ผ่าน “มอก.” แต่สินค้ากลับไม่ได้มาตรฐาน “พาวเวอร์แบงก์” ที่เคลมว่า ชาร์จไว ปลอดภัย กลับพร้อมระเบิด แถมข้างในยัดแต่ของหนักๆ เข้ามา สงสัยหนักมาก ผู้บริโภคจะปลอดภัยกี่โมง?
** เคลมว่ามีมาตรฐาน แต่กลับไร้คุณภาพ **
กลายเป็นคลิปไวรัล แชร์กันหนักมาก หลังผู้บริโภคช็อกไปตามๆ กันว่า “พาวเวอร์แบงก์” ตัวนี้ ผ่าน มอก.มาได้ยังไง ทั้งที่โฆษณาบนโซเชียลฯ ในแอปฯ ต่างๆ ไว้ว่า มีความจุสูงถึง 80,000 มิลลิแอมป์
แต่พอนักรีวิวมือทองบน TikTok เจ้าของช่อง “Khun Wat” (TikTok @lizhiming_0921)ลองแกะข้างในดู กลับพบว่ามีแบตอยู่ในนั้นก้อนเดียว คือมีความจุไฟฟ้าอยู่ที่แค่ 10,000 มิลลิแอมป์เท่านั้น แถมข้างในยังมีแค่แผงวงจรกากๆ กับฟองน้ำที่ถูกยัดมา
{พาวเวอร์แบงก์คอนเทเนอร์ ไร้คุณภาพแต่ดันผ่าน มอก.}
ส่วนอีกตัวที่โม้ว่าเป็น “พาวเวอร์แบงก์ตู้คอนเทนเนอร์” ความจุสูงถึง 100,000 มิลลิแอมป์นั้น สภาพข้างในก็น่าสงสัยพอกัน คือเจอสิ่งของคล้ายอิฐ
แต่แปะคำอธิบายไว้ว่า คือ “บล็อกระบายความร้อนของแบตเตอรี่” ที่จงใจอัดมาให้ถึง 6 ก้อน โดยไม่รู้ว่าใช้ระบายความร้อน หรือเอามาถ่วงน้ำหนักกันแน่
นอกจากเคสของพาวเวอร์แบงก์ ยังมีเคสต้องสงสัยอื่นอีก อย่าง “ที่ชาร์จโทรศัพท์” ที่ก่อนหน้านี้มีคนออกมาเตือนภัย ลงในกลุ่ม “พวกเราคือผู้บริโภค” เอาไว้ว่า ซื้อที่ชาร์จแบบ “Fast Charge” มา
แต่พอเปิดด้านในดู กลับพบแค่แผงวงจร กับก้อนซิลิโคนระบายความร้อน ที่น่าจะถูกยัดมาเพื่อถ่วงน้ำหนักเท่านั้น ซึ่งถือว่าอันตรายมาก
เพราะส่วนใหญ่ทำจากวัสดุด้อยคุณภาพ คือนอกจากไม่ทนความร้อนแล้ว ยังทำให้ลัดวงจรได้ง่าย ผลักให้ผู้ใช้งานเสี่ยงต่อการโดนไฟดูด หรืออาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ได้
{ที่ชาร์จหลักร้อย ด้านในมีแต่แผงวงจรกับก้อนซิลีโคน}
ยิ่งในเคสของพาวเวอร์แบงก์ ยิ่งอันตรายสุดๆ เพราะถ้าไม่ใช่แบตเตอรี่ที่มีคุณภาพ ยิ่งเสี่ยงจะระเบิดได้ตลอดเวลา ขนาดญี่ปุ่นเองยังเพิ่งออกมาประกาศกฎใหม่ในสายการบินเลยว่า ใครที่จะพกพาวเวอร์แบงก์ขึ้นเครื่องบิน ต้องเลือกที่มีความจุไม่เกิน 160 วัตต์/ชั่วโมงเท่านั้น
ที่สำคัญ ต้องวางไว้ในจุดที่มองเห็นได้ตลอดเวลา คือถ้าวางไว้บริเวณที่นั่ง ก็ห้ามเก็บไว้ในช่องเก็บกระเป๋าเหนือหัว หรือห้ามโหลดใต้ท้องเครื่อง เพื่อป้องกันความเสี่ยง ที่แบตเตอรี่ข้างในนั้นอาจร้อนจัด จนระเบิดออกมา
** แทบไม่เหลือให้ “เชื่อถือ” เพราะช่องโหว่ตรวจสอบ **
ที่น่าสนใจคือ เคสทั้งหมดที่พูดถึงนี้ สินค้าทุกตัวมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพแปะหรา นั่นก็คือ ตรา “มอก.” หรือ “มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้ตัวแทนจาก “สภาองค์กรของผู้บริโภค (TCC)” อย่าง “ผศ.ดร.วีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา”อนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป ช่วยวิเคราะห์
มองว่ามีความเป็นไปได้ ที่ในขั้นตอนขอใบอนุญาต และขอเครื่องหมาย มอก. ฝั่งผู้ผลิตอาจใช้สินค้าที่ได้คุณภาพมาตรวจ แต่พอขายจริง กลับเอาสินค้าที่ด้อยคุณภาพมาขายแทน
สะท้อนภาพของตลาดทุกวันนี้ ที่มีการแข่งขันสูงว่า เหล่าผู้ผลิตหลายราย จงใจลดต้นทุนการผลิต จนเลือกทำให้สินค้าออกมาด้อยคุณภาพอย่างที่เห็น
นอกนั้น ยังสะท้อนช่องโหว่การตรวจสอบ และติดตามคุณภาพสินค้า หลังได้ มอก. ของ สมอ. (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) ด้วย เพราะไม่มีงบสนับสนุนมากพอ ที่จะไปซื้อสินค้าจากท้องตลาดมาสุ่มตรวจ
