xs
xsm
sm
md
lg

ประสบการณ์ “ช่วยเด็กคิดสั้น” แรงผลัก “น้ำผึ้ง” สู่เส้นทาง “พยาบาล-นางงาม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่ว่าจะมงลง หรือไม่ได้ตำแหน่งอะไรเลย จากเวที “นางสาวไทย” ปีนี้ แต่ตัวตนของเธอคนนี้ ก็ยังน่าสนใจ ควรค่าแก่การแลกเปลี่ยนบทสนทนา เธอผู้ได้รับรางวัล “นางพยาบาลต้นแบบ”  ระดับโลก จากการช่วยผู้ป่วยคิดสั้น จนบันดาลใจให้ศึกษาด้าน “จิตเวช” จริงจัง ตั้งใจเยียวยาเพื่อนมนุษย์ให้หยุด “เจ็บป่วยทางใจ”

ช่วย “เด็กคิดสั้น” จุดเปลี่ยน“แรงบันดาลใจ”

ไม่ว่าจะได้มง หรือไม่มง หรือตำแหน่งไหน หนูก็ยังยินดีที่จะทำในเรื่องจิตเวชของหนู หรือว่าเรื่องการที่หนูรักตัวเอง พร้อมที่จะเป็นแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะให้ไปพูดที่ไหน หรือพูดให้ใครฟัง หนูยินดีหมด

หนูอยากจะให้ทุกคนรักตัวเองจริงๆ แบบที่หนูรักตัวเอง เพราะยังมีคนอีกมาก ที่เขายังรักตัวเองไม่เป็น ยังไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง

“น้ำผึ้ง-วรัชญา ณ บางช้าง” นางสาวไทยชลบุรี วัย 28 ปี ที่เป็นอีกหนึ่งคนที่น่าจับตามอง ในการเป็นผู้เข้าประกวด ชิงมงนางสาวไทย 2568 ที่เรากำลังรอลุ้นผลกันวันที่ 25 พ.ค.นี้

เธอไม่ใช่แค่ตัวแทนของความงาม แต่คือภาพลักษณ์ของ“ผู้หญิงไทยยุคใหม่”ที่ทั้งงามภายนอก และภายใน เพราะเป็นอีกหนึ่งสาวงาม ที่โปรไฟล์ไม่ธรรมดา

นอกจากพาร์ทนางงามที่เราได้เห็นกันแล้ว เธอยังเป็นพยาบาลวิชาชีพ ที่จบเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ทั้งยังเป็นเจ้าของรางวัลระดับโลก “พยาบาลต้นแบบ” ผู้เสียสละ ทุ่มเท และสร้างแรงบันดาลใจในการดูแลผู้ป่วย

ตอนนี้เธอทำงานอยู่ที่สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะทางด้านเด็กพิเศษ เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม


การมาประกวดนางงามในครั้งนี้ นอกจากความฝันในวัยเด็กแล้ว เธอยังอยากใช้ประสบการณ์ตรงนี้ ในการเป็น “พยาบาลนางงาม”เข้ามาเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง ในเรื่องใกล้ตัว อย่างสุขภาพจิต ให้คนไทยได้ตื่นรู้ และไม่ต้องกลัวอีกต่อไป

พร้อมกับ บอกถึงแรงบันดาลใจสำคัญ จากประสบการณ์ตรง ที่อยากจะลุกขึ้นมาส่งต่อด้านสุขภาพจิต ให้คนตระหนักรู้ ผ่านเวทีนางงามว่า

ตอนนั้นเป็นพยาบาลจบใหม่ ที่ทำงานมาได้เพียง 2 ปี มีโอกาสช่วยเหลือเด็กวัย 13 คนนึง ที่เขามีภาวะซึมเศร้า แล้วพยายามจะโดดตึกฆ่าตัวตาย ที่โรงพยาบาลที่ทำงานอยู่ในตอนนั้น

แม้นี่จะเป็นเคสแรก และยังไม่ค่อยมีประสบการณ์มากนัก ในการรับมือกับเคสหนักๆ แบบนี้ แต่เธอก็ทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการพูดเกลี้ยกล่อม หรือจะปีนขึ้นไปช่วยรับเด็กคนนั้นด้วยตัวเอง และโชคดีที่ก่อนหน้านั้น พอที่มีความสนิทใจกัน ในตอนที่น้องเข้ามารักษา ก็พูดจนช่วยออกมาได้อย่างปลอดภัย


“ทางครอบครัวก็ตัดสินใจไม่ถูก ไม่กล้าที่จะทำอะไรเหมือนกัน น้องนั่งร้องไห้ห้อยขาอยู่ ความเสี่ยงต่างๆ แค่ก้าวเดียว หรือถ้าไหลนิดเดียวคือจบเลย หนูก็เลยพยายามทำทุกอย่างให้มันเซฟ และปลอดภัยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการพูดเกลี้ยกล่อม หรือการเข้าหา

ก็พยายามใช้ทุกอย่างที่รู้เกี่ยวกับเขา รู้ว่าเขาชอบเต้น TikTok เขาเคยชวนหนูเต้น หนูก็เลยบอกว่า ไหนบอกว่าอยากเต้นเพลงนี้กับพี่ไง เนี่ยพี่อยากเต้นแล้ว มาสอนพี่หน่อยได้ไหม

ก็อ่อนโยนกับเขา เพราะตอนนั้น เขาต้องการการปลอบประโลม เขากำลังรู้สึกแย่มาก เขาถึงตัดสินใจที่จะทำอะไรแบบนี้ เราต้องทำให้เขารู้สึกว่า เขายังมีคุณค่า สมควรที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ หนูก็บอกว่า เข้ามาหาพี่เร็ว พี่อยู่ตรงนี้ พี่ไปไม่ได้ กลับมาหาพี่ได้ไหมคะ ค่อยๆ มานะ ระวัง

สังเกตว่าเขาเริ่มหยุดร้องไห้ เขาเริ่มคิดตามที่เราพูด เริ่มทำตามที่เราพูด ค่อยๆ คลานกลับมาทีละน้อย ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ลุ้นมาก เพราะว่าคลานหยุด คลานหยุด ก็เป็นชั่วโมงอยู่ค่ะ

สุดท้ายเริ่มเห็นแล้วว่า เข้ามาในตัวอาคาร หนูก็ประเมินแล้วว่า หนูปีนได้ หนูใส่ชุดพยาบาลอยู่ ดีที่วันนั้นเป็นกางเกง ตัดสินใจปีนขึ้นไปหาเขา 2-3 เมตร

เห็นแววตา สิ่งที่เขาต้องการ มันคือการแค่ใครสักคน หนูเลยตัดสินใจพูดไปว่า ให้พี่กอดหนูไหม ก็เลยกอดคอกันร้องไห้ค่ะ หลังจากนั้นก็ช่วยเหลือน้องในกระบวนการรักษาต่อไปค่ะ”


“พยาบาลต้นแบบ”ผู้ทุ่มเทเสียสละ

ประสบการณ์ช่วยชีวิตเด็กในวันนี้ ก็ทำให้เธอได้รับรางวัล “Daisy Award” จากDaisy Foundationสหรัฐอเมริกา เป็นรางวัลระดับสากล เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และเฟ้นหาพยาบาลคุณภาพ ผู้ทุ่มเทและอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ

แม้ในตอนที่ทำ ไม่ได้คิดทำเพื่อหวังรางวัลอะไรทั้งนั้น แต่ก็ดีใจมาก ในสิ่งที่ทุ่มเทไป คนเล็งเห็น จนนำมาซึ่งรางวัลการันตี ในวิชาชีพ

“รู้สึกว่าเป็นเกียรติมากๆ เป็นรางวัลที่มันไม่ได้มาง่ายๆ เลย รางวัลที่ต้องอุทิศตน รู้สึกว่ามันมาจากใจจริงๆ ค่ะ ทำให้หนูได้รางวัลนี้มา

ต่อให้รางวัลนี้ อาจจะไม่ได้เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก แต่สำหรับหนูมันมีค่ามากๆ เป็นสิ่งที่หนูจะจำไปตลอดชีวิตค่ะ”

รางวัลนี้ ทางโรงพยาบาลต้นสังกัดเดิม ที่เคยทำงาน ได้ส่งชื่อและผลงาน เข้าไปให้ทางทีมอเมริกาคัดเลือก พยาบาลต้นแบบ โดยที่เธอไม่รู้มาก่อน มารู้ก็ตอนที่ทางโรงพยาบาลแจ้งว่า ได้รับรางวัลนี้แล้ว

“โดยกระบวนการหนูไม่ทราบ เพราะว่ามาทราบอีกทีคือวันที่ได้แล้วเลยค่ะ แต่เท่าที่ทราบก็คือ จะเป็นการเสนอเรื่องเพื่อชิง ว่าใครสมควรได้

ก็คือไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ แต่ว่าจะต้องผ่านการคัดเลือกค่ะ อย่างปีที่หนูได้ ที่โรงพยาบาล ก็ได้ประมาณ 2-3 คน เขาก็จะมีให้ทั้ง certificate แล้วก็รูปปั้นรางวัลค่ะ หนูเก็บไว้ที่บ้าน”


เธอบอกอีกว่า ถึงไม่ได้รางวัล ก็ยังคงทุ่มเททำแบบเดิม แต่พอยิ่งได้รางวัล มันยิ่งทำให้เธออยากส่งต่อ ตัวอย่างที่ดี ในการทำเพื่อคนไข้

“รางวัลมันก็เป็นเหมือนเครื่องหมายยืนยัน ว่ามันเคยเกิดขึ้นจริงๆ ถ้าเกิดมีคนอื่นได้เห็นหนู ได้เป็นแรงบันดาลใจ หนูคิดว่ามันก็จะมีค่ามากค่ะ ถ้ามีใครได้ทำเหมือนที่หนูทำ ทำเพื่อคนไข้ หรือใครสักคนด้วยใจจริงๆ”

นอกจากอยากเป็นกระบอกเสียง ให้คนตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสุขภาพจิตแล้ว เธอยังมีโครงการTogether We Drawซึ่งเป็นโครงการที่ให้เด็กพิเศษ ได้ทำกิจกรรมศิลปะร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อสร้างสมาธิ และฝึกพัฒนาการ เตรียมความพร้อมให้เด็กพิเศษพร้อมเข้าโรงเรียน และช่วยสร้างสัมพันธภาพระหว่างเด็กและครอบครัวด้วย

 [รางวัล Daisy Award เฟ้นหาพยาบาลคุณภาพ]
สานต่อเส้นทางเยียวยา ผ่าน “เวทีนางงาม”

เหตุการณ์ช่วยเด็ก 13 เรียกได้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่เธอจำฝังใจ เพราะเธอบอกกับตัวเองว่า ถ้าวันนั้นช่วยชีวิตเด็กคนนั้นไม่ได้ ก็จะไม่เป็นพยาบาลต่อไปแล้ว และน่าจะมีแผลในใจอยู่เหมือนกัน และเหตุการณ์การณ์เดียวกันนี้แหละ ก็เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจ ให้เธอไปเรียนเฉพาะทางด้านจิตวิทยาเพิ่ม

“หลังจากเหตุการณ์นั้น หนูก็รู้สึกชอบในเรื่องจิตวิทยา จิตเวชมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าคนเราถ้าเจ็บป่วยทางกาย เราเห็นเรายังดูว่าคนนี้เจ็บ

แต่ถ้าคนนี้เจ็บทางใจ เราไม่รู้เลยนะคะว่า เขาอาจจะพูดคุยกับเราปกติก็ได้ แต่วันนั้นอาจจะเป็นวันสุดท้าย ที่เขาอยากจะอยู่แล้วก็ได้ ซึ่งหนูอยากจะเป็นหนึ่งสาเหตุ หรือหนึ่งเหตุผล ที่ทำให้เขารู้สึกว่าวันนี้ไม่ได้แย่อย่างที่คิด”

อย่างที่บอกไปว่า เธอไม่ใช่แค่ตัวแทนของความงาม แต่เธอคือพยาบาล ที่เปี่ยมด้วยหัวใจแห่งการให้ มีประสบการณ์ทำงานเป็นพยาบาลเด็กมา 7 ปี ตั้งแต่เรียนจบจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี

และสิ่งที่เธออยากส่งต่อผ่านเวทีนางงาม เพื่อให้เสียงนี้ มันดังไกลขึ้นก็คือ เรื่องสุขภาพจิต ที่เธอบอกว่า กำลังเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม เพราะเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ว่าก็ยังมีอีกหลายคน ที่ยังไม่รับรู้ ถึงตรงนี้สักเท่าไหร่

เธอจึงอยากให้ทุกคนได้ตระหนัก แล้วส่งเสียงบอก ให้เข้าใจกับมันมากขึ้น ไม่มองว่าการที่เราเครียด หรือการที่เรามีความเศร้า มันเป็นเรื่องแปลก

[ช่วยเด็กคิดสั้น จุดประกายให้เรียนเฉพาะทางสุขภาพจิต]
เรื่องปัญหาซึมเศร้า หรือปัญหาด้านจิตเวช เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นจริงจังทุกปีเลย เป็นเรื่องใหญ่ที่คิดว่าควรที่จะรีบแก้ไข เร่งด่วนมากๆ ค่ะ

ถ้าเราเห็นจากข่าว จะมีอัตราของวัยรุ่น หรือว่าวัยทำงาน ที่เป็นซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าอาจจะด้วยสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยต่างๆ ที่มันทำให้เกิดภาวะนี้ได้ค่ะ

สาเหตุของการเป็นแต่ละคน ก็ค่อนข้างแตกต่างกัน เธอบอกว่า ถ้าอย่างวัยรุ่น ก็จะเป็นความคาดหวัง หรือว่าการจะต้องเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การคาดหวังกับการเรียน เรื่องเพื่อน หรือว่าการที่จะเริ่มเป็นผู้ใหญ่ มันก็จะเป็นปัญหาที่แตกต่างกัน

ส่วนวัยทำงาน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องงาน เรื่องครอบครัว หรือการสร้างครอบครัว แล้วก็จะมีเรื่องเงินเข้ามาด้วย ซึ่งอาจจะส่งผลได้หลายๆ อย่าง

เรื่องสุขภาพจิต อาจเป็นเรื่องที่อาจจะรับมือยากหน่อย เพราะถ้าเจ็บป่วยทางกาย ยังพอเห็นบาดแผล แต่ทางเจ็บป่วยทางใจ มองภายนอกอาจจะไม่รู้ ว่ากำลังเจ็บป่วยอยู่

เธอบอกว่า นั่นจึงอยากเป็นหนึ่งสาเหตุ ที่อยากทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกว่า วันนี้ไม่ได้แย่อยากที่คิด บางทีเราแค่พูดจาดีๆ หรือพูดเพราะๆ เห็นอกเห็นใจซึ่งกัน อาจจะทำให้คนที่กำลังเจอปัญหาสุขภาพจิตเหล่านั้น ผ่อนคลายลง หรือไม่ต้องถึงขั้นคิดสั้น

และอยากให้มองปัญหาสุขภาพทางใจเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับโรคทั่วไป ถ้าเราอยู่อยากเข้าใจ กินยาก็สามารถหายได้ปกติเหมือนโรคทั่วไป




“เรามาประกวดนางงาม มันทำให้เรามีแสง เสียงเราดังขึ้นแน่นอน มันจะทำให้คนได้เห็นมากขึ้นกว่าเดิม มากกว่าทำคนเดียวเงียบๆ

หนูไม่อยากให้คำว่านางงามมีแค่ความสวย หนูอยากให้นางงามเป็นเหมือนโรลโมเดล หรือว่าเป็นคนที่ได้ทำเพื่อสังคมจริงๆ เป็นคนที่ใช้ความสวยจริง แต่นำไปต่อยอด ไม่ว่าจะด้านใดมันเกิดประโยชน์หมดค่ะ

อย่างหนูถนัดด้านจิตเวช หนูก็อยากจะทำให้สังคมได้รู้ว่า การที่เรามีความเศร้า ความเครียด มันเป็นเรื่องปกติ อยากให้ทรีทมันเป็นเหมือนเรื่องทั่วไป ที่เหมือนเราเป็นไข้เป็นหวัด เราไปหาคุณหมอ เรากินยา เราหาย ซึ่งการที่เรามีปัญหาทางใจ มันก็อยากให้เป็นอย่างนี้เช่นกันค่ะ

ไม่ใช่ว่าเราเป็น แล้วเราต้องเก็บ เพราะว่าคนเราถ้าเก็บมันก็ยิ่งแย่ แล้ววันนึงที่เราไม่ไหวแล้ว มันก็ไกลเกินกว่าที่เราจะทันแล้วค่ะ”




อนุญาตให้เศร้า อย่าลืม “โอบกอดตัวเอง”

สิ่งสำคัญที่เธอย้ำชัด ตลอดบทสนทนาก็คือ คนเราต้องการระบายออก เมื่อเสียใจ เศร้า โกรธ หรือดีใจ จงแสดงมันออกมา ไม่ต้องเก็บไว้ เพราะมันคือเรื่องปกติ ที่เราต้องแสดงความรู้สึกออกมา

“เรามีสิทธิ์จะเศร้า เรามีสิทธิ์จะแพ้ เรามีสิทธิ์จะรู้สึกอะไรก็ได้ มันเป็นเรื่องปกติมากๆ เราไม่ใช่หุ่นยนต์ การที่เราปล่อยให้ตัวเองได้รู้สึกกับสิ่งนั้น รู้สึกได้ปลดปล่อยจิตใจตัวเอง โดยที่ไม่ต้องเก็บไว้ มันจะทำให้เราดีขึ้นได้ดีกว่า

ไม่มีใครไม่เคยเครียด ไม่มีใครไม่เคยร้องไห้ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมาเก็บ หรือเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคม ว่าคนนี้เป็นซึมเศร้านะ ไม่โอเคเลย อย่าไปอยู่ใกล้ ถ้าคิดแบบนี้ หนูรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว

มันเป็นเหมือนอาการทางกายอย่างนึง เหมือนเราเป็นไข้หวัด เราไปหาคุณหมอ กินยารักษาหาย อันนี้ก็เหมือนกันเราแค่ต้องการ ใครสักคนรับฟัง มันเกิดจากสารเคมีในสมอง ที่มันไม่ปกติ เรารักษาได้ มันดีขึ้นได้ ขอแค่เรายอมรับ

ถ้าตัวเรายังไม่อนุญาตให้ตัวเองเศร้าเลย คนอื่นก็ไม่เข้าใจเราเช่นกัน วันนี้เราเศร้า พรุ่งนี้เราแฮปปี้ มันเป็นธรรมดาของมนุษย์ค่ะ”


เธอใช้ชีวิต ด้วยการไม่คิดในแง่ลบ ไม่ให้ตัวเองจมอยู่กับปัญหา แต่จะหาสาเหตุของปัญหา ว่าเกิดจากอะไร พอรู้ต้นเหตุ ก็จะมีวิธีแก้ พอแก้ได้ไวเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งดีกับเรา

“สมมติบางคนพูดไม่ดีกับเรา หรือเจอเรื่องไม่ดีมา ง่ายๆ เลย แคร์คนที่แคร์เรา ถ้าเขาไม่แคร์เรา ไม่จำเป็น ที่เราจะเอาเวลา หรือใจที่มีค่าของเรา ไปจมปลักอยู่ตรงนั้น

ถ้าใครดีกับเรา เราดีกับเขา มันง่ายๆ เรารักตัวเอง หนูรู้สึกว่าถ้าเรารักตัวเองมากพอ เราจะรู้ว่าเราจะทำยังไงให้ชีวิตเราดีขึ้น แล้วเราจะไม่อยู่ตรงไหนที่ทำให้ชีวิตเราแย่ลง เป็นคติประจำใจ”




นางงามยุคใหม่ ไม่ใช่แค่สวย


เธอมองว่าหัวใจของนางงามยุคใหม่ ไม่ได้อยู่แค่ความสวย แต่อยู่ที่การลงมือทำ และไม่ใช่แค่ทำโครงการเพื่อมาประกวดให้ผ่านพ้นไปเท่านั้น

“เมื่อก่อน นางงามจะเพอร์เฟค สมบูรณ์แบบ สวยทุกระเบียบนิ้ว หุ่น ผิวพรรณหน้าตา การศึกษา แต่รู้สึกว่าสมัยนี้ โลกเราผ่านมาไกลแล้ว คำว่าเพอร์เฟคไม่มีอยู่จริง

เราไม่จำเป็นต้องผิวสีนี้ หุ่นแบบนี้ หน้าตาแบบนี้ แต่เราเป็นตัวเองได้ เราภูมิใจ หนูว่าเราควรมาผลักดันให้เด็กผู้หญิงเล็กๆ ที่กำลังเติบโตเป็นวัยรุ่น ได้พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ทุกวันนี้มันหลากหลายแล้ว

สำหรับหนู อยากให้มองนางงาม เป็นคนที่เห็นแล้วดีใจที่ได้เจอ ไม่ใช่แค่ความสวย แต่เป็นคนที่ทำเพื่อสังคม ทำอะไรที่สังคมได้เกิดประโยชน์ ได้ช่วยเหลือคน ช่วยเหลือสัตว์

เป็นคนที่ทำความดีจริงๆ ไม่ใช่แค่ทำเพื่อประกวด ทำเพื่อให้ผ่านพ้นไป แต่เป็นคนที่มีใจสาธารณะจริงๆ พร้อมที่จะช่วยทุกคนจริงๆ เป็นเหมือนหนึ่งบุคคลสาธารณะ ที่ไม่ได้มีแค่ความสวยอย่างเดียว”




แม้จะเป็นที่จับตามองอยู่ไม่น้อย สำหรับแฟนๆ นางงาม ที่คอยเชียร์ให้เข้ารอบลึกๆ แต่เธอก็บอกว่า ถ้าได้มงก็ดีใจ คาดหวัง แต่ต้องอยู่กับความเป็นจริงด้วย ตอนนี้รู้สึกมีความสุขกับสิ่งที่ทำมาก

“ไม่ซีเรียสเลยเรื่องตำแหน่ง จะได้ที่เท่าไหร่ หรือไม่ได้อะไร หนูรู้สึกว่าหนูไม่เคยลืมสิ่งตั้งต้น หนูมาเพราะอยากทำเพื่อแม่ และหนูรู้สึกว่าหนูไม่อยากเสียใจทีหลัง ถ้าวันนึงหนูอายุ 30-40 ปี มีครอบครัว มองย้อนกลับมา เสียดายจังเลย ทำไมตอนนั้นยังไม่ได้ลองเลย ว่าทำได้ดีแค่ไหน

หนูไม่ชอบทำอะไร ที่เราจะมาเสียดายทีหลัง หรือรู้สึกผิดทีหลัง เพราะฉะนั้นหนูก็เลยโฟกัสว่า ถ้าทำปัจจุบันให้ดี แล้วเราไม่ต้องมีอะไรต้องมาเสียในอนาคต หนูก็เลยเลือกที่จะมาทำ ไม่รู้ว่าผลจะเป็นยังไง หนูถือว่าหนูได้ทำ หนูได้แฮปปี้

โชคชะตามันกำหนดไว้หมดแล้ว อะไรที่เป็นของเรา มันจะเป็นของเรา อะไรที่ไม่ใช่ ยังไงมันก็ไม่ใช่ เราจะไม่ฝืน เรามีสิทธิ์แค่ทำดีที่สุด

ถ้าเราสมควรได้รับ ฟ้าก็จะให้เราเอง หนูรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรต้องกังวลขนาดนั้น ถ้าเรารู้ใจตัวเอง รักตัวเอง เราจะไม่กลัวอะไรเลย ไม่มีอะไรยากสำหรับเรา”




อีกมุม นอกเหนือจากนี้ เธอยังมักจะชอบเหลือคนไร้บ้าน และสัตว์จรจัดด้วย ไม่ว่าจะเห็นคนไร้บ้านที่ไหน เธอมักจะเข้าไปสอบถามว่ากินข้าวหรือยัง แล้วก็จะซื้อข้าวไปให้อยู่เสมอๆ เวลาผ่านไปเจอ เพราะแม่เธอจะสอนอยู่เสมอว่า แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ถ้าเรามี ก็ต้องรู้จักแบ่งปันคนไม่มีด้วย

หรือจะเป็นการช่วยเหลือสัตว์ไร้บ้าน ที่ก็มักจะช่วยโอนเงินไปช่วยสมทบทุนอยู่เสมอเช่นกัน และตอนนี้ ก็พาน้องแมวจรมาเลี้ยงไว้ที่บ้านด้วย1ตัว

และเธอบอกว่า จริงๆ อยากรับมาเลี้ยงมากกว่านั้น ถ้าได้มงใหญ่นางสาวไทย อาจจะรับมาเลี้ยงเพิ่ม เพราะด้วยกำลังทรัพย์ ที่ไม่อยากรับมาแบบเลี้ยงส่งๆ แต่อยากเลี้ยงให้ดีที่สุด

“ถึงจะไม่ได้เป็นนางงาม หรือได้รับตำแหน่ง ก็อยากจะช่วยเหลือสัตว์ให้ได้มากกว่านี้ หนูก็อาจจะเป็นหนึ่งบุคคล ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ถ้าเราเห็นกันในข่าว ก็จะเห็นบ่อยเหมือนกัน ทารุณกรรมสัตว์ ทำร้ายสัตว์ ค้าสัตว์ที่ไม่ถูกต้อง

หนูรับเลี้ยงเขามา โลกของหนูไม่เปลี่ยน แต่โลกเขาเปลี่ยน จากที่ต้องอดอยากลำบาก ไม่รู้ว่าจะโดนทำร้ายวันไหน แต่อยู่กับหนู เขาได้ปลอดภัยกินอิ่ม รู้สึกว่ามันคือบุญ ทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่”

 

เธอบอกอีกว่า ชอบทั้งการเป็นพยาบาลและการเป็นนางงาม เธอมองว่า มันสามารถทำไปด้วยกันได้ และชอบทั้ง 2 อย่าง
การเป็นพยาบาล ก็ภูมิใจในวิชาชีพตัวเองมาก เพราะชอบช่วยเหลือคนและสัตว์ แล้วยิ่งพอได้มาเป็นนางงาม ก็มองว่า ยิ่งจะทำให้กระบอกเสียงดังขึ้น

“ถ้าให้เลือกนางงามกับพยาบาล หนูคิดว่ามันทำด้วยกันได้นะ เพราะว่านางงามก็ต้องการคนที่มาต่อยอด เพราะเราไม่ใช่แค่สวย เราทำประโยชน์ให้สังคมด้วย งานที่หนูทำ มันImpactต่อคนยังไงบ้าง หรือช่วยใครได้บ้าง

บอกไปตรงๆ ว่าตอนแรกรู้สึกกดดัน แล้วก็กลัว แต่พอคิดว่าหนูมาตรงนี้ หนูจะช่วยคนและสัตว์ได้มากขึ้น หนูได้มาสู้เพื่อคนที่เขา ไม่ได้มีโอกาสมาพูดด้วยซ้ำ มันก็ทำให้หนูมั่นใจขึ้นมา เหมือนมันก็มีสิ่งที่รออยู่ค่ะ ว่าเราจะทำเผื่ออะไร”







 “เสียงใหญ่” ไม่ใช่ปมด้อย ถ้าใจ “มองบวก”


 

เห็นสวยเพอร์เฟคแบบนี้ เธอก็เป็นอีกหนึ่งคน ที่ตั้งแต่เด็กเคยผ่านการโดนบูลลี่มาก่อน ว่าเสียงใหญ่ หน้าไม่เข้ากับเสียง เสียงเหมือนผู้ชาย แต่ถึงใครจะมองอย่างนั้น เธอก็มองอีกด้าน ว่านี่คือเอกลักษณ์ที่คนจำเธอได้


เคยแม้กระทั่งขึ้นรถสาธารณะ คนขับขอดูบัตรประชาชน ว่าเป็นผู้หญิงจริงหรือเปล่า เพราะเขาคิดว่าเป็น LGBTQ+แต่เธอก็ไม่ถือโทษโกรธ เพราะเธอมองว่า การเป็น LGBTQ+แปลว่าสวย


“มันคือเอกลักษณ์ ที่เปลี่ยนไม่ได้อยู่แล้ว แต่อาจจะพัฒนาให้มันดูเพราะขึ้น หนูก็รู้สึกมีเสน่ห์ เพราะว่าต่อให้นั่งหันหลัง เดินมาเขารู้ว่าเป็นหนู โดยไม่ต้องหันหน้ามามอง ก็น่ารักดี ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ซีเรียส


เวลาที่เขาแซวมา เราไม่จำเป็นต้องมองลบ ก็มองผ่าน อย่างน้อยเราก็มีดีด้านอื่น เราแฮปปี้เราจอย มันสำคัญที่ใจเรา ถ้าใจเราไม่เอามาคิด ใครก็ทำอะไรเราไม่ได้”


แต่กว่าจะคิดได้แบบนี้ เมื่อก่อนก็ยอมรับว่ามีนอยบ้าง สิ่งที่ทำให้เธอหายนอย จากคำบูลลี่เหล่านั้น เธอบอกว่า คือการมองบวก และรู้จักรักตัวเอง


อีกอย่างเธอบอกว่า เป็นคนที่รักในร่างกายตัวเองทุกส่วน ดีแค่ไหน ที่เราเกิดมาครบ32ประการ เพราะมีคนอีกเยอะมาก ที่เกิดมาลำบาก หรือว่าไม่ครบ32เหมือนกับเรา


“หนูเป็นคนที่รักตัวเองตั้งแต่หัวจรดเท้าเลย อย่างเช่นเท้า หนูรู้สึกว่าเป็นส่วนที่สำคัญในร่างกายมาก เท้านี้พาเราไปทุกที่ ทุกความยากลำบากกับเรา เราเคยนวดแถวไหม เคยรักษาความสะอาดไหม เคยพาเขาไปนวดไหม มองมือตัวเอง ขอบคุณที่มันยังทำงาน


เอาง่ายๆ เลย หนูเคยร้องไห้ หนูเคยเจอเรื่องยากลำบาก หนูกอดตัวเอง แล้วหนูก็ลูบ ไม่เป็นไรวรัชญา เดี๋ยวมันก็ผ่านไป หนูเป็นคนแบบนี้ด้วย หนูก็ดูแลร่างกายทุกส่วน


ต้องเริ่มจากรักตัวเองก่อน ถ้าเรามีพลังงานดีๆ เราคิดดีกับตัวเอง มันจะดึงดูดสิ่งดีๆ เข้ามา เพราะพอเรารักตัวเอง มันจะมีแต่พลังบวก ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรเข้ามา เราก็จัดการได้”




 วิกฤตแม่ป่วยสโตรก


 

แม้จะดูช่วยเยียวยาคนอื่นได้เป็นอย่างดี พอตัวเองเจอวิกฤตครอบครัว อยู่ดีๆ คุณแม่ป่วยโรคสโตรก ต้องเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน


เหตุการณ์นี้ เป็นช่วงที่เธอก่อนเข้ากองประกวด เพียงแค่ 2 เดือน เธอบอกว่าตอนนั้น ทำเอาจิตใจย่ำแย่ สติแตก เหมือนโลกหยุดหมุน


จากที่เคยโทรคุยกันปกติทุกวัน ต้องมาเห็นแม่พูดไม่ได้ ขยับไม่ได้ เหตุการณ์นั้น ทำให้เธอเข้าใจฟีลญาติคนไข้ได้เป็นอย่างดี ยิ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่กำลังเตรียมตัวประกวดกองใหญ่ เป็นช่วงที่หนักทุกอย่าง เพราะหลังเลิกงานพยาบาล ทุกเย็น ต้องไปเรียนเดิน เรียนภาษา ออกกำลังกาย และเสริมความสวยต่างๆ


“หนูจำได้ว่าร้องไห้หนักมาก เพราะว่าแม่อาการแย่มาก แล้วก็การเป็นสโตรกเปอร์เซ็นต์การหาย หรือการดีขึ้น ก็แทบยากมาก ตอนนั้นที่ทำได้คือตั้งสติ


ที่สำคัญคือวันต่อไปมีงาน ตอนแรกหนูกะว่าจะ cancel แต่ว่าแม่พยายามไล่ให้หนูกลับ เพื่อไปเตรียมตัว ไปงานสวยๆ พรุ่งนี้ หนูรู้ตอนนั้นเลยว่า หนูทิ้งนางสาวไทยไม่ได้ เพราะมันคือความสุขของแม่ด้วย


ความฝันก็สำคัญค่ะ แต่แม่สำคัญกว่า แต่พอเห็นแม่มีความสุขมาก กับการที่หนูเป็นนางสาวไทย แล้วตรงนี้มันทำให้แม่สู้ เพราะว่าแม่ไล่ให้กลับบ้าน หนูจำได้วันนั้นหนูก็ร้องไห้ เขามาต้องมานั่งประคบตาที่บวมให้สวยไปงาน”


เธอเล่าทั้งน้ำตาว่า ตอนนั้นรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตแล้ว เพราะไม่เคยคิดว่าแม่จะป่วย ไม่เคยคิดว่าวันนึง จะมีความเสี่ยงที่จะเสียแม่ไป รู้สึกหนักมาก ที่วันนึง กลับมาแล้ว ไม่มีไลน์เด้งจากแม่ คอยเตือน คอยเป็นห่วงในแต่ละวัน


แต่เธอก็ผ่านมาได้ด้วยทัศนคติที่มองบวกอีกอย่างเธอต้องเข้มแข็งเพราะถ้าอ่อนแอหรือไม่ไหวแล้วแม่ที่กำลังป่วยจะเอากำลังใจที่ไหนไปสู้


“หนูให้เวลาตัวเองได้พัง 1 อาทิตย์ หลังจากนั้นกลับมาเตรียมตัวต่อทำทุกอย่างเหมือนเดิมต่อแล้วก็แบ่งเวลาดูแลแม่ด้วย


สิ่งที่หนูเจอมันหนัก แต่หนูรู้สึกว่าหลายๆ คนหนักกว่านี้ด้วยซ้ำ แล้วเขาผ่านมาได้ เขาเก่งมากๆ แล้วก็รู้สึกว่าหลังจากนี้ จะยากแค่ไหน หนูก็ผ่านมาได้”


การที่เราจมอยู่กับปัญหาเธอรู้สึกว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรเลยอย่างเรื่องแม่ตอนแรกอาจจะมีร้องไห้บ้างแต่ก็มองว่าโชคดีที่แม่มาโรงพยาบาลทัน


“ตอนนั้นหนูภูมิใจในตัวเอง คือไม่คิดแง่ลบสักอย่างเดียว หนูไม่เคยคิดว่าทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดกับแม่ ทำไมแม่หนูถึงอาการหนัก แต่สิ่งที่หนูมีในหัวตอนนั้น โชคดีมากที่แม่มาโรงพยาบาลทันโ ชคดีมากที่อาทิตย์นั้นแม่ไม่ได้อยู่คนเดียว


หนูมีแต่ความคิดแบบนี้ในหัวหนู ไม่ได้โทษอะไรสักอย่างนึง มันเกิดขึ้นแล้ว เราก็แก้ เดินหน้าต่อ การที่เรามองบวก สุดท้ายมันมีความหวังรอตรงปลายทางเสมอ


คุณแม่อยู่โรงพยาบาลเดือนนึง ไม่น่าเชื่อ ภายใน 2 เดือนกว่า 3 เดือน ตอนนี้คุณแม่ 90% แล้วค่ะ ในเวลาที่น้อยมากๆ คือจากที่อ่อนแรงด้านขวาหมด”


คำสอนของแม่ ที่เธอใช้เตือนสติตัวเองตั้งแต่เด็ก ก็คือ “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” และสิ่งที่สำคัญ นอกจากคำสอนของพ่อแม่แล้วก็คือตัวเองด้วย เพราะเธอใช้ชีวิตด้วยคติที่ว่า จะไม่ทำอะไรที่วันนึงต้องเสียใจทีหลัง


“ถ้าวันนึงมีลูก เขาคือดวงใจของหนู ถ้ามองหน้าเขา จะมองด้วยความภาคภูมิใจ จะไม่มีความรู้สึกว่า ฉันไม่น่าทำแบบนั้นเลย รู้สึกผิดกับเขาจัง หนูก็เลยใช้ชีวิตมาอย่างดี โดยผ่านการปลูกฝังของพ่อแม่ ทั้งความเข้มแข็ง ความสู้ ความรักตัวเอง ต่อให้หนูเป็นผู้หญิง หนูก็ต้องเข้มแข็ง”


ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวข้าราชการ มีคุณพ่อเป็นอัยการ ทำงานอยู่ที่ศาลอาญาธนบุรี มีคุณแม่เป็นครู ที่ตอนนี้เกษียณแล้ว พี่ชายเป็นทหาร ก็เลยได้ความจะเด็ดขาด และกล้าแสดงออกมาจากครอบครัว โดยเฉพาะการมองบวกแบบคุณแม่





สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพ : Instagram @honeyhers, Facebook “Np Varuchayai”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น