“ออกแบบผิด-วิธีก่อสร้างไม่ถูก-ใช้ของผิดสเปก” คือผลการตรวจสอบล่าสุด เคส “ตึก สตง.ถล่ม” เกิดเป็นข้อสงสัย ผิดทุกขั้นตอนขนาดนี้ แล้วใครกล้าเซ็นอนุมัติ
สาวไปถึงขบวนการสีดำ นายกสมาคมวิศวกรฯ คอนเฟิร์ม มีการซื้อขายลายเซ็น ในวงการก่อสร้างจริง และทำกันมาตลอดอย่างเงียบๆ แต่แค่ไม่เคยเจอแจ็กพ็อต อย่างเคสตึก สตง.
** โศกนาฏกรรมใหญ่ เรื่องต้องไม่เงียบ!! **
เรื่องนี้จะไม่เงียบแน่นอน “นายกฯ อิ๊งค์” (แพทองธาร ชินวัตร)ยืนยันไว้แบบนั้น หลังผลตรวจสอบล่าสุด จากเคส “ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)” ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อมูลเป็นรูปเล่ม วางแผนให้แล้วเสร็จภายใน 2 อาทิตย์ เพื่อส่งให้ DSI และตำรวจตรวจสอบ เพื่อหาตัวคนผิด
ย้อนรอยกลับไป นอกจากปมเรื่อ ง“เหล็กไม่ได้มาตรฐาน มอก.” แล้ว ก่อนหน้ายังผุดข้อมูลน่าตกใจออกมาว่า
มีการ “ปลอมลายเซ็น”ของเหล่าวิศวกร
โดยจากจำนวนวิศวกร 36 คน ที่เข้ามาให้ปากคำ มีเพียง 8 คนเท่านั้นที่ยอมรับว่า พวกเขาเป็นคนเซ็นควบคุมการก่อสร้างเอง นอกนั้นอีก 28 คน ให้การว่า ถูกปลอมลายเซ็น และไม่มีส่วนรู้เห็นกับการก่อสร้างนี้
{ตึก สตง. “ออกแบบผิด-สร้างไม่ถูก-ของผิดสเปก”}
ไหนจะเรื่องชื่อคนออกแบบ อย่าง “พิมล เจริญยิ่ง” วิศวกรวัย 86 ปี ผู้เป็นถึง “วุฒิวิศวกร” ที่มีลายเซ็นโผล่หราว่า เป็นคนออกแบบตึก สตง. ที่ถล่มลงมา
แต่เมื่อถูกเรียกสอบ เจ้าตัวกลับยืนยันว่า ไม่รู้เรื่อง จำไม่ได้ว่าเคยเซ็น เป็นผู้ออกแบบโครงการก่อสร้างตึก สตง. จนทำเอาหลายคนที่เห็นข่าว สงสัยไม่หายว่า แล้วมันมีลายเซ็นของเขา ปรากฏอยู่ในนั้นได้ยังไง
เสียงบนโซเชียลฯ รุมตั้งคำถามใหญ่โตว่า อายุตั้ง 86 เข้าไปแล้ว จะเป็นคนออกแบบจริงๆ ใช่ไหม? ตั้งขอสังเกตกันหนักว่า อายุขนาดนี้แล้ว น่าจะมีชื่อ ไว้เซ็นรองรับ หรืออนุมัติอย่างเดียว
และหลังการสอบสวน สุดท้ายหมายจับก็มาลงที่ผู้ต้องหา 3 กลุ่ม คือบริษัทผู้ออกแบบ, บริษัทรับเหมา, และบริษัทผู้ควบคุมงาน เป็นจำนวนทั้งหมด 17 คน
แน่นอนว่า เจ้าของลายเซ็นกำกับ ในฐานะผู้ออกแบบที่สังคมครหา ได้เข้าไปนอนคุกในวัย 86 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
** ขบวนการสีเทา “ล่าลายเซ็นวุฒิวิศวกร” **
ส่งให้ประเด็นเรื่อง “การปลอมลายเซ็น” เป็นที่จับตามอง รวมไปถึงในวงการก่อสร้าง ที่รู้กันว่ามีการซื้อขายลายเซ็นกันอยู่เงียบๆ โดยเฉพาะในขั้นตอนการออกแบบ กับการควบคุมงานของวิศวกร
เพราะการจะก่อสร้างได้ โดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ ที่ยุ่งยากซับซ้อนนั้น ต้องได้รับการเซ็นอนุมัติจากวิศวกรพิเศษหลายระดับ จากทั้งหมด 4 ระดับ แบ่งตาม “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ใบ กว.”
เริ่มตั้งแต่ 1.ภาคีวิศวกรพิเศษ ตำแหน่งที่สามารถทำงานได้เฉพาะอย่าง ตามที่กรรมการอนุญาต
2.ภาคีวิศวกร ตำแหน่งที่สามารถทำงานออกแบบและคำนวณ คุมงานก่อสร้าง ตามที่ พ.ร.บ. กำหนด
3.สามัญวิศวกร ตำแหน่งที่สามารถทำงานออกแบบและคำนวณ ควบคุมงานก่อสร้าง แต่ได้เฉพาะงานโครงสร้าง
และ 4.วุฒิวิศวกร ตำแหน่งสูงสุดของวิศวกร ที่สามารถทำงานได้ทุกอย่าง ทุกขนาด ทุกประเภท
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ศ.ดร.อมร พิมานมาศ” นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ช่วยอธิบายไว้ให้ว่า ในขั้นตอน “การออกแบบอาคาร” ของวิศวกร ถ้าไม่ใช่ตึกสูงพิเศษ หรือไม่ใช่อาคารที่ซับซ้อน “วิศวกรระดับสามัญ” ก็สามารถออกแบบและเซ็นรับรองได้แล้ว เลยทำให้ไม่มีปัญหา ในเรื่องต้องลำบากซื้อขายลายเซ็น
แต่ถ้าเป็นตึกสูงพิเศษ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ต้องมี “วุฒิวิศวกร” มาเป็นคนร่วมตรวจสอบ และเซ็นรับรองด้วย หลายอย่างก็จะมีความยุ่งยากมากขึ้น เพราะวิศวกรระดับวุฒิวิศวกรนั้น บ้านเรายังมีน้อย โดยเฉพาะคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ยิ่งมีน้อยลงไปอีก
ทำให้ค่าตัวในการดึงวุฒิวิศวกร มาออกแบบอาคาร รวมถึงการตรวจสอบแบบ มีราคาสูงจนบางคนไม่อยากเอื้อมถึง สุดท้ายจึงผลักให้คนหัวใสบางคน เริ่มปฏิบัติการ “ล่าลายเซ็น” จากวุฒิวิศวกร เพื่อมาประดับบนแบบโครงการ ลดต้นทุนในการว่าจ้างมาตรวจงานจริง
และกลุ่มคนที่ยอม “ขายลายเซ็น” ในวงการ แน่นอนว่ามี ด้วยตัวเลขที่ล่อใจ กับนิสัยไร้จรรยาบรรณ บวกกับความคิดที่ว่า ตึกคงไม่ได้ถล่มกันบ่อยๆ เลยทำให้วิศวกรสายดาร์กเหล่านี้ ยอมเสี่ยงขายลายเซ็น
“ซึ่งวุฒิมันหายากอยู่แล้ว ปริมาณมันน้อย ที่มีใบอนุญาตระดับวุฒิเนี่ย เป็นระดับขั้นสูงสุด แล้วยิ่งคนที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก็ยิ่งน้อย
เพราะงั้น ถ้าจะเอาคนที่รู้เรื่องจริงๆ ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ถ้าจะไปเอาวุฒิคนอื่นๆ ทั่วไป ที่ไม่ได้มีความรู้ ไม่ได้มีอะไร แล้วก็ไม่ได้อยากจะมาตรวจสอบ ก็คือแค่เซ็นๆ ไปตามกฎหมาย อันนี้ค่าใช้จ่ายก็ถูกลง
เขาก็กังวล แต่เขาก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของว่า ก็เสี่ยงเอา เสี่ยงดวง สามัญ(วิศวกร)คำนวณมาแล้ว สามัญ(วิศวกร)เซ็นแล้ว ก็กล้าเซ็น คือตึกมันไม่ได้ถล่มทุกวันนี่
อย่าง(เคส สตง.)นี้ เขาเรียกว่า โดนแจ็กพอต นี่ไง ก็คิดคุกไปแล้ว ทำให้มันเกิดความกลัวกันขึ้นมา มันจะมาเซ็นมั่วๆ ไม่ได้แล้ว”
{“ศ.ดร.อมร” นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ}
** ซื้อขายเกลื่อนวงการ “ลายเซ็นวิศวกรไทย” **
ถามว่าเป็นไปได้แค่ไหน กับการ “ถูกปลอมลายเซ็น” โดยที่เจ้าของลายเซ็น ไม่มีส่วนรู้เห็น ไม่ได้เป็นคนเซ็นให้เอง นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย มองว่า ถ้าสมัยก่อน คงปลอมกันได้ง่ายๆ ด้วยการเอาลายเซ็นเก่าๆ มาสแกนใช้ใหม่
แต่ด้วยกฎของทุกวันนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป คือทุกการก่อสร้างต้องขอใบอนุญาตใหม่ โดยตัววิศวกรที่ควบคุมงาน ต้องไปขอเอง จึงเป็นเรื่องจะปฏิเสธให้พ้นตัวยากว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นกับลายเซ็น
อีกประเด็นที่น่าตกใจคือ ทุกวันนี้มีบริษัทรับเหมาต่างชาติเข้ามาทำงานในไทย ทั้งวิศวกร, โฟร์แมน, ช่าง ฯลฯ ทุกตำแหน่งเน้นเป็นคนต่างชาติทั้งหมด แต่ลักลอบใช้ลายเซ็นของวิศวกรไทย ในการบังหน้าก่อสร้างอาคาร
ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะคนที่จะเซ็นใบอนุญาตในไทยได้ กฎหมายระบุเอาไว้ชัดเจนว่า สงวนไว้ให้เฉพาะคนไทยเท่านั้น
“เริ่มมีวิศวกรต่างชาติ ขอไม่บอกนะว่าสัญชาติไหน เป็นสัญชาตินึงที่ไม่ใช่สัญชาติไทย เข้ามาทำงาน ก็เอาคนของตัวเอง เข้ามาทำทั้งหมด ทั้งช่าง หัวหน้า คือใช้เฉพาะแรงงานไทย
แต่ว่าตัวช่าง ก็เอามาจากประเทศเขา วิศวกร ก็เอามาจากประเทศเขา บางที่ก็ไม่มีวิศวกร มีแค่ช่าง หรือถ้าจำเป็น ก็ไปจ้างวิศวกรไทย มาเซ็น แล้วแปะไว้”
ในกรณีถ้าถูกตรวจสอบ เรื่องแดงขึ้นมาว่า มีการซื้อขายลายเซ็น ถามว่าใครต้องเป็นคนรับผิดชอบตัวจริง กูรูรายเดิมวิเคราะห์ไว้
ให้ว่า ถ้าเป็นการปลอมลายเซ็น และพิสูจน์ได้ว่าปลอมจริง เจ้าของลายเซ็นจะไม่มีความผิด ดังนั้น การรับผิดชอบจะตกไปอยู่ที่ “บริษัทผู้รับเหมา” แทน
ส่วนถ้าเป็นการซื้อขายลายเซ็น ผลคือไม่รอดทั้งคู่ ทั้ง “ผู้รับเหมา” และ “วิศวกร” โทษฐานทำผิดต่อจรรยาบรรณวิชาชีพ
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **