ไม่น่าเชื่อว่า แค่อาหารกินเล่นที่ดูง่ายๆ อย่าง "กล้วยทอด" จะสร้างรายได้ถึง "หลักแสน/วัน" แต่เกิดขึ้นจริงกับธุรกิจโกอินเตอร์อย่าง "Banana Corner" ที่หอบวัตถุดิบและรสชาติแบบไทยสไตล์ ไปสร้างไวรัลปากต่อปากได้ไกลถึงอเมริกา จนคว้า "แชมป์กล้วยทอด" ฮอตฮิตสุดๆ ในลอสแอนเจลิส
** ทอดกล้วย รายได้ไม่ใช่กล้วยๆ **
กลายเป็นไวรัลดังข้ามซีกโลก เมื่อแฟนเพจ “L'LA แอ่วแอลเอ” ที่แบ่งปันเรื่องราวชีวิตคนไทยในต่างแดน ได้ไปพูดคุยกับร้านกล้วยทอด “Banana Corner” ตั้งอยู่ในตลาดวัดไทยลอสแอนเจลิส
และจุดที่ทำให้ต้องอึ้งก็คือ รายได้ของร้านกล้วยทอดร้านนี้ อยู่ที่วันละ 3,500-4,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 114,000-130,000 บาทกันเลยทีเดียว!!
พอรู้แบบนี้ ทีมข่าว MGR Live ก็เลยชวน “บาส - กิตติศักดิ์ เก่งชัย” และ “บี - ศศิธร ไชยอ้าย” คู่รักชาวไทย เจ้าของร้าน “Banana Corner” ร้านกล้วยทอดแบบไทยที่ฮอตฮิตสุดๆ ใน LA มาพุดคุยกัน
บาสเล่าว่า รายได้ที่เข้ามาต่อวันได้ถึงหลักแสนบาทไทยก็จริง แต่นั้นยังไม่ใช่ยอดสุทธิ เพราะยังต้องหักต้นทุนค่าวัตถุดิบ ค่าพนักงาน และให้ทางวัดอีก 20 เปอร์เซ็นต์ หักแล้วก็จะเป็นกำไรอยู่ราวๆ 50-60 เปอร์เซ็นต์นั่นเอง
“ก่อนหน้านี้มีคนมาถ่ายแล้วถามว่าเราได้ประมาณเท่าไหร่ แล้วเขาก็ส่งคลิปมาให้ดูว่าคลิปของเขามีคนดูเป็นล้านวิว พูดถึงขายกล้วยทอดขายได้วันละเป็นแสน ถ้าอยู่ที่อเมริกาแสนนึงก็ 3,000 ดอลลาร์ ร้านผมขายได้ยอดประมาณนั้นจริงๆ ครับ
แต่ว่ามันก็จะมีบางวีคที่ไม่ได้ขนาดนั้น เฉลี่ยแล้วก็ 75,000-100,000 จะอยู่ที่ประมาณนี้ต่อวัน ถ้าวันไหนที่เป็นช่วงเทศกาลก็จะได้อยู่ประมาณ 3,000-3,500 เหรียญ เป็นเงินไทยก็แสนกว่าบาทครับ ไม่ใช่แค่ร้านกล้วยทอด หลายๆ ร้านในตลาดก็ได้ยอดประมาณนี้ บางร้านก็ได้ยอดมากกว่านี้อีก พวกเรามองว่ามันเป็นเรื่องปกติ ถ้าคิดเป็นดอลลาร์นะครับ
ถ้าพูดในเรื่องของหวาน ข้าวเหนียวมะม่วง เขาขายได้วันละ 4,000-5,000 เหรียญ มากกว่ากล้วยทอดอีกนะครับ ก็ประมาณแสนกว่าบาท ข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอะไรที่คนต่างชาติรู้จักอยู่แล้วครับ
ตอนแรกผมไม่ได้คาดหวัง ยังคุยกับแฟนอยู่เลยว่าขอให้ได้วันละ 2,000 เหรียญได้มั้ย ยังมองว่ามันเยอะไปสำหรับเรา ณ ตอนนั้น วันแรกที่ขายก็เกินเป้าทะลุ 2,000 เหรียญ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ amazing เราไม่คิดว่ากล้วยทอดจะขายดีขนาดนี้
สำหรับเมนูของที่ร้านก็ไม่ได้มีแต่กล้วยทอด แต่ยังมีขนมไข่นกกระทา เผือกทอด และมันทอด แน่นอนว่าไฮไลต์คือ กล้วยทอด ที่ทำมาจากกล้วยน้ำว้า นำไปทอดจนได้สีเหลืองทอง แป้งกรอบนาน รสชาติหวานมันลงตัว สนนราคาอยู่ที่ชุดละ 6 เหรียญ จะได้ 10 ชิ้น ส่วนใครที่อยากกินแบบคละหลายอย่างรวมกัน จะมีราคาอยู่ที่ 7 เหรียญ
“แค่ 4 เมนูก็ขายดีมากๆ แล้วครับ ร้านเราใช้กล้วยน้ำว้าแท้ครับ จะมีความกรอบนอกนุ่มใน แต่ว่าในอนาคตผมก็อาจจะเพิ่มเมนูเรื่อยๆ ผมอยากทำกล้วยฉาบ แล้วก็กล้วยเขย่าที่ปรุงรสผงแซ่บอะไรอย่างนี้ ก็มีแอบคิดไว้
ลูกค้าคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นคนค่อนข้างที่อายุเยอะหน่อย พวกลุงๆ ป้าๆ เขาบอกขอมัน 2 ชิ้น ขอกล้วย 2 ชิ้น ไข่นกกระทา 2 ชิ้นได้มั้ย ป้าไม่อยากกินเยอะ ผมก็รวมๆ ให้ครับ คิดเพิ่มแค่เหรียญเดียวเป็น 7 เหรียญ ก็จะได้กล่องที่ใหญ่ขึ้นนิดนึง
พี่น้องเม็กซิกันที่เขาอยู่ที่นี่เยอะมากๆ จะรู้จักกล้วยทอด แต่เขาจะทอดแบบไม่มีแป้ง แต่พอเขาได้ลองมาทานของเราที่มีแป้งกรอบๆ เขากลับมาซ้ำทุกคนเลย แล้วก็จะมีคนฟิลิปปินส์ คนเวียดนาม คนลาว คนม้ง คนไทยเข้ามาซื้อ (ลูกค้า) ส่วนใหญ่ผมว่าน่าจะเป็นเอเชีย 50% แล้วก็อีก 50% จะเป็นเม็กซิกันกับอเมริกัน
เขางงว่าเอากล้วยไปทอดได้ด้วยเหรอ ซึ่งกล้วยก็คือเป็นผลไม้ การที่จะกินกล้วยทอดมันคงเป็นเรื่องที่ amazing หรือว่าเป็นเรื่องที่แปลกสำหรับเขา เพราะเขาทานแล้วก็ติดใจแล้วก็กลับมาซื้ออีก” พ่อค้ากล้วยทอดเล่าด้วยรอยยิ้ม
** คว้า “แชมป์กล้วยทอด” แห่งตลาดวัดไทยแอลเอ **
ย้อนกลับไปก่อนที่ร้านกล้วยทอดจะเกิดขึ้น “บาส” หนุ่มอีสานจากอุดรธานี และ “บี” สาวเหนือจากลำปาง ชายหญิงชาวไทยผู้มาพบรักที่โรงเรียนสอนภาษาในอเมริกา จากแพลนเดิมที่ตั้งใจว่ามาเรียนไม่นาน แล้วจะกลับไปทำงานที่ไทย
พอได้มาเจอสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นไม่ต่างจากบ้านเกิด ทั้งคู่เลยตัดสินใจปักหลักใช้ชีวิตที่นั่นเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ส่วนครอบครัวของหญิงสาวก็พากันย้ายมาที่อเมริกากันหมดแล้วเช่นกัน
“ด้วยความที่ LA มันเรียกว่าเป็นจังหวัดที่ 78 ของบ้านเรานะ ผมว่า LA เป็นชุมชนไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ครับ มีวัดไทย มีตลาดไทย เอาจริงๆ นะครับ แทบจะไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเลย รอบข้างเราเป็นคนไทยหมดเลย ซึ่งเรารู้สึกมันอบอุ่น มันก็เลยอยู่ยาวด้วย” บาสว่าอย่างนั้น
[ “เสาร์ห้า” ร้านอาหารไทยธุรกิจครอบครัว ]
หลังจากตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอีกซีกโลก ด้วยความที่ฝ่ายหญิงมีฝีมือด้านการทำอาหาร ครูพักลักจำมาจากคุณยายและครอบครัวที่เคยทำกับข้าวขาย วิชาที่ติดตัวมาเลยถูกเอามาต่อยอดเป็นอาชีพได้
บาสเล่าว่า “ผมทำร้านอาหาร 7 ปีครับ ขณะที่ทำร้านอาหาร ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิดครับ คนไทยก็จะทำอาหารกันที่บ้านแล้วก็โพสต์ออนไลน์ เขาทำอาหารที่บ้าน เราทำไข่นกกระทาทอด ผมก็ขับรถไปส่ง
แล้วมันจะมีชุมชนไทยที่เขามาเปิดตลาดทุกวันเสาร์ ทุกอย่างเขาไม่เกินขาย 5 เหรียญ ตอนนั้น 5 เหรียญถูกมากๆ เลยนะครับ ไก่ย่าง ก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ กล้วยทอด น้ำเต้าหู้ เราเองก็ดูครับว่าตลาดเสาร์ห้าขาดอะไร ตอนนั้นขาดน้ำเต้าหู้เนอะ ทางครอบครัวก็คือทำน้ำเต้าหู้ไปลองก่อน วันแรกขายหมดตื่นเต้นมากเลย”
ส่วนฝ่ายหญิงก็เสริมว่า “จริงๆ การเริ่มการขายของของเราที่นี่ ก็เริ่มจากน้ำเต้าหู้หม้อเดียวนี่แหละค่ะ พอดีว่าช่วงนั้นมันเป็นช่วงโควิดด้วยค่ะ ก็เลยทำอะไรก็ได้ที่มันหารายได้ให้เรา ทำน้ำเต้าหู้ไปขาย ขายหมดหม้อดีใจมาก
แล้วทีนี้เขาก็เลยถามว่าน้ำเต้าหู้ ไม่มีปาท่องโก๋เหรอ เราก็ทำปาท่องโก๋อีก แล้วพอมีปาท่องโก๋ มีโจ๊กมั้ย เหมือนเราทำตามลูกค้ารีเควสท์ มันก็เริ่มจากทีละนิดทีละหน่อยมาเรื่อยๆ ค่ะ”
เส้นทางการเป็นพ่อค้าแม่ค้าในต่างแดนเริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อบาส บี และครอบครัว มีโอกาสได้เปิด “ร้านเสาร์ห้า” ร้านอาหารที่ตลาดวัดไทยลอสแองเจลิส ที่ขายดิบขายดีจนขยายสาขากันเลยทีเดียว
“หลังจากนั้นไม่นานเศรษฐกิจเริ่มกลับมาอีกรอบนึง พอดีทางวัดไทยลอสแองเจลิส เปิดรับสมัครพ่อค้าแม่ค้าเข้าไปขายที่ตลาดวัดไทยฯ เราก็คุยกัน ทุกคนมีงานประจำกันหมด ผมกับแฟนทำเสิร์ฟตอนนั้น คุณแม่ก็ทำงานนวด พี่ก็ทำงานวิศวะ
เราก็มองกันว่ามันเป็นโอกาสที่เราจะได้ขายของในตลาดวัดไทยฯ ลองดูมั้ย ไม่เสียหาย ก็เลยลองเปิดร้านเล็กๆ เป็นร้านโจ๊ก ปาท่องโก๋ กระเพาะปลา ต้มเลือดหมู และที่สำคัญคือข้าวซอยร้านเราขายดีมากครับ
ถ้าถามคน LA รู้จักร้านเสาร์ห้ามั้ย ส่วนใหญ่ผมเชื่อว่ารู้จัก ร้านเรามีทั้งหมด 3 สาขา วัดไทยลอสแอนเจลิส Chinatown แล้วก็ตลาด atSiam เอาง่ายๆ คือไปตลาดไหนก็เจอพวกเรา”
[ ชนะใจกรรมการ ขึ้นแท่น “แชมป์กล้วยทอดวัดไทยแอลเอ” ]
และอีกโอกาสที่ทั้งบาสและบีเลือกคว้าไว้ในตอนนั้น คือการลงแข่งขันกล้วยทอด เพื่อที่จะได้เข้ามาเปิดร้านในตลาดวัดไทยลอสแองเจลิส ผลปรากฏว่า กล้วยทอดของทั้งคู่ได้ที่ 1 จากการแข่งขันทั้งหมด 6 ทีม
“ทีนี้มันเป็นจังหวะที่ว่าคนเก่าเขาออก ทางวัดไทยก็ต้องรับสมัครพ่อค้าแม่ค้าใหม่ที่จะทำกล้วยทอด เขาก็ประกาศว่าใครจะมาสมัคร แล้วเราก็นำสูตรของคุณยายบีเอามาลงประกวด ซึ่งเราเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าเราจะได้แชมป์หรืออะไร
ตอนนั้นเรายังขายตลาดกลางคืนกัน มันกลายเป็นว่าเราต้องเลือก ที่วัดไทยฐานลูกค้ามันเยอะกว่า ปริมาณคนที่เข้ามาในตลาดเยอะมากๆ เราก็เลยตัดสินใจลองมาประกวดก่อนว่าได้มั้ย ถ้าได้เราก็ทำเลย
กรรมการก็มีทั้งกรรมการของวัด แล้วก็เจ้าของร้านไทยดังๆ เขาก็ให้เกียรติมาเป็นกรรมการ โดยที่เขาก็ไม่รู้ว่าใครจะเข้ามาแข่งขันบ้าง เขาก็จะให้ทุกคนที่เข้ามาประกวดทำอาหารใส่จาน เขียนแค่ว่าลำดับที่ 1-2-3-4 กรรมการจะไม่รู้ว่าจานนี้เป็นของใคร แล้วเขาก็จะลงคะแนนกัน มี 6 ทีมที่เข้าประกวดกันครั้งนั้น ปรากฏว่าเราก็ได้ที่ 1 มาครับ
เขาเอา 2 ร้าน ที่ 1 กับที่ 2 สลับกันขายทุกๆ 2 วีค ทางกรรมการวัดไทยเขามองว่าการที่มีร้านเดียว เวลาร้านนึงออกกะทันหันหรือว่าไม่สามารถมาขายได้ อีกร้านนึงก็มาสลับกัน เพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
คนเก่าเหมือนเขาก็มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว แต่เราไม่คิดว่ากล้วยทอดจะขายดีขนาดนี้ ถ้าพูดถึงเรื่องข้าวเหนียวมะม่วง เรายอมรับเลยว่าทั่วโลกรู้จัก ก็มีโอกาสที่จะขายได้ดีมากกว่า แต่ครั้งนี้มันอาจจะเป็นโชคชะตาหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ”
** ยอมต้นทุนแพง เพื่อรสชาติไทยแท้ **
หลังจากที่ตัดสินใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ว่าจะมาลุยกับร้าน Banana Corner อย่างจริงจัง โจทย์ยากที่เจอคือการหาวัตถุดิบไทย แม้ที่นั่นจะมีการนำเข้าสินค้าจากไทยมากมาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหา “กล้วยน้ำว้า” มาทำขาย เพื่อให้ได้รสชาติกล้วยทอดไทยแท้จริงๆ
“ลูกค้าก็จะได้กินกล้วยน้ำว้าแท้ๆ เราไม่ใช้กล้วยต่างประเทศ บางร้านเขาก็จะใช้กล้วยเม็กซิกัน ก็จะหาง่ายมาก แต่ผมขับรถวนทุกอาทิตย์ จะต้องหากล้วยไทยให้ได้ เพราะว่าผมอยากให้เขาได้ทานกล้วยไทยของเราจริงๆ
อันนี้ผมเห็นข้างๆ กล่องกล้วย บางทีก็เขียนว่ามาจากเม็กซิโก เพราะว่าประเทศเม็กซิโกอากาศจะคล้ายๆ เมืองไทย มันเหมาะกับการปลูกกล้วย ปลูกเงาะ เขาก็จะเอากล้วยไทยไปปลูกตรงนั้น แล้วก็ส่งมาขายที่อเมริกาด้วยส่วนนึง
เราไม่ได้มีการติดต่อสวนจากไทยครับ แต่ว่าเราไปติดต่อกับ warehouse ที่นี่ เป็นร้านขายให้กับร้านอาหารไทย เราไปซื้อแป้งมาเป็นลัง ซื้อกล้วยก็ซื้อมาเป็นลังไว้ ก็อยากจะออเดอร์จากไทยอยู่นะ ถ้าเกิดว่า cost มันถูกกว่า ผมก็คิดอยู่ ส่งลงเรือมา 2-3 เดือนมาถึงก็ยังโอเค ในเรื่องของแป้งนะครับ ส่วนกล้วยมันอาจจะนานไปถ้าสั่งมาจากไทย
วัตถุดิบหลักๆ ผมใช้ของไทยหมดเลยนะครับ พยายามใช้ของไทยให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้จะทำได้ กะทิก็ของไทย เราอยากคงให้มันมีความรสชาติเป็นของไทยแท้ กล้วยก็เหมือนกัน บางคนก็ชอบกล้วยต่างชาติ แต่ผมมองว่ายังไงมันต้องเป็นกล้วยน้ำว้า ถึงจะหายากแค่ไหนผมก็ต้องใช้กล้วยน้ำว้า อันนี้อาจจะเป็นความชอบเราด้วย
ผมมีแรงบันดาลใจ เอาง่ายๆ เรายังไม่เคยเห็นร้านกล้วยทอดที่ประสบความสำเร็จในอเมริกา เขาอาจจะประสบความสำเร็จก็ได้ส่วนนึงของเขา แต่ผมอยากให้กล้วยทอดเป็นที่รู้จักของคนต่างชาติมากขึ้น ผมก็เลยพยายามทำแบรนด์ให้มันดูมีมูลค่ามากขึ้น มีโลโก้ มีถุงผ้า มีเสื้อ มีผ้ากันเปื้อนมีหมวก ทุกอย่างให้เขาจำเราได้ว่ากล้วยทอดมันน่าลอง”
สำหรับกล้วยทอดรสชาติมัดใจคนชิม ก็เป็นสูตรที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น มาจากคุณยายของบี
“เมื่อก่อนตอนเป็นเด็ก ที่บ้านขายของ ยายขายขนมลอดช่อง ขายขนมตะโก้อะไรอย่างนี้อยู่แล้ว ก็ทำกล้วยทอดขายด้วย จำสูตรคุณยายมาแล้วก็เป็นอาชีพติดตัว แล้วพอดีมีข่าวว่ารับสมัครแข่งกล้วยทอด เราก็เลยลองสมัครเพราะว่าบีจำสูตรได้
แต่ว่าด้วยความที่วัตถุดิบมันเป็นของไทย มันก็เป็นงานยากตรงที่ว่าเราจะหาวัตถุดิบจากที่ไหน เพราะว่าแป้งยี่ห้อที่ไทยถูก แต่พอเรานำเข้ามา มันจะบวกค่าภาษีนู่นนี่นั่นใช่มั้ยคะ เราก็เลยลองหาแป้งที่อเมริกาดูซิ ว่ามันมีแป้งไหนมั้ยที่ใกล้เคียงกัน เราก็เลยลองผิดลองถูกเลย จนมันเหมือนสูตรของคุณยายมากที่สุด
พอลองแป้งที่นี่ไปแล้วมันใกล้เคียงก็จริง แต่ว่ามันก็คือยังไม่ใช่ ยังไงก็ต้องยอมที่จะต้นทุนสูงกว่า เพื่อจะเอาแป้งของไทยมา ให้มันเป็นความเป็นไทยมากที่สุดค่ะ อย่างเสื้อยืดตัวนี้ก็มาจากไทยนะคะ แล้วก็จะมีเป็นถุงผ้ากล้วย จริงๆ แล้วเอามาแจกลูกค้า อยากที่จะเป็นการ promote ไปด้วย มีผ้ากันเปื้อน มีหมวก ทุกอย่างก็คืออิมพอร์ตมาจากไทยหมดเลย”
ร้าน Banana Corner ในตลาดวัดไทยลอสแอนเจลิส จะเปิดขายตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ ช่วง 2 อาทิตย์หลังของเดือน ร้านมีทีมงานราว 5 คน ซึ่งคุณยายของบี ผู้เป็นเจ้าของสูตรกล้วยทอด ที่ถึงแม้ปีนี้จะอายุ 82 ย่าง 83 ปีแล้ว ก็ยังกระฉับกระเฉงและยังมาช่วยปั้นขนมไข่นกกระทาอีกแรง
นอกจากความอร่อยแบบฉบับกล้วยทอดไทยๆ แล้ว อีกความพิเศษของร้านนี้ คือมีเครื่องสะบัดน้ำมัน ไว้เป็นทางเลือกให้ลูกค้าที่รักสุขภาพอีกด้วย
บีบอกว่า “พอสะบัดแล้วมันจะมีความแห้งนิดนึงเพราะว่ามันไม่มีน้ำมันเลย แล้วน้ำของกล้วยมันถูกสะบัดออกไปด้วยค่ะ คนส่วนใหญ่ก็คือบอกว่ากลับไปกินมีน้ำมันดีกว่า จริงๆ แล้วร้านเราน้ำมันก็ไม่เยอะนะคะ ทอดปกติแต่ว่าก่อนที่เราจะตักกล้วยขึ้น เรามีเคล็ดลับไล่น้ำมันออกไป เพราะฉะนั้น กล้วยของเราจะมีน้ำมันน้อยกว่ากล้วยทอดทั่วไป”
ส่วนฝ่ายชายก็อธิบายเพิ่มว่า “เรามี option ให้กับลูกค้าที่ healthy เขาอยากกินน้ำมันน้อย เราก็สะบัดน้ำมันให้ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ชอบน้ำมัน (หัวเราะ) เขาบอกว่าชอบฉ่ำๆ ฟีดแบกบอกว่ามันไม่ค่อยอมน้ำมันมาก
ต้องบอกว่ามันต้องมีน้ำมันอยู่แล้วในกล้วย แต่แค่ว่าเรามีวิธีการทอดให้มันอมน้อยที่สุด เราจะใส่ใจเรื่องอุณหภูมิมากเวลาทอดผมมีเครื่องวัดให้กับพนักงานทุกคน จะต้องยิงเครื่องวัดอุณหภูมิ ไล่น้ำมันออกตอนที่เราตัก แล้วก็ใช้พัดลมเป่าให้มันเซ็ตตัวดีที่สุด ส่วนใหญ่ก็เน้นความกรอบ น้ำมันน้อย รสชาติหวานมันครับ
ถ้าให้หาร้านกล้วยทอด ขนาดในร้านไทยก็หายาก ถ้าถามผมนะ ไม่ใช่ทุกร้านจะมีกล้วยทอดนะครับ ในร้านอาหารไทยส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าวเหนียวมะม่วง แต่ก็จะมีบางร้านที่เขาทำกล้วยทอดขายเป็นเมนูของหวาน”
** กรอบนอกนุ่มใน ถูกใจต่างชาติ **
หลังจากที่เอากินเล่นสไตล์ไทย ไปเสิร์ฟถึงปากลูกค้าในอีกซีกโลก ทั้งคนไทยในต่างแดนและคนต่างชาติที่ได้ลิ้มลอง ต่างก็แฮปปี้ไปกับความอร่อยของกล้วยทอด จนฝากตัวเป็นลูกค้าประจำกันเพียบ
“มีลูกค้าคนนึงที่เป็นคุณป้า เขาอยู่ที่ไทยแล้วมาเที่ยว เขาบอกว่ากินแล้วอร่อยกว่าที่ไทยเยอะมาก เขาชอบทานกล้วยทอดอยู่แล้ว เจ้าประจำเขาก็เคยอยู่ที่ไทย เขาบอกว่าชอบมาก เดี๋ยวป้าจะกลับแล้วอาทิตย์หน้า ป้าจะทำยังไง หนูมีสาขาที่ไทยมั้ย บางทีมันใจฟู มันรู้สึกดีค่ะ เราดีใจที่เราเป็นส่วนหนึ่งที่เติมเต็มให้เขา ความคิดถึงบ้าน คิดถึงกล้วยทอดที่ไทย อะไรอย่างนี้ค่ะ
ก็จะมี San Francisco ก็คือขับรถห่างจากบี 8 ชั่วโมง เขาก็บอกว่าเห็นคลิปแล้วก็อยากกินมาก พอดีเขามาทำธุระหรือว่ามาหาครอบครัว เขาก็มาซื้อกิน แล้วบอก ‘โอ้โหมันสมคำร่ำลือมาก ขอบคุณมากนะที่ทำขาย’ เราก็ปลื้มใจ ดีใจนะที่คนชอบ เราก็อยากที่จะพัฒนาสูตรแล้วก็ทำให้มันดีขึ้นกว่านี้ค่ะ
แล้วก็มีลูกค้าคนนึง เป็นอเมริกัน-แอฟริกัน ขาเขาไม่ดี เขาต้องนั่งวีลแชร์ ขับจากทะเลมาประมาณ 40 นาที ลูกค้าคนนี้เขาบอกว่า คนอเมริกันต่อไปนี้จะไม่กิน French fries แล้วนะ เดี๋ยวจะมากินกล้วยทอดแทน” บีเล่าให้เราฟังพร้อมรอยยิ้ม
ส่วนบาสก็เสริมในเรื่องนี้ว่า “คนไทยทานแล้วอันแรกที่เขาพูดคือมันกรอบนอกนุ่มใน เขาบอกว่าหากินแบบนี้ยากมาก แล้วก็มีพี่คนนึงที่เขาพึ่งมาอยู่อเมริกา เขาก็มาเที่ยวงานสงกรานต์แล้วมาเจอเรา เขาก็ประทับใจมาก เขาเอากล่องที่เขาทานโพสต์แล้วก็แท็กมา บอกว่าขอบคุณมากนะที่นำรสชาติกล้วยทอดแบบนี้มาให้เขาได้ทานที่อเมริกา
มีพี่คนนึงเขาซื้อขึ้นเครื่องบินกลับไปให้แม่ที่ไทยทานด้วย เขางงว่ากล้วยทอดที่อเมริกามันอร่อยกว่าเมืองไทยได้ยังไง ผมอยากรู้ว่ากรอบชาตินี้ยันชาติหน้ามันถึงเมืองไทยได้มั้ย ก็รอเขากลับมาอยู่ ไม่รู้เป็นยังไงบ้าง (หัวเราะ)
ของเรามันจังหวะดีมากครับ ล่าสุดมันมีงานสงกรานต์ festival ที่ Thai Town มันเป็นงานสงกรานต์ที่ใหญ่มากๆ คนหลายๆ รัฐที่เขามาเที่ยวงานนี้ เขาได้มามาชิมกล้วยทอดของเรา เขาก็เลยติดใจ ก็ทำให้เขาอยากกลับมาอีก
ร้านพวกเราจะมีลูกค้าประจำเยอะมากครับ ลูกค้าต่างชาติ เขาติดใจ เขาไม่เคยกินกล้วยทอด หลังจากที่จบงานสงกรานต์ เขาขับรถมาจาก Santa Monica Beach มาชั่วโมงนึง เพื่อที่จะมาซื้อเราเกือบทุกวีคครับ เราขายได้แค่ 2 วีค พอลูกค้าเรียกร้องมากขึ้น ตอนนี้ทางเราก็มองหาร้านเล็กๆ ที่จะสามารถเปิดได้ทุกวัน
พอเรามาขายต่างประเทศ กลายเป็นว่ารู้สึกมีความสุขที่เขาบอกว่าขอบคุณนะที่ทำกล้วยทอดให้พวกเราได้กิน อยู่ต่างประเทศมันหายาก เข้าใจเขาว่าอยากกินรสชาติแบบนี้ อาหารไทยมัน amazing ครับ มันเป็นไปได้หมดถ้าเราจะทำจริงๆ”
หนุ่มไทยเจ้าของร้านกล้วยทอดในต่างแดนยังบอกอีกว่า สิ่งที่ทำให้ร้านกลายเป็นที่รู้จักได้เร็วขนาดนี้ ส่วนสำคัญมาจากการบอกต่อความอร่อยแบบปากต่อปาก และการได้ไปออกร้านตามอีเวนท์อาหารในที่ต่างๆ อีกด้วย
“ถ้าส่วนตัว ผมว่าร้านผมประสบความสำเร็จ เพราะว่ามันปากต่อปากครับ ต้องพูดจริงๆ ว่า community ไทยมันใหญ่มากที่นี่ ผมก็จะไปโพสต์ในชมรมคนไทยในแอลเอว่า สวัสดีครับ ผมมาจากร้าน Banana Corner เราเปิดใหม่ที่วัดไทย เราอยากให้ทุกคนมาลองชิม คนก็มาชิมพอชิมแล้วก็พูดปากต่อปากครับ แล้วก็มี YouTuber เขาก็มารีวิว
เราไม่ได้ไปแค่ตลาดวัดไทยฯ Thai community เขาจัดอีเวนท์ขึ้นมา เราพยายามที่จะเข้าร่วมตลอด เพื่อที่จะให้ทุกคนได้รู้จักกับร้านเรา ผมไป Thai Fest by The Beach ที่ Santa Monica ไปเมืองข้างๆ San Diego ผมก็ไปขายเหมือนกันครับ”
ส่วน บี เจ้าของร้านอีกคนก็เพิ่มเติมว่า “ไม่ใช่แค่ของคนไทยนะคะ มันจะมีอีเวนท์ของฝรั่งที่เป็นตลาดใหญ่มากๆ มี 150-200 ร้านค้าในอีเวนท์ เป็นการโปรโมทด้วยค่ะ เราก็อยากที่จะเอากล้วยทอดของเราไปนำเสนอให้ฝรั่งได้กินด้วยค่ะ เขาก็จะได้รู้จักกล้วยทอด ฟีดแบกตอบรับกลับมาดีมากนะคะ บางคนที่นี่บอกไม่เคยกินกล้วยทอด เขาชอบเฉยเลย”
[ ตลาดเช้า เหมือนยกเมืองไทยไปแอลเอ ]
สำหรับวันอื่นๆ ที่ไม่ได้มาขายที่วัดไทยลอสแองเจลิส ทั้งคู่ก็จะพากันไปตั้งร้านกันที่ย่าน Thai Town ที่มีบรรยากาศราวกับยกเมืองไทยไปไว้ที่นั่น
บีบอกว่า “ขายกล้วยทอดจะมีอยู่ 3 ที่ จะมีวัดไทย แล้วก็จะมีวันจันทร์-อังคารที่ Thai Town อีกที่นึง Thai Town เหมือนกันแต่ว่าวันเสาร์ตอนเช้า มีตลาดตรงข้างฟุตบาท ก็จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของกัน มันเริ่มจากโควิดเลย ก็ยิงยาวมาถึงตอนนี้เลยค่ะ ตลาดนี้ก็ยังอยู่ ความพิเศษก็คือจะมีพระมาให้เราใส่บาตรด้วยในตอนเช้า พระไทยที่มาจากวัดไทยต่างๆ”
และบาสก็เล่าต่อว่า “ตลาดนี้น่าจะเป็นตลาดใจกลาง Thai Town อย่างร้านหมูปิ้งเขามาตั้งตั้งแต่ 05.30 น. ร้านจะมีประมาณ 25 ร้านครับ แล้วตอนเช้าอย่างที่บีบอกว่าจะมีพระ คือคนก็มาซื้อกับข้าวแล้วก็ใส่บาตรด้วยทุกวันเสาร์
เชื่อมั้ยครับว่าขายดีมากๆ ผมขายประมาณ 07.00-10.00 น. ก็เลิกแล้วครับ ยอดก็คือดีมากๆ เพราะว่าคนคือเยอะมากๆ คนมาซื้อกับข้าวไปทำงาน ซื้อตุน แล้วก็ซื้อใส่บาตร
ผมก็เอาน้ำเต้าหู้ไป เอาปาท่องโก๋ไป เอากล้วยทอดไปขาย ควันหมูปิ้ง ควันกับข้าวทำอาหาร เหมือนตอนเช้าที่ไทยเราเลย ก็ยืนคุยกันพ่อค้าแม่ค้า สนุก ผมชอบมากเลย พระบิณฑบาตก็เดินผ่านหน้าบูธที่ผมขาย ก็ใส่บาตร ท่านก็ให้พร เหมือนเมืองไทยเป๊ะเลยครับ อบอุ่นมากๆ ครับที่นี่ ผมว่าไม่มีที่ไหนที่เท่า LA แล้วครับ เหมือนบ้านเราที่สุดแล้ว”
** มีวันนี้เพราะไม่เคยหยุดพยายาม **
บาสยังได้สะท้อนถึงการในการขายอาหารในต่างประเทศ ที่บอกเลยว่าความสะอาดต้องมาเป็นอันดับแรก
“ต้องเท้าความก่อนผมจบสาธารณสุขที่เมืองไทยมา ผมก็เคยเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ไปตรวจตลาดเหมือนกันครับ ที่นี่จะเคร่งกว่ามากๆ ถ้าอุณหภูมิความร้อนไม่ถึง ความเย็นไม่ถึง ก็คือต้องทิ้งถังขยะเลย
หนู แมลงสาบนี่เป็นเรื่องใหญ่มาก มีตัวเดียวสั่งปิดร้านเลย แล้วก็หลายๆ อย่างครับ ความสะอาดที่นี่ค่อนข้างเข้ม เขาจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกมาตรวจ แล้วก็จะให้ใบ ถ้าเราไม่มีใบ เราก็ขายไม่ได้ ค่อนข้างที่จะมีมาตรฐานเหมือนกัน
สามารถทำขายที่บ้านได้ แต่เราต้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาตรวจ ว่าครัวเรามีมาตรฐานมั้ย ความสูงจากพื้น 60 ซม.มั้ย หรือว่ามีแมลงสาบมั้ย ครัวเราที่บ้านจะต้องได้มาตรฐานเท่ากับร้านอาหารที่เขากำหนดขึ้นมา ไม่ใช่ว่าเรามีครัว เราก็สามารถทำขาย ไม่ได้ครับ เราต้องทำครัวเราให้มีมาตรฐานที่เขาตั้งไว้ เราถึงจะขายที่บ้านได้ครับผม”
แน่นอนว่าทุกการทำงาน ไม่มีอะไรที่ราบรื่นไปซะทุกอย่าง กว่าที่ร้าน Banana Corner จะพัฒนามาถึงทุกวันนี้ก็เจออุปสรรคมาให้คอยแก้และเรียนรู้ตลอดเวลา และสิ่งที่ยากที่สุดก็คือ “การรักษามาตรฐาน”
“ผมต้องบอกเลยว่ากล้วยมันเป็นอะไรที่ควบคุมได้ยาก บางทีเราซื้อมาเป็น 10-20 ลัง มันกลายเป็นว่าโดนผสม เขาปนกับกล้วยป่า รูปลักษณ์ของกล้วยมันจะคล้ายกันมาก แต่พอผ่าตรงกลางออกมาเหมือนเม็ดมันจะเป็นสีดำๆ ผมไม่แน่ใจว่ามันมียางหรือว่าเป็นอะไรที่ออกมาจากกล้วย ทำให้เวลาเราทอดมันเป็นสีดำ แล้วแป้งเรามันก็จะแข็งมากขึ้น รสชาติมันจะฝาด
ส่วนผสมของเราทุกอย่างเหมือนกันหมดเลย ความเข้มข้น ความหนืด แต่พอกล้วยชนิดนี้ลงน้ำมันเท่านั้น ทุกอย่างเปลี่ยนหมดเลย เฟลเลยครับ ผมค่อนข้างที่จะกังวลเรื่องมาตรฐานของร้าน เพราะมันสีไม่ได้ปุ๊บ รสชาติฝาด ผมเครียดมากเลย
พวกเราก็รวมหัวกันในครอบครัว ว่ากล้วยแบบนี้ต้องทำยังไง ก็ช่วยกันประดิษฐ์สูตรแป้งขึ้นมาใหม่ ทำยังไงที่จะให้กล้วยนี้มันสามารถทานได้เกือบที่จะคล้ายกับกล้วยเรามากที่สุด
บางทีกล้วยไม่มีเลย หาซื้อไม่ได้ช่วงหน้าหนาว ปลูกกล้วยไม่ขึ้น ผมต้องมีการสต็อกกล้วยข้ามไปอีกเป็นเดือน ต้อง keep ยังไง อุณหภูมิเท่าไหร่ บางทีเอากล้วยมาสุกไม่ทัน ไม่มีกล้วยขายก็มี บางทีสุกไปก็ทอดยาก หวานเกินไป
ตอนนี้กลายเป็นว่าเริ่มเก่งขึ้นในเรื่องของการทำให้กล้วยสุกทันเวลา ต้องใช้ผ้าห่มฮีตเตอร์ไปคลุมเขาในช่วงที่อากาศหนาวมากๆ มันไม่สามารถสุกธรรมชาติได้ ยิ่งกลางคืนอุณหภูมิ 4-5 องศา
อากาศหนาวมากแล้วแป้งมันไม่ละลาย กลายเป็นแป้งหนา แต่ถ้าร้อนเกินไปแป้งก็ละลาย อากาศที่นี่มันสวิงมาก เราต้องมีการวัดอุณหภูมิ ของผมพยายามทำให้เป็นมาตรฐานมากที่สุด เพื่อที่จะให้ลูกค้ากลับมาแล้วได้รสชาติเดิม มันจะยากตรงที่ว่าเราทำมาตรฐานให้มันเท่าเดิมนี่แหละ ปัญหาเยอะครับ เราท้อนะ แต่ทุกครั้งก็ผ่านมาได้” บาสเล่าถึงอุปสรรคที่เคยเจอ
เจ้าของร้านอาหารไทยในต่างแดนร้านนี้ เรียกได้ว่าใช้เวลาไม่นานแต่ก็ประสบความสำเร็จได้ ทั้งคู่ก็ฝากคำแนะนำไปถึงคนที่ยังลังเลกับการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ไว้ด้วย
“ขอบคุณมากนะครับที่มองว่าพวกเราประสบความสำเร็จ เราเซ็ตไว้ 2,000 เหรียญต่อวัน ซึ่งมันทะลุ ถือว่ามันประสบความสำเร็จแล้วสำหรับผมนะ บางคนอาจจะมองว่าแค่นี้ แต่มันเป็นความภูมิใจของพวกเราจริงๆ
บางคนเวลาทำธุรกิจอาจจะคิดเยอะเกินไป บางทีเราอยากทำอะไร เราตัดสินใจลองทำ เราไม่รู้ว่ามันจะสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ถ้าเราได้ลอง ผมว่าอย่างน้อยมันก็มีโอกาสสำเร็จ แต่ถ้าเราไม่ได้ลองเลย มันไม่มีทางที่จะสำเร็จครับ อันดับที่ 1
อันดับที่ 2 คือโอกาสครับ ตราบใดที่เรามีโอกาส เราคว้าไว้ก่อน อย่างที่ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่ากล้วยทอดมันจะดีไม่ดี แต่มันเป็นโอกาสเราแล้ว เราก็รีบลงมือทำไว้ก่อน
สุดท้ายก็คือ สมัยนี้โซเชียลมีเดียมันเยอะ บางทีผมเจอปัญหา ผมก็เข้าไปอยู่ในกลุ่มกล้วยทอดแห่งประเทศไทย ไข่นกกระทาประเทศไทย พี่ๆ น้องๆ ในกลุ่ม ช่วยดีมาก นี่แหละครับคนไทยเราช่วยเหลือกัน ไม่ต้องกลัวครับ
เราจะทำอะไร เราเจอปัญหาอะไร ใน YouTube ในโซเชียลมีเดีย มันมีทางออกอยู่แล้วครับผม ลงมือทำครับผม มีโอกาสประสบความสำเร็จแน่ๆ ผมเชื่อว่าพวกผมไม่ได้หยุดแค่นี้หรอก ก็อยากที่จะทำให้มันดีกว่านี้และยิ่งใหญ่มากกว่านี้"
ส่วนบีก็บอกว่า “ไม่ต้องกลัวนะคะว่าจะเฟลหรืออะไร คนที่จะมาถึงความสำเร็จได้ก็ต้องเฟลก่อน ส่วนตัวบีกับบาส ถามว่าประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มเลยมั้ย ไม่นะคะ เพราะว่าบีกับบาสผสมสูตรกว่าจะได้กล้วยทอดอร่อยๆ ให้ทุกคนกิน มันหมดไปเยอะ มันเสียกล้วย เสียแป้ง เสียความรู้สึก มันผ่านช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่า เราจะขายดีมั้ยวะด้วยนะตอนนั้น
แต่เราพยายามไม่สิ้นสุด พยายามไปเรื่อยๆ จนวันนึงมันอร่อย สูตรนี้เลย สุดท้ายก็คือก็ขายได้ อร่อยด้วย ก็อยากที่จะบอกว่าอย่ารอ อยากทำอะไรทำ แล้วก็ความพยายาม อย่าหยุดพยายาม คุณก็จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้จริงๆ ค่ะ ถามว่าเรา 2 คนประสบความสำเร็จมั้ย ตอนนี้ก็ระดับนึงนะคะ แต่ว่ายังไม่สุด ก็ยังไปได้อีกค่ะ”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : Facebook “Banana Corner” และ "ตลาดอาหารวัดไทยเพื่อชุมชน - Talad Wat Thai"
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **