ชาวสวนแตง “ตัดพ้อ” ยอมรับชะตากรรม “ขาดทุนยับ” โดนกันถ้วนหน้า “สินค้าเกษตรตกต่ำ-ล้นตลาด” ชี้จุดอ่อนที่ “รัฐไม่เคยคิดรับมือ”
** ราคาแบบนี้ แจกฟรีดีกว่า!! **
“สุกี้ตี๋น้อย ซับน้ำตา รับซื้อแตงโมวันละ 10 ตัน จนกว่าจะหมดฤดูกาลผลิต” คือหนึ่งในข่าวไวรัลที่ผู้คนพูดถึงกันมากที่สุด หลังผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำหนัก จนขาดทุนย่อยยับ ไร้วี่แววความช่วยเหลืออย่างจริงจังจากภาครัฐ จนพี่น้องประชาชนต้องเข้ามา “ช่วยอุ้มกันเอง”
ถามว่าร้านบุฟเฟ่ต์ดังร้านนี้ซื้อไปทำอะไร? คำตอบที่ได้อยู่ในโพสต์บนแฟนเพจ “สุกี้ตี๋น้อย” ที่ประกาศแจกแตงโมฟรีทั้ง 10 สาขา ซึ่งคือผลผลิตที่ส่งตรงจากไร่ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท นอกนั้นทางร้านไว้เสิร์ฟให้กินแบบไม่อั้น ระหว่างทานสุกี้และรอคิว
สะท้อนวิกฤติหนักของเกษตรกร ที่ทั้งต้องเผชิญกับภาวะ “สินค้าล้นตลาด” บวกกับ “ราคาตกต่ำ” โดยเฉพาะ“แตงปัด”หรือแตงโมไม่ได้ขนาด ผิวไม่สวย ไส้ไม่แดง ที่ราคาพุ่งลงเหว
ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว ต่อให้เป็นแตงปัด ก็ยังขายได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 6 บาท แต่ตอนนี้กลับเหลือเพียง “1 บาท/กิโลกรัม” อย่างที่ “หนูนา”ตัวแทนชาวสวนแตงโม ต.อู่ตะเภา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ให้สัมภาษณ์กับเราไว้ว่า เกษตรกรเครียดหนัก
ตอนนี้มีแตงปัดจำนวนมากกว่า “100 ตัน ที่ขายไม่ออก”จากที่ลงเงินไปกว่า 2 ล้าน กลับ “ขาดทุนยับ”กลายเป็นกี่บาทก็ยอมขาย เพื่อเอาไปเป็นค่าชุดนักเรียน ค่ากิน ค่าอยู่ ให้ลูกตอนเปิดเทอม
ไม่ใช่แค่แตงปัดที่ราคาตก แตงโมเกรดดีทั่วไปก็ตกเหมือนกัน เจ้าของไร่แตงโมแห่งนึงใน จ.อยุธยา บอกกับทีมข่าวว่า ปีนี้ราคาแตงโมร่วงลงมาถึง 2 บาท/กิโลกรัม
ส่วนเหตุผลที่ทำให้ราคามันตกมาได้ขนาดนี้ เป็นเพราะ “ประเด็นที่ 1 คือ ผลผลิตเราออกเยอะ แล้วออกพร้อมๆ กันในหลายพื้นที่ ประเด็นที่ 2 คือ คนไม่ซื้อ เศรษฐกิจไม่ดี”
{วิกฤติชาวสวน ราคาแตงโมตกต่ำ}
แล้วยังเคราะห์ซ้ำกรรมซัดไปกันใหญ่ เมื่อข่าวออกไปว่า “แตงโมเหลือกิโลฯ ละบาท” กลายเป็นว่า “คนไม่ซื้อแตงโม” จากพ่อค้า-แม่ค้าในตลาด ที่ขายลูกละหลาย 10 บาท เพราะ “คิดว่าขายแพง”
“พอพ่อค้า-แม่ค้าเขาขายไม่ได้ เขาก็จะไม่มาซื้อที่สวนเรา ถูกไหมครับ เพราะว่าประชาชนไม่มาซื้อของของพ่อค้า-แม่ค้าไง คือผลกระทบ มันเป็นลูกโซ่อะครับ”
ถ้ามีหน่วยงานรัฐเข้ามาเยียวยาหรืออุดหนุนบ้าง อะไรๆ ก็คงจะดีกว่านี้ แต่ก็เชื่อว่ารัฐไม่น่าเข้ามาช่วยได้ทั้งหมด เพราะเกษตรกรปลูกแตงโมกันเยอะมาก แค่เฉพาะเพื่อนๆ ชาวสวนที่รู้จัก รวมๆ กันก็กว่า 1,000 ไร่แล้ว
“ในปีนี้ อย่าพูดถึงผลกำไรเลย พูดถึงต้นทุนในการผลิตของเรา ไร่ละหมื่น 4 หมื่น 5 เนี่ย แต่เราต้องมาเจอวิกฤตในราคาแบบนี้ มันขาดทุนอยู่แล้วล่ะครับ”
** ล้มทั้งยืน ไม่มี “เบาะจากรัฐ” มารองรับ **
ที่น่าเศร้าคือ “แตงโม” ไม่ใช่ผลผลิตชนิดเดียวที่ตกต่ำ “มะม่วง” ก็เหมือนกัน เมื่อเพจ “พุทธรักษา ฟาร์ม”ร้านขายส่งโพสต์ภาพ “เทมะม่วงทิ้งจำนวนมาก”พร้อมบรรยายว่า “ขายยังไงก็ขายไม่หมด หมดความสามารถแล้วจริงๆ”
ด้วยเพราะมะม่วงเองก็ล้นตลาด และราคาตกหนักมาก เหลือเพียง “5 บาท/กิโลกรัม”ส่วนเหตุผลที่พวกเขาไม่นำไปบริจาค หรือแปรรูปเป็นสินค้าอื่น เพราะเป็น “ร้านขายส่ง”การทำแบบนั้น “มีแต่จะเพิ่มต้นทุน” สู้ปล่อยให้เน่าและเททิ้งจะเสียหายน้อยกว่า
{ราคามะม่วงร่วงหนัก จนต้องเททิ้ง}
ไม่ใช่แค่นั้น “เกษตรกรโคนม” ที่ จ.ลำพูน อ.แม่ทา ก็ต้องจำใจ “เทน้ำนมดิบทิ้ง”เหมือนกัน หลังบริษัทเอกชนจาก จ.สระบุรี ที่เคยรับซื้อน้ำนม ผ่านสหกรณ์โคนมแม่ทา “แจ้งยุติการซื้อ”
หลังมีมติจาก “คณะรัฐมนตรี (ครม.)”ที่อนุญาตให้นำเข้า “นมผง”มาจำหน่ายได้แล้ว ซึ่งมันถูกกว่าน้ำนมดิบ บวกกับมีมติ “ห้ามขายนมข้ามเขต”จึงผลักให้ผู้ประกอบการหลายราย “เลิกซื้อน้ำนมดิบ”จากเกษตรกร
สุดท้าย ชาวโคนม อ.แม่ทา เลยไม่สามารถขายน้ำนมดิบได้ และนมที่ผลิตออกมาแล้วก็เก็บไว้ได้ไม่กี่วัน มาลงท้ายที่ทำได้เพียงเททิ้ง กับแจกฟรีสำหรับชาวบ้านที่ต้องการเอานมไปทำปุ๋ย
{เกษตรกรโคนม อ.แม่ทา ลำบากหนัก}
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ “สุกี้ตี๋น้อย” ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่เคสของสวนแตงโม ยังถือว่ามีภาครัฐเข้ามาเคลื่อนไหวอยู่บ้าง อย่าง “พาณิชย์ จ.ชัยนาท” กับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงพลังจากพี่น้องประชาชน ที่เข้าอุดหนุนหลังทราบเรื่อง
ถึงอย่างนั้นก็ยังอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า วิกฤติของเกษตรกรระดับมหภาคขนาดนี้ ภาครัฐควรต้องขยับทำอะไรให้ชัดเจนมากกว่านี้หรือเปล่า? คืออาจกำหนดเป็นนโยบายระดับประเทศ ไม่ใช่แค่การช่วยเหลือบางพื้นที่ระดับจังหวัด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “จารึก ศรีพุทธชาติ” นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า วิกฤตสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ เราเจอกันทุกปี จากปัญหา “ปริมาณสินค้าล้นตลาด”
แต่ปีนี้หนัก เพราะดันมีพืชผักผลไม้หลายชนิด ออกมาพร้อมๆ กันในปริมาณมากกว่าปกติ ดังนั้น สิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำในระยะสั้นคือ “ชดเชยรายได้” ให้เกษตรกรในพื้นที่ที่เกิดวิกฤติ
“รัฐควรมีงบประมาณชดเชยให้เขาบ้าง ดีกว่าไปแจกเงินอีก แจกเงินให้เขาไปหมื่นๆ โดยไม่รู้ว่าทำอะไรเนี่ยนะครับ เอาเงินตรงนั้นมานี่ มาช่วยเกษตรกร”
โดยสามารถคำนวณได้ว่า ในพื้นที่ 1 ไร่ เกษตรกรลงทุนไปเท่าไหร่ และผลตอบแทนต่อไร่ ที่พวกเขาจะได้เป็นเงินประมาณไหน ถึงแม้ว่าอาจชดเชยได้ไม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มันก็ยังดีว่าให้พี่น้องเกษตรกรต้อง “ล้มทั้งยืน” อย่างที่เป็นอยู่
** สินค้า “ล้นตลาด” แต่ไม่เคยคิดช่วย “ขยายตลาด” **
จุดอ่อนที่ทำให้บ้านเมืองเรา ต้องเจอกับปัญหา “สินค้าเกษตรล้นตลาด”ทุกๆ ปี คือ “การผลิตที่มากเกินไป” และ “การตลาด”ที่รัฐไม่เคยคิดจะขยายพื้นที่การขาย หรือหาตลาดรองรับกับปริมาณที่ล้นออกมาทุกปี
ถามว่าถ้าล้นตลาด แล้วทำไมไม่ปลูกอย่างอื่น? “จารึก” อธิบายว่า จริงอยู่ที่หลายคนไม่ปรับตัว อย่าง “ชาวนา” ก็ปลูกข้าวอย่างเดียวไม่เปลี่ยนแม้ในวันที่ข้าวราคาตก นั่นเป็นเพราะ เขาขาดความรู้และเทคโนโลยี
บวกกับคำถามสำคัญ ถ้าเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่น แล้วจะต้อง “ขายให้ใคร” เพราะตอนนี้มีชาวสวนหลายคนที่ปรับตัว เปลี่ยนมาปลูกพืชผักหลายชนิด แต่ปัญหาคือ “ไม่มีตลาดรองรับ”
“ทางรัฐบาลเองจะต้องเป็นผู้หาตลาด เพราะว่าเกษตรกรอย่างผมปลูกเก่ง แต่ผมไม่รู้จะขายใคร”
{“จารึก” นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร}
แม้เราจะบอกว่า เกษตรกรคือกระดูกสันหลังของชาติ แต่ตลกร้ายคือเราเจอปัญหานี้กันทุกๆ ปี แต่กลับไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้า และหาตลาดส่งออกเพิ่ม เพื่อกระจายสินค้าที่ล้นออกมาทุกๆ ปีได้เลย
ตรงนี้เป็นหน้าที่ของ “รัฐบาล” นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เปรยว่า "การขยายตลาดสินค้าเกษตร” เป็นเรื่องที่ไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนทำอย่างจริงๆจังๆ เลย...
“ประเทศเราอ่อนเรื่องการตลาดครับ อ่อนมากเลย เรามีทูตพาณิชย์อยู่ต่างประเทศ แต่ไม่รู้ทำอะไรอยู่”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : Facebook “พุทธรักษา ฟาร์ม” , “สุกี้ตี๋น้อย” IG @puppy_malazapak
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **