xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเขาแต่เรากลุ้ม “ภัยเผือกยุค 5G” ระแวง-เครียดแฝง เช็กสัญญาณเตือน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เรื่องของเราก็ไม่ใช่ แต่ทำไมสนใจเหลือเกิน จิตแพทย์เตือน แต่นี่คือคำตอบของอาการ “เสพติดดรามา” พร้อม “สัญญาณเตือน” เมื่อเข้าใกล้ขีดอันตราย “เสพเกินขนาด!!”


** ระบายประสบการณ์ ผ่าน “เรื่องคนอื่น” **

“คนไทยชอบดรามา” นี่คือเรื่องจริง โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่อง “ผัวๆ เมียๆ” หรือ “มือที่ 3” ของคนดัง ยืนยันด้วยยอดวิวของ รายการ “โหนกระแส” กับเคสของ “ดาราหนุ่ม ผู้เคยว่ายข้ามแม่น้ำโขง ที่นอกใจแฟน”

แต่ละเทปของเรื่องนี้ ยอดวิวไม่เคยต่ำกว่า 1 ล้านวิว พีคๆ เลยก็คือเทปที่สัมภาษณ์ “สาวมือที่ 3” ที่ทำเอายอดวิวพุ่งทะลุไปถึง “ 5 ล้านวิว” หนำซ้ำ นี่แค่ยอดวิวใน Youtude เท่านั้น ยังไม่นับแพลตฟอร์มอื่นๆ

และความอินฯ ในดรามาของคนไทย ไม่ใช่แค่ตามติดชนิดไม่หลับไม่นอน ตั้งตารออ่านในโซเชียลฯ ทุกความเคลื่อนไหวเท่านั้น บางดรามา บางคนยังเก็บไปคิด ไปเครียดเองก็มี

หนักเข้าก็แบ่งฝั่งกันเชียร์ โต้ไปมา จนกลายเป็น “สงครามน้ำลาย” บนโลกออนไลน์ จนเกิดคำถามว่า อะไรทำให้ชาวโซเชียลฯ อินเรื่องพวกนี้ ทั้งๆ ที่มันไม่ได้เกี่ยวกับเราด้วยซ้ำ?



“จีระเดช งามสีสรรค์" นักจิตวิทยาคลินิก ประจำโรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์ (BMHH) ช่วยวิเคราะห์เอาไว้ให้ว่า มันคือธรรมชาติของมนุษย์ส่วนนึง

“ปกติแล้ว มนุษย์มักจะเสพสื่อ หรือเสพสิ่งที่มันกระตุ้นอารมณ์ของเราได้มากอยู่แล้วนะครับ หรือเป็นการตอบสนองความใคร่รู้ของตัวเอง”

ส่วนเรื่อง “ความอินในดรามา” ของคน ก็มี 2 ปัจจัยหลัก คือ “1.เป็นประเด็นที่เขาให้ความสำคัญ” อย่างการซื่อสัตย์ในความสัมพันธ์
และ “2.ประสบการณ์ตรง” เช่น บางคนอาจเคยผ่านความรักแย่ๆ มา ซึ่งหากมีข่าวดรามาที่ตรงกับทั้ง 2 ปัจจัยนี้เกิดขึ้น มันก็ทำให้เรา “อินได้ง่าย” และมี “อารมณ์รวม” เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ การที่เราได้ “คอมเมนต์-พูดคุย” กับคนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน หรือ “ตอบโต้-ถกเถียง” กับคนเห็นต่าง ที่เป็นเหมือนวัฒนธรรมของการเสพดรามา

ในเชิงจิตวิทยาแล้ว มันก็เหมือนเป็น “ช่องทางระบายอารมณ์” และ “การสร้างคอนเน็กชั่นทางสังคม” สำหรับคนที่มีความคิดเหมือนๆ กัน



** อินดรามา พาลครอบครัว **

แต่การเสพติดดรามา “ไม่ใช่เรื่องสนุก” นักจิตวิทยารายนี้อธิบายว่า เพราะมันกระตุ้นแต่ “อารมณ์เชิงลบ” ทั้ง “โกรธ” “เดือดดาล” “เศร้า” โดยเฉพาะคนที่อินมากๆ มันอาจกลายเป็น “ปัญหาสุขภาพจิต”ในที่สุด

“เวลาที่เขาไปอินมากๆ ปัญหาอันนึงที่จะเจอบ่อย ก็คือจะเกิดความเครียด หรือว่าเกิดความรู้สึกด้านลบอย่างแน่นอน เช่น รู้สึกกังวล รู้สึกกดดัน บางทีก็โมโหจนรบกวนการใช้ชีวิต”

ซึ่งอารมณ์ด้านลบเหล่านี้ ทำให้เกิด “ฮอร์โมนความเครียด” และเมื่อสะสมไปนานๆ เข้า มันก็กลายเป็น “ความเครียดแฝง” ที่เราไม่รู้ตัว

และ “การหมกมุ่น”อยู่กับดรามามากๆ อาจทำให้กลายเป็นคน “คิดมาก-หวาดระแวง”ยกตัวอย่าง เราติดตามดรามาชู้สาวมากๆ เราก็อาจระแวงว่า คู่เราจะเป็นแบบนั้น พอระแวงมากๆ เข้า ก็อาจทำให้ความสัมพันธ์พังลงก็ได้


                                { “จีระเดช" นักจิตวิทยาคลินิก จาก BMHH }

และใน “ระดับสังคม” การเสพติดดรามา มันก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะการพูดคุยกันในโซเชียลฯ ที่เรามักอยู่แต่กับกลุ่มคนที่ “มีความเห็นหรือเชื่อไปในทางเดียวกัน” ทำให้เราพิมพ์อะไรไป ก็มีคนสนับสนุนและเห็นด้วยเสมอ

“เราก็อาจจะยึดถือความเชื่อนั่น ว่าเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง มันเป็นมุมมองที่ถูกต้อง แล้วเอามาโต้เถียง หรือขัดแย้งกับคนในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนในชีวิตของเราเอง ในกรณีที่เขาเห็นต่าง ได้เหมือนกัน”

ทำให้เรากลายเป็นคนที่ “ไม่รับฟังความเห็นต่าง” หรือ “ไม่พยายามทำความเข้าใจฝั่งตรงข้าม” เพราะเชื่ออย่างสุดใจว่า “ความคิดเราถูกต้องที่สุดแล้ว” ซึ่งนี่คือจุดเริ่มของความขัดแย้งต่างๆ ในสังคม



** สัญญาณเตือน ต้องหยุด!! **

การเสพข่าวดรามา “เพื่อหาความบันเทิง” หรือ “ตอบสนองต่อมเผือก” ของเรา เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่มันก็ต้องมีจุดที่พอดี นักจิตวิทยาอย่าง“จิระเดช”ชี้วิธีสังเกตตัวเองว่า หากมีอาการเหล่านี้ เราต้อง “ลดการเสพดรามา” ได้แล้ว ถ้าไม่อยากมีปัญหาสุขภาพจิต

อย่างรู้สึกว่าตัวเอง ช่วงนี้ “อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ” ทั้งวัน เวลาคุยกับคนรอบข้าง ก็ “หงุดหงิดง่าย” หรือ “รู้สึกขัดใจตลอด” กลับบ้านก็ “นอนไม่หลับ”

ในหัวคิดถึงแต่ประเด็นดรามาที่เกิดขึ้น หรือหลังเสพดรามาเสร็จ ก็กังวลทุกครั้งว่ามันจะเกิดกับเรา หากมีอาการเหล่านี้…“ควรจะลดการเสพลง หรือหยุดเสพไปสักระยะนึงเลย”



แต่การจะให้ “เลิกดู เลิกเสพดรามา” อาจเป็นเรื่องที่ “ยาก” เพราะไม่ว่าจะสื่อช่องไหน ก็มักนำเสนอเรื่องเหล่านี้ เพื่อเรียกยอดไลก์ ยอดวิว แต่นักจิตวิทยารายนี้บอกว่า “มันทำได้”

“จริงๆ เราเลือกได้อะครับ ว่าเราจะเข้าไปดู หรือไม่เข้าไปดู เพราะอำนาจในการเสพ มันอยู่ที่มือเรา”

และอีกอย่างที่ต้องลดด้วยคือ “ความอิน” ที่ไม่ว่าเราจะมีความรู้สึกร่วมขนาดไหน สิ่งเดียวที่เราต้องคิดคือ “เราได้ประโยชน์อะไร?” หากจะเทความรู้สึก และเวลาทั้งหมดของเรา ไปกับข่าวเหล่านี้

“เราเสพไปอะ มันมีประโยชน์อะไรกับเราหรือเปล่า การที่เราจะอินไปกับมันขนาดนั้น มันใช่เรื่องของเราจริงๆ ไหม”



สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น