xs
xsm
sm
md
lg

ผ้าเหลืองแพ้ความโลภ เพราะ “เงินเดือนประจำตำแหน่ง” กับ “สมณศักดิ์” ที่ไร้การตรวจสอบ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในเมื่อฆราวาสตักบาตร ถวายอาหารให้แล้ว ชาวพุทธสงสัยหนัก ทำไมสงฆ์ไทยต้องมีเงินเดือน เจาะประเด็น “สมณศักดิ์” ระบบปกครองพระ ที่มอบยศฐาและอำนาจแบบทางโลกให้ แต่กลับไม่มีการตรวจสอบ ต้นต่อปัญหาเรื่อง “เงินวัด” จนก่อให้เกิดความโลภ

** “เงินเดือนพระ” จากลาภยศ-ตำแหน่ง **

หลังจากเรื่องฉาวของ “ทิดแย้ม” อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ต้องคดีโกงเงินวัดไปกว่า “300 ล้าน” จากการเล่นพนันออนไลน์

ยังไม่รวมเงินอีก “2,000 ล้าน” ที่หมุนเวียนในบัญชีของสาวนายหน้าเว็บพนัน ซึ่งล่าสุดถูกจำคุกทั้งคู่ ทำให้พระสงฆ์ไทยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคม


                                {“ทิดแย้ม” อดีตเจ้าอาวาสผู้โกงเงินวัด เล่นพนันออนไลน์}

และหนึ่งในเรื่องที่คนหยิบยกมาถกเถียงกันในโซเชียลฯ ก็คือเรื่อง “เงินเดือนพระสงฆ์” หรือที่เรียกว่า “เงินนิตยภัต” ซึ่งมาจากเงินงบประมาณที่ “สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ” ได้จาก “รัฐบาล” ทุกปี

โดยจะถวายให้ “พระภิกษุ” ตามสมณศักดิ์ทั้งหมด 76 ตำแหน่ง ตั้งแต่ “เลขานุการเจ้าคณะตำบล” ที่ได้ 1,200 บาท/เดือน ไปจนถึง “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” ที่ได้ 37,700 บาท/เดือน

ชาวพุทธหลายคนถึงกับงงหนัก เพราะเพิ่งรู้ว่า “พระ” นอกจากจะมีเงินจาก “การรับกิจนิมนต์” หรือ “ปัจจัยจากลูกศิษย์” แล้ว ยังมี “เงินเดือนประจำตำแหน่ง” ด้วย

ทำให้เกิดคำถามในใจใครหลายคนว่า “พระจำเป็นต้องมียศ” และ “เงินเดือนประจำตำแหน่งด้วยเหรอ”? ในเมื่อเป็นนักบวชที่สละทางโลกไปแล้ว ซึ่งผู้จุดประเด็นนี้จนแชร์กันจนไวรัลคือ ผู้ใช้ X รายนึงที่โพสต์ไว้ว่า...

“คุณคิดว่าเราควรยกเลิกเงินเดือน ประจำตำแหน่งพระเหล่านี้หรือเปล่า ผมยังนึกเหตุผลดีๆ ไม่ออกว่า ทำไมจึงต้องมีเงินเดือนด้วย”



ส่งให้หลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า เมื่อพระสงฆ์บวชเพื่อตัดกิเลส และได้ข้าวฟรี-น้ำฟรีจากญาติโยมที่มาถวาย “แล้วจะเอาเงินเดือนไปทำอะไร”

แต่ก็มีบางคนที่ช่วยเข้ามาอธิบายเหตุผลบางมุมเอาไว้ว่า “วัดส่วนใหญ่นะครับ (เน้นว่าส่วนใหญ่) ไม่ได้มีเงินเหมือนวัดบางวัด วัดส่วนใหญ่บ้านนอก ชาวบ้านไม่ได้มีเงินมาทำบุญมากๆ นะครับ ส่วนใหญ่จึงลำบากอยู่ครับ”



** ไม่มีเงิน พระอยู่ไม่ได้ **

แล้วพระสงฆ์เริ่มมีเงินเดือนกันตั้งแต่ตอนไหน? เพื่อตอบข้อสงสัยนี้ “สมฤทธิ์ ลือชัย” นักวิชาการอิสระด้านพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงช่วยอธิบาย

“นิตยภัต”คือ “ค่าภัตตาหาร” หรือ “ภัตตาหาร”ที่พระมหากษัตริย์ถวายแก่พระภิกษุสามเณร เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งหลักฐานที่เก่าที่สุด ที่สืบค้นเจอคือตั้งแต่ “สมัยกรุงธนบุรี” ในยุคของ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

แต่ “การจ่ายนิตยภัตเป็นเงิน” มีปรากฏชัดเจนในสมัยของ “รัชกาลที่ ๓” และมา “กำหนดจำนวนเงินพระราชทานตามสมณศักดิ์”ในยุคของ “รัชกาลที่ ๕”

“ความหมายของผู้ให้แต่เดิม นิตยภัตเนี่ย เป็นเงินให้สำหรับพระสงฆ์ ในการเลี้ยงชีพ”


                                            {“สมฤทธิ์” กูรูพุทธศาสนา-ประวัติศาสตร์}

เงินนี้มอบให้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติศาสนกิจ ศึกษาศาสนา หรือไปค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปการ ซึ่งเอาเข้าจริง ก็ไม่ใช่จำนวนเงินที่เยอะ และก็ไม่ใช่พระทุกรูปจะได้