ส่วนใหญ่เลยใช้วิธีแจ้งล่วงหน้าต่อผู้ผลิต เพื่อขอเข้าไปตรวจสินค้า ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีแค่สินค้าที่ดีและได้มาตรฐาน มาเรียงรายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเต็มโรงงาน ทั้งที่อาจไม่ได้ผลตรวจสอบตามความเป็นจริง อย่างที่วางขาย
“ก็อาจจะมีการเรียกว่า ทำของให้มันดีเลย เพื่อที่จะมาตรวจสอบ แล้วได้รับใบอนุญาต แต่พอได้รับใบอนุญาตแล้ว ในตอนผลิตจริงเนี่ย ก็อาจจะลดต้นทุน หรืออะไรก็สุดแล้วแต่นะครับ อันนี้เราก็คงไป กล่าวหา เขาไม่ได้
เรายังมีปัญหา ในการตรวจติดตามว่า เราจะตรวจสินค้านั้น เอามาทดสอบใหม่ ทดสอบซ้ำ แล้วทำการตามจับ ไล่จับกุมอีก อันนี้มันยังมีประเด็นอยู่นิดนึง ที่ สมอ.ก็ยอมรับข้อจำกัด”
{“ผศ.ดร.วีระพันธ์” จากสภาองค์กรของผู้บริโภค(TCC)}
** ไม่คุ้ม “เสี่ยง” ถึงจ่ายสบายแค่ไหน **
อีกช่องโหว่ที่ทำให้สินค้าด้อยคุณภาพ ส่งถึงมือผู้บริโภค ก็คือ“แพลตฟอร์มขายของออนไลน์” ที่หละหลวมเรื่องการตรวจสอบ จนทำให้แม้แต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ควรมีมาตรฐานราคา ตามวัสดุอุปกรณ์และการผลิตที่ได้มาตรฐาน กลับเหลือเพียงหลัก 100 หนักสุดคือหลัก 10 ถ้ามีโปรฯ ด้วย
เหตุเพราะกฎหมายบ้านเราในตอนนี้ ยังไม่ครอบคลุมถึงเจ้าของแพลตฟอร์ม ให้ต้องมาร่วมรับผิดชอบ หรือถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย เลยทำได้แค่ขอความร่วมมือ ในการปลดสินค้าออก หรือแบนบริษัทนั้นๆ ที่ขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์ม
ยังไงก็ตาม ล่าสุด “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แถลงเปิดตัว เทคโนโลยี AI ในการตรวจจับสินค้าไม่ได้คุณภาพ ซึ่งวางขายบนโลกออนไลน์ได้แล้ว หรือที่เรียกว่า “มอก.วอทช์”
โดยตอนนี้ตรวจเจอและเตรียมฟ้องแล้ว ถึง 777 คดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้าตรวจจับแล้วจะไม่เจอซ้ำอีก เพราะกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ จะใช้วิธีเปลี่ยนชื่อร้าน แล้วเอาสินค้าแบบเดิมๆ กลับมาวางขายได้อยู่ดี
ดังนั้น ทางออกที่จะทำให้สินค้าด้อยคุณภาพถึงมือผู้บริโภคลดลง คือต้องออกกฎหมายให้เจ้าของแพลตฟอร์ม ควบคุมและตรวจสอบคุณภาพของสินค้าที่มาวางขายมากขึ้น และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ สามารถดึงสินค้าจากตลาดมาสุ่มตรวจได้ทันที
นอกนั้น คงต้องฝากถึงพี่น้องประชาชน ให้เฝ้าระวังด้วยตัวเอง ด้วยการเลี่ยงซื้อสินค้าออนไลน์ที่ราคาถูกเกินจริง โดยเฉพาะของประเภทราคาหลัก 10 หลัก 100 ซึ่งคงเป็นไปได้ยากที่จะมีคุณภาพตามมาตรฐาน อย่างที่ควรจะเป็น
“แต่เวลาร้านค้า หรือคนที่จะเอาของมาขายเนี่ย กลไกในการตรวจสอบ ยังหละหลวมค่อนข้างมาก ซึ่งตรงนี้เรายังต้องไป ปรับแก้กฎหมาย อีกพอสมควร
อาจต้องใช้เวลาอีกนิดนึง ในการปรับแก้กฎหมายว่า ร้านค้าเวลาจะเอาสินค้ามาขาย สินค้านั้นต้องมาตรฐานไทย คุณควรจะต้องบังคับ ให้ผู้ที่จะเอาสินค้ามาขายในแพลตฟอร์มของคุณเนี่ย ต้องแสดงใบอนุญาตด้วย ณ ปัจจุบันนี้ การบังคับเนี่ย ยังไปไม่ถึงครับ
แต่ผมเองก็แจ้งกับ สมอ. เหมือนกันว่า ผมก็ยังเจอสินค้าจำนวนมากเลย ที่ก็ยังเล็ดลอดอยู่ เขาอ้างมา เราก็อ้างกลับไปว่า เรายังพบ สินค้าที่ถูกต้องมีมาตรฐาน แต่มันเป็นสินค้า ที่ไม่มีมาตรฐานอยู่ดี
แล้วจำหน่ายในราคาถูกแสนถูกเลย จนเหมือนกับว่า เราเองเราเห็น เรายังอยากได้ แต่เราก็รู้ว่า ถ้าเราได้มา เราใช้มัน มันก็คงทำให้บ้านเราไฟไหม้แน่ๆ
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **