xs
xsm
sm
md
lg

ขอเลือกเป็น "ผู้ป่วยระยะร่าเริง" ปั้น "วิกผมแท้" สร้างวันใหม่ให้ "คนสู้มะเร็ง"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วิกผมเป็นสิ่งแรกที่อยากได้ แต่เป็นสิ่งสุดท้ายที่จะซื้อ” เปิดใจผู้ก่อตั้ง “มูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่” สะพานบุญเชื่อมใจ วิกผมแท้เพื่อผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ยิ่งเข้าใจมากขึ้นในวันที่เจอกับตัว แต่เลือกที่จะเป็น “ผู้ป่วยมะเร็งระยะร่าเริง”

ยิ้มรับ “มะเร็งระยะร่าเริง”

“คนจะชอบถามว่าเป็นมะเร็งที่ไหน เป็นระยะไหน พี่โจลี่ก็จะบอกว่าเป็นมะเร็งระยะร่าเริง เพราะว่าตั้งแต่เป็นมาก็ยังไม่มีวันไหนที่มันเศร้าหรือว่ามันดำดิ่ง รู้สึกว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้น เป็นการกระตุ้นเตือนให้เราใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น

สถิติไทย ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 300-400 คนต่อวัน อัตราการเสียชีวิตต่อวันก็อยู่ที่ประมาณ 200 ต้นๆ สิ่งนี้เกิดขึ้นทุกวัน ถึงแม้ไม่ใช่เรา ก็เป็นใครคนใดคนหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราอยู่ดีค่ะ ถ้าเราตั้งรับในสิ่งนี้ เจอแล้วเราไม่ได้ตระหนก”



เจ้าของแววตาอันมุ่งมั่น ที่กำลังนั่งอยู่ข้างหน้าเรา คือ “ดร.อรณัฏฐ์ อชีรญาวัฒน์” หรือที่สังคมรู้จักเธอในชื่อ “ดร.โจลี่” เธอคือผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ “มูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่”

องค์กรการกุศลแห่งเดียวในประเทศไทย ที่เป็นสะพานบุญ รับบริจาคเส้นผมจาก “คุณนางฟ้า” เพื่อนำไปทอเป็นวิกผมแท้ มอบให้แก่ “คุณวันใหม่” หรือผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ทั่วประเทศ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

แต่ใครจะไปคิดว่าการทำงานเคียงข้างผู้ป่วยมะเร็งมากว่า 10 ปี วันนึงต้องมาเผชิญประสบการณ์นี้เสียเอง เพราะตอนนี้ ดร.โจลี่ ก็เป็นอีกคนที่กำลังต่อสู้กับโรคร้ายด้วยเช่นกัน ถึงอย่างนั้น เธอกลับเรียกตัวเองว่า “ผู้ป่วยมะเร็งระยะร่าเริง”

“เมื่อปีที่ผ่านมาเองค่ะ เพิ่งตรวจเจอว่าเป็นมะเร็งเต้านม วันที่คลำเจอก็รู้สึกเหมือนเหยียบกับระเบิดเหมือนกัน ถามว่าตื่นเต้นไหม ตื่นเต้นค่ะ แต่ว่าไม่ตกใจ รู้สึกว่าเป็นอะไรก็เป็น สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดีเสมอ เมื่อเราเป็นมะเร็ง มันก็เป็นประโยชน์ค่ะ ทำให้เราทำงานได้ละเอียดขึ้น ทำให้เราทำวิกได้อย่างสวยงามมากขึ้น

เราก็ไม่รู้ว่าเรามาป่วยตรงนี้ได้ยังไง มะเร็งอาจจะมาจากหลายสาเหตุ แต่ว่าส่วนนึงกรรมพันธุ์ ในครอบครัวพี่โจลี่ก็มีผู้ป่วยมะเร็งค่อนข้างหลายท่านอยู่แล้ว เราก็มีความตระหนักเอาไว้ส่วนหนึ่งแล้วล่ะ ว่าวันนึงมันก็จะถึงคิวเรา



เป็นมะเร็งค่าใช้จ่ายสูงมากค่ะ รู้จุดเริ่มต้นแต่ไม่รู้จุดสิ้นสุด พี่โจลี่เลือกที่จะรักษาตามสิทธิ์ประกันสังคม เป็นสิ่งที่อยากจะแนะนำนะคะ ระบบสวัสดิการของเรามีเพียงพอ การรักษาปัจจุบันมีมาตรฐานที่ดีค่ะ เราตกลงใจกับคุณหมอคนไหน ถ้าใช่ก็ไปให้สุด ถ้าเรารักษาไปแล้วเราหยุดกลางทาง ค่ารักษาก็จะเพิ่มขึ้น โอกาสในการหายก็จะน้อยลงด้วยค่ะ

ถ้าเกิดเรารักษาโรงพยาบาลเอกชน เดือนนึงก็มีไม่ต่ำกว่า 50,000 ค่ะ เราอยากรักษาเหมือนเพื่อนร่วมเดินทาง ก็เลยเลือกใช้สวัสดิการที่เรามีค่ะ แต่ว่าเป็นการป่วยที่อบอุ่น เพราะว่าเราอยู่กับผู้ป่วย ตั้งแต่ทำจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่มาก็ 10 ปี”

นอกจากเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับการดูแลงานในมูลนิธิ เธอยังมีอีกหน้าที่หลักคือการเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย แถมยังทำงานทุกวันด้วยความคล่องแคล่ว ราวกับไม่ได้เจ็บป่วยอะไรด้วยซ้ำ

“หลักๆ ของพี่โจลี่คือสอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ปริญญาโท-เอก เรื่องการจัดการ ตอนนี้โฟกัสเรื่องของธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ว่าเราจะดำเนินกิจการเจริญก้าวหน้าขนาดไหน ถ้าเกิดเราไม่หันมามองสังคม เราก็ไปต่อไม่ได้เหมือนกันค่ะ

มีโรงพยาบาลต่างๆ เชิญไปบรรยายหรือว่าไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แม้แต่วันที่พี่โจลี่ไปให้เคมีบำบัด พอเราให้ยาเสร็จ เราก็จะเดินไปคุยกับผู้ป่วยท่านอื่น การที่เราป่วยเหมือนกัน เราเห็นสิ่งเดียวกัน เป็นการส่งต่อกำลังใจให้กันด้วยค่ะ



ทุกวันนี้ยังไม่มีวันไหนที่หยุดทำงานเลยค่ะ แต่เราก็ต้องดูความเสี่ยง อย่างเช่น ผลข้างเคียงเคมีบำบัดเข็มนี้ทำให้ขาเราไม่ค่อยมีแรง เราอาจจะทำงานที่ผาดโผนน้อยลง หรือว่าอาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้น

ผลข้างเคียง เจอครบตามฉลากยาเลยค่ะ ผมร่วง ชาตามปลายมือปลายเท้า เจ็บปวดตามปลายประสาท ปากเปื่อย ปากลอก แล้วก็เป็นแผลไปถึงทวารหนัก ทรมานค่ะ แต่เราจัดการได้ทุกอย่าง

อาหารเป็นสิ่งสำคัญ หลายๆ คนก็จะบอกว่าหาอาหารเสริม มื้อนึงมัน 200 กว่าบาท เราอาจจะจ่ายได้ แต่คนไข้หลายๆ คน เขาอาจจะไม่สามารถจ่ายได้ ที่พี่โจลี่ลองแล้วคิดว่าดีที่สุดคือ ไข่ต้ม กินไป 3 ฟอง ตอนนั้นกำลังเหี่ยวๆ คือดีดเลย เรารู้สึกว่าโปรตีนจากไข่หรือธรรมชาติดีที่สุดแล้ว แค่เราดูแลตัวเอง มันก็สามารถช่วยให้ผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้ค่ะ

การรักษาเป็นเรื่องของคุณหมอ เพราะเราคุยกันมาอย่างดีแล้ว ถ้าเราดูแลใจเราดี เราก็จะช่วยคุณหมอให้รักษาเราอย่างประสบความสำเร็จได้มาก วันนี้เราสามารถเลือกได้ ว่าอยากเป็นผู้ป่วยมะเร็งร่าเริง หรือว่าผู้ป่วยมะเร็งวิตกกังวล”

หยั่งรากลึก จิตสำนึกจิตอาสา

ก่อนที่มูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่จะก่อตั้งขึ้น แรกเริ่มเดิมที ดร.โจลี่ เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่เป็นจิตอาสา และตัดสินใจเรียนต่อทางด้านพยาบาลศาสตร์ ด้วยหวังว่าจะทำงานด้านการช่วยเหลือผู้คนได้ครบถ้วนครอบคลุมยิ่งขึ้น

“ตั้งแต่จำความได้ ก็โตมาในครอบครัวที่เป็นจิตอาสา ตั้งแต่ชื่อบ้าน ทรัพย์สนอง ที่บ้านสอนว่าทรัพย์สินที่ได้มา ต้องสนองคืนแก่แผ่นดิน ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เราต้องนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมไว้ก่อน โตมาพร้อมกับการโบกรถ กู้ชีพ กู้ภัย จับงู กระโดดขึ้นรถพยาบาล กระโดดขึ้นรถดับเพลิง ทุกคนในบ้านก็ทำจิตอาสากันหมดเลย

คิดตั้งแต่อยู่มัธยมแล้วค่ะ ตั้งใจมากๆ ว่าจะเรียนพยาบาล แรงผลักดันสำคัญเลย คุณตาเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลบ่อยๆ เราก็เลยคิดว่าถ้าบ้านเรามีใครสักคนนึงที่ได้ดูแลคนที่บ้านได้ก็น่าจะดี แล้วก็อยากดูแลสังคม ถ้าเราทำอาชีพที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ก็น่าจะช่วยเหลือตรงส่วนนี้ได้ดี


[ จิตอาสาทรัพย์สนอง จุดเริ่มต้นงานเพื่อสังคม ]

ประสบการณ์ ตอนนั้นเริ่มเรียนพยาบาล แต่ว่ายังไม่ได้เรียนในเรื่องของ CPR ครั้งแรกไปที่ร้านอาหาร ก็ไปเจอคนไข้หมดสติอยู่ เราก็ได้ทำ CPR แล้วก็ได้ช่วยเหลือ พาเขาส่งโรงพยาบาล เรียกได้ว่ามันอยู่ในสายเลือด

มีครั้งนึงที่ได้มีโอกาสไปทำคลอดให้แรงงานต่างด้าว คุณแม่เขาก็กลัวว่าตำรวจจะจับ กลางคืนเจ็บท้องก็ไม่กล้า เขาก็มาเรียกเราที่บ้าน เราก็ไปช่วยทำคลอด ช่วยตัดสายสะดือ แล้วก็นำส่งโรงพยาบาลให้ ช่วยทำคลอดตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาค่ะ”

ชีวิตของเธอวนเวียนกับการเป็นจิตอาสาเรื่อยมา จนกระทั่งคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กำลังจะครบรอบ 30 ปี จึงอยากจะทำกิจกรรมเพื่อสังคม จนได้ออกมาเป็นโปรเจ็คต์เล็กๆ ชื่อว่า “ภารกิจจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่”

แคมเปญนี้มาจากจิ๊กซอว์ชิ้นแรกคือ “พยาบาล-ผู้หญิง-ผมยาว” จิ๊กซอว์ชิ้นถัดมาคือ แจ็ค ฟีนิกซ์ เจ้าของร้าน Phoenix ช่างผมคู่ใจ ที่มาร่วมทำบุญด้วยแรง ด้วยการตัดผมให้ฟรี เพื่อรวบรวมเส้นผม นำไปบริจาคให้สถานที่ราชการ

พอรวบรวมผมจะส่งให้สถานที่ราชการ “ทุกแห่งปิดรับเส้นผม” เมื่อหาข้อมูล พบว่าค่าใช้จ่ายในการทอวิกสูงมาก แล้วก็เรื่องของการเก็บรักษาเส้นผม ต้องมีขั้นตอนที่เยอะมากๆ จึงคิดว่าถ้าเกิดเราเป็นส่วนเล็กๆ ที่ไปช่วยแบ่งเบาภาระได้ก็น่าจะดี



“หน่วยงานรัฐที่เปิดรับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือว่าสถาบันของรัฐ เขาก็จะไปจ้างทอวิก แล้วก็นำกลับมาบริจาคให้กับผู้ป่วย ยังไม่ได้มีที่ไหนที่ทำทั้งรูปแบบและเป็นระบบ การับบริจาคผมต้องมีการจัดการค่อนข้างเยอะ

เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่อยู่ที่ประมาณ 130-140 คนต่อวัน เราก็เลยนำผมที่รวบรวมมาได้ ไปหาสถานที่ทอวิก จึงพบว่าค่าทอวิกสูงมาก ตั้งแต่หลักพันต้นๆไปจนถึงหลักหมื่น

พอเรานำไปมอบให้กับผู้ป่วยมะเร็งคนแรก น้องบอกว่า ‘ไม่คิดว่าใครสักคนที่ไม่ใช่คนในครอบครัว จะทำเพื่อเขาขนาดนี้’ เวลาที่ป่วย เป็นเรื่องปกติที่คนในครอบครัวจะช่วยอยู่แล้ว แต่คนนอกครอบครัวทำให้ เขาเลยรู้สึกว่าสิ่งนี้มันมีพลังสำหรับเขามากๆ พลังนั้นก็ส่งมาถึงเราด้วย ก็เลยถามเพื่อนๆ ว่าไปต่อไหม เราก็นำผมที่เรารับบริจาค ไปทอวิก แล้วก็ไปกันเรื่อยๆ ค่ะ”

สิ่งที่ตามมา กลายเป็นว่าได้รับการตอบรับดีเกินคาด มีคนบริจาคเส้นผมเข้ามามากมาย แต่ด้วยต้นทุนการทอวิกที่ค่อนข้างสูง จนคนเบื้องหลังภารกิจจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่หาทุนไม่ไหว ตอนนั้นก็เกือบจะพับโครงการเข้ากรุไปด้วยซ้ำ


[ พยาบาล-จิตอาสา ทำหน้าที่อย่างกลมกลืน ]

“ไม่คิดว่าคนจะอยากทำเยอะขนาดนั้น ตอนนั้นเปิดเพจชื่อ “Dr.Jolie” ช่วงรับบริจาคในปีแรก คนส่งมาเกือบ 1 คอนเทนเนอร์ เรารู้สึกว่าเราหาเงินไม่ไหว เพราะว่าค่าทอ ตอนนั้นตกอยู่ที่เกือบ 2,000 ต่อหัว ก็เลยประกาศปิดเพจ

แต่ว่าจะรับผิดชอบผมทั้งหมด มาทอเป็นวิกด้วยทุนของเราเอง เพื่อนๆ ในเพจก็บอกว่า อยากร่วมบริจาค แต่ในมุมของเราถ้าจะให้รับเงินในนามส่วนตัว ก็ไม่สะดวกที่จะรับ และรู้สึกว่าจะทำอะไรมันต้องโปร่งใส พอเราเริ่มมีผู้สนับสนุนอยากมาช่วย เราก็เริ่มดำเนินการจดทะเบียนเป็น มูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่ ตามชื่อโครงการเลยค่ะ

เราอยากทำกิจกรรมที่ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง นางฟ้าเราสื่อถึงผู้ให้ เรายกย่องเขาเป็นนางฟ้า คุณวันใหม่คือผู้ป่วยมะเร็ง เขาไม่อยากให้เรียกว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็ง และทันทีที่ค่าเลือดแตะค่าปกติ เขาจะบอกว่าเป็นอดีตผู้ป่วย

มีจิ๊กซอว์อีกชิ้นนึงที่สำคัญ ตอนนั้นไปบวชที่เสถียรธรรมสถาน ท่านอาจารย์แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ให้ไปดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย ที่อโรคยาศาล วัดคำประมง การที่เราไปเยียวยาผู้ป่วย เขาจะไม่พูดถึงเรื่องโรค เรื่องการเจ็บป่วย และไม่อยากบอกว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยมะเร็ง คำว่ามะเร็งมันเป็นคำที่แสลงใจหลายๆ คน ก็เลยอยากใช้คำอื่นแทน

คุณวันใหม่หมายถึงความมั่นใจ เพราะทุกคนที่ได้ใส่วิก เหมือนกับมงลงค่ะ แล้วก็เปลี่ยนโฟกัสการคุย แทนที่จะคุยเรื่องโรค เรื่องการรักษา เขาจะรู้สึกว่าอยากจะลุกขึ้นมาแต่งตัว พอได้ใส่วิกแล้วก็เหมือนได้กลับไปใช้ชีวิตอีกครั้งนึง”

วิกนางฟ้า 19,000 หัว ภารกิจเพื่อคุณวันใหม่

จากโปรเจ็กต์เล็กๆ ในวันนั้น ผ่านเวลามา 1 ทศวรรษ มูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่ ค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง และได้ผลิตวิกผมแท้เพื่อผู้ป่วยมะเร็งไปแล้วเกือบ 19,000 หัว

“ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในวันที่เราเริ่มทำ 130-140 คนต่อวัน ครึ่งนึงเป็นผู้หญิง ผลกระทบสำคัญต่อคุณภาพชีวิตคือผมร่วง วิกผมเป็นสิ่งแรกที่อยากได้ แต่เป็นสิ่งสุดท้ายที่จะซื้อ เพราะเขาอาจจะใช้เงินทั้งหมดที่หามาทั้งชีวิตกับการรักษา

วิกผมแท้มีราคาสูงมากประมาณ 10,000 บาท ถ้าถูกกว่านั้นก็ 5,000-6,000 อยู่ที่ระดับผมสั้น วิกผมแท้จะมีความมั่นใจมากกว่า เพราะจะมีความเหมือนจริงมากกว่า เขาไม่อยากให้ใครจับจ้องว่าเป็นมะเร็ง หรือจับจ้องว่าใส่วิกหรือเปล่า

เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มทำจากเป็นกลุ่มจิตอาสา ก็จะได้เดือนละ 10 หัว 20 หัว ตามกำลังที่เรามี ปัจจุบันพอก่อตัวเป็นมูลนิธิ เราทำได้อยู่ที่ประมาณ 200-300 หัวต่อเดือนนะคะ จำนวนมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอค่ะ

หลายๆ ท่านอยากให้ทอให้เร็วกว่านี้ ข้อดีคุณนางฟ้าได้เห็นวิกเร็ว แต่ข้อเสียมันมากกว่านั้น เส้นผมอยู่เป็นช่อผม เราเก็บรักษาได้เป็น 10 ปี แต่เส้นผมที่ขึ้นเป็นโครงวิกแล้ว จะมีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี ถ้าเราดูแลไม่ดี ก็อาจชื้นหรือขึ้นราได้”


[ วิกนางฟ้าถึงคุณวันใหม่ ]

สำหรับกระบวนการก่อนจะได้วิกผม 1 หัว ก่อนที่จะมาบริจาค ต้องลงทะเบียนในระบบก่อน และในการบริจาคเส้นผม 1 ครั้ง ทางมูลนิธิขอความอนุเคราะห์ในการร่วมสมทบเงิน 350 บาท ขึ้นไปตามจิตศรัทธา เพื่อนำไปเป็นค่าทอวิก

ใน 1 ปี ทางมูลนิธิจะเปิดรับบริจาคเส้นผมทั้งหมด 4 รอบ เรียกว่า ระบบรถไฟนางฟ้า แต่ละรอบจะเคลื่อนขบวนไปพร้อมๆ กัน เมื่อส่งเส้นผมมาแล้ว ก็จะติดป้ายชื่อของคุณนางฟ้าไว้ที่ช่อผม

มีการคัดแยกผมให้เป็นชนิดเดียวกัน ความยาวใกล้เคียงกัน ชั่งน้ำหนักให้ได้ประมาณ 500 กรัม ก่อนแพ็กเป็นวิก 1 หัว และ run number ว่าเป็นวิกชิ้นที่เท่าไหร่ จึงส่งออกไปโรงทอวิก ที่ตอนนี้ทั้งหมด 3 แห่ง

ทางโรงพยาบาลจะมีคำร้องมาว่าต้องการวิกจำนวนเท่าไหร่ จากนั้นก็จะส่งออเดอร์ไปยังโรงทอต่างๆ โดยมี บริษัท จิตอาสา วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นผู้ควบคุมการผลิตให้ ซึ่งวิกผมที่เสร็จเรียบร้อย ก็จะกระจายสู่ ธนาคารนางฟ้า


[ ทอมือเส้นต่อเส้นด้วยความตั้งใจ ]

“เราบริหารจัดการเป็นระบบ ธนาคารนางฟ้า ส่งมอบวิกให้กับโรงพยาบาล ผ่านบุคลากรทางการแพทย์ที่มีการคัดกรองว่าคือผู้ป่วยจริงๆ ระบบธนาคารคือการยืม-คืน อย่างผู้ป่วยที่ให้เคมีบำบัด ประมาณ 6 เดือน ผมเขาก็จะยาว เขาไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วิกแล้ว ก็สามารถนำกลับมาคืนที่โรงพยาบาล ตอนนี้เรามีเครือข่ายธนาคารนางฟ้าเกือบ 100 แห่งทั่วประเทศค่ะ

หรือบางคนก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก คือวันที่เขาผมร่วง วันที่เป็นมะเร็ง แต่วันที่เขารับได้กับสภาพนี้แล้ว เขาอาจจะใส่วิกแค่โอกาสสำคัญในชีวิต ใส่ไปงานแต่งงานลูก ใส่ไปงานบวช แล้วก็นำไปคืน ให้ผู้ป่วยคนอื่นๆ ได้ใส่ต่อค่ะ

ผู้ป่วยที่ได้รับวิกไป เรียกได้ว่าเป็นคุณวันใหม่จริงๆ เพราะเขารู้สึกว่าอันนี้มันเป็นโอกาส มีคนไข้รายนึงที่โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี สามีไปเลือกวิกให้ภรรยาที่เป็นผู้ป่วยไม่สามารถลุกจากเตียงได้ เขาบอกว่า ‘พ่อบอกแม่แล้วว่าแม่ใส่วิกนี้แล้วต้องสวยมากๆ’ ผู้ป่วยจากที่ลุกไม่ไหว เขาก็ยืนและลุกขึ้นมากอดกัน ทำให้เรารู้สึกว่าวิกผมมันคือกำลังใจ

ถ้าผู้ป่วยที่ไปให้เคมีบำบัด เขาก็จะให้ยารอบเดียวกัน ในรอบนั้นก็จะใส่วิกทั้งวอร์ด แล้วก็แต่งตัวสวยๆ มันก็ทำให้บรรยากาศในการรักษาดีขึ้น คุณหมอบอกว่าอยู่ในกระบวนการรักษาได้นานขึ้น เพราะเขามีเพื่อนร่วมเดินทางค่ะ”

เซตระบบเข้ม อุดช่องโหว่มิจฉาชีพ

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามิจฉาชีพแทรกซึมอยู่ทุกวงการจริงๆ แม้แต่วงการเส้นผมก็ยังไม่รอด ดร.โจลี่ เล่าว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เส้นผมมีมูลค่าไม่ต่างอะไรกับทองคำ โดย 1 บาททองคำจะอยู่ที่ราวหมื่นกว่าบาท

“ที่เราเริ่มระบบธนาคารนางฟ้า เพราะว่ามีมิจฉาชีพมาหลอกขอวิกผม เราก็มีการตรวจสอบประวัติ มีการสัมภาษณ์ ใช้ใบรับรองแพทย์ แต่เอกสารทุกอย่างปลอมหมดค่ะ รับวิกไปเขาก็หาย ให้ตำรวจติดตาม ปรากฏว่าเขาก็เป็นเหมือนมิจฉาชีพ

มิจฉาชีพมาหลอกขอเส้นผมจากเรา บอกว่าเดี๋ยวจะเอาไปช่วยทอที่โรงงานนึง เขาก็เอ่ยชื่อโรงงานมา เราก็รู้สึกเอะใจ ก็ตรวจสอบไปยังโรงงาน เจ้าของโรงงานบอกว่าเขาไม่ได้ทอให้คนกลุ่มนี้ แล้วก็ไม่ได้ทอวิกบริจาค ก็เลยไปแจ้งความกัน

ด้วยความโชคดีที่เรา เหมือนนำสืบ บอกข้อมูล เขาได้ปกป้องชื่อเสียงของโรงงาน เจ้าของโรงงานเห็นความตั้งใจของเรา อยากทอวิกไหม เขาจะสอน ณ ตอนนั้น การเรียนทอวิก 1 คนต่อเดือน อยู่ที่ 70,000 บาท เขาให้เราไปเรียน 2 คน เราก็เลยร่วมมือกับโรงงาน คือ DL Thaihair Factory ก็เลยได้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดโรงงานค่ะ เราก็เรียกว่าโรงทอฝันแห่งแรกค่ะ

วิกผมเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าสูงค่ะ วิก 1 หัวมีมูลค่า 10,000 บาท ในวงการนี้มิจฉาชีพก็เยอะมาก ถ้าเกิดแจกใครก็ได้ ก็จะมีมิจฉาชีพ เข้ามาหลอกขอวิกเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยก็อาจจะไม่สามารถเข้าถึงวิกได้



เส้นผมมีมูลค่า เราก็ไม่อยากให้เส้นผมที่คนบริจาคมาเขาเสียกำลังใจ ว่าเราเอาไปทำแล้วเราไม่ดูแลผมเขาให้ดี แม้จะเป็นผมคนอื่น แต่เราก็จะดูแลอย่างดีที่สุด พอวันที่เป็นมูลนิธิยิ่งต้องเรียกว่าตระหนักมากขึ้น”

นับตั้งแต่ช่วงแรกก่อตั้งมูลนิธิจนถึงตอนนี้ เหล่ามิจฉาชีพก็ยังไม่ไปไหน ยังคงสรรหาวิธีใหม่ๆ มาหลอกลวงได้เสมอและที่มูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่ มีระบบการทำงานที่ชัดเจนแบบนี้ ก็เพื่อปกป้องตนเองและผู้บริจาคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

และมีการจดทะเบียนมูลนิธิถูกต้องตามกฎหมาย เป็นองค์กรการกุศล ตามประกาศกระทรวงการคลังลำดับที่ 1006 สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ในเว็ปไซต์กรมสรรพากร

“พี่มิจฯ อยู่กับเราตั้งแต่ปี 58 จนถึงปัจจุบัน 1.มูลนิธิเสียหาย เพราะเขาไปหลอกว่าเป็นมูลนิธิ ไปหลอกรับบริจาคเส้นผม ไปหลอกรับบริจาคเงิน

2.เขาไปหลอกผู้บริจาค ว่ามีคุณแม่ป่วยเป็นโรคไตระยะสุดท้าย และไม่อยากแย่งวิกผมผู้ป่วยมะเร็ง พอดูที่หน้า Facebook ว่าคนไหนอยากบริจาค เขาก็จะติดต่อไปโดยตรง และเลือกผมที่ยาว 16 นิ้วขึ้นไป จะเลือกแต่ผมสวยที่ยาวมาก

เส้นผมนี้นำไปขายได้ ผู้เสียหายส่วนใหญ่ก็จะเป็นคุณนางฟ้าในเพจ เดือนนึงที่โดนไม่ต่ำกว่า 10 ราย ตำรวจแนะนำให้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้เป็นคดีพิเศษค่ะ ก็ยังมีโดนอยู่เรื่อยๆ


[ ระบบ From Angel Tracking เช็กได้ตลอดเส้นทาง ]

พอเขามาใกล้ตัวมากขึ้น มันกระทบต่อการทำงานของเรา และกระทบต่อคุณนางฟ้า เส้นผมตอนนี้ ตกกิโลละประมาณ 20,000 ค่ะ รวมมูลค่าความเสียหายต่อคน รวมกันแล้วค่อนข้างเยอะมากค่ะ

มูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่ มีแฟนเพจอยู่เพจเดียว ชื่อเพจ ‘จากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่’ เราจะไม่ให้เจ้าหน้าที่ทักไปหาส่วนตัวเลย ถ้าทักไปหาส่วนตัว 100 เปอร์เซ็นต์อันนั้นคือพี่มิจฯ แน่นอน เรื่องของการรับบริจาคเส้นผม เรามีระบบ From Angel Tracking สามารถแทร็กได้ทั้งระบบว่าส่งผมมาแล้ว เข้าสู่กระบวนการไหน ก็จะทำเป็นรูปแบบทั้งหมดเลย

แหล่งรับบริจาคเส้นผมก็มีมากนะคะ แต่ในประเทศไทย จะมี พ.ร.บ. การเรี่ยไร ซึ่งจริงๆ แล้วบุคคลทั่วไปไม่สามารถรับบริจาคเส้นผมได้ หากไม่ได้เป็นมูลนิธิ ก็ต้องทำเรื่องขออนุญาติกับกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นจะบริจาค ก็ต้องขอดูว่าเขามีใบสำหรับการรับบริจาคหรือเปล่า อย่างน้อยๆ คุณต้องตรวจสอบที่มาที่ไปได้”

ติดปีกให้ “นางฟ้าหลังกำแพง”

ไม่เพียงแค่ ‘คุณวันใหม่’ ที่มีความสุขกับการได้รับวิกผมเท่านั้น แต่นี่ยังเป็นการหยิบยื่นโอกาสอันยิ่งใหญ่ ให้กับผู้เปราะบางทางสังคม คือ กลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย และ ‘นางฟ้าหลังกำแพง’ ซึ่งก็คือผู้ต้องขังหญิง ผ่านการฝึกอาชีพ

“ตอนนี้มีเรือนจำที่อยู่ในโครงการ 2 แห่ง เรือนจำกลางอุบลราชธานี กับเรือนจำกลางราชบุรีค่ะ แต่ว่ายังมีอีกหลายเรือนจำที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่วิกนางฟ้า ยังมีผลิตภัณฑ์ผ้าสำหรับผู้ป่วย ที่เรากระจายไปอีกประมาณ 5 - 6 เรือนจำ อย่างเช่น เรือนจำยโสธร ทัณฑสถานหญิงธนบุรี แล้วก็มีที่ทองผาภูมิ มีอีกหลายๆ แห่งที่เรานำงานไปส่งให้ด้วยค่ะ

วิกผมเป็นเหมือนกิจกรรมบำบัด ทอเส้นต่อเส้น ถ้าจิตใจไม่มั่นคงจริงๆ ไม่สามารถทำได้ เขาบอกว่าถ้าเกิดใช้ชีวิตช้าลง คงไม่ต้องมานั่งอยู่ในนี้ วันนึงที่เขาพ้นโทษ เรารับเข้าทำงานทั้งหมดค่ะ งานที่เราดีไซน์ไว้ สามารถทำที่ไหนก็ได้ หลายคนมีอาชีพหลัก ก็ยังทอวิกเป็นอาชีพเสริม แต่ต้องเป็นน้องที่อยู่ในกองงานวิกนางฟ้า เพราะว่าได้ผ่านการฝึกฝนมาแล้วในเรือนจำค่ะ

ผลตอบรับก็คือเรือนจำที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ปี 61 จนถึงปัจจุบัน สถิติการกระทำผิดซ้ำต่ำที่สุดในเรือนจำค่ะ ทั้งโครงการน่าจะเกือบ 500 คน มีสถิติกระทำผิดซ้ำแค่ 1 คน ในการกลับเข้าไป ซึ่ง 1 คนนั้น เพิ่งเข้ามาอยู่ในกองงานวิกนางฟ้าได้ไม่ถึงเดือน เขาพ้นโทษก็ไม่รู้จะทำงานอะไร พอกลับเข้ามาอีก เราก็เข้าไปช้อน พอเขาพ้นโทษก็จะมีงานทำ ถ้าเขาตั้งใจ

นอกจากที่เราจะได้วิกสวยๆ ให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังได้ทำบุญด้วยการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มผู้เปราะบางด้วย บางคนมีรายได้ตั้งแต่ยังอยู่ในเรือนจำ อย่างน้อยๆ เราก็ได้คืนคนดีกลับสู่สังคม ให้โอกาสน้องๆ ได้มีอาชีพสุจริตด้วยค่ะ”


[ กองงานวิกนางฟ้า ฝึกอาชีพนางฟ้าหลังกำแพง ]

เมื่อถามถึงอนาคตหลังจากนี้ ประธานกรรมการมูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่ บอกกับเราพร้อมรอยยิ้มว่า วางแผนการเดินทางไว้ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งมูลนิธินี้ขึ้น และตั้งใจจะนำความรู้กับประสบการที่ได้มา ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“มองเรื่องของความยั่งยืนเนอะ ไม่ได้มีใครที่จะสามารถอยู่แล้วทำงานตรงนี้ไปได้ตลอดค่ะ สิ่งนึงที่พี่โจลี่ทำ คือเริ่มเปิดรับจิตอาสา แล้วก็ภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยกัน คิดว่าสิ่งที่เราทำมาตลอด 10 ปี การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง มันเป็นองค์ความรู้ที่อยากถ่ายทอด วันที่พี่โจลี่ป่วย เรามีลิ้นชักความรู้จากผู้ป่วยมะเร็ง เราก็อยากให้สิ่งเหล่านี้ถ่ายทอดไปให้กับผู้อื่นด้วย

ตอนนี้สิ่งที่ทำมากที่สุด ก็คือไปสอนหนังสือมากขึ้น เพราะเราอยากหาเครือข่าย อย่างน้อยถ้าผู้ประกอบการรุ่นใหม่อยากทำในเรื่องของกิจกรรมเพื่อสังคม หรือว่าหันมาดูแลสังคมแค่คนละนิดคนละหน่อย จะทำให้สังคมเราน่าอยู่มากขึ้น

ทุกท่านเหล่านี้ก็จะเป็นเหมือนตัวตายตัวแทน วันนึงที่คนรุ่นเราเสื่อมถอยลงหรือว่าจากโลกนี้ไป ก็จะมีนักเรียน นักศึกษาที่เคยทำงานกับเรา หรือว่าคนที่เคยมาร่วมงานจิตอาสาที่มาร่วมงานกับมูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่ ได้ช่วยกันสานต่อค่ะ พี่โจลี่อยากให้งานนี้ฝากไว้เป็นลมหายใจที่อยู่กับแผ่นดิน”


"วิกหลายทรง-ช้างจับใจ" ปั้นได้เพราะป่วยเอง

อย่างที่ได้เอ่ยไปแล้วตอนต้นว่า ประธานมูลนิธิฯ วัย 50 ปีคนนี้ ก็เป็นหนึ่งในคนที่กำลังต่อสู้กับโรคร้าย เธอบอกว่า สิ่งนี้ทำให้การทำงานกับคุณวันใหม่ มีความเข้าใจ ละเอียดอ่อน และตอบโจทย์ครอบคลุมมากขึ้น

“มีรูปแบบที่เพิ่มขึ้นค่ะ ทั้งที่มีหนังศีรษะ มีที่เสยได้ มีไรผม วิกหน้าม้าเป็นวิกที่ดูแลง่ายที่สุด พอใส่เสร็จก็สวมหุ่นเอาไว้ ตอนตื่นมาก็จะใส่เป็นทรงนี้เลย และอีกอย่าง ผู้ป่วยมะเร็งเวลาผมร่วงแล้วคิ้วเขาร่วงด้วย หลายๆ คนก็เขียนคิ้วไม่เป็น หน้าม้าก็จะปิดคิ้วประมาณนึง มันก็จะทำให้ดูมั่นใจมากขึ้น ก็เลยเป็นทรงที่ยอดนิยมสำหรับผู้ป่วย เพราะดูแลง่ายที่สุดค่ะ

ถ้าเกิดเป็นวิกที่มีแสก ต้องมาจัดทรงก่อน หรือจะต้องเข้าร้านทำให้มันสวยขึ้น ตอนคนไข้จะใส่ เขาก็ต้องแสก แล้วก็ต้องเซ็ต ต้องม้วน ต้องไดร์


[ "คุณช้างจับใจ" ตุ๊กตาผ้าบริหารมือ ]

การป่วยของเราก็เป็นประโยชน์มากขึ้นในการทำงานด้วยค่ะ ผู้ป่วยมะเร็งเวลาให้ยาเคมีบำบัด จะมีอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า เดิมเรามีการทำตุ๊กตาผ้าในการบริหารมือ เรียกว่า คุณช้างจับใจ เป็นโมเดลที่ได้มาจากรามาฯ

ข้างในเป็นใยสังเคราะห์ เวลาบีบจะได้ออกกำลังกาย ได้ความนิ่ม เราก็ปรับจากใยสังเคราะห์ให้เป็นเม็ดพลาสติก Upcycling ทำให้เขารู้สึกว่ายังมีประสาทสัมผัสบริเวณปลายมือ รู้สึกว่าเป็นพื้นผิวที่แตกต่าง และสามารถไปบอกคุณหมอได้ว่ามือชานะ คุณหมอก็อาจจะปรับในเรื่องของการรักษาด้วยเคมีบำบัด อาจจะเลื่อนรอบ หรืออาจจะปรับขนาดของยา

อีกชิ้นนึงจะเป็นถุงหน้าท้องสำหรับผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดลำไส้ แล้วถ่ายอุจจาระทางหน้าท้อง แบบเดิมเราใช้เป็นกระดุม ในการถอดและเปลี่ยนถุง แต่พอเราป่วยเอง เรารู้ว่าเวลาที่ชามากๆ ปลายมือไม่สามารถติดกระดุมได้ เราก็กำลังปรับให้เป็นซิปเพื่อให้ใช้ได้ง่ายขึ้น เราได้มาใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือว่ามีประสบการณ์ของตัวเอง จะทำให้เข้าใจในงานได้ละเอียดมากขึ้นค่ะ”



สำหรับ “วิกนางฟ้า” จะคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับร่างกายผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการฆ่าเชื้อในทุกขั้นตอนการทำวิก เพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้รับมากที่สุด

“วิกผมที่เป็นใยสังเคราะห์หรือเป็นเส้นผมเทียม จะมีน้ำหนักเยอะกว่า เวลากดทับบนหนังศีรษะ เส้นผมงอกมาใหม่อาจจะหงิกงอได้ แล้วก็อาจจะระคายเคือง หรือว่าหนังศีรษะอาจจะเป็นตุ่มเพราะความร้อน

ถ้าหากเป็นวิกผมแท้ จะระบายอากาศได้ดี และมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า วิกผมแท้ก็จะมี 2 แบบ วิกผมแบบที่เราทำเรียกว่าวิกผมสด คือผมที่นำมาจากผู้บริจาค มาฆ่าเชื้อโรคแล้วก็ทำวิกเลย

กับวิกผมที่อยู่ในอุตสาหกรรมทำวิก จะเป็นวิกที่ผ่านเคมี เขาเรียกว่าการโปรผม ในการเปลี่ยนสภาพเกล็ดผม วิกผมอันนี้จะสวยกว่า ดูแลง่ายกว่า แต่สารเคมีที่เอามาใช้ อาจจะเป็นสารอันตราย หรืออาจจะก่อให้เกิดการระคายเคืองกับผู้ป่วยได้

ผู้ป่วยมะเร็งเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นความสะอาด การแพ้ การระคายเคือง เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเส้นผมมาถึง เราก็จะมีการฆ่าเชื้อโรค ล้างสารเคมีก่อน เพื่อทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยที่สุด มีการฆ่าเชื้อก่อนที่จะนำไปทอวิก ฆ่าเชื้อตอนทอวิกเสร็จ ก่อนที่จะแพ็กลงไปในถุง มีการฆ่าเชื้อในหลายๆ ขั้นตอนในการทำวิกเลยค่ะ



เราก็เลยใช้ผมสดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วมาทำวิกให้ ยกเว้นผู้ป่วยเอาไปทำสีเอง ถ้าไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ หรือว่าเขาไม่แพ้สารเคมี ทำเพิ่มได้ เพราะว่าความสวยกับผู้หญิงนี่มันห้ามไม่ได้เนอะ จะให้เขาไปถามคุณหมอก่อนว่าทำสีผมได้ไหม คุณหมอหลายๆ ท่านก็จะบอกว่าไปให้สุดเถอะ เราไม่รู้หรอกว่าชีวิตเหลืออยู่แค่ไหน ถ้าเกิดเขาสวยแล้วเขามั่นใจ

แต่เวลาที่เราแนะนำผู้ป่วย แนะนำให้เป็นไฮไลท์อยู่แค่ด้านนอก ก็จะสัมผัสสารเคมีให้น้อยที่สุด เส้นผมที่บริจาคหรือว่าวิกที่บริจาค เราก็จะไม่ผ่านสารเคมี จะเป็นสีที่ผู้บริจาคมาสีไหนก็จะเป็นสีนั้นเลยค่ะ”

ส่วนใครที่อยากเป็นคุณนางฟ้า ก็สามารถทำสีผมได้ตามใจชอบ ขอแค่เว้นการทำเคมี 3 เดือนก่อนตัดบริจาค

“ปัจจุบันนี้ผู้ป่วยที่เริ่มป่วยอายุน้อย แล้วเขาอยากได้ความสดใส มีบางช่วงที่เป็นผมดำธรรมชาติ ขายไม่ออกเลยค่ะ บางโรงพยาบาล เขาจะให้คนไข้ที่เป็นเน็ตไอดอลมารีวิว มาใส่วิกผมดำกันเถอะ ตอนนี้วิกผมดำมีเยอะแล้วนะ ใส่แล้วสวยนะ

ผู้ป่วยอาจจะอยากใส่สีที่เป็นดูมีไฮไลท์นิดนึง หรือว่ามีสีที่สดใส เขาอาจจะรู้สึกว่ามันรับกับใบหน้ามากกว่า แต่ที่สำคัญ ก่อนที่เขาจะผมร่วงเขาผมสีอะไร เขาจะอยากได้สีเดิมหรือว่าใกล้เคียงของเดิมค่ะ

(ผู้ป่วยมะเร็ง) แต่งหน้าได้ค่ะ ทำได้ทุกอย่างตามปกติเลย แต่ว่าส่วนใหญ่ที่ไม่แต่งเพราะว่าเหนื่อย รู้สึกว่ามันท้อแท้ มันไม่มีกำลังใจในการแต่ง แต่ส่วนมากที่ได้รับวิกไป แต่งหน้าทุกคนค่ะ ก็จะสดใส อย่างพี่โจลี่เองถ้าวันไหนแต่งตัวสวยไป รอบหน้าเพื่อนก็ไม่ยอมค่ะ เพื่อนก็จะแต่งมาเต็มที่เหมือนกัน มันก็เลยทำให้เกิดบรรยากาศที่สดใสมากขึ้นค่ะ”



สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณสถานที่ : มูลนิธิจากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : Facebook "จากนางฟ้าถึงคุณวันใหม่"



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น