“โจ้” รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์นักวิชาการด้านปรัชญา จาก ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า พระที่จะได้รับเงินในส่วนนี้

“ก็ต้องเป็นพระ ที่มีความดีความชอบประมาณนึง เช่น พระที่ได้(เปรียญธรรม)ประโยค 9 หรืออะไรอย่างนี้ ซึ่งเอาเข้าจริง มันก็น้อยมาก มันไม่ได้เยอะเลย”



มุมนึงหลายคนคิดว่า “พระ” ไม่จำเป็นต้องใช้เงินข้าวปลาญาติโยมก็เอามาถวายให้ แต่ถ้าเป็นพระวัดป่า ที่ตัดขาดกับโลกภายนอก นั่นก็อาจจะเป็นไปได้ที่ไม่จำเป็นต้องใช้

แต่พระหรือวัดปกติ มันเป็นไปไม่ได้เลย ที่พระจะอยู่ได้โดยไม่มีเงิน เพราะมันก็มีทั้งค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือพระบางรูปที่เรียนหนังสือ ก็จะมีเรื่องของค่าเทอมอีก

และต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกที่ที่จะเป็น “วัดดัง” หรือมี “พระเกจิ” ที่มีชื่อเสียง คอยดึงให้ญาติโยมมาบริจาคเงินกับวัดมากๆ ซึ่งจะเห็นตามข่าวอยู่บ่อยว่า มีบางวัดที่ไม่มีแม้เงินจ่ายค่าไฟ หรือมีโบสถ์ที่สร้างมา 10 ปีก็ไม่เสร็จ เพราะขาดเงิน 


                                             {“รศ.ดนัย”นักวิชาการด้านปรัชญา ม.ธรรมศาสตร์}

** โลภครอบงำ เมื่อ “สมณศักดิ์” ไร้ตรวจสอบ **

อีกประเด็นที่มาพร้อมการให้เงินเดือนพระ คือ “สมณศักดิ์” เมื่อพระต้องสละทุกอย่าง รวมถึง “ยศถาบรรดาศักดิ์” ด้วย แต่ทำไมพุทธไทยจึงมอบสิ่งเหล่านี้ให้ และนี่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดปัญหาเรื่อง “เงินกับพระ” หรือเปล่า?

เพราะแม้ว่า “เงินนิตยภัต” ตามสมณศักดิ์จะดูว่าไม่มากนัก ถ้าเทียบจากตำแหน่ง “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า” ที่ได้ 37,700 บาท

แต่อย่าลืมว่า ยิ่งสมณศักดิ์สูง ลาภสักการะจากศรัทธาชาวบ้าน ก็ยิ่งมากตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักวิชาการอิสระด้านพุทธศาสนาอย่าง “สมฤทธิ์” บอกว่า นี่อาจเป็นต้นต่อของปัญหา

“มันเริ่มยศถาบรรดาศักดิ์ทางพระขึ้นมา แล้วมันก็มีอำนาจขึ้นมา แล้วก็มีเงินขึ้นมา”



การตั้ง “สมณศักดิ์” คือลำดับการปกครองของสงฆ์ที่ล้อมาจากยศของราชการ ปัญหาคือเราเอาระบบปกครองแบบราชการ มาใช้กับพระ แต่กลับไม่มีระบบตรวจสอบ ถ่วงดุลเหมือนทางโลก

เมื่อมีอำนาจมาก แต่ไม่มีคนตรวจสอบ คงไม่ต้องบอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้น เราจึงเห็นภาพว่า ทำไมพระบางรูป จึงมีอำนาจในการดึงเงินวัด หรือสะสมทรัพย์สินส่วนตัวได้มากขนาดนี้

แล้วถามว่า พุทธประเทศอื่นๆ มีการมอบยศ มอบตำแหน่งให้พระสงฆ์ไหม คำตอบคือ“มี” เหมือนกัน อย่างใน “กัมพูชา” หรือ “พม่า” ก็มี แต่เขาจะให้เป็น “เกียรติคุณ” เท่านั้น



แต่ “ไม่ได้มีอำนาจในการปกครอง” มากเหมือนอย่างบ้านเรา ซึ่ง “อำนาจ-เงินทอง” ที่มาพร้อมกับ “สมณศักดิ์” ของสงฆ์ไทยคือ สิ่งที่เราไม่พูดถึง ไม่ตั้งคำถามกับมันเลยว่า จะจัดการหรือควรคุมยังไง?

“ต้องหันกลับมามองโลกของความเป็นจริงนะครับว่า สงฆ์เนี่ย ในความเป็นจริงก็คือราชการชุดนึง แบบนึง ในแผ่นดิน ในประเทศไทย”

เมื่อมองระบบปกครองสงฆ์เหมือนข้าราชการ ก็ต้องมีระบบถ่วงดุลที่โปร่งใส อย่างการทำระบบบัญชีวัดที่ชัดเจน มีคณะกรรมการตรวจ ให้เหมือนหน่วยงานข้าราชการทั่วไป ปัญหาการสะสมทรัพย์ หรือแม้แต่อมเงินวัด ก็จะเบาลง

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น