xs
xsm
sm
md
lg

14,000+ ต้องมี!! ค่าครองชีพต่อเดือน “เด็กต่างจังหวัด” สอบติด “ม.ดัง กลางกรุง” ดราม่าเรียนดี แต่ไม่ถึงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม่เครียด ลูกสอบติด ม.ดัง แต่คุณสมบัติถูกปัดตก “หอใน” ต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่ม มาจ่าย “ค่าที่พัก” กลายเป็นไวรัล ให้วิพากษ์วิจารณ์หนัก ผลักให้ต้องสืบข้อมูล เปิดค่าครองชีพกลางกรุง สำหรับ “เด็กเรียนดี แต่ยังเอื้อมไม่ถึงทุน” ว่าต้องกลายเป็น “น้ำหนักบนบ่า” ให้ครอบครัวปากกัดตีนถีบ ต้องแบกเพิ่มขนาดไหน?

** เรียนดี แต่เงินไม่ถึง ทุนไม่ได้ **


ชีวิตไม่เคยง่าย คุณแม่โพสต์ระบายความในใจ ลูกสอบติด “มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศ” แต่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวรายนี้ กลับต้องเผชิญความเครียด เพราะนอกจากค่าเทอม ที่พอจะช่วยหนุนลูกได้ ตามที่วางแผนชีวิตเอาไว้จำนวนนึงแล้ว

กลับมี “ค่าหอ” ที่ต้องแบกเพิ่มจนหลังอาน หลังผลออกมาว่า ลูกของเธอไม่ผ่านเกณฑ์ ที่จะพัก “หอใน” หรือหอพักภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งให้สิทธิ์เฉพาะ นิสิตที่ไม่มีที่พักในกรุงเทพฯ และครอบครัวที่มีฐานะเข้าข่ายคำว่า“ปากกัดตีนถีบ” เป็นส่วนใหญ่

ผลักให้สุดท้าย คุณแม่รายนี้ต้องจ่ายค่า “หอนอก” หรือหอเอกชนนอกรั้วมหาวิทยาลัย ในราคา 5,000 อัป
จากโพสต์ของคุณแม่รายนี้เอง ที่โพสต์แบบปกปิดแอคเคาท์จริงเอาไว้ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “กลุ่มตามข่าว TCAS สอบเข้า
มหาวิทยาลัยต่างๆ”จนผลักให้เรื่องค่าครองชีพของนิสิต ม.ดัง ถูกหยิบขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง



โดยเจ้าตัวยืนยันว่า เครียดทั้งเรื่อง “ค่าเทอม, ค่าหอ, ค่ากิน” ของลูกที่ต้องแบกรับ จนต้องยอมกู้หนี้ เพื่อส่งลูกเรียน จากปกติที่ต้องใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือนอยู่แล้ว

ยังไม่นับเงินประกันค่าที่พัก กับค่ามัดจำล่วงหน้าอีก ไหนจะ “ค่าเดินทาง”ถ้าเป็นเคสที่ได้พักไกลมหาวิทยาลัยออกไปอีก
เพื่อตอบข้อสงสัยว่า สรุปแล้วถ้านิสิตสอบได้ ม.ดัง ระดับประเทศ แล้วต้องมาหาหอพักใจกลางเมือง ต้องสู้กับค่าครองชีพหนัก
แค่ไหน

ทางทีมข่าวจึงรวบรวมข้อมูล จนได้คำตอบออกมาว่า “ค่าที่พัก”ถือเป็น 1 ใน 3 ของรายจ่ายทั้งหมดของเด็กมหา’ลัย
โดยเฉพาะเคสที่เป็นเด็กต่างจังหวัด เข้ามาเรียนในเมืองกรุง ถ้าได้อยู่ “หอใน”ครอบครัวจะไม่ต้องจ่ายหนักมาก

คือมีตั้งแต่ราคาเริ่มต้น 1,800-3,500 บาท/คน/เดือน กับราคา 4,500-5,500 บาท/คน/ภาคเรียน แตกต่างกันไป แล้วแต่ข้อจำกัดของแต่ละหอพัก

ส่วน “ค่าเดินทาง” ตรงนี้ตัดทิ้งไปได้เลย เพราะสามารถเดินมาเรียนได้ ค่าใช้จ่ายที่งอกขึ้นมานอกเหนือจากนั้น จะมีแค่ “ค่ากิน” ซึ่งถ้าเน้นประหยัด ผูกท้องไว้กับโรงอาหารในมหาวิทยาลัย วันวันนึงก็จะต้องควักกระเป๋าอยู่ที่ มื้อละ 40-60 บาท หรือมีเงิน 200-300 บาท ก็สามารถเอาตัวรอดได้แล้ว


ส่วนถ้าเป็น “หอนอก” หรือต้องหาหอพักเอกชนเอง ถ้าอยู่ในรัศมีไม่เกิน 2-3 กม.รอบๆ มหาวิทยาลัยดัง จะมีตั้งแต่ “ห้องราคาชั้นประหยัด”ซึ่งเริ่มต้นอยู่ที่ราวๆ 3,000-3,800 บาท/เดือน พร้อมกับต้องจ่ายมัดจำ และเงินประกัน อย่างละ 1 เดือน รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 6,000-7,000 บาท
แต่ก็ต้องยอมรับว่า จะได้ “สภาพห้อง” และ“ความปลอดภัย” ตามราคาที่ยอมควักเงินจ่าย

ส่วนถ้าเป็น “ห้องระดับกลาง” ราคาก็จะขยับสูงขึ้นไปอีก คืออยู่ที่ราวๆ 5,000-6,800 บาท/เดือน บางที่ก็แยกราคา ตามสิ่งอำนวยความสะดวก คือแบ่งเป็นเรต “ห้องพัดลม” กับ “ห้องแอร์” เพิ่มเติมไปอีก ส่วนค่ามัดจำกับเงินประกัน ต้องจ่ายล่วงหน้า 2-3 เดือน รวมเป็นเงินทั้งหมดที่ต้องจ่าย 10,000-20,000 กว่าบาท



** "เดือนชนเดือน” ภาระหนักสำหรับ “ส่งเสีย” **


ส่วนถ้าอยากได้ “ห้องหรูอยู่สบาย” กว่านั้น หาห้องเช่าแบบคอนโดฯ หรืออพาร์ตเมนต์ ราคาก็จะยิ่งพุ่งสูงขึ้นไปอีก คือเริ่มตั้งแต่ 7,000 - 20,000 บาท/เดือน เลยทีเดียว ส่วนเงินประกัน กับค่ามัดจำล่วงหน้า ก็จะจ่ายคล้ายๆ กัน คือล่วงหน้า 2-3 เดือน รวมแล้วตกเป็นเงินทั้งหมด 15,000-40,000 บาท

แน่นอนว่า เป็นราคาที่คิดแค่ค่าห้องอย่างเดียว ยังไม่นับค่าน้ำ ที่มีทั้งแบบรวมไปในค่าห้องแล้ว ไม่ก็คิดแยกเป็นยูนิต ยูนิตละ 17-20 บาท ส่วนค่าไฟ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ยูนิตละ 7-9 บาท

แต่ก็ใช่ว่าห้องพักใจกลางเมืองจะหาได้ง่ายๆ นิสิตที่สอบติดและต้องอยู่หอนอก บางคนเลยต้องยอมถอยออกมา หาห้องแถวชานเมืองแทน แต่เลือกที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้า ซึ่งก็มีราคาหลายระดับให้เลือก

ถ้าเป็น “ห้องระดับกลาง” จะสตาร์ทอยู่ที่ 4,900-6,000 บาท/เดือน ค่ามัดจำกับค่าประกัน ล่วงหน้า 1- 2 เดือนเหมือนกัน รวมเป็นเงินที่ต้องจ่ายประมาณ 10,000-15,000 บาท 



ส่วนค่าน้ำ-ค่าไฟ ของที่พักละแวกนี้จะถูกกว่าหน่อย คือค่าน้ำ เริ่มต้นอยู่ที่ 5 บาท/ยูนิต หรือไม่ก็จ่ายรวมกับค่าห้อง ส่วนค่าไฟก็อยู่ที่ราวๆ 7 บาท/ยูนิต

แต่ที่พักชานเมืองแบบนี้ จะมาหนักที่ “ค่าเดินทาง” มากกว่า คือถ้าอยู่ใกล้หน่อย ไป-กลับมหา’ลัย จะตกเที่ยวละ 16-20 บาท แต่ถ้าไกลหน่อย ต่อรถหลายสถานี ค่าเดินทางอาจจะพุ่งสูง ถึงเที่ยวละ 45-50 บาทเลยทีเดียว

หนทางที่จะประหยัดได้คือ ต้องเลือกนั่งรถเมล์ ซึ่งจะเสียค่าเดินทางต่อเที่ยว ไม่กี่ 10 บาท แต่ก็ต้องทนเสียเวลา ไปกับสภาพจราจรติดขัดของกรุงเทพฯ

สรุปแล้ว ค่าครองชีพ และค่าใช้จ่าย ที่เหล่าเด็กต่างจังหวัด ที่อุตส่าห์สอบติดมหาวิทยาลัยดัง จนได้มาเรียนในเมืองหลวง ถ้าไม่ได้อยู่หอใน ก็ต้องจ่าย “ค่าที่พัก” อย่างต่ำ ตกแล้วเดือนละ 5,000-6,000 บาท รวม “ค่าน้ำ-ค่าไฟ”

ส่วน “ค่ากิน” ถ้าเลือกอิ่มแบบเซฟๆ หน่อย ตามสไตล์เด็กหอ 150-200 บาท/วัน ก็น่าจะพอไหว นอกนั้น “ค่าเดินทาง” ถ้าไม่ได้อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย หรือมีรถส่วนตัว ก็ต้องเดินทางด้วยรถเมล์, รถตู้, รถไฟฟ้า หรือวินมอเตอร์ไซค์
ซึ่งคงต้องบวกเพิ่มไปอีก อย่างน้อย 50-100 บาท/วัน



ลองคิดคร่าวๆ ถ้า “ค่ากิน” บวก“ค่าเดินทาง” อยู่ที่ 300 บาท/วัน ก็จะตกอยู่ที่ 9,000 บาท/เดือน รวมกับ “ค่าห้อง” ที่ต้องจ่ายขั้นต่ำ 5,000 บาท/เดือน เท่ากับว่าเด็กคนนึงที่เข้ามาเรียนต่อ มหาวิทยาลัยกลางกรุง ครอบครัวต้องควักกระเป๋าจ่ายถึง 12,000 บาท/เดือน ซึ่งเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำ ในแบบที่ยังไม่รวม “ค่าเทอม”

ถือเป็นรายจ่ายที่หนักเหมือนกัน สำหรับครอบครัวที่ยากจน หรือมีเงินแค่พอหมุนได้แบบ “เดือนชนเดือน” เท่านั้นเอง



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น