xs
xsm
sm
md
lg

ตอบคำถามสวยหรู-รับมงฯ แค่ปลอมเปลือก “ณวัฒน์” ย้ำชัด สาวงามยุคผมต้องเป็น “แม่ค้านางงาม” [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บอสณวัฒน์” บอก “ไลฟ์ขายของ” นี่แหละคือ คุณค่าของนางงามที่จับต้องได้ ชวนมองโลก “นางงาม” ในมุมใหม่ๆ กูรูชี้ “คุณค่านางงาม” นั้น “เปลี่ยนตามยุคสมัย” และ “ผู้จัด”





** อยากดูโชว์ความงาม แต่ได้โชว์ขายของ? **



กลายเป็นเรื่องที่ทำเอาแฟนๆ นางงามเสียงแตก แชร์ภาพรายการประกวด “มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์” รอบคัดตัวที่ จ.สระบุรี พร้อมคำวิจารณ์หนัก เพราะกิจกรรมโชว์ความสามารถ ไม่ใช่ “ร้อง-เต้น-โชว์ศาสตร์ต่างๆ” อย่างที่คุ้นชิน แต่คือการให้นางงาม “ไลฟ์ขายของโชว์”บนเวที

อย่างที่รู้กันว่า เมื่อผู้ถือลิขสิทธิ์ของเวทีนางงามรายการนี้ เปลี่ยนเป็น “บอสณวัฒน์” (ณวัฒน์ อิสรไกรศีล)เจ้าของเวทีประกวดสาวงาม “มิสแกรนด์ไทยแลนด์”วัฒนธรรมหลายๆ อย่างจึงเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด 
 ส่งให้เกิดฟีดแบ็ก 2 ทาง คือแฟนนางงามที่คุ้นชินกับรูปแบบเดิม มองว่า “ไม่ได้อยากดูแม่ค้า อยากดูนางงาม”เลยไม่แฮปปี้กับสิ่งที่เกิดขึ้น กับแฟนนางงามที่มองเป็นเรื่องธรรมดาว่า “ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามยุคสมัย”

อย่างที่แฟนเพจ “นางงามStation” โพสต์แสดงความคิดเห็นว่า หลายคนยังมี “ภาพจำ”ของ “นางงาม” คือ ความสวย หรูหรา ออกเดินตามงานอีเวนต์ต่างๆ “ไม่ควรมานั่งไลฟ์ขายของ” แต่ในยุคโซเชียลมีเดีย มันเปลี่ยนไปแล้ว

“การที่นางงาม มาไลฟ์สดขายของให้สปอนเซอร์นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่เสียหายเลยสักนิด"


                                           {เหมาะ-ไม่เหมาะ จับนางงามมาไลฟ์ขายของ}

เพราะการไลฟ์ลักษณะนี้ นอกจากจะสร้างรายได้ให้บริษัทแล้ว ตัวนางงามเองยังได้เงินส่วนแบ่งด้วย และที่สำคัญคือทุกองค์กร ทุกบริษัท “ต้องใช้เงินในการขับเคลื่อน” และนี่คือฟีดแบ็กของแฟนนางงาม ที่คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า โพสต์ที่ว่าคือเรื่องจริง

“ถูกต้องค่ะ สมัยนี้ที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยเงิน สวยอย่างเดียวไม่พอ ต้องขยันหาเงินเป็น แล้วจะอยู่รอดได้ ทั้งตัวเองและองค์กร”

ส่วนในมุมคนที่ไม่เห็นด้วย ก็มองอีกมุมว่า การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไปเป็นลักษณะนี้ มันผลักให้ “การประกวดนางงาม” กลายเป็น “เชิงพาณิชย์จนเกินไป”

และแฟนๆ เวทีสาวงามหลายคน พูดเป็นเสียงเดียวว่า พวกเขาอยากฟังทัศนคติจากตัวผู้ประกวด มากกว่ามานั่งดูนางงามขายสินค้า อย่างที่มีผู้ใช้ X รายนึงระบายไว้ว่า

“มันวนกลับแบบเดิม คือเอาผู้หญิงมา commercialize (เชิงพาณิชย์) เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบเฉยๆ มันเลยไม่ตอบโจทย์คนดูนางงาม เพราะตอนนี้มันไม่ empower ผู้หญิงแบบที่เคยเป็นไง”

บางคนก็คอมเมนต์แรงถึงขั้นว่า “คุณค่านางงาม ตอนนี้วัดกันที่ยอดขาย” performance และ สมอง กลายเป็นเรื่องกลายเป็นเรื่องรองไปเสียแล้ว บ้างก็บอกว่า “เมื่อก่อนนางงามมีหลากหลายอาชีพ” แต่ตอนนี้เหลือแค่ “แม่ค้า”



** นางงามของผมคือ “แม่ค้าที่เป็นนางงาม” **



เพื่อให้ได้คำตอบที่ตรงจุดมากที่สุด ทางทีมข่าวจึงติดต่อขอสัมภาษณ์ “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล”เจ้าของเวทีประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ และผู้ถือลิขสิทธิ์เวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์คนใหม่ จนได้คำตอบว่า ทำไมนางงาม ในยุค “บอสณวัฒน์” ต้อง “ไลฟ์ขายของ”?

เหตุผลก็คือ เพราะบอสมองว่า ผู้หญิงทุกคนที่เข้ามาประกวดในเวทีประกวดของเขา “ต้องประสบความสำเร็จในชีวิต”ชีวิตต้องดีขึ้น อย่างมีเงินเยอะขึ้น มีบ้าน มีรถ มีคนรู้จัก

“เพราะฉะนั้น การขายของมันเป็นประตูบานแรกๆ ที่คนทำงานสามารถทำได้ โดยที่ไม่ต้องลงทุน”

ยกตัวอย่าง “วีนา” ปวีนา ซิงค์ ก่อนจะคว้ามิสยูนิเวิร์ส สระบุรี2025 เธอก็สามารถไลฟ์ขายสินค้าไปถึง 10 ล้านบาท และได้ส่วนแบ่ง 10%จากยอดขายไป “ล้านกว่าบาท” นี่ยังไม่นับรวม ของรางวัลจากแฟนคลับที่ส่งมาให้ อีกประมาณ 1 ล้านบาท

“ของเราเน้นการกระทำ และเน้นสร้างมูลค่าให้กับผู้หญิงจากการกระทำครับ”


                                           {“วีนา” ไลฟ์สดขายของยอดกว่า 10 ล้าน}

คุณค่าของนางงาม ไม่ใช่การเดินโชว์บนเวที “แสดงทัศนคติสวยหรู”หรือ “ออกงานการกุศล”เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ที่ดี จะได้ชนะใจกรรมการ คนสมัยนี้เขาก็รู้ว่ามัน“ปลอม” และมันทำให้ “นางงามเป็นแค่ตุ๊กตา” ที่จับต้องไม่ได้

“ผมว่ายุคนี้ เป็นยุคRealityคุณต้องยอมรับว่า คนสมัยใหม่ และsocial network movementเขาไม่เชื่อคนพูด เขาเชื่อคนทำ คนที่ทำให้ประจักษ์จะเป็นที่ยอมรับ”

และการที่ “นางงาม”สามารถสร้างฐานแฟนคลับ “ทำให้คนหันมาซื้อสินค้าได้ด้วยเสน่ห์ของพวกเธอ”นี่ต่างหากคือ “empower”ที่จับต้องได้ นี่คือคุณค่าของนางงามที่สามารถสร้างธุรกิจได้

ส่วนคนไม่เห็นด้วยกับการจับนางงามมานั่งขายของ “ณวัฒน์”บอกว่า “ไม่แปลกที่พวกเขาจะคิดอย่างนั้น”เพราะเขายังติดอยู่กับภาพจำเดิมๆ ที่นางงามทำแค่ตอบคำถามให้ดี แล้วรอรับมงฯ แค่นั้น

“หลายคนอยากให้Miss Universeไม่ขายของ แต่ในขณะที่บริษัท Miss Universeเขาทำของออกมาขาย”


                                       {“ณวัฒน์” เจ้าของลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์}

ต้องเข้าใจก่อนว่า บริษัทต้นสังกัดของมิสยูนิเวิร์สเอง ก็อยากขายของ เพราะมันคือ “ธุรกิจบันเทิง” และธุรกิจจะอยู่ได้ ก็ต้องมี “เงิน” การขายจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งทุกวันนี้ “ธุรกิจนางงาม” คือ “พระอาทิตย์ตกดิน”ฉะนั้น องค์กรก็ต้องปรับตัว เพื่อให้อยู่รอด จะทำแบบเดิมๆ ไม่ได้

“มันจึงไม่แปลก ที่นางงามของผมจะขายของ ถ้าใครเรียกนางงามของผมคือแม่ค้า ผมอยากจะเรียกเต็มๆ ว่า แม่ค้าที่เป็นนางงามครับ”



** คุณค่าเปลี่ยนได้ เพราะมันเป็นธุรกิจ **

การไลฟ์ขายของ มันลดถอนคุณค่านางงามจริงไหม? เพื่อตอบคำถามนี้คงต้องคุยกับ กูรูเรื่องวัฒนธรรมการประกวดนางงาม อย่าง “ธง” ฐิติพงษ์ ด้วงคงอาจารย์พิเศษจาก วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์

ก่อนอื่น กูรูรายนี้บอกว่าเราต้องเข้าใจ “คุณค่าของนางงาม” เสียก่อนว่า มันเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และสภาพสังคม อย่างในยุค “อาภัสรา หงสกุล” นางงามจักรวาลคนแรกของไทย (พ.ศ.2502)

ภาพจำของนางงามตอนนั้นคือ ต้องรักเด็ก และเรียบร้อยเป็นกุลสตรีไทย โดยชุดคุณค่าพวกนี้ นางงามไม่ได้กำหนดเอง แต่เป็นเหล่า “ผู้จัดเวทีประกวด” “นายทุน” รวมถึง “บริบทสังคม” ณ ตอนนั้นเป็นคนกำหนด


                                      {“อาภัสรา” นางงามจักรวาลคนแรกของไทย}

“แต่คนที่สำคัญที่สุด ก็คือตัวผู้เข้าประกวด หรือนางงามเนี่ย จะสมาทานหรือจะรับชุดคุณค่านี้ไหม ถ้าเขารับชุดคุณค่านี้ มันอาจจะเป็นตัวที่เสริมพลังให้เขาก็ได้ หรือเป็นตัวที่เป็นภาระให้เขาก็ได้”

ทำให้ส่วนตัวกูรูนางงามอย่าง “ธง” มองว่า นางงามไลฟ์ขายของ ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะนิยามนางงาม ก็เปลี่ยนไปตามเวลา และตัวผู้จัดเวทีประกวดอยู่แล้ว ว่าจะนำเสนอนางงามในมุมไหน ซึ่งการขายของมันก็เป็นการนำเสนอพลังหญิงอย่างนึง

“เขามีรายได้เพิ่มขึ้น อันนี้คือว่าเป็นeconomic powerอย่างนึง เป็นพลังที่เขาสามารถสร้างให้ตัวเองได้ คือพลังทางการเงินใช่ไหม”                 


                                                     {“ธง” กูรูด้านการประกวดนางงาม}

กูรูนางงามรายนี้ ฉายภาพให้เราใจเรื่องนี้ว่า “การประกวดนางงาม” มันคือ “ธุรกิจ 100%” การทำกิจกรรมทุกอย่าง ก็ต้องหวัง “ผลกำไร” แม้เรื่อง “การแสดงทัศนคติ” ที่หลายๆ ชอบฟัง หรือ “ภาพลักษณ์ในการขับเคลื่อนสังคม”

มันก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า “social campaign” ที่จะเอาประเด็น ที่สังคมกำลังสนใจ มาเป็นคำถามหรือกิจกรรม ให้นางงามทำ มันก็เป็นการตลาดอย่างนึง

เราต้องเข้าใจโลกของนางงามว่า ข้างนึงของตาชั่งคือ “ธุรกิจ” ส่วนอีกข้างคือ “สร้างเสริมพลังหญิง” มันอยู่ที่ว่า ผู้จัดเวทีประกวดต่างๆ จะให้น้ำหนักเอียงไปทางไหนมากกว่ากัน







ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)






@livestyle.official ...อยากดูนางงาม ไม่ได้อยากเห็นแม่ค้า / ทำไมต้องให้นางงามมาไลฟ์ขายของ? / คุณค่านางงามยุคนี้ วัดกันที่ยอดขายแล้วเหรอ? และนี่คือคำตอบ @nawatofficial @tongaroyosmith @officialmuth @missgrandthailand... . เจาะดราม่า วัฒนธรรมเวทีนางงาม "มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์" ที่เปลี่ยนไปตามเจ้าของลิขสิทธิ์ "บอสณวัฒน์" ยืนยัน "ไลฟ์ขายของ" นี่แหละคือ "คุณค่านางงามที่จับต้องได้" . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #TikTokCommunityTH #นางงาม #บอสณวัฒน์ #nawat #TheNewEraofMUT #MGIxMUT #MissUniverseThailand #MissUniverseThailand2025 #MissGrandThailand #MissGrandThailand2025 #นับจากนี้ทุกพื้นที่มีแต่แกรนด์ #ขายของออนไลน์ #ไลฟ์สด #แม่ค้า #แม่ค้าออนไลน์ ♬ เสียงต้นฉบับ - LIVE Style


สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : Facebook “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล -Mr.Nawat Itsaragrisil”, “Miss Universe Thailand
, IG @veenapraveenar, @apasrahongsakula




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น