xs
xsm
sm
md
lg

เปิดทริกตลบหลัง “โชเฟอร์ตีนผี” ช่องโหว่กฎหมายเคส “น้องการ์ตูน” 11 ปี ชนะคดี-ชีวิตพัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัดสินใจ... ปล่อยมือ “น้องการ์ตูน” เหยื่อกระบะตีนผี นอนติดเตียงมานาน 11 ปี ถึงศาลตัดสินให้ชนะคดี ชดใช้ 6 ล้านก็จริง แต่ทางปฏิบัติกลับไม่ได้สักบาท เพราะช่องโหว่ของกฎหมาย ปล่อยให้คู่กรณีลอยหน้าอ้าง “ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย”

** สู้มา 11 ปี สุดท้ายต้อง “ปล่อยมือ” **

11 ปี แห่งความทุกข์ทรมาน ความยุติธรรมไม่เคยเกิดขึ้นจริง สำหรับคดีของ “น้องการ์ตูน” หนูน้อยผู้โชคร้ายจาก “กระบะตีนผี เมาแล้วขับ” ตั้งแต่ ก.ย.57 ภายหลังทราบชื่อคนขับคือ “น้ำผึ้ง”

ผู้ซิ่งรถพุ่งเข้าชนร้านสเต็กลุงใหญ่ แถวย่านบางบอน กรุงเทพฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือคุณพ่อน้องการ์ตูน ซึ่งใช้ตัวบังลูกสาวเอาไว้ ส่วน “น้องการ์ตูน”ในวัย 5 ขวบ ก็บาดเจ็บสาหัส กระทบกระเทือนที่สมองอย่างรุนแรง ส่งผลให้ตาบอด และ “ต้องนอนติดเตียง” จนถึงทุกวันนี้

ผลตัดสินคดีคือ ศาลมีคำสั่ง “จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา”และ "ชดใช้ค่าสินไหม 6 ล้านกว่าบาท”ในส่วนคดีแพ่ง แต่ที่น่าสลดใจคือนับตั้งวันเกิดเหตุมาจนถึงวันนี้ ผ่านไป 11 ปี ครอบครัวน้องการ์ตูน “ไม่เคยได้รับเงินเยียวยา”ที่ว่าเลยสักบาท



                                 {วันที่ชีวิต “ครอบครัวเหยื่อ” เปลี่ยนไปตลอดกาล}

เพราะหลังชนะคดี ครอบครัวเหยื่อก็เริ่ม “สืบทรัพย์สิน” ของน้ำผึ้ง เพื่อนำมาเป็นค่าเยียวยาตามศาลสั่ง แต่กลับพบเพียงว่า “ไม่มีทรัพย์สิน”เลยสักบาท ที่จะสามารถยึดมาเป็นเงินได้

ทั้งที่ลือกันหนาหูว่า สาวตีนผีรายนี้ น่าจะโยกย้ายทรัพย์ เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าเยียวยา เพราะหลังพ้นโทษมาแล้ว ก็มือดีออกมาแฉกันหนักว่า ผู้กระทำผิดใช้ชีวิตแบบกินหรูอยู่สบาย ซึ่งตอนนี้คดีที่ให้ชดใช้เงิน ก็หมดอายุความไปแล้ว

                                       {น้องการ์ตูน ก่อนกลายเป็น “เหยื่อตีนผี”}

ล่าสุด “กอล์ฟ-ศรัญญา ชำนิ”คุณแม่ของน้องการ์ตูน ก็ออกมาบอกข่าวเศร้าว่า ตัดสินใจจะปล่อยน้องการ์ตูน ให้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ เพราะตอนนี้น้องไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้แล้ว พร้อมเปิดใจกับสื่อว่า ไม่อยากให้น้องต้องทรมานไปมากกว่านี้ แล้ว

“จริงๆ แล้ว ไม่มีแม่คนไหนหรอก อยากทำอย่างนี้กับลูก ในบริบทที่ว่า ลูกยังลืมตาได้อยู่ และมันดูใจร้ายเกินไปแต่ถามว่าถ้าแม่ยังมีแรงกำลัง ยังพอจะยื้อไว้ได้อีกสักหน่อย สำหรับให้มันฮีลใจครอบครัวเรา จนวาระสุดท้าย แม่ก็ยอมทำได้ทุกทางค่ะ”



ล่าสุด มีคนใจดียื่นมือเข้าช่วยเหลือ ด้วยการช่วยออกค่าเช่าเครื่องช่วยหายใจให้ จนกว่าน้องการ์ตูนจะจากโลกนี้ไป ตอนนี้ความหวังของครอบครัวจึงหลงเหลือแค่เพียงให้ได้อยู่กับน้องนานที่สุด ไม่ว่าเวลาจะสั้นแค่ไหนก็ตาม

“อาทิตย์ 2 อาทิตย์ ก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อย น้องก็ยังอยู่ใกล้เรา จนวาระสุดท้าย”



** “ความยุติธรรม” ที่ต้องตามหาเอง **

นี่คือเคสที่สะท้อนให้เห็นภาพชัดมากว่า “ความยุติธรรม” อาจเป็นได้แค่“กระดาษแผ่นเดียว”จากศาลซึ่งระบุไว้แค่ว่า “คุณชนะคดี” แต่เงินเยียวยา “ต้องไปตามกันเอง”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ กูรูด้านกฎหมายอย่าง “พีท” (ดร.พีรภัทร ฝอยทอง)ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ช่วยขยายความกับทีมข่าวเอาไว้

คือโดยปกติแล้ว เวลาคำสั่งศาลถึงที่สิ้นสุด ให้เราชนะคดี และให้คู่กรณีชดใช้ค่าเสียหายนั้น ถ้าคู่กรณีจ่ายตรงนั้นเรื่องก็จบ แต่ถ้า “ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย”มันก็จะกลายเป็น “ภาระของคนชนะคดี”ที่ต้องตามสืบทรัพย์เอาเอง


                                 {เป็นเสาหลักดูแลลูก จนล้มป่วยหลายรอบ}

ไม่ว่าจะ “สืบเอง” หรือ “จ้างสำนักงานทางกฎหมาย” ให้ไปดูว่า คู่กรณีมีทรัพย์สินอะไร อยู่ตรงไหนบ้าง จากนั้นก็ไปขอ “หมายบังคับคดี” จากศาล แล้วให้ “กรมบังคับคดี” มายึดทรัพย์ไปขายทอดตลาด

เรื่องของเรื่องก็คือ ถ้าเป็น “ทรัพย์สินที่มีทะเบียน” อย่าง “บ้าน” “ที่ดิน” “รถ” “หุ้น”หรือ “สมุดบัญชี” พวกนี้สืบง่าย แต่ถ้าเป็น “เงินสด” “ทอง” “พระเครื่อง” พวกนี้ตามยากมาก เพราะไม่รู้ถูกโยกย้าย หรือซ่อนอยู่ที่ไหนบ้าง

“ซึ่งโดยหลัก โดยทั่วไปแล้วเนี่ยนะครับ ในคำพิพากษาของศาล เมื่อเราชนะมาแล้ว เราจะมีระยะเวลา 10 ปี ในการที่จะไปติดตาม ไปยึดทรัพย์ ไปบังคับคดีตรงนี้ครับ”



ในเวลา 10 ปีนี้ ถ้าคนถูกฟ้องมีทรัพย์สินอะไร “ก็จะต้องโดนยึด” แล้วแปลงมาเป็น “ค่าเสียหาย” ที่ศาลสั่งให้ชดใช้ประเด็นคือถ้าเขา “ไม่มีเงิน” หรือ “ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดเลย” ทนายรายเดิมบอกว่า “เราก็ทำอะไรไม่ได้”

และเวลาจะยึดทรัพย์ กฎหมายบอกว่า ทรัพย์นั้นต้องเป็นของผู้กระทำผิดเท่านั้น ไม่สามารถยึดจากคนอื่นได้

แต่ถ้ามีหลักฐานว่า “ในระหว่างดำเนินคดี” หรือ “ตอนคดีสิ้นสุดแล้ว” มีการโยกย้ายทรัพย์สินไปเป็นชื่อคนอื่น เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย “อันนี้สามารถฟ้องร้องได้”

โดยเป็นการฟ้องคดีอาญาเรื่อง “ฉ้อโกงเจ้าหนี้” ได้ ซึ่งต้องระวางโทษ “จำคุกไม่เกิน 2 ปี” หรือ “ปรับไม่เกิน 40,000 บาท” หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ทนายรายเดิมก็บอกว่า “เราต้องเป็นคนหาหลักฐานเอง”



“ก็ต้องไปสืบหาให้ได้อะครับ ว่ามันมีการกระทำอะไร ที่เป็นการหลบเลี่ยงหรือเปล่า มีการใช้นอมินี ในการมาถือทรัพย์สินให้หรือเปล่า ถ้าสืบเจอได้เนี่ย ก็สามารถตามยึดได้ แต่ในความเป็นจริง มันค่อนข้างยาก”

อย่างที่บอกไป “เงินสด” “ทอง” “พระเครื่อง”เหล่านี้คือ “ทรัพย์สินที่ไม่มีทะเบียน”โยกย้ายได้ง่าย เพราะไม่ได้เขียนชื่อเจ้าของไว้ชัดเจน การตามก็เป็นเรื่องยาก

“การโอนทรัพย์หนี” แบบนี้เอง ที่ใครหลายคนในสังคมบอกว่า มันคือ “จุดอ่อนของกฎหมาย”ที่ทำให้ไม่สามารถตามไปยึดทรัพย์ได้ ไหนจะเรื่องที่คนชนะคดี ต้องไปตามสืบทรัพย์กันเองอีก

ที่ต้องทำกันเอง ตามกันเองแบบนี้ “ดร.พีท”อธิบายในมุมกฎหมายว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหาย หรือเงินเยียวยา มันคือ “คดีแพ่ง”รัฐถือว่า “เป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชน”ที่ต้องไปจัดการกันเอง

รัฐเข้าไปช่วยอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเป็น “คดีอาญา”อย่างในเคสน้องการ์ตูน มีคดีอาญา อย่างการประมาทจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต “เหยื่อสามารถไปขอเงินชดเชย”จากรัฐได้ “แต่เงินมันก็น้อยมาก”


                              {"พีท” ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย}

** กฎหมายทำได้แค่ “ยื้อเวลา” **

จากความคับแค้นใจ ทวงถามว่า “ความยุติธรรมจริงๆ ไม่เคยไปถึงเหยื่อเลย” ส่งให้หลายคนเสนอขอให้แก้กฎหมาย 

อย่าง “ยึดทรัพย์จากคู่สมรส” กับ “ใครก็ตามที่รับโอนทรัพย์” นั้น เพื่ออุดช่องโหว่นี้หรือแม้แต่ “การเพิ่มโทษคดีเมาแล้วขับ” กับ “การตั้งกองทุนเยียวยาเหยื่ออุบัติเหตุแบบถาวร” 

แต่ในวันที่กฎหมาย ยังไม่ถูกแก้ หรือช่องโหว่ยังไม่ถูกอุด ถ้าไม่อยากเจอความยุติธรรมที่ได้แค่กระดาษ แต่ไร้เงินเยียวยา ถามว่าจะทำยังไง?



กูรูด้านกฎหมายรายเดิม แนะเทคนิคเพิ่มให้ว่า เวลาตาม “สืบทรัพย์” สำหรับพวก “ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย” จะต้องทำแบบเงียบๆ ปล่อยให้คนพวกนี้ชะล่าใจ จนมีทรัพย์สินโผล่ออกมา เราค่อยไปตามยึดตอนนั้น

“ถ้าเป็นเคสอื่น บางที่ทนายเขาจะบอกว่า เงียบๆ ไปให้เขาชะล่าใจ พอชะล่าใจ ในปีที่ 8 ปีที่ 9 อย่างงี้ เขาอาจจะมีทรัพย์สินโผล่ขึ้นมา นั่นแหละครับ เราค่อยไปยึดทรัพย์ตรงนั้นก็ได้”

หรือในเคสที่คู่กรณีมีเงินเดือน หรือเป็นพนักงานบริษัท เราสามารถ “ขอยึดรายได้ต่อเดือน” ส่วนนึงมาชดใช้หนี้ หรือมาเป็นค่าเยียวยาได้ แต่ถ้าไม่มีเงินจริงๆ หรือพยายามหลบเลี่ยงที่จะจ่าย สิ่งที่ทนายรายนี้แนะคือ...

“ปกติในทางเทคนิคกฎหมาย ใกล้ๆ ครบ 10 ปี เราก็จะไปฟ้องอีกคดีนึง ก็คือไปฟ้องเป็น คดีล้มละลาย”

การฟ้องบุคคลล้มละลาย จะทำให้คนคนนั้นโดน “ติดตามทรัพย์สิน” เพื่อเอามาใช้หนี้ไปอีก “3 ปี” ถ้านับรวมๆ กัน เราจะมีเวลาติดตามยึดทรัพย์คู่กรณีทั้งหมดถึง 13 ปี นี่คือทั้งหมดที่ “กฎหมายทำได้” ในตอนนี้



และแน่นอนว่า ถึงสุดท้ายแล้วเหยื่อจะได้รับการเยียวยา แต่ก็ไม่อาจทดแทนความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้อยู่ดี ยิ่งกับเคสที่คู่กรณีไร้ความรับผิดชอบด้วยแล้ว ยิ่งตอกย้ำภาพพังของกฎหมายไทย ที่คล้ายซ้ำเติมชีวิตครอบครัวเหยื่อให้รู้สึกพังยิ่งกว่าเดิม

อย่างที่คุณแม่ของเหยื่อรถซิ่งรายนี้ พูดทั้งน้ำตาผ่านสื่อด้วยความรู้สึกอัดอั้นตันใจ ฝากเอาไว้เป็นบทเรียน และกรณีศึกษาให้แก่กฎหมายไทย

“ศาลสั่งมาให้เราชนะ แต่เราชนะ กลับมาเราได้กระดาษแผ่นเดียว เราชนะคำสั่งศาล แต่ไม่ได้ชนะความเป็นจริง

และคนที่ทุกข์ทรมานคือเหยื่อ มันไม่ใช่ตัวเขา (ผู้กระทำผิด) เขายังสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ตลอดเวลา แต่กับเรา มันพังไปหมดเลยนะ 11 ปีนี้ มันพังเรามาก

เวลาหลับตา มันจะชอบมีภาพเดิมๆ ของเหตุการณ์ เป็นภาพที่จำในตาเลยว่า 5-4-3-2-1 เป็นยังไง เห็นลูก จนงานศพ มันจะเป็นภาพนั้นตลอด

เขาทำเราจน 10 ปี เราสู้คดีชั้นศาล ก็จบไป แต่เขาจะหลอกหลอนเรามาตลอดชีวิต ด้วยเรื่องที่เขาทำนี่แหละค่ะ”



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : fb.com/steakhouseforcartoon, YouTube “ข่าวช่องวัน”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น