือหลายแห่ง ทำให้เกิดปัญหาระหว่างเกษตรกรที่ทำนาเกลือและนาข้าว ผลวิจัยจะทราบถึงแนวทางการควบคุมพื้นที่ดินเค็มไม่ให้กระจายสู่พื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงการฟื้นฟูดินเค็มให้คืนสู่ภาวะปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น