เรื่องฉาววงการผ้าเหลือง เจ้าอาวาสวัดดังอมเงินบริจาค แทงพนันออนไลน์ โซเชียลฯ ส่ายหัว เสื่อมศรัทธา “ทำบุญวัด” ชวนกัน “ทำบุญโรงพยาบาล” กูรูชี้ ระบบบัญชีวัดคือ “แดนสนธยา” ที่ไม่มีใครตรวจสอบได้
** ชวนเบนเข็ม บริจาค “ซื้อเครื่องมือแพทย์” โปร่งใสกว่า **
“เจ้าคุณแย้ม 888” หรือ “เจ้าอาวาสบำรุงเว็บ” เหล่านี้คือฉายาที่ชาวเน็ตตั้งให้ เมื่อ “พระธรรมวชิรานุวัตร (แย้ม กิตฺตินฺธโร)” อดีตเจ้าอาวาส “วัดไร่ขิง”หรือ “วัดมงคลจินดาราม”
“ถูกออกหมายจับ”เพราะ “ยักยอกเงินวัด” กว่า “300 ล้านบาท!!”ไปเล่น “พนันออนไลน์” หลังจากเข้ามอบตัว และถูกตำรวจสอบปากคำนานกว่า 8 ชั่วโมง สุดท้ายก็ไม่เหลือสมณะสงฆ์ คงไว้แค่ “ทิดแย้ม” ผู้ทำผ้าเหลืองแปดเปื้อน
ขยายความไปจับตัว “สาวนายหน้าเว็บพนัน” ที่ร่วมยักยอกเงินในคดีนี้ จนล่าสุดถูก “ฝากขังทั้งคู่” โดยศาลไม่ให้ประกันตัว
ตอนนี้ ตำรวจกำลังสอบสวน “ไวยาวัจกร” ผู้ดูแลเงินของวัดไร่ขิงรวมถึงนำกำลังบุกค้นวัดเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม เพราะเชื่อว่าทิดแย้มยังไม่สารภาพความจริงทั้งหมด และอาจทุจริตเรื่องทรัพย์สินมากกว่าที่ตรวจจับได้
{ลาสิกขา หลังถูกสอบเข้มกว่า 8 ชั่วโมง}
ส่งให้กลายเรื่องฉาววงการผ้าเหลืองครั้งใหญ่ เพราะคนทำเป็นถึงเจ้าอาวาสวัดดัง แถมตำแหน่งใหญ่โตถึง “เจ้าคณะภาค 14”ที่มีหน้าที่ดูแลสงฆ์ใน 4 จังหวัด อย่าง นครปฐม, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี และสมุทรสาคร
อีกทั้งยังเคยได้รับรางวัลมามากมาย เช่น “รางวัลเสาเสมาธรรมจักร” ผู้ทำประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา และปริญญากิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยดังๆ อีกหลายแห่ง
วิจารณ์กันหนักว่า ชั้นยศ-ตำแหน่งต่างๆ ไม่อาจบ่งบอกถึงความเคร่งครัดในธรรมวินัยส่งให้ชาวพุทธหลายรายเสื่อมศรัทธาในพระสงฆ์ จนถึงขั้นออกปากว่า นี่คือหนึ่งในสาเหตุที่ไม่อยาก “บริจาคเงินให้วัด”
ผู้คนจำนวนไม่น้อยชักชวนให้ “บริจาคเงินให้โรงพยาบาล” แทน เพราะดูมีระบบการจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตรงข้ามกับเงินบริจาคให้วัด ที่ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า สุดท้ายแล้วแรงหนุนจากศรัทธาเหล่านั้น ไปอยู่ที่ไหนและถูกนำไปใช้ทำอะไรหมด
{“ทิดแย้ม” อดีตเจ้าอาวาส “วัดไร่ขิง”}
แม้แต่ นพ.ศิริอนันต์ ประสิทธิ์ ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ เห็นประเด็นข่าวฮอตนี้แล้ว ยังอดไม่ได้ต้องขอโพสต์ชวนให้คนมาบริจาคให้โรงพยาบาลบ้าง จะได้นำเงินมาซื้อเครื่องมือผ่าตัดช่วยเหลือผู้ป่วยได้อีกหลายชีวิต
“เห็นข่าวทิด 888 ถลุงเงินเปย์สาว เล่นพนันออนไลน์แล้ว ได้แต่ละเหี่ยใจ ทิดจะรู้มั้ยว่า โรงพยาบาลหลายๆ ที่ ไม่มีเงินซื้อเครื่องมือในการรักษาผู้ป่วย
วันนี้ผมต้องผ่าตัดนิ่วเขากวางขนาดใหญ่ แต่ปัญหาคือเครื่องมือที่ใช้สลายนิ่วเป็นประจำเสีย สุดท้ายแก้ปัญหาด้วยการยืมเครื่องมือสลายนิ่วมาใช้ 2 สัปดาห์ สอบถามผู้แทนเครื่องมือ สนนราคา 2 ล้านกว่าบาท
ใจหนึ่งก็อยากให้ญาติธรรม หันมาทำบุญกับโรงพยาบาลบ้าง จะได้นำเงินมาซื้อเครื่องมือผ่าตัด ช่วยเหลือผู้ป่วย ใครคิดจะทำบุญกับโรงพยาบาล ก็ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ”
** “ดินแดนสนธยา” ที่ไม่มีใครตรวจสอบ **
ในเมื่อมีการโยกย้าย “เงินจากศรัทธา” ของญาติโยมกว่า 300 ล้านบาท ทางวัดไม่สงสัย หรือไม่มีใครตรวจสอบได้เลยหรือ?
นักวิชาการด้านปรัชญา จาก ม.ธรรมศาสตร์ เจ้าของงานวิจัยเรื่อง “เงินกับวัด” หลายชิ้น อย่าง “โจ้” รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ ช่วยตอบคำถามนี้ไว้ให้แบบตรงๆ ว่า...
“วัดหลายที่ก็เป็นแดนสนธยา เพราะว่ามันไม่มีระบบตรวจสอบอย่างละเอียด”
ระบบการเงินของวัด จะถูกดูแลโดยฆราวาสอย่าง “ไวยาวัจกร” หรือ “คณะกรรมการ” ที่ถูกแต่งตั้งโดย “เจ้าอาวาส” ซึ่งแต่ละวัดก็ไม่เหมือนกันอีกว่า จะมีแค่ไวยาวัจกรคนเดียว หรือจะมีคณะกรรมการจากชุมชนมาช่วยตรวจสอบ
“ถ้าวัดไหนดีเนอะ ท่านเจ้าอาวาสดี มีไวยาวัจกร มีคณะกรรมการวัด ที่มาจากหลายภาคส่วน แบบนี้มันก็จะมีการถ่วงดุล มีการตรวจสอบอะไรได้”
ซึ่งระบบแบบนี้มันก็หละหลวมมากๆ เพราะถ้าเจ้าอาวาสตั้งคนที่เป็นญาติพี่น้อง หรือเป็นพวกพ้องเดียวกันมาดูแลเรื่องนี้ ก็ไม่แปลกถ้าจะเกิดการฮั้ว-การโกงเงินบริจาค
“ไวยาวัจกรก็เบิกเงินให้ท่านเจ้าอาวาสได้เลย ไม่มีการตรวจสอบ รู้กัน 2 คน นึกออกไหม มันไม่ต้องผ่านกรรมการวัด ไม่ต้องผ่านตัวแทนชุมชน หรืออะไรเลย อย่างนี้มันก็มีความหละหลวม”
และแม้กฎหมายจะบอกว่า “วัด” ต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายรายเดือน ส่งให้ ”สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)”ของจังหวัดตรวจสอบ แต่เอาเข้าจริงหลายวัดกลับไม่ได้ทำบัญชีแจกแจงอย่างละเอียด
บางที่ใช้แค่เพียง “สมุดบันทึกเงินสด”ไม่ได้มีที่มาไปที่มาของเงินอย่างชัดเจน ทำให้ไม่มีใครรู้ว่ารายรับ-รายจ่ายที่วัดส่งไป มันตรงกับของจริงหรือเปล่า มีการตกแต่งบัญชีเงินบริจาคเพื่อกินส่วนต่างไหม เรื่องเหล่านี้ไม่มีใครรู้ได้เลย
{เพราะ “ศรัทธา” จึงไว้ใจ ไม่ต้องตรวจสอบ}
และนอกจากระบบบัญชีที่ไม่ชัดเจน กับการตรวจสอบที่หละหลวมแล้ว กูรูผู้ทำวิจัยเรื่อง “วัดกับเงิน” มาโดยตลอดบอกว่า อีกสิ่งนึงที่ทำให้ “วัดเป็นแดนสนธยาในเรื่องการเงิน” ก็คือ “ศรัทธา”
เมื่อคนศรัทธาก็เกิดความไว้ใจ ทำให้ไม่มีการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมองว่าทั้งวัด ทั้งพระ คือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”เลยไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ เพราะกลัวบาป
“พอวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ปุ๊บ มันก็ตรวจสอบไม่ได้ ถูกไหม พอตรวจสอบไม่ได้ มันก็เป็นแดนสนธยานั่นแหละ เราก็ไม่มีใครรู้เลย เรื่องการเงินก็ดี เรื่องบริหารจัดการก็ดี ใช่ไหมครับ เงินเข้านอกออกใน ไปตรงไหน ไปอย่างไร”
{“รศ.ดนัย” กูรูผู้ทำวิจัยเรื่อง “เงินกับวัด”}
** วัดต้องโปร่งใส พระวินัยของเข้มแข็ง **
คดีอมเงินวัด ยักยอกเงินบริจาคแบบนี้ มีหลายเคสมากๆ ซึ่งเชื่อได้เลยว่า “วัดไร่ขิง” ไม่น่าใช่เคสสุดท้าย และทางออกของเรื่องนี้ นอกจาก “วัดเปิดเผยบัญชีรายรับ-รายจ่าย” ให้สาธารณชนรับรู้ อย่างที่พูดกันมานานแล้ว
อีกทางนึงที่กูรูเสนอไว้คือ “คณะสงฆ์ไทย” อาจต้องมี “หน่วยงานดูแลเงินบริจาค” ของทางวัดโดยตรง คือทุกวัดที่ได้เงินบริจาค ต้องส่งเงินทั้งหมดมาให้หน่วยงานกลางนี้เก็บไว้
และถ้าวัดไหนขาดแคลนอะไร หรือต้องการนำเงินไปใช้ซ่อมบำรุงวัด ก็ให้เขียนเป็นงบประมาณเสนอมา ให้เหมือนกับการของบของหน่วยงานราชการต่างๆ
“มันก็จะไม่มีทรัพย์ส่วนเกิน ที่อาจจะเอาไปทำ ในแง่ทุจริตได้ นึกออกไหมครับ”
แต่ในอีกมุมก็อาจเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาใหม่ได้ ถ้าหน่วยงานที่มาจัดการเรื่องนี้ “ไม่มีความโปร่งใส” และกลายเป็นส่วนที่ทุจริตเสียเอง
ดังนั้น เรื่อง “พระอมเงินวัด” กูรูศาสนารายเดิมบอกว่า คงต้องกลับไปแก้กันตั้งแต่ระบบการศึกษาของพระ
เพราะการที่ “พระระดับผู้ใหญ่” แบบนี้โกงเงิน แสดงว่า “พระธรรมวินัย” สงฆ์ไทยเราหย่อนยาน เพราะต่อให้ระบบตรวจสอบจะแย่แค่ไหน แต่ถ้ายังยึดมั่นในหลักธรรม การทุจริตก็จะไม่เกิด
“ถ้าพระธรรมวินัยไม่ดีแต่แรกแล้วเนี่ย ไม่ประพฤติตามหลักการ ต่อให้มีระบบตรวจสอบดี มันก็ยังมีการหลบเลี่ยงได้อยู่ดี”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : Facebook “อนุวัต จัดให้”, “วัดไร่ขิง พระอารามหลวง”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **