xs
xsm
sm
md
lg

อันดับ 1 ถูกฟ้องล้มละลาย!! วิกฤต “แม่พิมพ์ของชาติ” กู้ง่ายจนหนี้ท่วมหัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยข้อมูล ราชการไทยถูกฟ้องล้มละลาย ถึง 7,000 คน เกินครึ่งคือ “ครู” ส่องปัญหา ครูไทยเป็นหนี้ท่วมหัว “เฉลี่ย 1.94 ล้านบาท/คน” เพราะ “กู้ง่าย” แถม “ขาดความรู้ทางการเงิน”

** ถูก “ให้ออก” มากที่สุดในระบบ “ราชการไทย” **

วิกฤติแม่พิมพ์ของชาติ เมื่อครูมีหนี้ท่วมหัว เสี่ยงโดนฟ้องล้มละลายและให้ออกจากราชการมากที่สุด ในหมู่ข้าราชการไทย

“ณรินทร์ ชำนาญดู” นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เผยเรื่องน่าตกใจนี้ว่า ปัจจุบันมี “ข้าราชการถูกฟ้องล้มละลายกว่า 7,000 คน” และในจำนวนนี้เป็น “ครู” ถึง “5,000 คน” เลยทีเดียว

และหาก “โดนฟ้องล้มละลาย” ก็เท่ากับว่า “ต้องถูกบังคับให้ออกจากราชการ” ด้วย นี่คือปัญหาที่ครูไทยหลายคนกำลังเผชิญ เพราะข้อมูลจากปี 2564 พบว่า ครูทั่วประเทศกว่า 9 แสนคน มีหนี้รวมกันถึง “1.4 ล้านล้านบาท”

ซึ่งเฉลี่ยแล้ว ครูไทยทั้งที่ยังทำงานอยู่ และคนที่เกษียณไปแล้ว จะมีหนี้ถึง 1.94 ล้านบาท/คน โดยเจ้าหนี้รายใหญ่สุดคือ “สหกรณ์ออมทรัพย์ครู” ตามมาก็เป็นพวกธนาคารต่างๆ

แต่อะไรกันทำให้อาชีพที่ดูมีความมั่นคง อย่าง “ครู” ต้องเจอกับปัญหาหนี้ท่วมหัวแบบนี้ คุณครูอย่าง “ทิว”ธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากกลุ่มครูขอสอน อธิบายภาพปัญหาหนี้ครู ในทีมข่าวฟังว่า...

“ข้อ 1 คือมันกู้ง่ายนั่นแหละครับ”



ช่องทางสินเชื่อของครู มี 2 ทางคือ “สหกรณ์ออมทรัพย์ครู”และ “ธนาคาร” ระบบการกู้เงินจากสหกรณ์ แค่มี “หนังสือรับรอง” จาก “ผอ.โรงเรียน” ก็สามารถทำการกู้เงินได้

และการจ่ายหนี้สหกรณ์ ก็จะเป็น “หักหน้าซอง” หรือก็คือ “หักจากเงินเดือนโดยตรง” เมื่อเงินโดนหักไปแล้ว ไม่พอใช้ หรือมีเหตุต้องกู้เพิ่ม ครูยังสามารถไป “ขอสินเชื่อจากธนาคาร”ได้อีก

เพราะในยุคก่อนๆ “ไม่ได้มีการกำหนด”ทำให้ครูจะกู้กี่ช่องทางก็ได้ บวกกับเมื่อเป็น “ข้าราชการ”ที่เงินเดือนจ่ายตรงทุกเดือน และไม่มีทางโดนไล่ออกง่ายๆ
เหล่าธนาคารก็ปล่อยสินเชื่อให้ตลอด โดยไม่ได้ดูว่า มีหนี้ที่ไหนหรือเท่าไหร่บ้าง หนำซ้ำยังมี “โปรโมชั่น” ให้กับข้าราชการโดยเฉพาะ “เพื่อดึงดูให้เกิดการกู้เงิน”


แต่หลังจากปัญหาหนี้ของ ข้าราชครูที่สูงขึ้น “ครูทิว”บอกว่า ก็มีการเพิ่มกฎเกณฑ์ว่า “ถ้าเงินเดือนหลังหักลบกลบหนี้แล้ว” เหลือไม่ถึง “30%” ของเงินเดือนทั้งหมด ครูจะไม่สามารถไปขอกู้เพิ่มได้อีก ไม่ว่าจะสถาบันทางการเงินไหน

ซึ่งมันก็ช่วยบรรเทา ไม่ให้ก่อหนี้เพิ่มได้ แต่ครูรายเดิมชี้ปัญหาที่น่ากลัวกว่าให้เห็นว่า ครูหลายคนตอนนี้ เงินเดือนเหลือไม่ถึง 30% และเมื่อเงินไม่พอหมุน แต่ก็กู้ในระบบไม่ได้ เพราะติดหลักเกณฑ์นี้...“สุดท้ายก็ไปติดหนี้นอกระบบ”


                                       { “ครูทิว” ธนวรรธน์สุวรรณปาลจากกลุ่มครูขอสอน }

** ไม่ได้ฟุ่มเฟือย แต่ไม่รู้เรื่องการเงิน **

แล้วหนี้พวกนี้เกิดจากอะไร ครูกู้เงินไปใช้อะไร คุณครูอย่าง “ทิว” บอกว่า เรื่องฟุ่มเฟือย เห็นเขามีเราต้องมี นั่นเป็นส่วนน้อยมาก การกู้เงินส่วนใหญ่ของครู ไม่ได้กู้ไปใช้เอง “แต่กู้เงินเพื่อไปให้ครอบครัว”

ครูหลายคนกู้เพื่อไปใช้หนี้ให้ครอบครัว ไม่ว่าจะหนี้จากการทำเกษตร การทำธุรกิจของครอบครัว หรือหนี้ที่พ่อ-แม่ กู้เพื่อเอามาส่งพวกเขาเรียน

และการที่เลือกเอาหนี้ไปใช้หนี้แบบนี้ เพราะสินเชื่อของข้าราชการ “ดอกเบี้ยถูก” และ “ระยะการผ่อนที่นานกว่า” ซึ่ง “หนี้ครอบครัว” คือหนี้ที่ครูหลายคนเจอ

ต่อมาก็ “กู้ซื้อรถ” แน่นอนเพราะมันคือปัจจัยหลัก ที่ใช้ในการเดินทางไปทำงาน โดยเฉพาะต่างจังหวัด ที่ไม่มีขนส่งสาธารณะ และหนี้อีกก้อนที่เป็นก้อนใหญ่เหมือนกันก็คือ“การกู้ซื้อบ้าน”

เราจะเห็นว่าทั้ง “กู้ซื้อบ้าน-กู้ซื้อรถ-โปะหนี้ครอบครัว” เหล่านี้ คือหนี้ที่กู้ กันตั้งแต่เริ่มบรรจุเป็นครูกันใหม่ๆ ซึ่งเราก็รู้ว่า เงินเดือนเริ่มต้นของครู นั้นน้อยขนาดไหน พอเงินเดือนน้อย หนี้เยอะ ไม่พอใช่ ก็กู้เพิ่ม เป็นดินพอกหางหมูไปแบบนี้เรื่อยๆ แล้วถ้าเราเพิ่มเดือนเงินครู ปัญหานี้จะหายไปหรือเปล่า?



เพราะถ้าลองมาเทียบ “เงินเดือน” ครูของแต่ประเทศ เราจะเห็นว่า “อเมริกา” ครูได้เงินสูงถึง “206,000 บาท/เดือน” คือมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำถึง 5 เท่า แต่ทั้งนี้เงินเดือนครู ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐกับวุฒิการศึกษาของครู

ด้านประเทศพัฒนาแล้วอย่าง “สวีเดน” เงินเดือนครูก็สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำถึง 3.5 เท่า คือราวๆ “146,000 บาท/เดือน” ส่วน “ครูญี่ปุ่น” เองก็ได้เงินเดือนสูงถึง “119,000 บาท/เดือน” มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำถึง 2.8 เท่า

ส่วนด้านครูไทย กลับมีเงินเดือนเริ่มต้นแค่ 15,000 บาท/เดือน เท่านั้น ซึ่งล่าสุดจะมีการเพิ่มเป็น 18,000 บาท ในเดือนพฤษภาคม 68 นี้ ปัญหาหนี้ของครูไทย ที่แก้กันมากว่า 20 ปี จะหายไปไหมหากเราเพิ่มเงินเดือนครู “ทิว” บอกกับเราว่า อาจช่วยได้ในระดับนึง

ครูรายนี้ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญเรื่องเงินเดือนว่า ถ้าเทียบเงินเดือนเริ่มต้น กับการเพิ่มเงินเดือนในช่วง 10 ปี ของครูไทยกับครูต่างประเทศ เราจะเห็นว่า ไทยสตาร์ที่เงินเดือนต่ำ และผ่านไปสิบเงินเดือนจะสูงขึ้นมากๆ ส่วนต่างประเทศเงินเดือนสตาร์ทสูง แต่เงินเดือนขึ้นไม่มาก ข้อดีของต่างประเทศคือ

“มันสตาร์ทสูง แต่มันขึ้นไม่เยอะ ทำให้ครูรุ่นใหม่อะ คือคุณกำลังสร้างตัวเนอะ เป็น first jobber สามารถตั้งตัวได้เร็วขึ้น พอตั้งตัวได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องบ้านเรื่องรถ เรื่องครอบครัว อะไรพวกนี้ มันก็เลยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน”



แต่ยังไงก็ดี ในมุมของ “ครูทิว” วิธีการแก้ปัญหาหนี้ครูที่ดีที่สุดคือ ในความรู้ครูเรื่อง “การจัดการทางการเงิน” เพราะปัจจัยที่ทำให้ ครูมีหนี้ท่วมหัวอยู่ทุกวันนี้นอกจากกู้ง่ายแล้ว

“อันนี้ก็ต้องยอมรับกันตรงๆ ผมว่าครูจำนวนมากนะ ไม่มี financial literacy หมายถึงว่า ไม่มีความรู้เรื่องการเงินอะ ว่าจะจัดการอย่างไร”

ดังนั้นมันควรจะมี การสอนเรื่องการเงิน ให้กับครู ตั้งแต่ตอนเรียน และไม่ใช่แค่ให้ความรู้แล้วจบ ต้องมีคนที่ค่อยให้คำปรึกษา หรือวางแผนทางเงินให้ครูด้วย

ซึ่งคนคนนั้น ก็น่าจะต้องเป็น “สหกรณ์ออมทรัพย์ครู” เพราะเป็นทั้งแหล่งสินเชื่อ และการลงทุนให้กับคุณครู ซึ่ง การที่ครูมีความรู้ สามารถวางแผนการเงินของตัวเองได้จะเป็นการแก้ที่ดีที่สุด



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น