xs
xsm
sm
md
lg

สภาพ “คอนเสิร์ต In Thailand” ให้ VIP ชาติอื่นฉ่ำ บอทซ้ำเติม-อัปราคา ไหน? ความจริงใจ “ผู้จัด” [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจาะ 2 เคสใหญ่ สะท้อนปัญหาเรื้อรังการจัดการ “คอนเสิร์ต” และ “แฟนมีต” จากผู้จัดไทย ที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้บริโภคไม่จบสิ้น


ทั้งเรื่อง “บัตรดีลลับ” ทั้งเรื่องไร้มาตรการป้องกัน “บอทลง” อย่างจริงจัง จนก่อให้เกิดวงจร “ขายบัตรอัปราคา” แบบขูดเลือดขูดเนื้อ ล่าสุด ปัญหาลุกลามไปถึงระดับ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” แล้ว!!

   




** “ผู้จัด” ไม่ช่วยป้องกัน = หนุนให้เอาเปรียบ (ทางอ้อม) **

[“2025 GOT7 CONCERT (NESTFEST) in BANGKOK” คอนเสิร์ตครั้งใหญ่ที่ถูกวิจารณ์ว่า เต็มไปด้วย ช่องโหว่ มากที่สุดงานนึง]
“2025 GOT7 CONCERT (NESTFEST) in BANGKOK” ถึงจะจบลงไปแล้ว แต่กลับยังถูกคอคอนเสิร์ตหยิบขึ้นมาพูดถึงกันอย่างเมามัน

ไม่ใช่แค่ในฐานะ “คอนเสิร์ตครั้งยิ่งใหญ่” ที่แฟนๆ ชาวอากาเซ่รอคอยมานาน 5 ปี แต่คืองานที่ถูกฟีดแบ็กจนล้นทะลักว่า สะท้อนการจัดการของผู้จัด ที่เต็มไปด้วย “ช่องโหว่มากที่สุด” ในหน้าประวัติศาสตร์งานโชว์บิซแห่งประเทศไทย

เกิดกลายเป็นมหากาพย์แฮชแท็ก #411ฟังเสียงอากาเซ่หน่อย ฮอตฮิตติดเทรนด์ จากการถูกแฟนเพลงวง “GOT7” เขียนจดหมายเปิดผนึกร้องเรียนผู้จัดอย่าง “411 entertainment (411ent)” ผ่านโซเชียลฯ ในหลายประเด็น จนต้องยกให้เป็นกรณีศึกษา

[ใช้ บอทรับกดบัตร กลายเป็น ธุรกิจสีเทา ฮอตฮิต เอาเปรียบผู้บริโภค]
โดยเฉพาะประเด็น “ไม่ฟังเสียงแฟนชาวไทย” มากเพียงพอ ไปจนถึง “ไม่ปกป้องสิทธิ์เจ้าของบ้าน” อย่างที่ควรเป็น วิจารณ์กันหนักเรื่อง “ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ” จาก “การกั๊กบัตรดีลลับ VIP” และ “ราคาบัตรแรง” สวนทางสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ แถมยังประกาศขายกระชั้นชิดเกินไป

รวมถึงปัญหาเรื้อรังในวงการโชว์บิซ อย่างประเด็นเรื่อง “บอทลง” คือมีพ่อค้าแม่ค้าประเภทโกยบัตรไป “ขายอัปราคา” อีกทีนึง ด้วยการใช้เทคโนโลยีแย่งกดบัตรจากแฟนคลับตัวจริง

[“LINGORM BIRTHDAY CHARITY 2025” มีตติ้งการกุศล ที่ถูก บอทลง ฉ่ำ]
พอๆ กับเคสงาน “LINGORM BIRTHDAY CHARITY 2025” มีตติ้งการกุศลที่ทางต้นสังกัดอย่าง “ช่อง 3” ตั้งใจตั้งราคาบัตรอยู่ที่ 600 บาท เพื่อฉลองเดือนเกิดให้ “หลิงออม” (หลิงหลิง-ศิริลักษณ์ คอง และ ออม-กรณ์นภัสเศรษฐรัตนพงศ์) คู่ขวัญแห่งยุคจากซีรีส์แซฟฟิก แต่กลับถูกบอทลงอย่างหนัก

ส่งให้แฮชแท็กที่ไว้ใช้อัปเดตความเคลื่อนไหวของงาน อย่าง #LINGORMBDCharity2025 และ #LINGORMBDCharityTicket เต็มไปด้วยประเด็นร้องเรียน สะท้อนช่องโหว่ “ระบบกดบัตร” ที่ดูจะยังมีความพยายามน้อยเกินไป ในการยุติ “วงจรเอาเปรียบผู้บริโภค”

[พ่อค้า-แม่ค้า ใช้บอทลง แย่งที่นั่งจาก แฟนคลับตัวจริง ไปปล่อยขาย โก่งราคา]
ที่น่าสนใจคือ ทั้งสองเคสกรณีศึกษานี้ คือความรับผิดชอบของ “ผู้จัดจำหน่ายบัตร” รายเดียวกัน นั่นก็คือ thaiticketmajor.com เจ้าของแพลตฟอร์มให้บริการ ที่ถูกคอคอนเสิร์ตและกลุ่มผู้ซื้อบัตรแฟนมีตเป็นประจำ พูดเป็นเสียงเดียวว่า ไม่เคยป้องกันบอทได้ ไม่ว่าจะให้บริการผ่านไปกี่ปี จนไม่แน่ใจว่าเคยใส่ใจพัฒนาระบบ ให้วิ่งตามทันกลโกงมากน้อยแค่ไหน






** ขึ้นชื่อว่า “In Thailand” แต่ไม่ฟังเสียง “คนไทย”? **


นอกนั้น สิ่งที่ทั้ง 2 ผู้จัดมีจุดร่วมเดียวกันก็คือ “การจัดงานโดยไม่ฟังเสียงแฟนๆ ชาวไทย” โดยในส่วนของผู้จัดคอนเสิร์ตใหญ่ของวง GOT7 ในครั้งนี้อย่าง “411 entertainment” นั้น ให้สิทธิ์คนไทยกดบัตรก่อนต่างชาติแค่ 4 ชั่วโมง

ทั้งที่คอนเสิร์ตสเกลเดียวกัน แต่ขึ้นชื่อว่า “In Seoul” หรือจัดที่เกาหลี ผู้จัดยังให้สิทธิ์พลเมืองแดนกิมจิกดบัตรได้ก่อนล่วงหน้า 1 วันเต็มๆ แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ จนแฟนเพลงชาวไทยสงสัยว่า แล้วทำไมคอนเสิร์ตที่ขึ้นชื่อว่า “In Thailand” ผู้จัดไทยถึงช่วยรักษาสิทธิ์ตรงนี้ไม่ได้?


หรืออย่างน้อยก็ควรให้เกียรติประเทศที่จัดบ้าง เพราะช่วงหลังๆ ศิลปินหลายๆ ราย แทบจะไม่พูด “สวัสดี” ทักทายแฟนๆ ชาวไทย แต่เลือกสื่อสารด้วยภาษาอื่น เพื่อเอาใจสัญชาติที่ได้ข่าวว่า ครองบัตรในสัดส่วนมากที่สุดในคอนเสิร์ตนั้นๆ ไปแล้ว

ยังไม่รวมคำตำหนิอย่างหนัก เรื่องที่ผู้จัดให้ “คนซื้อบัตรรอบ Local (แฟนชาวไทย)” กับ “คนซื้อบัตรรอบ Global (แฟนต่างชาติ)” เข้างานเพื่อเข้าไปจองที่ได้พร้อมกัน ทั้งที่ควรให้สิทธิ์ “คนไทยก่อน” ตามลำดับการกดบัตร ไม่อย่างนั้นจะให้สิทธิ์ “กดบัตรก่อน” แยกไว้ทำไมให้ยุ่งยากตั้งแต่แรก


ในฝั่งของผู้จัดอีกรายอย่าง “ช่อง 3” เอง ก็เพิกเฉยต่อเสียงของ “ผู้บริโภคชาวไทย” ไม่แพ้กัน คือแฟนๆ เรียกร้องให้ทางต้นสังกัดของ “หลิงออม” ป้องกันบอทลง แล้วเอาบัตรไปขายอัปราคา ด้วยการเปิดรอบ “ให้สิทธิ์คนไทยซื้อก่อน” แต่ผู้จัดกลับปัดตก ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่อยากให้แบ่งแยก หรือไม่แฟร์กับแฟนต่างชาติ

และสุดท้าย ผลออกมาก็ไม่แฟร์กับใครเลย เพราะถึงเวลากดบัตรจริง “บอทลงฉ่ำ” จน “แฟนคลับตัวจริง” ทั้งคนไทยและต่างชาติ ถูกขัดขวางจากกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์ ไม่ให้เข้าถึงสิทธิ์ที่ควรได้รับ

[จากราคาบัตร 600 บาท ทั้งฮอลล์ ถูกอัปราคาขายในเว็บจีน ทะลุหลักหมื่น]
ส่วนบัตรที่ควรถูกขายในราคา “600 บาท ทั้งฮอลล์” ก็ถูกเอาไปปล่อยในเว็บจีน ในราคาพุ่งสูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว คือมีตั้งแต่ “2,000 บาท” สำหรับที่นั่งไกลๆ ไปจนถึงระดับ “16,000-20,000 บาท” สำหรับที่นั่งโซนใกล้ชิดศิลปิน

คิดดูว่าขนาด “งานบุญ” ที่ผู้จัดตั้งใจตั้งราคาให้แฟนๆ ทุกคนเข้าถึงได้ ยังกล้ามี “คนใจบาป” เข้ามาแสวงหาประโยชน์ได้ขนาดนี้ ไม่ต้องพูดถึงงานแฟนมีตอื่นๆ เลยว่าจะเละเทะขนาดไหน ถ้าผู้จัดยังไม่ตระหนักว่า ควรแก้ปัญหายังไงให้ตรงจุด



** คอนเฟิร์มว่ามีจริง “ดีลลับบัตร VIP” **


[ปึ๊งบัตรคอนเสิร์ต “2025 GOT7 CONCERT (NESTFEST) in BANGKOK” ต้องสงสัย]
ภาพ “บัตรหนาเป็นปึ๊ง” อยู่ในมือตัวละครลับ เตรียมแจกจ่ายให้คอคอนเสิร์ตต่างชาติ คืออีกหนึ่งประเด็นเดือดที่ทำให้เหล่าอากาเซ่ หรือแฟนเพลง GOT7 ชาวไทย ตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะมีการ “ล็อกที่นั่ง” ให้ผู้ชมบางกลุ่มได้จับจองก่อน แบบไม่ต้องแก่งแย่งกดบัตรกับใคร

บวกกับข้อมูลจากประสบการณ์กดบัตรโดยตรงที่ว่า เข้าไปจองบัตรรอบ “Local” ที่ให้ “แฟนชาวไทย” กรอกรหัสบัตรประชาชนเข้าไปจองบัตรได้ก่อนรอบแรก แต่กลับมีบางโซนถูกปิดไว้ กดเลือกไม่ได้

[“ปูม” ช่วยวิเคราะห์ในฐานะคนวงในสายงานนี้ ผู้จัดงานคอนเสิร์ต Seen Scene Space และ Maho Rasop Festival]
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “คนวงใน” อย่าง “ปูม-ปิยสุ โกมารทัต” ผู้จัดงานคอนเสิร์ต Seen Scene Space และ Maho Rasop Festival ช่วยเผยข้อมูลกับทีมข่าวไว้ให้ว่า หลายๆ งานในสายนี้ อาจมี “ดีลลับ” จากคนกลางจริง เพื่อผลประโยชน์บางอย่างที่ “ยื่นข้อเสนอ” และ “ตกลงกัน” เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

“บางที เราไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจเองด้วยซ้ำ แต่เป็นทางต่างประเทศ บอกเราว่า ยูต้องทำสิ่งนั้น ยูต้องทำสิ่งนี้นะ ไม่ใช่ผู้จัด หรือศิลปินด้วยซ้ำ แต่เป็นคนตรงกลางน่ะครับ เป็นเอเจนซี่ แต่มันก็ยากที่เราจะปฏิเสธเขา”


วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในมุมมองผู้จัด ปูมแนะว่าให้ “สื่อสารข้อเท็จจริง” ออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อให้แฟนๆ เข้าใจถึงข้อแม้ต่างๆ ที่ดีลกันไว้ก่อนหน้า เพราะยังไงการแจ้งให้ทราบก่อนก็ดีกว่า มาตามแก้ปัญหา ตามขอโทษกันทีหลัง

“ถ้าผมเป็นคนจัด ก็อาจจะต้องดีลกับตัวเอเจนซี่ อันนี้ในเคสที่ผมรู้ล่วงหน้าแล้วว่า ต้องแบ่งบัตรคนจีนไปแล้วครึ่งนึง ถ้างั้นยูต้องให้ไอ 2 รอบนะ


รอบนึง เพื่อจะให้แฟนเพลง แฟนชาวไทยได้ซื้อได้เต็มที่ ถ้าไม่งั้น อย่างนี้ไม่พอกับความต้องการแน่นอน มันอยู่ที่การดีลไงครับ ตอนต้นทั้งหมดเลย



** บอทลงฉ่ำ อัปราคาขูดเลือดขูดเนื้อ **

[บอทลงฉ่ำ มี ที่นั่งว่าง ขึ้นโชว์ แต่ กดไม่ได้ สักที่ เพราะ บอทล็อกที่นั่ง]
“บอท” หรือ “ระบบกดบัตรอัตโนมัติ” คือศัตรูตัวฉกาจของแฟนๆ ชาวไทย จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังตามหลอกหลอน ทั้งคอคอนเสิร์ตและงานแฟนมีต

โดยเฉพาะเคสล่าสุดที่เกิดกับ “LINGORM BIRTHDAY CHARITY 2025” จากทั้งหมดกว่า 2,000 ที่นั่ง กลายเป็นปรากฏการณ์ “บอทลงฉ่ำ” จนหาคนไทยที่ได้ครองบัตรแบบ “นับหัวได้”

ถึงผู้จัดจะประกาศกติกาเอาไว้ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้วว่า “1 ชื่อ มีสิทธิ์ซื้อได้แค่ 1 ใบ” และชื่อที่กรอกไว้ ต้องตรงกับตอนแสดงตัวตนที่หน้างาน คือไม่อนุญาตให้โอนสิทธิ์ให้คนอื่นดูแทน และไม่อนุญาตให้เปลี่ยนชื่อในทุกกรณี

[ประกาศ ขอดึงบัตรคืน จากทาง ช่อง 3 และเจ้าของโปรเจกต์ ดิว-ปิ่นกมล มาลีนนท์]
แต่ “พ่อค้าแม่ค้าสายดาร์ก” กลุ่มที่หากินจากช่องโหว่ของระบบ ก็ยังคงใช้วิธีกระหน่ำบอทมาลง เพื่อโกยบัตรไปขายอัปราคา โพสต์ขายฉ่ำในเว็บจีน จากราคาจริง “600 บาททั้งฮอลล์” อัปเป็นราคาเริ่มต้น 2,000 ไปจนถึง 20,000 ตามความใกล้เวที

ถามว่าคนที่ซื้อบัตรต่อจาก “ร้านขายโก่งราคา” จะเข้างานได้ยังไง ในเมื่อ “ชื่อบนบัตรคอนเสิร์ต” ที่กรอกไว้ตอนซื้อ ต้องตรงกับ “ชื่อบนบัตรประชาชน-พาสปอร์ต”?

มีคนที่ลองขอล่อซื้อ จนได้คำตอบว่า ทางร้านใช้วิธีให้ยืม “บัตรแสดงตัวตน” เวียนกันไปเข้างาน เพราะคาดว่าท่ามกลางคนเป็นพันๆ เจ้าหน้าที่ไม่น่าจะจดจำใบหน้าและชื่อได้มากมายขนาดนั้น

[“พี่หลาม จิ๊กโก๋ไอที” กูรูไอที ช่วยวิเคราะห์อีกแรง]
เป็นที่มาของการที่ “ด้อมม่วง” หรือกลุ่มแฟนคลับของ “หลิงออม” ติดแท็ก #ม่วงไทยแพ้บอท พ่วงด้วยแท็กหลักของงาน #LINGORMBDCharity2025 #LINGORMBDCharityTicket ร้องเรียนไปถึง “ช่อง 3”

เมื่อทีมงานตรวจสอบ พบผู้ซื้อที่ใช้ “ชื่อซ้ำ” กับ “การกดบัตรที่ผิดปกติ” รวม 297 ใบ จึงนำมาสู่การขอ “ดึงบัตรคืน” กลับเข้าสู่ระบบ และเปิดขายใหม่รอบที่ 2 ซึ่งผลสุดท้ายก็ออกมาเหมือนเดิมคือ “บอทลง”

ทั้งที่การซื้อบัตรรอบที่ 2 เซ็ตระบบเอาไว้ว่า ต้องกรอก “เลขบัตรประชาชน” ก่อน ซึ่งคาดหวังกันว่าจะช่วยกันบอทได้ แต่ความจริงแล้ว กูรูอย่าง “พี่หลาม จิ๊กโก๋ไอที” (ที่รัก บุญปรีชา) ยืนยันว่า เป็นแค่การเพิ่มขั้นตอน

สุดท้าย บอทก็ยังวิ่งได้ไวเหมือนเดิม ด้วยระบบออโต้สคริปต์ (auto scripts) ที่สั่งการให้บอท “กรอกข้อมูล” ได้ไม่ต่างจากคน แต่จะ “เร็วกว่าคนถึง 4 เท่า” จนเหมือนลัดขั้นตอนภายในคลิกเดียว



** ตัดวงจร “ธุรกิจสีเทา” ทำได้แต่ไม่ลงทุน? **


[ช่องโหว่ บอทลง+โกยบัตรขายอัปราคา เกิดจาก ผู้จัดจำหน่าย รายเดียวกันคือ ThaiTicketMajor]
แล้วจะทำยังไง? ถึงจะสามารถ “ตัดวงจรค้ากำไรจากช่องโหว่” ของระบบจัดจำหน่ายบัตร ด้วยการใช้ “บอทลง” เพื่อเอาไป “ขายอัปราคาแบบขูดเลือดขูดเนื้อ” ไม่ว่ากับผู้บริโภคชนชาติไหน

ในมุมมองของผู้จัดคนนึงอย่าง “ปูม” ที่เคยดูแลคอนเสิร์ต Seen Scene Space และ Maho Rasop Festival มองว่า สามารถเรียกร้องให้ “ตัวแทนจำหน่ายบัตร” หาวิธีจัดการกับ “บอท” อย่างจริงจัง อย่างที่ตัวเขาเองก็เสนอแนะไปอยู่ตลอด

แต่ถ้าสุดท้าย ตัวแทนจำหน่ายบัตรรายนั้น จัดการอุดช่องโหว่ต่างๆ ได้ไม่ดีพอ ก็คงทำได้แค่ให้ฟีดแบ็กกลับไป แล้วเลือกใช้บริการรายอื่นๆ ที่แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและจริงจังกว่าแทน

[มีคนถ่ายแอบไว้ได้ พ่อค้า-แม่ค้า ใช้ บอทลง จองคอนเสิร์ต GOT7]
เรื่องของเรื่องก็คือ ถ้าตั้งข้อแม้เอาไว้ว่า สามารถใช้สิทธิ์เข้างาน “1 คน ต่อ 1 บัตร” เท่านั้น “บัตรที่มีชื่อซ้ำ” จะไม่สามารถใช้ได้ ก็ควรต้องเซ็ตระบบป้องกันเอาไว้ตั้งแต่แรกเลยว่า “ให้ตรวจจับชื่อซ้ำ” ถ้าเจอเมื่อไหร่ ให้ดีดออกทันที

แต่ช่องโหว่ที่เห็นจากเคส “LINGORM BIRTHDAY CHARITY 2025” ก็คือ ทางผู้จัดจำหน่ายบัตรอาจไม่ได้เซ็ตระบบป้องกันที่เหมาะสม หรือคุมเข้มมากเพียงพอ

[ดร.ปริญญา กูรูความปลอดภัยไซเบอร์]
อย่างที่ “ดร.ปริญญา หอมเอนก” กูรูด้านไอทีและความปลอดภัยไซเบอร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด และบริษัท ไซเบอร์ตรอน จำกัด อธิบายไว้ว่า ช่องโหว่อาจอยู่ที่ “รูปแบบการตรวจสอบ”

โดยปกติแล้ว หลักๆ สามารถตรวจได้ 3 รูปแบบ คือ 1.แบบ “Real-time” คือเช็กตลอดเวลาว่า มีข้อมูลซ้ำเข้ามาหรือเปล่า

2.แบบ “Near real-time” คือจะเช็กเป็นรอบๆ ทุก 1 หรือ 2 นาที

และ 3.แบบ “BATCH” คือจะเช็กข้อมูลแบ่งเป็นคาบเวลา เช่น ทุกๆ เที่ยงวัน หรือเที่ยงคืน ซึ่งการเซ็ตระบบให้เช็กแบบ 2 อย่างหลัง ทำให้ตรวจไม่เจอพฤติกรรมแปลกจากบอท หรือคนที่ไม่ทำตามข้อแม้


ส่วนข้อสงสัยที่ว่า ตัวระบบสามารถ “ดีดบอทออก” ได้หรือไม่? ถ้ากำหนดไว้ว่า คนซื้อบัตรห้ามใช้เวลาเกิน 20 นาทีต่อ 1 รอบซื้อ หรือให้ข้อแม้ไว้ว่า ต้องกรอก “ชื่อ หรือข้อมูลผู้ซื้อ” ภายใน 5 นาที แต่ตัวบอทอาจดึงเวลาไว้นานกว่านั้น เพื่อ “กั๊กที่นั่ง”

กูรูให้คำตอบไว้ว่า ระบบที่ตรวจจับเรื่องระยะเวลา เรียกว่า “Idle Time” เป็นระบบ “ตรวจจับความเคลื่อนไหว” ว่าถ้าไม่มีการขยับของเมาส์หรือคีย์บอร์ดตามเวลาที่กำหนด มันจะดีดผู้ใช้ออกจากหน้าเว็บ

แต่ถ้าเซ็ตโปรแกรมให้ “บอทคลิกไปเรื่อยๆ” ซึ่งสามารถตั้งค่าให้รัวได้ถึง 100 คลิก/วินาที บอทก็จะไม่ถูกดีดออก และอาจทำให้เกิด “การหน่วง” ยืดเวลากั๊กที่นั่งต่อไปได้อีกด้วย


ดังนั้น ต้องยอมรับว่า “การจัดการกับบอท” ถือเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่ถึงกับทำไม่ได้เลย คือการจะ “ดีดบอทออก” ไปได้ อาจต้องใช้ “เจ้าหน้าที่ไอที” มานั่งสังเกตเคสผิดปกติ แล้วดีดออกเป็นเคสๆ ไป ถ้าระบบที่เซ็ตไว้ยังมีช่องโหว่

แต่ถามว่าทั้ง “ผู้จัด” และ “ผู้จำหน่ายบัตร” จะจริงจังกับการจัดการตรงนี้แค่ไหน ถ้าต้องใช้ “งบประมาณ” ในการจ้างคนเพิ่มเพื่ออุดช่องโหว่ อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญอย่าง “พี่หลาม จิ๊กโก๋ไอที” วิเคราะห์เอาไว้ว่า...

“หน้าที่เขาคือขายบัตร ขายบัตรได้หมดเร็วภายใน 5 วินาที น่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับเขาหรือเปล่าครับ เขาไม่ได้แคร์ว่า ใครจะได้บัตรบ้าง เพราะสุดท้ายเขาได้เงิน



** “จริงจัง+จริงใจ” แก้ปัญหา ก่อน “ถูกแบน” **


[เพราะ ผู้จัด ตรวจสอบ ตัวแทนข้ามประเทศ ไม่ดี เกิดปัญหาลุกลาม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ]
ถ้าให้วิเคราะห์แล้ว ในเมื่อเจ้าของธุรกิจอาจไม่เดือดร้อนกับ “ข้อเรียกร้อง” เท่ากับเรื่อง “ขายบัตรไม่ได้” ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น การรวมพลังกันประกาศ “ไม่ซื้อ-ไม่สนับสนุน” อาจคือคำตอบที่ดีที่สุดในบางเคส

เหมือนอย่างที่ล่าสุด “แฟนคลับไต้หวัน” ออกมารวมตัวกันผลักดันแฮชแท็ก #SayNoToLingOrmThisTime หลังสืบพบว่าผู้จัดต่างแดน ผู้รับจัดงานแฟนมีต “LING & ORM 2025 Fan Meeting in Taipei” ที่จะมีขึ้นเดือน มิ.ย.นี้ น่าจะเป็นกลุ่มทุนจีนที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ


คือตรวจพบว่า เจ้าของบริษัทที่รับเป็นผู้จัดในไต้หวัน เป็นสมาชิกของ “คณะเยาวชนคอมมิวนิสต์” ซึ่งเป็นหน่วยงานนึงของทางการจีน ถือเป็นบุคคลที่มีสถานะซับซ้อน และอาจเข้าข่ายละเมิด กฎหมายระหว่างประชาชนคนไต้หวันกับจีน

รวมถึงพบความเคลื่อนไหวต้องสงสัยบนเว็บไซต์จีนด้วย ที่เริ่มโพสต์ขายบัตรจำนวนนึง ก่อนที่ระบบทางการของทางผู้จัดจะเปิดขาย เดากันว่าอาจคือ “บัตรแอบอ้าง” ไม่ก็เป็น “บัตรดีลลับ” ที่แบ่งขายไว้ก่อนตามฮั้วกันล่วงหน้า


ตอนนี้ ประเด็นร้อนนี้ถูกส่งไปถึง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของไต้หวัน” เรียบร้อยแล้ว จนกลายเป็นแถลงการณ์ขอความร่วมมือ “ไม่ซื้อบัตรเข้าร่วมแฟนมีตนี้” ถ้ายังไม่มั่นใจว่า จะได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้บริโภคจากผู้จัด

และอาจเป็นเคสกรณีศึกษา ที่ทำให้ทางต้นสังกัดอย่าง “ช่อง 3” หันมาตรวจสอบบริษัทข้ามชาติ ผู้เสนอตัวมาเป็น “ผู้จัดแฟนมีต” ข้ามประเทศว่า ทำงานอย่างโปร่งใสและมีมาตรฐานมากเพียงพอ ที่จะไม่ทำให้ “แบรนด์ของสื่อหลักระดับประเทศ” ป่นปี้ไปด้วยหรือเปล่า


แต่ที่แน่ๆ คือทำให้ตระหนักว่า “พลังของผู้บริโภค” ยิ่งใหญ่เพียงพอ ที่จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อม จนอาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนายทุนได้


ทั้ง “บริษัทต้นสังกัด” ผู้ดูแลศิลปิน ทั้ง “ผู้จัดคอนเสิร์ตและแฟนมีต” รวมถึง “ผู้จัดจำหน่ายบัตร” และตัวกลางต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ลุกขึ้นมาแก้ “ปัญหาเรื้อรังที่ซุกอยู่ใต้พรม” อย่างจริงจังและจริงใจเสียที










สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : X @OnlyYouSeriesTH, @411ent, @kyumbwbiw, @AS_gottwice, @virgogirl__, @ChPrartana, Facebook "411ent", YouTube "3Plus", @pts_itv_news, ch3plus.com



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น