xs
xsm
sm
md
lg

2 ช่องโหว่ใหญ่ #ตึกสตงถล่ม บทเรียนก่อสร้าง “มาตรฐาน มอก. + งบคุมงาน” [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอ๊ะ!! แรก “เหล็กไม่ได้มาตรฐาน” แต่ทำไมได้ “มอก.” กูรูชี้ปัญหา “เครื่องหมายมาตรฐาน แต่ไม่ได้มาตรฐาน” เอ๊ะ!! ต่อมา “ขุดงบคุมงานก่อสร้าง” กทม.เคยขอ แต่โดนตัด วิศวกรบอกจริงๆ คือ “งบดีที่ควรมี”



** ยังเชื่อได้ไหม? “เครื่องหมาย มอก.” **

กลายเป็นเรื่องให้ “เอ๊ะ!!” กันอีกแล้ว หลังจากเหตุ “ตึก สตง.ถล่ม” เมื่อมีการนำเหล็กที่ใช้ก่อสร้างไปตรวจ ก็พบว่า “เหล็กข้ออ้อย”ขนาด “20 มม.”และ “32 มม.” จาก “บจก.ซินเคอหยวน สตีล” หรือ “SKY”นั้น “ไม่ผ่านมาตรฐาน”

เรื่องน่าสนใจคือเหล็กข้ออ้อยยี่ห้อนี้ กลับได้การรับรองจาก “มอก.” และเอาเข้าจริง บริษัทนี้ “ถูกสั่งปิดชั่วคราว”โดย “การกระทรวงอุตสาหกรรม”ไปตั้งแต่ “เดือน ธ.ค.67” แล้ว

โดยล่าสุด "เอกนัฏ พร้อมพันธุ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า กำลังเตรียมชงเรื่อง “ถอด BOI (Board of Investment)”และเดินเรื่อง “ยกเลิก มอก.” เหล็ก ของ “บจก. ซินเคอหยวน” แล้วตอนนี้


                                              {“เหล็กไม่ผ่าน” แล้วได้ มอก.มายังไง}

ตลกร้าย คนในสังคมถูกสอนมาตลอดว่า การซื้อสินค้าต้องดู “มอก.” เพื่อรับประกันคุณภาพ แต่พอเจอเคสนี้เข้าไป มันก็กลายเป็นคำถามใหญ่ว่า เรายังเชื่อมั่นในสินค้าที่แปะตรา มอก. ได้อยู่หรือเปล่า?

“ผศ.ดร.วีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา” อนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาองค์กรของผู้บริโภค (TCC) ยอมรับกับทีมข่าว นี่เป็นคำถามที่คาใจใครหลายคนในตอนนี้จริงๆ

เครื่องหมาย “มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)” ถูกออกโดย “สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)”

เมื่อมีการขออนุญาตผลิตสินค้าในประเทศ “สมอ.” จะเข้าไปดูมาตรฐานทั้ง “ตัวสินค้า” และ “ขั้นตอนการผลิต” ถ้าทุกอย่างผ่าน ถึงจะสามารถผลิตได้

“เมื่อเขาได้รับการรับรอง เขาสามารถแสดงเครื่องหมายมาตรฐานนั้นได้ แต่สินค้านั้นจะเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ อันนี้แหละครับที่สังคมถาม”



ตัวแทนจาก TCC รายนี้ชี้ให้เห็นว่า ทุกวันนี้มีการแข่งขันทางการค้าสูง ทำให้มีการ “ลดต้นทุน” ในการผลิต จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า “สินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน แต่ไม่ได้มาตรฐาน” ซึ่ง “สมอ.” ก็รู้เรื่องนี้ดี และพยายาม “ตรวจ” สินค้าเหล่านี้

“คำว่า ตรวจติดตามของ สมอ. ก็มีข้อจำกัดอยู่เยอะมาก เยอะมากตั้งแต่เรื่องเจ้าหน้าที่ของ สมอ.ที่มีจำกัด ไหนจะงบประมาณที่จะไปสุ่มซื้อสินค้าจากท้องตลาด”

นี่คือปัญหาที่แม้ว่าบ้านเมืองเราจะเข้มงวด ในการออกใบรับรองมาตรฐานแค่ไหน แต่ระบบตรวจและติดตามกลับอ่อนแอ โดยปกติแล้วหลังได้รับ มอก.แล้ว สมอ.จะส่งเจ้าหน้าที่ไป “สุ่มตรวจ” ทุก 1-2 ปี แล้วแต่ประเภทสินค้า

โดยหลักก็ควรซื้อของจากตลาดมาตรวจ แต่ สมอ.“ไม่มีงบประมาณ” เพียงพอ ทำให้ต้องไปตรวจที่โรงงานแทน ซึ่งเวลาไปตรวจก็ต้องแจ้งโรงงานก่อน โรงงานก็เตรียมสินค้าที่ผ่านแน่ๆ มาให้ตรวจ



เรื่องนี้สะท้อนผ่านเคสที่ “ดร.วีระพันธ์”เจอมากับตัว อย่างเรื่อง “สายไฟ” จากสุ่มตรวจห้างฯ ใหญ่แห่งนึง ปรากฏว่าสินค้ากว่าครึ่ง “ไม่ผ่านมาตรฐาน”

การจะอุดช่องโหว่นี้ ตัวแทน TCC รายเดิมแนะว่า ต้องมีกฎหมายที่ “ให้อำนาจ สมอ.” ให้สามารถ “ดึงสินค้าที่ต้องการตรวจ มาจากตลาดได้ทันที”

แล้วให้เจ้าของสินค้า ส่งของทดแทนสินค้าที่ถูกดึงไปตรวจกลับมาให้ร้านค้า แบบนี้ก็จะเป็นการตรวจที่ตรงเป้า และ สมอ.ก็ไม่ต้องเสียเงินซื้อสินค้า


                                         {“ผศ.ดร.วีระพันธ์”จาก สภาองค์กรของผู้บริโภค}

ส่วนคำถามที่ว่า “มอก.” ยังน่าเชื่อถือไหม กูรูรายนี้บอกว่า ประชาชนยังสามารถเชื่อมั่นได้อยู่ และทุกวันนี้ เครื่องหมาย มอก. จะมี QR Code ให้สแกน เพื่อเช็กบริษัทที่ผลิต และตัวสินค้า ว่าตรงกับของจริงที่วางขายหรือเปล่า

ถ้าไม่ตรงก็สามารถแจ้งให้ สมอ.เข้าตรวจได้ และการซื้อสินค้าที่มี มอก. อย่างน้อยเรารู้ว่า ใครต้องรับผิดชอบ หรือควรติดต่อใคร หากสินค้าตัวนั้นมันเกิดปัญหาจริงๆ



** “งบคุมงาน” ควรมี แต่ถูกตัด **

เอ๊ะ!! ที่ 2 นอกจากเรื่อง “เหล็กไม่ได้มาตรฐาน” ของ “โรงงานที่ถูกปิด” ไปแล้ว เพราะทำให้เกิดข้อคลางแคลงใจว่า ได้ มอก.มาได้ยังไง

ล่าสุดยังมีการแชร์เรื่อง “ตัดงบควบคุมงานก่อสร้าง” ที่ทาง “กทม.” ยื่นขอไปใน “การประชุมสภากรุงเทพมหานคร” เมื่อปี 2567

จากกรณีโรงพยาบาลหลายแห่ง งบสร้างกว่า 3,000 ล้านบาท “ไม่มีผู้ควบคุมงานเลย” และ “ก่อสร้างล่าช้า” เป็นที่มาให้ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร อย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ของบประมาณควบคุมงานที่ “60 ล้านบาท” กับสภาฯ


โดยทาง ผู้ว่าฯ กทม.อธิบายว่า งบตัวนี้สำคัญ โดยเฉพาะในโครงการก่อสร้างที่ “มูลค่าสูง”และ “ซับซ้อน”การจะให้การก่อสร้างออกมาได้มาตรฐาน จำเป็นต้องมี “ผู้ควบคุมงาน” อยู่ในหน้างานตลอดเวลา
“เพราะการควบคุมงานให้ได้มาตรฐาน จริงๆ แล้ว สมมติว่าวางเหล็กเนี่ย เช็กเหล็กให้ได้ก่อน แล้วถึงเทคอนกรีต เทคอนกรีตก็ไม่เห็นเหล็กแล้ว มันต้องมีคนที่อยู่หน้างาน คอยควบคุมงานตลอด”

แต่สุดท้ายงบตัวนี้ก็ถูก “ตัดทิ้ง” ไป ส่วนเหตุผลที่สภาฯ ให้คือ“ไม่มีความจำเป็น”ส่วนจริงๆ แล้วงบตัวนี้จำเป็นขนาดไหน คนที่จะตอบคำถามนี้ได้ คงหนี้ไม่พ้น “ศ.ดร.อมร พิมานมาศ” นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย

เริ่มจากอธิบายหลักการก่อสร้างให้ทีมข่าวฟังว่า ปกติแล้ว “ผู้รับเหมา”จะต้องมี “วิศวกร”ไว้ค่อยควบคุมการก่อสร้างอยู่แล้วแต่บางครั้ง “เจ้าของงาน” ที่ “ไม่มีความรู้ด้านงานก่อสร้าง” หรือ “ต้องการความชัวร์”เขาก็จะจ้าง “Consult (ที่ปรึกษา)”มาร่วมควบคุมการก่อสร้างคู่กับผู้รับเหมาด้วย


สำหรับงานก่อสร้างของรัฐ ถ้าหน่วยงานไหนมี “วิศวกรในสังกัดตัวเอง”ก็จะแต่งตั้งคนของตัวเองมาเป็น “ผู้ควบคุมงาน”ด้วย แต่ถ้าไม่มีวิศวกรเป็นของตัว หรือคนไม่พอ ก็จะจ้างพวก “บริษัท Consult” มาช่วยตรวจงานแทน

“อย่างไอ้พวกรถไฟฟ้า ก็มีงบคุมงานเลยนะ เป็นระดับหลายร้อยล้านเลยแหละ จ้าง Consult มาคุมงานด้วย งานที่มันเสี่ยงอันตราย งานที่มันอยู่ใกล้พื้นที่สาธารณะ อะไรแบบนี้”


                                    {“ศ.ดร.อมร” นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ}

แต่ประเด็นคืองบแบบนี้ “ไม่ได้มีทุกโครงการ” และเราก็ไม่มีหน่วยงานกลาง ที่จะไปเป็นผู้ควบคุมงานให้ ทำให้เป็นเรื่องของ “หน่วยงานเจ้าของโครงการ” ที่ต้องจัดหา จัดการเอง

ถ้ามีงบ-มีคน ก็ตั้งผู้ตรวจงานของตัวไปทำหน้าที่ ถ้าไม่มีเลย คนควบคุมงานก็จะมีแค่ฝั่งผู้รับเหมา ซึ่งถ้าเจอผู้รับเหมาดี ทำตามมาตรฐานก็ดีไป

นายกสมาคมโครงสร้างฯ บอกกับเราว่า “งบควบคุมงานก่อสร้าง” เป็นสิ่งที่ดีถ้าจะมี แต่อาจไม่ใช่ทุกโครงการ เราต้องจัดลำดับความสำคัญกัน ในงานก่อสร้างที่ “ไม่ได้มีความซับซ้อน” หรืองานเล็กๆ อาจไม่จำเป็นต้องมีงบตัวนี้

แต่ถ้าเป็น งานก่อสร้างที่เป็น “โครงการขนาดใหญ่” ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ใช้ “เทคโนโลยีขั้นสูง” ในการก่อสร้าง ก็ควรจะมี “งบควบคุมงาน” ให้กับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการ

“ผมว่ามี มันก็ดีกว่าไม่มีอยู่แล้ว เพราะว่ามันก็เหมือนมีตาที่ 2 มาดู มีคนช่วยสอดส่องอีกทางนึง”







ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)






@livestyle.official ...นี่คือ "2 เอ๊ะ!!" จุดใหญ่ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งจากเคส #ตึกสตงถล่ม และเคสอื่นๆ ในอนาคต ที่ไม่ควรพลาดซ้ำ @tccthailand... . น่าอนาถใจ ความสูญเสียครั้งใหญ่เกิดขึ้นแล้ว ช่องโหว่ต่างๆ จากความผิดปกติของโครงการก่อสร้าง ถึงเพิ่งถูกส่องสปอตไลท์ให้ได้รู้สึก "เอ๊ะ!!" ในตอนนี้ . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #แผ่นดินไหว #แผ่นดินไหวประเทศไทย #แผ่นดินไหวกรุงเทพ #Aftershock #อาฟเตอร์ช็อก #กรมอุตุนิยมวิทยา #ตึกถล่ม #ตึกสตง #ตึกสตงถล่ม #EarthQuake #เตือนภัย #ภัยพิบัติ #มอก #สมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย #สภาองค์กรของผู้บริโภค ♬ original sound - LIVE Style


สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : นลธวัช กาญจนสุวรร
ณ์
ขอบคุณภาพ : Facebook “Amorn Pimanmas” ,psstickershop.com



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น